ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกปรับจีดีพีโลกเหลือ 2.4% เหตุราคาสินค้าตกต่ำกระทบ “ประเทศผู้ส่งออก”- ไอเอ็มเอฟย้ำไทยโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านอาเซี่ยน

ธนาคารโลกปรับจีดีพีโลกเหลือ 2.4% เหตุราคาสินค้าตกต่ำกระทบ “ประเทศผู้ส่งออก”- ไอเอ็มเอฟย้ำไทยโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านอาเซี่ยน

8 มิถุนายน 2016


เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ธนาคารโลกเปิดรายงาน Global Economic Prospects 2016 ระบุว่าธนาคารโลกได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 2.4% จาก 2.9% ที่เคยประเมินไว้ในเดือนมกราคม มาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเติบโตช้ากว่าที่คาด, ราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ, การค้าโลกที่อ่อนแอ และการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Flows) ที่ลดลง

ทั้งนี้ รายงานระบุอีกว่าครึ่งหนึ่งของการปรับลดประมาณการครั้งนี้เป็นผลมาจากที่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถปรับตัวกับภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำอยู่ โดยประเทศกลุ่มดังกล่าวถูกปรับลดประมาณการเติบโตเหลือเพียง 0.4% จาก 1.6% จากประมาณก่อนหน้า

สำหรับประเทศไทยเนื่องจากเป็นผู้นำเข้าน้ำมันและสินค้าสุทธิ จึงยังได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ดังนั้นแม้ว่าการส่งออกของประเทศจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ประเทศไทยยังคงรักษาบัญชีเดินสะพัดให้เกินดุลได้ ส่งผลให้โดยรวมประเทศไทยจะค่อยๆฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งได้รับปัจจัยสนุบสนุนจากโครงการลงทุนต่างๆและการบริโภคที่ยังคงแข็งแรงอยู่ แต่อาจจะยังเติบโตต่ำกว่า 3% ไปอีก 2-3 ปี ซึ่งสะท้อนภาพการค้าโลกที่ยังอ่อนแออยู่

“ภาวะเศรษฐกิจที่ยังซึมๆแบบนี้ยิ่งเน้นย้ำว่าทำไมถึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศที่ต้องหานโยบายมากระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายน้อย เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการลดความยากจน สิ่งนี้ทำให้เรากังวลอย่างมากกับการเติบโตที่ลดลงแบบนี้ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าตกต่ำ” จิม ยอง คิม ประธานกลุ่มธนาคารโลก กล่าว

ด้านกลุ่มประเทศผู้นำเข้าถือว่ามีความยืดหยุ่นมากกว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออก ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าและพลังงานที่ลดลง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักที่ค่อยๆฟื้นตัว แม้ว่าประโยชน์ที่ได้รับจากราคาสินค้าและพลังงานจะมีน้อยลง กลุ่มประเทศนี้คาดว่าจะเติบโตได้ที่ 5.8% ในปี 2559 ลดลงเล็กน้อยจาก 5.8% ในปีที่ผ่านมา

ธนาคารโลกยังแสดงความกังวลถึงประเด็นหนี้ภาคเอกชน ซึ่งจะถูกกระตุ้นขึ้นมาจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำและทำให้มีความต้องการด้านการเงินมากขึ้น อาจจะเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา

“ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วยังหาทางกลับมาเติบโตไม่ได้เหมือนเดิม ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกกำลังเติบโตค่อนข้างแข็งแรง เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างๆทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มีพัฒนาการหนึ่งที่ต้องจับตาดูคือหนี้เอกชนที่เพิ่มขึ้นในประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่จะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ในภาวะที่การกู้ยืมกำลังเติบโต เพราะมีการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อนำหนี้เอ็นพีแอลมาเทียบกับสินเชื่อรวม จึงทำให้สัดส่วนของหนี้เอ็นพีแอลไม่ได้เพิ่มขึ้น” Kaushik Basu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานอาวุโส กลุ่มธนาคารโลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม การคาดการการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่คาดว่าจะชะลอตัวลงจาก 6.5% ในปี 2558 เหลือ 6.3% ในปี 2559 และ 6.2% ในช่วงปี 2560–2561 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนไปสู่การเติบโตที่ชะลอตัวลงและยั่งยืนมากขึ้น

1

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแย่กว่าที่เคยคาด

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ในคราวแถลงรายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) ครั้งที่ 1 ของปี ธนาคารโลกระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงฟื้นตัว และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตลดลงเพียงเล็กน้อยในระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 การคาดการณ์นี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและสถานการณ์ท้าทายที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง การหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ความอ่อนแอของการค้าโลก ความตกต่ำอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของตลาดการเงินโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ควรจัดลำดับความสำคัญของนโยบายด้านการเงินและการคลังที่จะช่วยลดความเปราะบาง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปด้านโครงสร้างให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

ในครั้งนั้น ดร.ชูเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุว่าความท้าทายของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในขณะนั้นคือ ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ประเทศรายได้สูงมีอัตราการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ตลอดจนการที่เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ในขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายก็มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้น้อยลง ดังนั้น ประเทศต่างๆ ควรนำนโยบายด้านการเงินและการคลังที่ช่วยลดการเปิดรับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคมาปรับใช้ และดำเนินการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง

สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อครั้งแถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายน 2559 ที่แม้ว่าจะระบุว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยแรงส่งที่ดีจากภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมไปถึงโครงการภาครัฐ แต่โดยรวมธปท.ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีปัจจัยอะไรที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ โดยแสดงความกังวลเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังเชื่องช้าเนื่องจากรอโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงตามการคาดการของธนาคารโลกย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อทั้งภาคส่งออกและการลงทุนของไทยในระยะต่อไป

IMF หนุนไทยยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ เลิกกระตุ้นระยะสั้น

ในวันเดียวกันนี้(8 มิ.ย. 2559) ธปท.ได้เผยแพร่รายงานผลการประชุมสรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 ของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Executive Board of the International Monetary Fund : IMF) ซึ่งประชุมไปเมื่อ 23 พฤษภาคม 2559 ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปี 2558 หลังจากที่ชะลอลงในช่วงก่อนหน้าจากเหตุการณ์ทางการเมืองโดยทั้งปีขยายตัวได้  2.8% ด้วยแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8% ของ GDP จากผลของอัตราการค้า(Terms of Trade: TOT) ที่ปรับดีขึ้น การนำเข้าที่หดตัวตามอุปสงค์ในประเทศ และการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ 0.9% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 2.5 ± 1.5% จากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อคาดการณ์ในปี 2558ปรับลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ตลาดการเงินไทยสามารถรับมือกับความผันผวนจากตลาดการเงินโลกได้ดีอีกทั้งระบบการเงินยังคงแข็งแกร่ง

ในระยะข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3% ในปี 2559 และ 3.2% ในปี 2560 ซึ่งยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีต สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาทยอยหมดไป แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ ากว่าเป้าหมายของ ธปท. จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ

สำหรับความท้าทายในระยะต่อไป (headwinds) มาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และข้อจำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญกับความท้าทายต่างๆจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกได้ โดยเงินสำรองระหว่างประเทศและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนต่ำ จะช่วยรองรับผลกระทบจากความอ่อนแอและความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก

นอกจากนี้ ระดับหนี้สาธารณะที่ไม่สูง การมีฐานนักลงทุนที่หลากหลาย และภาคธนาคารที่มีฐานะเงินกองทุนในเกณฑ์ดี รวมถึงสถาบันที่ดูแลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยรักษาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ทางการยังสามารถใช้ policy space ที่มีอยู่ในการดูแลความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจเกิดขึ้น

โดยรวมคณะกรรมการฯ เห็นสอดคล้องกับการประเมินของเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศโดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญความท้าทายจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน และมีสถาบันที่ดูแลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง คณะกรรมการฯ มองว่าฐานะภาคต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะลดลงในระยะข้างหน้าเมื่ออุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้น และ TOT ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของไทยยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ คณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนให้ทางการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผ่อนปรน รวมทั้งใช้มาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงิน และดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจควบคู่กันไป

คณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนปรน ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework: MTFF) และสนับสนุนให้ทางการเร่งดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ โดยคำนึงถึงธรรมาภิบาลและความโปร่งใส นอกจากนี้ ทางการควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (social safety net) ให้สอดคล้องกับความท้าทายเชิงโครงสร้างมากกว่าการใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้นในการสนับสนุนรายได้ภาคเกษตร โดยเน้นว่านโยบายภาครัฐภายใต้ MTFF ควรมุ่งเพิ่มรายได้ภาษีในระยะปานกลาง เพื่อเตรียมรับมือกับภาระทางการคลังจากการดูแลประชากรผู้สูงอายุ คณะกรรมการฯ ชมเชยทางการที่ให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านการคลัง (fiscal responsibility law) รวมถึงการทบทวนระบบประกันสุขภาพเพื่อดูแลให้ระบบมีความยั่งยืน พอเพียง เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันมีความเหมาะสม โดยในระยะต่อไปแม้จะยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่มเติม แต่ควรคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการสนับนสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจกับการดูแลเสถียรภาพการเงิน รวมถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ในยามจำเป็น คณะกรรมการฯ ชมเชยกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่มีมาตรฐานความโปร่งใสสูง และเสนอแนะให้ทางการสื่อสารถึงความตั้งใจที่จะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของช่องทางการส่งผ่านนโยบายให้ดียิ่งขึ้น

คณะกรรมการฯ แนะนำให้คงการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเป็นปราการด่านแรก (first line of defense) เพื่อช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คณะกรรมการฯ สนับสนุนให้ใช้มาตรการ macro-prudential ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) รวมทั้งการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานกำกับต่างๆ ในการพัฒนากรอบการดำเนินมาตรการ macro-prudential รวมถึงปรับปรุงกลไกป้องกันและแก้ไขวิกฤต (crisis prevention and resolution mechanisms) นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เน้นย้ำให้ทางการเฝ้าดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ(systemic risks)ที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจการเงิน และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง