ThaiPublica > คนในข่าว > “แชมป์-ทีปกร” อ่านพฤติกรรมผู้เสพข้อมูล มองสื่อเก่าสู่สังคมดิจิทัล “อย่าคิดว่าแค่เปลี่ยนภาชนะก็จบแล้ว”

“แชมป์-ทีปกร” อ่านพฤติกรรมผู้เสพข้อมูล มองสื่อเก่าสู่สังคมดิจิทัล “อย่าคิดว่าแค่เปลี่ยนภาชนะก็จบแล้ว”

7 มิถุนายน 2016


ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

แม้องค์กรสื่อสิ่งพิมพ์จะพยายาม “ปรับตัว” ให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อให้อยู่รอดได้ในทางธุรกิจ ด้วยการใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเปิดเว็บไซต์รายงานข่าวสาร และปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านผ่านทางโซเชียลมีเดีย

แต่ปรากฏการณ์ที่นิตยสารชื่อดังหลายหัวยังทยอยปิดตัวลง อาจเป็นคำตอบกลายๆ ว่า วิธีการดังกล่าวยังไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” ที่จะอยู่รอดในยุคสมัยแห่งดิจิทัล

เพราะธรรมชาติการสื่อสารและการเสพรับข้อมูลข่าวสารผ่าน “สื่อออนไลน์” เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่แตกต่างจาก “สื่อออฟไลน์” เกือบจะโดยสิ้นเชิง

ในนั้นเป็นโลกอีกใบ ที่มีพื้นที่ ความหลากหลายของประชากร ทั้งในเชิงอายุ รสนิยม วิถีชีวิต ความเชื่อ ไปจนวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งแตกต่างจากโลกที่สื่อดั้งเดิมคุ้นเคย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้พูดคุยกับ “แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล” ในฐานะผู้คุ้นเคยกับการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์มายาวนาน ทั้งเป็นบล็อกเกอร์รุ่นแรกๆ ของเมืองไทย เป็นผู้ก่อตั้งเว็บให้บริการบล็อกอย่าง exteen เมื่อกว่าสิบปีก่อน ต่อมาเมื่อโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมก็เปิดเพจ “พูดอะไรไม่ได้ให้มีเขี่ย” และ “รอบหน้าจริงกว่านี้อีก” ซึ่งทำขึ้นเพื่อพิสูจน์สมมติฐานบางอย่างเกี่ยวกับการเสพรับข้อมูลของคนบนอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันเปิดเว็บไซต์ minimore ที่อยู่ใต้ร่วมเดียวกับสำนักพิมพ์แซลมอน เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์สังคมอย่างเข้าใจง่าย และถูกจริตพฤติกรรมการเสพรับสื่อของชาวเน็ตทั้งหลาย

นอกจากนี้ เขายังเป็นคอลัมนิสต์ผลงานชุก ทั้งในนิตยสาร a day, GM และเนชั่นสุดสัปดาห์ แถมยังออกพ็อคเก็ตบุ๊กมาแล้วหลายเล่ม ล่าสุดคือ Wake Me Up When Now Ends รวบบทความคัดสรรว่าด้วยนวัตกรรมทางความคิดสุดล้ำ

สำนักพิมพ์แซลม่อนให้นิยามทีปกร หนุ่มหน้ามนวัยสามสิบต้นๆ ว่าเป็น “มนุษย์ขี้บ่น ผู้ทำงานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี” และ “นักเขียนผู้จับตาอนาคตผ่านการเฝ้าสังเกตโลกปัจจุบันที่กำลังหมุนด้วยความเร็วเต็มสปีด”

เขามองพฤติกรรมการเสพรับสื่อในโลกออนไลน์อย่างไร และมองการปรับตัวของสื่อออฟไลน์อย่างไร

ไทยพับลิก้า: ช่วยเล่าประสบกาณ์ทำงานเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ที่ผ่านมา

