ThaiPublica > คอลัมน์ > วิธีการใช้ม่านของความไม่รู้ในการออกเเบบกฎหมายของสังคม

วิธีการใช้ม่านของความไม่รู้ในการออกเเบบกฎหมายของสังคม

24 มิถุนายน 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านเคยเล่นการทดลองความคิด หรือ thought experiment ของ John Rawls นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า Veil of Ignorance (หรือม่านของความไม่รู้) ไหมครับ

ถ้ายังไม่เคย ผมขอยกตัวอย่างการทดลองความคิดชิ้นหนึ่งที่ John Rawls มาชิ้นหนึ่งให้คุณผู้อ่านลองคิดตามดูนะครับ

สมมติว่าคุณมีอำนาจในการออกเเบบกฏหมายใหม่ให้กับของสังคมของเราโดยเริ่มจากศูนย์ที่ไม่มีอะไรเลย คุณคิดว่าคุณควรจะออกเเบบกฏหมายยังไงให้เป็นธรรมที่สุด

เเต่ปัญหาก็คือคนเราเกือบทุกคน รวมถึงตัวคุณด้วย มักจะมีอคติในใจอยู่ หรือมีความชอบโลกที่มีขื่อมีแปอย่างหนึ่งมากกว่าอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณจะทำการออกเเบบกฏหมายที่คุณคิดว่าเป็นธรรมที่สุด คุณก็ควรที่จะขจัดอคติหรือความชอบส่วนตัวตรงนี้ให้หมด หรือพยายามลดมันให้เหลือน้อยที่สุด

ปัญหาก็คือเราจะทำมันได้ยังไง

วิธีการคิดของ veil of ignorance ก็คือให้คุณสมมติกับตัวเองว่า ถ้าเรามีทางเลือกอยู่สองทางเลือก เป็นโลกสองโลก โลกหนึ่งคือโลกที่ (ยกตัวอย่างนะครับ) ประชากร 50% เป็นทาสรับใช้ให้กับประชากรอีก 50% ที่เหลือ ส่วนอีกโลกหนึ่งไม่มีใครเป็นทาสใครเลย

เเต่การที่คุณอยู่ด้านหลังของ “ม่านของความไม่รู้” นั้นทำให้คุณไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าตัวคุณเองมีความสามารถมากน้อยขนาดไหน มีเงินมากน้อยขนาดไหน ไม่มีทางรู้เลยด้วยซ้ำว่าถ้าคุณเลือกโลกที่มีประชากร 50% เป็นทาสให้กับอีก 50% คุณจะออกมาเป็นทาสหรือเป็นนายทาส

เเละถ้าเป็นเช่นนั้นเเล้ว คุณจะเลือกโลกเเบบไหนถ้าคุณต้องอยู่ด้านหลังของม่านนี้

การทดลองความคิดของ John Rawls ชิ้นนี้เป็นข้อพิสูจน์ให้ตัวเราเองเห็นว่าโลกที่เป็นธรรมจริงๆเเล้วนั้นมันควรจะเป็นยังไง เพราะในเชิงของทาสนั้นถึงเเม้ว่าคนที่อาจจะโชคดีได้เป็นนายทาสเเล้วมีทาสรับใช้ เเต่การที่เราไม่รู้ว่าเราจะออกมาเป็นยังไงถ้าเราเลือกโลกที่มีทาสทำให้คนส่วนใหญ่(เกือบทุกคน)เลือกโลกที่ดีกว่าสำหรับทุกคน เพราะไม่ว่าใครก็คงจะไม่อยากตกเป็นทาสใครทั้งนั้น

พูดง่ายๆก็คือการที่เราอยู่หลังม่านของความไม่รู้นั้นทำให้คนเราเกือบทุกคนกลายเป็นคนที่มีความคิดที่มีหลักเกณฑ์ มีคุณธรรม ปราศจากอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติอะไรก็ตาม

เเละวิธีการคิดนี้ก็สามารถใช้ทดลองความคิดของคนหลายๆคนต่อปัญหาสังคมที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน (“ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณจะตกไปอยู่ตรงไหนในการจัดลำดับของคนในสังคม คุณอยากที่จะอยู่ในโลกที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่” “คุณอยากจะอยู่ในโลกที่คนรวยไม่ต้องจ่ายภาษีหรือไม่” “คุณอยากอยู่ในโลกที่มีการประหารชีวิตคนที่ทำผิดร้ายเเรงหรือไม่” เป็นต้นนะครับ)

เท่าที่ผมทราบประเทศไทยเราอาจจะยังไม่เคยใช้วิธีการของการอยู่ข้างหลังม่านของความไม่รู้มาใช้ในการออกเเบบกฎหมายต่างๆนาๆ ผมจึงคิดว่ามันน่าจะเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งที่เราสามารถใช้ในการช่วยออกเเบบกฎหมายที่เเฟร์ให้กับทุกคนในสังคมของเรานะครับ ไม่ว่าภูมิหลังของเขาจะเป็นยังไงก็ตาม