ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จาก”ประชานิยมถึงประชารัฐ” คลังเบ่งจีดีพี – เบ่งงบประมาณรายจ่าย วันนี้ออกอาการ เก็บภาษี 4 ปีหลุดเป้า 5 แสนล้าน คนไทยหนี้บาน

จาก”ประชานิยมถึงประชารัฐ” คลังเบ่งจีดีพี – เบ่งงบประมาณรายจ่าย วันนี้ออกอาการ เก็บภาษี 4 ปีหลุดเป้า 5 แสนล้าน คนไทยหนี้บาน

8 พฤษภาคม 2016


ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เพิ่มงบประมาณรายจ่าย-ลดภาษี อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากผ่านกลไก “งบขาดดุล” กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่ใช้ “งบสมดุล” (ปีงบประมาณ 2548 และ 2549)

ขาดดุล 19 ปี

การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องมือทางการคลัง โดยเฉพาะมาตรการภาษี ถ้าใช้คำค้นคำว่า “มาตรการภาษี” ที่ช่องค้นหาในเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พบว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีมาตรการภาษีผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีกว่า 136 รายการ ส่วนใหญ่เป็นรายการลดภาษี เพิ่มค่าลดหย่อนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาใจประชาชนให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น เมื่อประชาชนมีเงินมากขึ้นก็คาดหวังว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะหมุนไปและหมุนไป(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กราฟิคที่1

ประมาณการรายได้ 2559

ประกอบกับนโยบายประชานิยม นโยบายประชารัฐ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นๆเรื่อยๆ โดยไม่ได้ขยายฐานภาษีรองรับ หรือหาแหล่งรายได้ใหม่ บางส่วนใช้นโยบายนอกงบประมาณให้สถาบันการเงินภาครัฐปล่อยสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขาลง กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังกำหนดติดต่อกันถึง 4 ปี

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการรายได้ของรัฐบาล ณ วันที่ 21 มกราคม 2559 คาดการณ์ว่าในปี 2559 กรมสรรพากรจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายอีก 129,900 ล้านบาท รวม 4 ปี เก็บภาษีต่ำเป้า 535,921 ล้านบาท ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร และการที่กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงาน หากกระทรวงการคลังหารายได้จากหน่วยงานอื่นมาชดเชยไม่ได้ ต้องไปใช้วิธีการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณแทน และถ้าออกพันธบัตรกู้เงินกันต่อไปเรื่อยๆ (งบประมาณขาดดุล) สุดท้ายก็ต้องมีคนจ่าย คือ ปรับขึ้นอัตราภาษี

ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะรวม 6,005,787 ล้านบาท คิดเป็น 44.13% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับประชากรประมาณ 66 ล้านคน คนไทย 1 คนภาระหนี้ต่อหัวประมาณ 90,997 บาท โดยยอดหนี้สาธารณะของประเทศ ประกอบด้วย หนี้ของรัฐบาล 4,415,352 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,044,482 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 528,523 ล้านบาท หนื้หน่วยงานของรัฐ 17,430 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ทำการประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างเปรียบเทียบกับจีดีพีในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีดังนี้ ปีงบประมาณ 2559 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 45.1% ปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ระดับ 47.4% ปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ระดับ 49.3% ปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ระดับ 50.2% และปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ระดับ 50.6% ขณะที่โครงสร้างประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การจัดเก็บรายได้ของสรรพากร

กราฟิคที่3

ผลการจัดเก็บภาษีกรมสรรพากรเริ่มต่ำกว่าเป้า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 จัดเก็บภาษีได้ 1,764,707 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,293 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2557 จัดเก็บภาษีได้ 1,729,819 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 34,888 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 160,731 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2558 เก็บภาษีได้ 1,729,203 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 616 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 235,997 ล้านบาท ล่าสุดตัวเลข 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (1 ตุลาคม 2558 – 31 มีนาคม 2559) กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 723,200 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 12,753 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าเป้าหมาย 34,116 ล้านบาท

หากจำแนกตามประเภทภาษี พบว่า ภาษีที่กรมสรรพากรเก็บต่ำกว่าเป้าหมายมากที่สุด อันดับ 1 คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2556 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 47,501 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมปลายปี 2554 ทำให้บริษัท ห้าง ร้าน ชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบปีบัญชี (ภ.ง.ด.50) และจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ, ปี 2557 จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 74,882 ล้านบาท, ปี 2558 จัดเก็บต่ำกว่าเป้า 115,450 ล้านบาท และช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 เก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 12,605 ล้านบาท

