ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินเฟ้อต่ำ เพราะราคาน้ำมันลดลงเท่านั้นจริงหรือ?

เงินเฟ้อต่ำ เพราะราคาน้ำมันลดลงเท่านั้นจริงหรือ?

3 มิถุนายน 2016


พิม มโนพิโมกษ์ [email protected]
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “พลวัตเงินเฟ้อไทยภายใต้กระแสโลก” เผยแพร่ใน website ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=2032
ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=2032

หลายท่านอาจรู้สึกว่าพักนี้ ราคาข้าวของในท้องตลาดนั้นแพงขึ้นเรื่อยๆ ขัดกับข้อเท็จจริงที่เงินเฟ้อไทยติดลบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานถึง 15 เดือน ตั้งแต่ต้นปี 2558 ซึ่งแปลว่า ราคาสินค้าและบริการโดยส่วนใหญ่ของประเทศในปีที่ผ่านมาปรับลดลงเรื่อยๆ แต่หากพิจารณาจากราคาสินค้ารายย่อย ปัจจัยหลักที่ฉุดให้เงินเฟ้อไทยติดลบคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ร่วงลงมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดพลังงาน และราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีต้นทุนจากน้ำมันปรับลดลงตามไปด้วย หากแต่ราคาสินค้าในบางประเภท เช่น อาหารสด ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่

จากมุมมองนี้ อย่างน้อยเราก็สบายใจได้ในระดับหนึ่งว่า เงินเฟ้อไทยที่ติดลบคงไม่ได้เข้าข่ายภาวะเงินฝืด อย่างที่ใครๆ เกรงกันว่าจะเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเรื้อรังเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นได้ประสบเมื่อปลายทศวรรษ 1990 เพราะราคาสินค้าและบริการโดยส่วนใหญ่ของไทยยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ สะท้อนการจับจ่ายใช้สอยที่ยังผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังขยายตัวไปได้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ค่อนข้างเป็นไปอย่างล่าช้า ดังนั้น คำถามที่อาจตามมาก็คือ แล้วเงินเฟ้อไทยจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเท่าไหร่ และเมื่อราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นในวันข้างหน้า เงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นหรือไม่

งานวิจัยของผู้เขียนพบว่า สาเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำ แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากราคาน้ำมันที่ต่ำเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลพวงมาจากการที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทวีความรุนแรงนับตั้งแต่ช่วงปี 2000 ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยอ่อนไหวไปกับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือ การที่ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น ประเทศจีน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีการค้าโลกมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปี 2000 ส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อในประเทศที่ค้าขายกับประเทศเหล่านี้ลดลงตามราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลง

นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ยังสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อผ่านการปรับลดลงของราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้านำเข้าได้อีกด้วย เพราะการเปิดการค้าเสรีประกอบกับการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตทั่วโลกที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ย่อมส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดโลกที่เข้มข้นขึ้นนั้น สามารถทำให้เงินเฟ้อต่ำลงได้จากการที่ผู้ประกอบการยอมลดกำไรของตัวเองลงในบางส่วนเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด หรือย้ายฐานการผลิตเพื่อแสวงหาปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า

pier5_รูปที่ 1 A

pier5_รูปที่ 1 B

กระแสโลกาภิวัตน์มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อไทยเป็นอย่างมาก โดยสามารถสังเกตจากรูปด้านบนซึ่งใช้วิธีทางเศรษฐมิติในการแยกองค์ประกอบของแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เงินเฟ้อไทยเริ่มเคลื่อนไหวไปกับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น และอ่อนไหวต่อปัจจัยภายในประเทศน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยเปิดตัวทางการค้าสูงขึ้นกว่าเดิม โดยสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อผลผลิตมวลรวมของไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 ในช่วงปี 1993-1999 เป็นร้อยละ 104 หลังปี 2000 ทั้งนี้ ผู้เขียนยังพบว่า นอกเหนือจากผลกระทบของราคาน้ำมันโลกแล้ว ปัจจัยภายนอกประเภทอื่นๆ เช่น แรงกดดันด้านราคาที่มาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดที่เปิดเสรียังคงมีความสำคัญต่อเงินเฟ้อไทยอยู่มาก

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า ในยุคของโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยคงต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อต่ำไปอีกนาน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตก็ตาม

แล้วธนาคารกลางจะสามารถทำอะไรได้ในการควบคุมดูแลเงินเฟ้อของประเทศไม่ให้ต่ำจนเกินไป ในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อยังอ่อนไหวไปกับปัจจัยภายนอกประเทศเช่นนี้ หากสังเกตจากประสบการณ์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว หลายประเทศที่กำลังผจญอยู่กับปัญหาเงินเฟ้อต่ำ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ กลุ่มสหภาพยุโรป การดำเนินนโยบายการเงินตามหลักทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องตามมาตรการ Quantitative Easing หรือที่เรียกกันติดปากว่า QE ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้สูงขึ้นแต่อย่างใด มิหนำซ้ำในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากเช่นนี้ อาจมีแต่จะนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงินในภายหลัง

ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องมาทำความเข้าใจกับภาวะเงินเฟ้อต่ำให้ถ่องแท้ขึ้นว่า ในยุคของโลกาภิวัตน์ ปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญต่อการกำหนดราคาของผู้ประกอบการ เพราะในโลกที่มีความเชื่อมโยงสูง การที่ราคาสินค้าข้าวของลดลงเนื่องมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น หรือเพียงเพราะผู้ประกอบการแข่งขันตัดราคากันเองมากขึ้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์