ผมกับเพื่อนเริ่มทำเว็บบล็อก exteen ตั้งแต่ยังเรียนคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปี 2 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนั้นไม่ได้คิดเป็นธุรกิจอะไรเลย แต่คิดว่าทำสนุกๆ แต่ทำไปทำมาก็มีคนรู้จักมากขึ้น อาจเพราะเรารู้จักการเขียนโปรแกรม เลยทำให้เว็บมันยืดหยุ่นมากขึ้น คนสามารถแต่งอะไรได้ตามใจ ตอนนั้นเรียกว่ายุค 2.0 ยังมีบล็อกไม่มากในเมืองไทย เป็นยุคการเขียนไดอารีออนไลน์ ซึ่งทั้ง 2 อย่างต่างกัน เรื่องความเป็นสาธารณะกับความเป็นส่วนตัว เวลาคนอ่านจะรู้สึกไม่เหมือนกัน พอบล็อกเริ่มได้รับความนิยม คนก็เริ่มเข้ามาเขียน เริ่มมีการสื่อสาร 2 ทางมากขึ้น จากที่สมัยก่อน ยุค 1.0 เป็นแค่เขียนให้คนอ่านอย่างเดียว

ต่อมาเข้าสู่ยุคเฟซบุ๊ก เมื่อมีเฟซบุ๊กทำให้ความจำเป็นของบล็อกลดลงไป เพราะคนมีช่องทางสื่อสารมากขึ้น แล้วฟังก์ชันของเฟซบุ๊กมันแทนบล็อกได้ ผมเลยเข้าไปทำเพจ “พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย” กับ “รอบหน้าจริงกว่านี้อีก” คือเราทำด้วยความสนุกๆ ด้วยความที่เป็นคนเขียนการ์ตูน แล้วชอบติดตามประเด็นสังคม เลยลองเอาประเด็นเหล่านั้นไปเล่าในอีกแบบ ซึ่งทำไปฟีดแบ็กก็ค่อนข้างดี กระทั่งได้มาทำเว็บไซต์ minimore กับสำนักพิมพ์แซลมอน เพราะผมเป็นนักเขียนที่นี่อยู่แล้ว และคิดว่าน่าจะมีอะไรที่เชื่อมระหว่างคนอ่านในโลกออฟไลน์กับออนไลน์ จึงใช้เว็บไซต์นี้เป็นสะพานเชื่อมตรงกลาง

ไทยพับลิก้า: ด้วยประสบการณ์ใช้สื่อออนไลน์ที่หลากหลาย ตั้งแต่บล็อก เฟซบุ๊ก เพจ มาจนถึงเว็บไซต์ เห็นความแตกต่างอะไรบ้าง

เริ่มจากบล็อกกับเฟซบุ๊กก่อน บล็อกมันให้พื้นที่ในการเขียนมากกว่า ทำให้คนอยู่กับมันนานๆ เลยเอื้อต่อการเขียนแบบ long form ส่วนเฟซบุ๊กเนื่องจากทุกอย่างมันแข่งกันในหน้าฟีด เวลาจะทำ content อะไรก็ต้องคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์พื้นที่ด้วยว่ามันจะดึงความสนใจได้แค่ไหน เราจะเห็นว่า content ในเฟซบุ๊กส่วนใหญ่จะเป็นรูป แล้วต้องเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะถ้าเป็น text มันจะตัดเป็น see more เลยทำให้เกิด form การนำเสนอข้อมูลที่เป็นแบบเฟซบุ๊กขึ้นมา

ไทยพับลิก้า: โซเชียลมีเดียแต่ละประเภทก็เหมาะกับเนื้อหาที่ต่างกัน

ต่างกันเลย โซเชียลฯ แต่ละประเภท มี form ที่แตกต่างกัน ทำให้ธรรมชาติและอารมณ์ของ content มันต่างกันไปด้วย อย่าง “ทวิตเตอร์” มีพื้นที่แค่ 140 ตัวอักษร สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพื้นที่แค่นี้คือตลกร้ายและเสียดสี เพราะมันไม่มีพื้นที่ให้อธิบายมุกยาวๆ “เฟซบุ๊ก” จะเหมือนคนที่ค่อนข้างแจ๋น พูดเยอะ “อินสตาแกรม” จะเป็นพวกชีวิตดี๊ดี ทุกคนอาสิ่งที่ดีของตัวเองออกมา แล้วมันมีความอวดอยู่ ส่วน “ทัมเบลอร์” จะเป็นพวก ตลกเศร้า คนชายขอบ อกหักรักคุด

ไทยพับลิก้า: form ของโซเชียลฯ ไปส่งผลต่อ content ว่าต้องมีลักษณะนิสัยประมาณนั้นแหละ ถึงจะรุ่ง

มันเป็นลักษณะว่า ถ้ามีอะไรอยู่ตรงนั้นเยอะ มันก็จะดึงดูดคนประเภทนั้นเข้าไปเหมือนกัน เช่น ถ้าเราเลื่อนอินสตาแกรมแล้วเจอแต่ภาพสวยๆ เราก็อยากมีภาพสวยๆ ไว้ในอินสตาแกรมของเราบ้าง มากกว่า

ไทยพับลิก้า: หากเรารู้ลักษณะเฉพาะของแต่ละโซเชียลฯ แล้วใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จะทำให้การเติบโตของ content ในโซเชียลฯ แตกต่างไปหรือไม่ และอย่างไร

ผมว่าคนไทยรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้น จะมีผลเพียงแค่ว่า เราจะเอา content แบบไหนไปวางไว้ในสื่อไหนมากกว่า ถ้ายกตัวอย่างในต่างประเทศ Buzzfeed แม้จะมีเว็บไซต์เป็นตัวกลาง แต่เขาก็ถือโซเชียลฯ อยู่มากกว่า 90 บัญชี ซึ่งทุกบัญชีก็มีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน เพราะอารมณ์ของแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน วิธีการเรียกคนให้มาดูก็ไม่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าทำแบบที่ Buzzfeed ทำแล้วมันจะเวิร์ก ไม่ใช่ทุกอย่างจะเวิร์กในเมืองไทย

เฟซบุ๊กเป็นปัญหากับสื่อทั่วโลก เพราะมันทำให้เกิดภาวะอินเทอร์เน็ต 2 ระดับ คืออินเทอร์เน็ตในกับนอกเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กก็พยายามจะขยายอินเทอร์เน็ตในเฟซบุ๊กให้ใหญ่ที่สุด …แต่ปัญหามันไม่ใช่ว่าเฟซบุ๊กจะครองโลก แต่จะทำให้อินเทอร์เน็ตนอกเฟซบุ๊กกลายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า

ไทยพับลิก้า: การสื่อสารยุคใหม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อที่มีความเป็นสถาบัน อย่างองค์กรสื่อกระแสหลัก อีกหรือไม่ ในเมื่อใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้

เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่า การเป็นสื่อสถาบันดีมากเลย เราจะเชื่อว่าข่าวที่ออกจากหนังสือพิมพ์ดูน่าเชื่อถือมาก แต่ก็มีหลายครั้งที่พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง แน่นอนว่า ข้อดีของความเป็นสถาบันมันคือมีการกรองหลายชั้น เหมือนน้ำกรอง แต่น้ำกรองก็ใช่ว่าจะสะอาดเสมอไป เช่น บ.ก. มีแนวคิดไม่ตรงกับนักข่าว ก็ไปบอกว่าเขียนโจมตีบริษัทนั้นบริษัทนี้ไม่ได้ หรือบางครั้งนักข่าวอาจมีความรู้ไม่เพียงพอ กลายเป็นปัจเจกบนเน็ตมีความรู้มากกว่านักข่าว เช่น ถ้าเกิดแผ่นดินไหว คนที่เป็นนักธรณีวิทยาจะสามารถอธิบายได้เร็วและดีกว่านักข่าว แถมยังตอบคำถามคนในโซเชียลฯ ได้อีก กลายเป็นเราสามารถเจอกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านนักข่าว

ไทยพับลิก้า: แสดงว่าการบูมของโซเชียลฯ ท้ายที่สุดอาจตัดคนที่เคยเป็น “คนกลาง” ทิ้งไปได้

โลกดิจิทัลไม่ได้ตัดคนกลางออกไปซะทีเดียว เพียงแต่ต้องการคนกลางที่ดีขึ้น ที่สามารถนำเสนอข้อมูลที่เราไม่เคยเห็น ที่สามารถนำเสนอข้อมูลอย่างมีรสนิยมและรอบด้านมากขึ้น โอเค เราอาจจะมีผู้เชี่ยวชาญสักพันล้านคน แต่เราไม่ได้มีทางรู้ได้ว่าแต่ละคนพูดอะไรบ้าง ฉะนั้น คนกลางยังจำเป็นอยู่ นักข่าวยังจำเป็นอยู่ แต่ถ้าคุณทำอะไรมั่วๆ ก็จะมีผลลัพธ์ตามมา

ไทยพับลิก้า: โลกทุกวันนี้จะบีบให้คนกลางต้องพัฒนาตัวเอง

จริงๆ มันก็บีบคนกลางในทุกที่ หากบางทีก็จะส่งผลให้ต้องคัดสรรข่าว niche (เฉพาะทาง) มากขึ้น

ไทยพับลิก้า: คนกลางที่เป็น mass อาจจะไม่มีอีกต่อไป

ก็น่าจะลดลงเรื่อยๆ อย่างนิตยสาร พวกคอลัมน์ที่ไม่ต้องอ่านก็ได้ จะหายไปเป็นอย่างแรกเลย ส่วนคอลัมน์ที่มีเนื้อหาเชิงลึกจะไปทีหลัง

ผลงานของทีปกรในเฟซบุ๊กแฟนเพจ "พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย" ที่พูดถึงประเด็นสำคัญของสังคมอย่างแหลมคมผ่านตัวการ์ตูนหมีขาวหุ่นกลมๆ หน้าตาน่ารัก
ผลงานของทีปกรในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย” ที่พูดถึงประเด็นสำคัญของสังคมอย่างแหลมคมผ่านตัวการ์ตูนหมีขาวหุ่นกลมหน้ามึน

ไทยพับลิก้า: วิวัฒนาการของโลกดิจิทัลส่งผลต่อพฤติกรรมคนอ่านอย่างไร

ผมมองว่า content จะแตกตัวเป็น item (รายการ) ต่างๆ มากขึ้น เช่น คนจะไม่เข้าหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์อีกต่อไป แต่ไม่ใช่แปลว่าเขาจะไม่เข้าเว็บนั้นนะ เพียงแต่เข้าเป็น item หรือเป็นชิ้นๆ ไง เพราะทุกอย่างถูกกระจายโดยโซเชียลฯ หมด ทำให้การยึดติดกับสื่อค่ายต่างๆ อาจจะน้อยลง แต่ละค่ายจึงต้องทำให้ตัวเองมีคาแรกเตอร์มากขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าจะอ่านเนื้อหาแบบนี้ได้จากค่ายไหน

สุดท้าย เลยทำให้ข่าวมันเหวี่ยง จากสมัยก่อน หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ ข่าวจะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่ที่ขนาดพาดหัว บ.ก. จะควบคุมได้ว่าจะให้อะไรดัง แต่ปัจจุบันคุณจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสนใจของมหาชน

ไทยพับลิก้า: โซเชียลฯ ที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก

จริงๆ เฟซบุ๊กเป็นปัญหากับสื่อทั่วโลก เพราะมันทำให้เกิดภาวะอินเทอร์เน็ต 2 ระดับ คืออินเทอร์เน็ตในกับนอกเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กก็พยายามจะขยายอินเทอร์เน็ตในเฟซบุ๊กให้ใหญ่ที่สุด ไม่ให้มีอะไรหลุดไปข้างนอกเลย ปัญหาคือมันทำให้เกิดการผูกขาดทางอินเทอร์เน็ต จนเฟซบุ๊กมีอำนาจมากเกินไป พอเขาขึ้นค่าโฆษณามาที ทุกคนก็ตายหากไม่ยอมซื้อค่าโฆษณาโพสต์

แต่ปัญหา มันไม่ใช่ว่าเฟซบุ๊กจะครองโลก แต่คือจะทำให้อินเทอร์นอกเฟซบุ๊กกลายเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า และเฟซบุ๊กกลายเป็นเมืองหลวงของอินเทอร์เน็ต

ไทยพับลิก้า: เท่าที่ดู การที่สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ หันไปใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ เช่น เปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊ก มันเข้ากับธรรมชาติของสื่อนั้นๆ แล้วหรือยัง

ถ้าดูจากภาษาที่เขาใช้ ยังเขียนมาเป็นภาษาในหนังสือ ซึ่งไม่เข้ากับภาษาบนเว็บสักเท่าไร ส่วนใหญ่เวลาที่สื่อเก่ามาทำสื่อใหม่ เขาจะคิดแค่ว่าทำซ้ำของที่เขาทำอยู่แล้ว ไหนๆ ทำข่าวแล้วก็เอาขึ้นเว็บสิ มันไม่มีการปรับให้เข้ากับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต ซึ่งในทางหนึ่งอาจจะทำได้เพราะเขาเป็นสถาบัน เป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายมากที่สุด เป็นนิตยสารที่มีคนอ่านมากที่สุด ยังไงแฟนก็ต้องตามมาอ่านอยู่แล้ว เพราะ brand แข็งแกร่ง มีคนกดไลก์ในเฟซบุ๊กเยอะ แต่ในอีกด้านก็ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของสื่อที่เป็นสถาบันเช่นกัน

ในต่างประเทศเวลาจะทำสื่อออนไลน์ เขาจะตั้งขึ้นมาอีกกองเลย เพื่อปรับเนื้อหาในสิ่งพิมพ์ก่อนจะนำขึ้นเน็ต เพราะเขาเข้าใจว่ามันไม่เหมือนกัน แต่ในไทยจะรู้สึกว่ามันคือ “งานแถม” ถ้าคุณใช้ content เหมือนที่ลงในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเลย มันอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพที่สุดในการดึงดูดให้คนเข้ามาอ่าน

ไทยพับลิก้า: สามารถพูดได้ว่า ถ้าทำ content ออนไลน์ให้แตกต่างจากออฟไลน์ ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่รอดไหม

ตอนนี้มีคนทำแตกต่างจากนั้น เขาทำกลับหัวกลับหาง เช่น นิตยสารเกมบางฉบับ ทำ content สำหรับออนไลน์ก่อน แล้วค่อยเอาไปลงออฟไลน์ เพราะเขาจะดูฟีดแบ็กก่อนว่าบทความไหนดี หรือมีคนอ่านมากๆ แล้วค่อยนำมาพิมพ์ ซึ่งผมกลับคิดว่านี่คือโมเดลที่ถูกต้อง เพราะอย่างไรออนไลน์ก็เร็วกว่าอยู่แล้ว บางข่าวมันต้องการความเร็ว จะไปบอกว่าให้รอลงแมกกาซีนก่อนแล้วค่อยขึ้นเน็ตไม่ได้ ข่าวเกิดวันนี้จะให้รอซื้ออ่านในอีก 1 เดือนข้างหน้า บ้าหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า: เขาไม่กลัวหรือว่าคนอ่านบนเว็บหมดแล้วจะไม่ซื้อหนังสืออ่าน

ไม่ เพราะเขาคิดว่ามันคือระบบเดียวกัน ไม่ว่าจะลงที่ไหนก่อน ถ้ามีคนมาอ่านเยอะๆ เอเจนซี่ก็นำโฆษณามาลงเหมือนกัน โอเค ถ้าเอเจนซี่มาลงโฆษณากับออนไลน์แล้วจะไม่ลงกับนิตยสาร อันนี้ถึงค่อยน่าหวง แต่เขาใช้วิธีขายพ่วง คือออนไลน์ไปกับนิตยสารด้วย อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหวง เพราะแหล่งรายได้ไม่ว่าจะนับเป็น “หัว” ที่มาจากการอ่านแบบไหน ก็เป็น “หัว” เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: เท่าที่ทำงานกับอินเทอร์เน็ตมาสิบกว่าปี ตั้งแต่สมัยบล็อก exteen มาจนถึงเว็บไซต์ minimore โมเดลในการหารายได้มีอะไรที่แตกต่างไปบ้างหรือไม่

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ผมว่ามันไม่ค่อยจะต่างกันเลย ที่เริ่มจะต่างไปคือความเข้าใจของเอเจนซี่ จากยุคเริ่มแรกเขาจะมองว่าโฆษณาบนเว็บเหมือนโฆษณาในหนังสือพิมพ์ คือคุณต้องทำ ad ของฉันให้ใหญ่ที่สุดสิ ให้บังหน้าเว็บเลยได้ไหม แต่สิ่งที่การโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตให้ได้ แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์มันให้ไม่ได้ คือ “การวัดค่าที่เที่ยงตรง” จากที่สมัยก่อนใช้วิธี “เคลม” ว่ามียอดพิมพ์เท่าไร

ต่อมา คือยุคของการขายแบบเนียนๆ คุณแชมป์ชวนเขียนเหมือนว่าไปเจอมาเองได้ไหม ไปเจอผลิตภัณฑ์นี้แล้วชอบมาก แต่คุณต้องบอกคุณสมบัติของสินค้านี้ทั้ง 10 ข้อให้ครบนะ ยังเป็นยุคที่เอเจนซี่ดูถูกคนดูอยู่ คิดว่าเขาไม่รู้ แต่ตอนนี้การขายแบบเนียนๆ น่าจะหมดไปแล้ว

มาถึงยุคปัจจุบัน โฆษณาก็บอกเลยว่าโฆษณา แค่ทำให้มันสนุก แล้วก็มีความพยายามประดิษฐ์ให้ชนะข้อจำกัดอยู่ตลอดเวลา เช่น วิดีโอใน “ยูทูบ” จะให้โฆษณาแค่ 5 วินาทีก่อนที่คนดูจะกดข้ามได้ เขาก็พยายามทำให้ 5 วินาทีนั้นมันสนุกจนคนดูไม่กดข้าม หรือถ้าจะบล็อก ต่อไปก็จะบล็อกไม่ได้แล้ว เพราะเนื้อหาในโฆษณาจะเหมือนบทความดีๆ ชิ้นหนึ่งเลย ทำให้คนดูยุคนี้จะชอบ ขายก็ขาย ตรงไปตรงมา ดังนั้น เวลาเอเจนซี่ติดต่อมาก็บอกว่า ไม่ต้องไปหลอกคนดูหรอก พอได้ทำงานด้วยกันมากขึ้น เอเจนซี่ก็เข้าใจมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี

ไทยพับลิก้า: แต่พฤติกรรมคนใช้เน็ตไทยโดยทั่วไปคือขี้เบื่อและขี้บ่น หากขายของตรงๆ โต้งๆ เขาจะไม่ยิ่งต่อต้านหรือ

จะไม่ต่อต้านถ้าโฆษณานั้นมันสร้างสรรค์ไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าทำคลิปออกยูทูบคลิปแรกเป็นแบบนี้ คลิปต่อไปเป็นแบบเดิม คนก็จะเห็นลายเซ็น ดูก็รู้แล้ว ทำให้สตูดิโอต่างๆ ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วถ้ามันดีจริง ต่อให้เป็นโฆษณาคนก็แชร์

ไทยพับลิก้า: อยากให้ช่วยอธิบายวิธีการหารายได้จากการเป็นผู้ทำ content ในออนไลน์หน่อย ว่ามีวิธีไหนบ้าง

หลักๆ ก็จะมีการขายโฆษณา การเก็บค่าสมาชิก การหักเปอร์เซ็นต์จาก transaction ต่างๆ รวมไปถึงการรับบริจาค

โอเค อาจมีการพูดกันว่าคนใช้เน็ตส่วนใหญ่ชอบของฟรี แต่ผมคิดว่าเขาก็พร้อมจะซื้อถ้ารู้สึกว่าสิ่งนั้นมันมีเอกลักษณ์ อย่างพวกสติ๊กเกอร์ต่างๆ ในไลน์ หรือถ้าจะเก็บสมาชิกก็ต้องทำให้ content ของคุณเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ หรือหาจากที่อื่นไม่ได้ อย่างคุณเป็นสำนักข่าวก็ทำข่าวแบบ in-depth ไปเลย อย่างสำนักข่าวอิศรา ผมว่าถ้าเขาเปิดรับบริจาค คงจะมีคนบริจาคให้แน่

สิ่งสำคัญในการปรับตัว (ของสื่อเก่า) ไม่ใช่แค่เปลี่ยนภาชนะเฉยๆ จะมองว่า content เป็นน้ำเหมือนกันหมด แค่เปลี่ยนจากเหยือกไปเทใส่แก้วไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่าวิธีการอ่านบนออนไลน์มันไม่เหมือนการอ่านบนสื่อเดิมเลย เมื่อ form เปลี่ยน content ก็ต้องเปลี่ยนไป นี่คือความท้าทายใหม่ๆ ของคนทำงานสื่อที่จะปรับตัวต่อไปในอนาคต

ไทยพับลิก้า: ในโลกออนไลน์ คนอ่านยังมี brand loyalty (การภักดีต่อแบรนด์นั้นๆ) อยู่ไหม หรือติดตามอ่านเฉพาะที่ตัวเองสนใจ ไม่ได้สนว่ามาจากองค์กรไหนหรือแหล่งใด

การกดไลก์เพจต่างๆ ยังไม่ใช่ brand loyalty นะ มันเป็นแค่การเพิ่มโอกาสในการเจอกันมากกว่า สมมติผมกดไลก์เพจข่าวเพจหนึ่ง ไม่ใช่ผมจะเข้าไปอ่านข่าวจากเพจนั้นทุกวัน ผมแค่เพิ่มโอกาสที่ข่าวจากเพจนั้นจะมาขึ้นบนหน้าฟีดผมแค่นั้น มันเป็นความสัมพันธ์แบบที่ “เกาะมือกันหลวมๆ” มากกว่า ไม่ใช่ loyalty ผมอาจจะกด bookmark เว็บไซต์ต่างประเทศบางเว็บบ้าง เพื่อจะได้ไปหาข้อมูลจากหน้าโฮมเพจของเว็บนั้น แต่นั่นคือต้องเอาไปทำอะไรต่อ จริงๆ จังๆ

ไทยพับลิก้า: ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไรให้คนอ่านบนออนไลน์ loyalty ต่อแบรนด์ขององค์กรสื่อ

ก็ต้องทำให้คาแรกเตอร์ของเว็บไซต์ของคุณชัดเจน สิ่งที่จะทำให้เกิด loyalty ได้คือทำให้คนอ่านรู้สึกว่า เมื่อเข้ามาอ่านข่าวของคุณแล้วเขาจะเป็นคนแบบไหน อย่างไร เหมือนสมัยก่อนอ่านนิตยสารบางเล่มต้องเอาปกออกเพื่อให้คนเห็น นั่นคือ loyalty ต่อเว็บ ไม่ใช่วัดแต่ยอดกดไลก์ การที่เขาแชร์ข่าวจากเว็บนี้บ่อยๆ ถึงจะบอกว่า เขาภูมิใจที่ให้เราไปอยู่บนหน้าวอลของเฟซบุ๊กเขา แล้วจะทำอย่างไรให้เขาภูมิใจ ก็ต้องทำให้เว็บเรามีคาแรกเตอร์บางอย่างที่เขารู้สึกว่า เมื่อเขาอยู่กับเรา ได้อ่านข่าวจากเรา แล้วเขามีบุคลิกอย่างที่เขาอยากจะเป็น

ไทยพับลิก้า: การที่ผู้ใช้เน็ตติดการเสพอะไรง่ายๆ เร็วๆ ทำให้เกิดเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวแบบ clickbait ขึ้นมา คือใช้พาดหัวล่อ ทั้งๆ ที่เนื้อหาไม่ได้มีอะไร ในฐานะคนทำสื่อ มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ตอนนี้ เว็บไซต์ clickbait ก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิมเท่าไร จากที่สมัยก่อนคนแชร์กันใหญ่ เพราะคนเริ่มรู้แล้วว่ามันคืออะไร เวลาแชร์ไปมันให้ภาพอะไรกับตัวเอง ผมมองว่ากระแสจะตีกลับไปกลับมา ผู้ใช้เน็ตจะกลับไปอ่านอะไรที่เนื้อหายาวๆ มากขึ้น

ไทยพับลิก้า: ในฐานะคนทำสื่อ คลุกคดีกับออนไลน์มานาน มองการปรับตัวของสื่อเก่าเข้าหาสื่อใหม่ และอนาคตของสื่ออย่างไร

สิ่งสำคัญในการปรับตัว ไม่ใช่แค่เปลี่ยนภาชนะเฉยๆ จะมองว่า content เป็นน้ำเหมือนกันหมด แค่เปลี่ยนจากเหยือกไปเทใส่แก้ว ไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่าวิธีการอ่านบนออนไลน์มันไม่เหมือนการอ่านบนสื่อเดิมเลย เมื่อ form เปลี่ยน content ก็ต้องเปลี่ยนไป นี่คือความท้าทายใหม่ๆ ของคนทำงานสื่อที่จะปรับตัวต่อไปในอนาคต

หน้าตาของเว็บไซต์ minimore ที่ทีปกรเป็นผู้ก่อตั้ง ล่าสุดได้ทดลองฟีเจอร์ใหม่คือให้คนอ่านสามารถผลิต content ของตัวเองขึ้นบนเว็บได้!
หน้าตาของเว็บไซต์มินิมอร์ (minimore.com) ที่ทีปกรเป็นผู้ก่อตั้ง ล่าสุดยังได้ทดลองฟีเจอร์ใหม่คือ minimore makers ที่ให้คนอ่านสามารถผลิต content ของตัวเองขึ้นบนเว็บได้!

การทดลองของ “ทีปกร”

นับแต่สร้างเว็บล็อก exteen เป็นชุมชนออนไลน์ให้คนมาถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างกันผ่านบล็อก เมื่อทศวรรษก่อน

“แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล” ก็ทดลองทำอะไรมากมายผ่านโลกออนไลน์ และเว็บไซต์ minimore (ใต้ร่มสำนักพิมพ์แซลม่อน) ก็ถือเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ครั้งล่าสุดของเขา โดยกำเนิดของเว็บนี้ก็คล้ายๆ กับสื่อออนไลน์อีกหลายแห่ง คือ “ต้องการทำ content ที่ตัวเองอยากอ่าน”

“ผมชอบอ่านข่าวนะ แต่รู้สึกว่ายังไม่มีข่าวที่อธิบายในจุดที่เราอยากรู้ บางข่าวอ่านแล้วก็จะมีคำถามว่า แล้วยังไงต่อ เป็นที่มาของ minimore ที่เราอยากมาทำหน้าที่ตรงนั้น คล้ายๆ กับเป็นคอลัมน์ sidebar ในนิตยสาร หรือ นสพ. นำเสนอข้อมูลอะไรที่อ่านสนุกๆ”

เขากำหนดไว้ว่า ข่าวแต่ละชิ้นของ minimore จะมีความยาวไม่เกิน 1,200 คำ คือให้เหมาะกับพฤติกรรมการอ่านข่าวบนเน็ต คือไม่ยาวมาก แม้กระแสการเขียนงานยาวๆ เป็น long form ในเมืองนอกจะค่อนข้างมาแรง แต่ส่วนตัวมองว่าน่าจะฮิตแบบ niche คือเฉพาะกลุ่มมากกว่า ไม่ใช่ mass

“ถ้าใช่ว่างานเขียนแบบ long form จะอยู่ไม่ได้นะ เพราะถึงจะ niche แต่ก็เป็น 5-10% ของคนอ่านทั้งหมด เพียงแต่ข่าวใน minomore เราอยากให้มันไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป”

นอกจากนี้ ปัจจุบันเขายังทำเพจ “Teepagorn’s The List” และเพจ “Champ Teepagorn” หลังจากเคยทำเพจ “พูดอะไรไม่ได้ให้หมีเขี่ย” และ “รอบหน้าจริงกว่านี้อีก” จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ก่อนจะตัดสินใจเลิกทำในเวลาต่อมา เมื่อรู้สึกว่าการทำ 2 เพจหลังไม่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวอีกต่อไป กลายเป็นทำไปเพราะอยากได้ฟีดแบ็ก ได้ยอดไลก์-ยอดแชร์เยอะๆ จากเดิมที่ต้องการใช้เพื่อทดสอบปฏิกิริยาของสังคม ผ่านการโยนประเด็นที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้นๆ ลงไปในเพจ

“ผมเลิกทำเพราะหงุดหงิดตัวเอง”

สำหรับเพจปัจจุบันทั้ง 2 เพจ ทีปกรก็บอกว่า เป็นการใช้เพื่อ “ทดลอง” อะไรบางอย่าง โดยผลพลอยได้คือการได้ข้อมูลไปเขียนหนังสือ เพราะการทำเพจเหมือนกับการ “อ่านหนังสือออกเสียง” คนที่ได้ยินก็จะช่วยมาต่อยอดจากข้อมูลที่เขามี เช่น บางคนอาจจะมาบอกว่ามันมีงานวิจัยเรื่องนี้อยู่แล้ว จากนั้นก็นำลิงก์มาแปะไว้ในเพจให้ ทำให้สิ่งที่เขาคิดอยู่มันครบถ้วนมากขึ้น

ไม่เพียงติดตาม “ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” เขายังติดตาม “ความเปลี่ยนแปลงของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน” ที่กระทำต่อกันผ่านเทคโนโลยีด้วย