อันดับ 2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปี 2556 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 11,913 ล้านบาท เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าชะลอตัวลง แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศ ยังจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย, ปี 2557 จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 70,944 ล้านบาท การบริโภคหดตัวลงตามอุปสงค์ในประเทศ ทำให้กรมสรรพากรเก็บ VAT จากสินค้านำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 67,675 ล้านบาท และจัดเก็บ VAT จากการบริโภคในประเทศต่ำกว่าเป้าหมาย 3,270 ล้านบาท, ปี 2558 จัดเก็บต่ำกว่าเป้า 66,995 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกหดตัว ทำให้การจัดเก็บ VAT จากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 62,231 ล้านบาท และจัดเก็บ VAT จากการบริโภคในประเทศต่ำกว่าเป้าหมายอีก 4,764 ล้านบาท ทั้งภาคการบริโภคและราคาน้ำมันยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจัดเก็บ VAT ช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 ต่ำกว่าเป้าหมาย 25,056 ล้านบาท

อันดับ 3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2556 จัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย 24,034 ล้านบาท เนื่องจากการปรับฐานเงินเดือนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, ปี 2557 จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 13,055 ล้านบาท เกิดจากการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้, ปี 2558 จัดเก็บต่ำกว่าเป้า 9,509 ล้านบาท และครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 จัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 6,492 ล้านบาท เนื่องจากการขยายตัวของฐานเงินเดือนที่สูงกว่าประมาณการและผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา

ต่อประเด็นการเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “การจัดเก็บปี 2559 ยังไงก็หลุดเป้าแน่นอน แต่ยืนยันว่าไม่มากเท่ากับปี 2558 สาเหตุหลักจากเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบลดต่ำลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่จัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2559 เฉลี่ย 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตรงนี้จึงทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจากบริษัทขุดเจาะน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมายหลายหมื่นล้านบาท”

พร้อมย้ำว่า“3 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สรรพากรทำงานกันอย่างหนักมาก ถ้าดูจากมาตรการปรับลดภาษีหลายรายการเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ ระยะสั้นอาจกระทบต่อการจัดเก็บภาษีบ้าง แต่ระยะยาวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างเช่น มาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียว หากผู้ประกอบการลงบัญชีถูกต้อง หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากรครบถ้วน ยอดขายเพิ่มขึ้น กรมสรรพากรก็จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ VAT ได้เพิ่มขึ้นด้วย ขณะนี้ผมยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าปีนี้กรมสรรพากรจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าเท่าไหร่ ต้องขอดูผลการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของปี 2558 ก่อน ตามกำหนดเวลาผู้ประกอบการต้องยื่นภาษีภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงจะคาดการณ์ได้ว่าปีนี้เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายเท่าไหร่” นายประสงค์กล่าว

สรุปสาเหตุที่ทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีพลาดเป้า ปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มาตรการปรับลดภาษีหลายรายการมีผลบังคับใช้ ทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุด อธิบดีกรมสรรพากร เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของสรรพากรภาคและสรรพากรจังหวัดทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2559 เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษี ช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2559

คลังเบ่งตัวเลขจีดีพี-เบ่งงบรายจ่าย คาดการณ์เกินจริง

กราฟิคที่1_2

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าสาเหตุที่ทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย ผลจากการทำใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวมาอย่างเนื่องตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือ“พื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง” (fiscal space) ไม่มากนัก ปี 2548 รัฐบาลมี fiscal space อยู่ที่ 31.8% ของรายได้ภาษี ปี 2553 มี fiscal space ลดลงเหลือ 11.7% ขณะที่รัฐบาลมีรายจ่ายประจำที่ไม่สามารถตัดทอนได้ อาทิ งบบุคลากร, งบดำเนินงาน, ภาระหนี้, งบท้องถิ่น, กองทุนนอกงบประมาณ และภาระผูกพันอื่นๆ เป็นต้น

วิธีการขยาย “พื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง” คือการปรับเพิ่มประมาณการรายได้ของรัฐบาลให้สูงเกินความเป็นจริง ทั้งนี้ เพื่อที่จะเบ่งวงเงินงบประมาณรายจ่ายให้ได้มากที่สุด และรักษาสัดส่วนงบลงทุนให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 17% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี อย่างเช่น ในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณปี 2558 กระทรวงการคลังตั้งประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.325 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปี 2558 ขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี (สภาพัฒน์ฯ ประมาณการจีดีพี ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2557) ขณะที่จีดีพีจริงโตแค่ 2.8% ต่อปี ผลที่ตามมาคือกรมสรรพากรเก็บภาษีหลุดเป้า 235,997 ล้านบาท

หากย้อนกลับไปดูในช่วงที่มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะพบว่า การพยากรณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดย 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ฯ ที่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ เป็นตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริง

อย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2556 เอกสารงบประมาณ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4-5% ต่อปี ตัวเลขจริงของสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% ต่อปี ปีงบประมาณ 2557 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยโต 4-5% ต่อปี ของจริงขยายตัว 0.7% ต่อปี ปีงบประมาณ 2558 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากปีก่อน 3.5-4.5% ต่อปี ตัวเลขสภาพัฒน์ฯ ระบุว่าทั้งปีขยายตัว 2.8% ต่อปี ปี 2559 เอกสารงบประมาณระบุว่าเศรษฐกิจไทยโต 3-4% ต่อปี ใกล้เคียงปี 2558 ตัวเลขจริงขยายตัวเท่าไหร่ ต้องติดตามกันต่อไป (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

เศรษฐกิจไทย 2559

ผลจากการประมาณการตัวเลขจีดีพีเกินจริง ทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากการจัดทำประมาณการรายได้ของรัฐบาล หรือเป้าหมายการจัดเก็บภาษี ถูกกำหนดมาจากจีดีพี เมื่อนำมารวมกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล (งบขาดดุล) คือกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ยกตัวอย่าง

อย่างในปีงบประมาณ 2558 มีการประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริงกว่า 1 แสนล้านบาท ช่วงนั้นนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปี 2558 อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะกรมสรรพากรคาดว่าจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 160,000 ล้านบาท ปรากฏว่าสิ้นปีงบประมาณ 2558 กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 235,997 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2559 สภาพัฒน์ฯ คาดว่า ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวจากปีก่อน 3-4% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี มีมูลค่า 14.12 ล้านล้านบาท กระทรวงการคลังกำหนดเป้าหมายจัดเก็บรายได้ให้รัฐบาล 2.33 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของจีดีพี เฉพาะกรมสรรพากรกำหนดเป้าหมายให้จัดเก็บภาษี 1.89 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.3% ของจีดีพี ล่าสุด สศค. คาดว่ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 129,900 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2560 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัว 3.7-4.2% ต่อปี กระทรวงการคลังจึงตั้งเป้าหมายให้กรมสรรพากรเก็บภาษี 1,867,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 28,000 ล้านบาท หรือลดลง 1.48% ของประมาณการรายได้ปี 2559 หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย กรมสรรพากรก็เก็บภาษีหลุดเป้า ถ้ากระทรวงการคลังหารายได้จากหน่วยงานอื่นไม่เพียงพอที่จะปิดหีบ ส่วนที่เหลือออกพันธบัตรกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลแทน

ภาษีสรรพสามิต

ส่วนภาษีสรรพสามิตจัดเก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม รถยนต์ เรือยอชต์ หรือสินค้าให้โทษต่อสุขภาพ เช่น สุรา ยาสูบ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีเฉลี่ยปีละ 406,824 ล้านบาท และมีอยู่ 2 ปีที่เก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย คือ ปีงบประมาณ 2555 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 25,347 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยปี 2554 และมีการขยายระยะเวลาในการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 0.005 บาทออกไปอีก 1 ปี ตามนโยบายลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมาย 44,939 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2557 เป็นอีกปีที่กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 80,969 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากเศรษฐกิจชะลอตัวและขยายเวลาในการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลอีก 1 ปี ทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมาย 28,597 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งมีการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้ซื้อตามจำนวนตั้งแต่ปี 2556 ทำให้ปี 2557 กรมสรรพสามิตเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าเป้าหมาย 45,127 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังเก็บภาษียาสูบต่ำกว่าเป้าหมาย 11,799 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อบุหรี่ราคาถูกทดแทน

ภาษีศุลกากร

ภาษีศุลกากร ทยอยปรับลดอัตราภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรี และหันไปเพิ่มบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ผลการจัดเก็บภาษีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2,518 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้าหดตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ปีงบประมาณ 2557 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 22,959 ล้านบาท เนื่องจากมูลค่าการนำเข้ายังหดตัวต่อเนื่อง ปี 2558 เก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 6,912 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้กรมศุลกากรขาดรายได้ไปประมาณ 6,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 กระทรวงการคลังจึงตั้งเป้าหมายให้กรมศุลกากรเก็บภาษี 122,400 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 ตั้งเป้าหมายให้กรมศุลกากรเก็บภาษีลดลงเหลือ 120,500 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้าหมายให้กรมศุลจัดเก็บภาษี 120,500 ล้านบาทเท่ากับปี 2559