ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ควัก 1.8 หมื่นล้านปฏิรูปประเทศ พ่วงอีก 4.5 หมื่นล้านช่วยเกษตรกร – นายกฯ ลั่น แก้น้ำท่วม กทม. ต้องทำทั้งระบบ

ครม. ควัก 1.8 หมื่นล้านปฏิรูปประเทศ พ่วงอีก 4.5 หมื่นล้านช่วยเกษตรกร – นายกฯ ลั่น แก้น้ำท่วม กทม. ต้องทำทั้งระบบ

21 มิถุนายน 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ ยันปัญหาน้ำท่วม กทม. ต้องแก้ทั้งระบบ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขน้ำท่วมขังหลายจุดใน กทม. หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า รัฐบาลนี้ได้เตรียมการรับมือไว้นานแล้ว เบื้องต้นคงจะแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะจริงๆ เรื่องนี้จะต้องแก้ทั้งระบบ เนื่องจากท่อระบายน้ำใน กทม. มีขนาดเล็กเกินไป แถมยังไม่มีการแยกน้ำดีกับน้ำเสีย เมื่อฝนตกก็ไหลลงคลองพร้อมๆ กัน หากจะแก้ทั้งระบบก็ต้องทุบท่อระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันภาครัฐก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ขณะที่อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แห่งใหม่ของ กทม. ก็ยังสร้างไม่เสร็จ

“อยากจะขอเวลาให้ภาครัฐในการแก้ไขปัญหา เวลานี้เราทำได้เพียงระบายน้ำให้เร็วที่สุด แต่จะทำให้ไม่ท่วมเลยคงเป็นไปไมได้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ย้ำไม่เป็นศัตรูกับ “ยิ่งลักษณ์” – ไม่ห่วง นปช. ฟ้องยูเอ็น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวตอบคำถามว่าจะอวยพร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่วันเดียวกันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 49 ปีอย่างไร ว่า ส่วนตัวไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกับท่าน และท่านเองก็มีสุขภาพดีอยู่แล้ว เพราะยังอายุน้อยกว่าตนมาก

กรณีที่โทรศัพท์พูดคุยกับนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรื่องที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นคำร้องต่อยูเอ็น กรณีที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้จัดตั้งศูนย์ปราบโกงว่า สิ่งที่เล่าให้เลขาฯ ยูเอ็นฟัง คือการเดินตามโรดแมปเพื่อพาประเทศคืนสู่ประชาธิปไตย กรณีที่ นปช. ไปยื่นคำร้อง ตนไม่เป็นห่วงอะไร เพราะ นปช. ยื่นได้ รัฐบาลก็ส่งคนไปชี้แจงได้

โยน “วิษณุ” ดูยื่นขอเงินชดเชยคนขาย GT200 ปลอม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เตรียมส่งเรื่องให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) รื้อคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 หลังจากศาลอังกฤษตัดสินให้ยึดทรัพย์ชาวอังกฤษที่หลอกขาย GT200 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปลอมใช้งานไม่ได้จริง ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นรัฐบาลหลายๆ ประเทศ เป็นเงิน 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) โดยไทยเป็น 1 ในลูกค้ารายสำคัญของชาวอังกฤษดังกล่าว ว่า สตง. เองก็ตรวจสอบได้อยู่แล้ว เรื่องนี้ตนไม่มีความรู้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายจะดำเนินการ

ส่วนกรณีที่ไม่มีรายชื่อของประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าที่จะได้รับเงินชดเชยจากชาวอังกฤษคนดังกล่าว จะทำอย่างไรต่อไป พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องของกฎหมายต้องไปถามกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ตนไม่มีความรู้ว่ามีช่องทางกฎหมายอะไรที่รัฐบาลไทยจะยื่นคำร้องไปเพื่อขอเงินชดเชยในกรณีนี้ได้หรือไม่ แต่ถ้ามีช่องทางก็คงจะยื่นเรื่องไป เพราะหากรัฐบาลประเทศอื่นๆ ยื่นคำร้องไปได้ เหตุใดรัฐบาลไทยถึงไม่สามารถยื่นคำร้องได้ด้วย

เผย “ดีเอสไอ-ปปง.” จะเริ่มใช้กฎหมายฟอกเงินกับ “คดีคลองจั่น-ธัมมชโย”

ด้าน พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในการนำตัวพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลังความพยายามในการแจ้งข้อกล่าวหากับพระธัมมชโยตามหมายค้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ล้มเหลว เนื่องจากมีผู้นับถือพระธัมมชโยมานั่งขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าถึงตัวของพระธัมมชโย ว่า สังคมส่วนหนึ่งก็คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อยากขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจเจ้าหน้าที่ เพราะทางดีเอสไอได้พยายามถึงที่สุดที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหา ส่วนกรณีที่เจ้าสัวคนดังซึ่งเป็นลูกศิษย์ของวัดพระธรรมกายออกมาเรียกร้องให้ลูกศิษย์คนอื่นๆ ออกมาปกป้องพระธัมมชโย ก็ต้องไปดูในข้อกฎหมายว่าเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดเรื่องขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือไม่

เมื่อถามว่าจะมีการนำกฎหมายฟอกเงินมาใช้ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือไม่ พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า มีรายงานมาที่ตนว่าดีเอสไอได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถึงเรื่องนี้แล้ว ซึ่งคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมีอยู่ราว 13 คดี น่าจะเริ่มใช้กฎหมายฟอกเงินก่อน 4-5 คดี ยืนยันว่าไม่มีการรังแกใครหรือเลือกปฏิบัติ แต่เป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งนี้ คดีเกี่ยวกับสหกรณ์ฯ คลองจั่นและวัดพระธรรมกายในช่วงก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามามีปัญหามาก บางช่วงก็หยุดไปเลย แถมมีการปลดเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 2-3 คน เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาเพียงปีกว่า ปรากฏว่าคดีกลับเดินหน้าไปได้อย่างมากมาย มีการส่งฟ้องบางคดี ได้อายัดเงินไว้บางส่วน ขณะที่สหกรณ์ฯ คลองจั่นก็ได้รับการฟื้นฟูแล้ว

“ยอมรับว่าคดีนี้ทำลำบาก ตัวคดีเป็นฟอกเงินธรรมดา ความจริงไม่ซับซ้อน แต่ไปเกี่ยวพันกับความเชื่อของคน ทำให้ทำงานยากลำบาก” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

ครม. ควักงบกลาง 1.8 หมื่นล้าน ลุยปฏิรูปประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) แถลงว่า จากกรณีที่ ครม. เคยกำหนดกรอบวงเงินที่จะใช้ในโครงการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศ ให้กับ 14 กระทรวงไว้ 22,300 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติงบไปแล้ว 4,401 ล้านบาท ที่ประชุม ครม. จึงได้มีมติอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมอีก 17,899 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว

สำหรับโครงการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศซึ่ง ครม. เคยเห็นชอบกรอบวงเงินไว้ มีรายละเอียด ดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการลงทุนภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 9,647 ล้านบาท
  • ด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และวาระเร่งด่วน จำนวน 8,752 ล้านบาท
  • ด้านระบบราชการ กฎหมาย และการสร้างความปรองดอง 2,573 ล้านบาท
  • ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษา จำนวน 819 ล้านบาท
  • ด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการกีฬา 278 ล้านบาท และด้านสาธารณสุข 227 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณดังกล่าวดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการ National e-Payment โครงการสนับสนุน Startup โครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนงานเพิ่มเติมในโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นเงิน 1,400 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 4 หมื่นครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ 1.5 แสนไร่

ไฟเขียวงบช่วยชาวนา 4 มาตรการ 4.5 หมื่นล้าน

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประจำปีการผลิต 2559/2560 ใน 4 มาตรการ รวมวงเงิน 45,589 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อย ปีการผลิต 2559/2560 วงเงิน 37,860 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินลงไปยังบัญชีของลูกค้า 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ตามข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งเบื้องต้นมีจำนวน 3.7 ล้านราย ทั้งนี้ สาเหตุที่ลดจำนวนจาก 15 ไร่ เหลือ 10 ไร่ ก็เพื่อให้การช่วยเหลือลงถึงเกษตรกรรายย่อยมากขึ้น
  1. โครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงิน 5,400 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับลดดอกเบี้ย 3% แก่เกษตรกรที่กู้เงินจาก ธ.ก.ส. วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท โดยรัฐบาลกับ ธ.ก.ส. จะรับภาระดอกเบี้ยฝ่ายละครึ่ง คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ราว 2 ล้านราย
  1. โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ทางการเงินและการปรับการผลิตแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย วงเงิน 258 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ลูกค้า ธ.ก.ส. ราว 3 แสนราย ได้ประโยชน์โดยได้รับความรู้ด้านการจัดทำบัญชีต้นทุนการผลิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช พร้อมกับสร้างให้เป็น SME เกษตรรุ่นใหม่
  1. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 วงเงิน 2,071 ล้านบาท โดยครั้งนี้จะถือเป็นโครงการประกันภัยนาข้าวแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลและ ธ.ก.ส. จะรับภาระจ่ายเบี้ยประกันให้ทั้งหมด จากเดิมที่ให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ราว 1.5 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 30 ล้านไร่

โยกงบค้างท่อ 690 ล้าน เตรียมจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ที่เคยอนุมัติงบ 1,641 ล้านบาท สำหรับซื้อที่ดิน 1.5 หมื่นไร่ จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพื่อให้นำเงินที่เหลือ 690 ล้านบาท มาใช้ในการเตรียมความพร้อมและยกระดับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ให้เป็น “ธนาคารที่ดิน” ต่อไป

“สำหรับกฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนส่งให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาอีกระยะเวลาหนึ่ง แต่น่าจะจัดตั้งได้ในรัฐบาลชุดนี้ การอนุมัติให้ใช้เงินก้อนนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมไปล่วงหน้า ทั้งนี้ ธนาคารที่ดินจะเป็นตัวช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร” นายกอบศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 5 (ปรับปรุงใหม่) จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เนื่องจากยังมีวงเงินคงเหลืออยู่กว่า 36,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อีกกว่า 8,200 ล้านบาท และน่าจะทำให้เกิดการจ้างงานได้เพิ่มอีก 6 หมื่นราย

ควักเงิน 100 ล้านช่วยแก้ปัญหาการบิน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจาก Cooperation Framework Agreement on Aviation สำหรับแก้ไขปัญหาด้านมาตรฐานการบิน ภายในวงเงิน 2.5 ล้านยูโร หรือราว 100 ล้านบาท รวมทั้งขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรจากองค์การกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของการบินพลเรือน จำนวน 7 คน มาให้คำแนะนำกับทางการไทยต่อไป

ระหว่างการพิจารณาวาระดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ได้กล่าวถึงกรณีที่ EASA ประกาศให้สายการบิน จำนวน 216 สายการบิน ห้ามบินเข้าน่านฟ้าของทวีปยุโรป เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าไม่มีสายการบินจากประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งนายกฯ ก็บอกว่า สิ่งเล่านี้จะเป็นกำลังใจในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้านมาตรฐานการบินของประเทศไทยต่อไป

เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทวงคืนที่ดิน สปก. ที่ถูกถือครองไว้ผิด กม.

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายเรียกคืนที่ดิน สปก. ที่ถูกถือครองไว้โดยผิดกฎหมาย เหตุที่ต้องมีร่าง พ.ร.บ. นี้ก็เนื่องมาจากการแก้ไข พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่เดินหน้าอยู่ในขณะนี้ไม่มีประเด็นดังกล่าว และหากต้องการเติมประเด็นนี้เข้าไปอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ที่ประชุม ครม. จึงเห็นว่าการออกมาเป็น พ.ร.บ. อีกฉบับน่าจะเหมาะสมกว่า

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ คือการกำหนดให้สำนักงาน สปก. ส่วนกลางส่งข้อมูลการถือครองที่ดิน สปก. ไว้อย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการถือครองที่ดิน สปก. ไว้โดยไม่ได้รับการจัดสรร การถือครองที่ดิน สปก. ไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ บุคคลเกิน 25 ไร่ ครัวเรือนเกิน 50 ไร่ การถือครองที่ดิน สปก. ของบุคคลซึ่งไม่ใช่เกษตรกร การถือครองที่ดิน สปก. ของผู้ที่ถูกศาลสั่งให้ออกจากที่ดินแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ฯลฯ ให้กับสำนักงาน สปก. จังหวัด จากนั้น สำนักงาน สปก. จังหวัดจะประกาศเรียกผู้ที่ครอบครองที่ดิน สปก. นั้นให้มารายงานตัวเพื่อพิสูจน์สิทธิในการถือครอง หากพิสูจน์ได้ก็สามารถอยู่ในที่ดิน สปก. ดังกล่าวเพื่อทำกินต่อไป สำนักงาน สปก. จังหวัดมีอำนาจในการยึด อายัด เพิกถอน เสมือนหนึ่งเป็นผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“เหตุที่ต้องมีการออกเป็นร่าง พ.ร.บ. แทนการใช้มาตรา 44 ก็เนื่องมาจากว่า วิธีนี้จะมีความยั่งยืนมากกว่า และมาตรา 44 ส่วนใหญ่มักใช้กับกรณีที่ไม่ซับซ้อนมาก หากใช้กับกรณีนี้อาจทำให้เกิดผลด้านคดีความฟ้องร้องกันไม่สิ้นสุด” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบยุทธศาสตร์ 10 ปี กำจัด “พยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผน “ยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2559-2568” ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยวัตถุประสงค์ไม่ให้คนไทยมีพยาธิใบไม้ตับ จากปัจจุบันที่มีผู้มีพยาธิใบไม้ตับอยู่ราว 6 ล้านคน และไม่ให้คนไทยต้องเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จากปัจจุบันที่มีผู้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีอยู่ราว 2 แสนคน สำหรับยุทธศาสตร์นี้จะใช้งบประมาณราว 4.6 พันล้านบาท โดยใช้งบจาก สธ.

ตั้ง “วรศาสน์ อภัยพงษ์” เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และโยกนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นรองปลัด ทส. ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป โดยเหตุผลในการสลับตำแหน่งครั้งนี้ เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งระหว่างข้าราชการระดับสูงภายใน ทส.

ไฟเขียวกรอบร่วมแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง ไทย-กัมพูชา

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง และโครงการแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ระดับประเทศ (ฝ่ายไทย) เพื่อจะได้นำไปใช้หารือภายในคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกรอบนโยบายนี้ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาไว้ 6 ข้อ ดังนี้ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วน ในแง่เรื่องฐานข้อมูลและกลไกตรวจสอบเฝ้าระวัง 2. เพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามการตัดไม้ เน้นการบังคับใช้กฎหมาย 3. ประสานความร่วมมือระดับจังหวัด ระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา 4. ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายแดน ให้มีชุมชนต้นแบบ 5. ให้มีกลไกการเจรจาระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในระดับภูมิภาคและประเทศ และ 6. ในการดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงหลักสำคัญในเรื่องอำนาจอธิปไตย กฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้น ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในการแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ในจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด