ThaiPublica > เกาะกระแส > แพทยสภาตั้งอนุกก.พิสูจน์ใบรับรองแพทย์ “จริง-เท็จ” ได้คำตอบ 9 มิ.ย- พร้อมส่งทีมแพทย์ดูอาการ “พระธัมมชโย” ถ้าผู้ป่วยยินยอม โดยมีเงื่อนไขต้องโปร่งใสให้เปิดผลการตรวจ

แพทยสภาตั้งอนุกก.พิสูจน์ใบรับรองแพทย์ “จริง-เท็จ” ได้คำตอบ 9 มิ.ย- พร้อมส่งทีมแพทย์ดูอาการ “พระธัมมชโย” ถ้าผู้ป่วยยินยอม โดยมีเงื่อนไขต้องโปร่งใสให้เปิดผลการตรวจ

2 มิถุนายน 2016


ที่มา : www.facebook.com/สำนักสื่อสารองค์กร-วัดพระธรรมกาย
ที่มา : www.facebook.com/สำนักสื่อสารองค์กร-วัดพระธรรมกาย

ต่อกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยออกหมายเรียก ครั้งที่ 3 ให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ปรากฏว่าพระธัมมชโยอาพาธหนัก เดินทางมาพบพนักงานงานสอบสวนไม่ได้ เช้าวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 พระธัมมชโยจึงมอบอำนาจให้ทนายความวัดพระธรรมกาย นำเวชระเบียนและใบรับรองแพทย์มายื่นคำร้องต่อพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหา

จากคำร้องเลื่อนวันนัดพบพนักงานสอบสวนมาแล้วหลาย พ.ต.อ.ไพสิฐ จึงนำคำร้องของพระธัมมชโยพร้อมเวชระเบียนและใบรับรองแพทย์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันอาการอาพาธ ส่งให้ที่ประชุมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา พบว่าเวชระเบียนออกโดยสหคลินิกรัตนเวช ซึ่งเป็นคลินิกที่ตั้งอยู่ในวัดพระธรรมกาย มีน้ำหนักไม่เพียงพอ จึงระบุว่าพระธัมมชโยส่งเอกสารไม่ครบถ้วน ที่ประชุมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงมีมติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาใต้ ขออนุมัติหมายจับเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ศาลอาญาใต้อนุมัติหมายจับ พระธัมมชโย จึงตกเป็นผู้ต้องหากระทำความผิด ฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร

หลังจากศาลอนุมัติหมายจับพระธัมมชโยแล้ว วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังสีจังหวัดราชบุรี และแพทยสภา พร้อมเอกสารแนบเป็น ใบสำคัญความเห็นแพทย์ที่ 716/59 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 (ใบรับรองแพทย์) โดยขอให้หน่วยงานต้นสังกัดทั้ง 2 แห่ง ตรวจสอบคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของแพทย์ในสังกัดสามารถออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ รับรองอาการอาพาธของพระธัมมชโยได้หรือไม่

ใบรับรองแพทย์ใหม่

วันที่ 19 พฤษภาคม 2559 พ.อ.ณรงค์ ภักดีศุภผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้แจ้งคุณสมบัติของแพทย์ในสังกัดใบออกใบสำคัญความเห็นแพทย์รับรองอาการอาพาธของพระธัมมชโยนั้น “ถือเป็นการกระทำโดยส่วนตัว โดยเดินทางไปตรวจรักษาผู้ป่วยนอกสถานที่ราชการ รวมทั้งพระธัมมชโยไม่ได้เดินทางมารับการตรวจรักษาและรับยาจากโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี ในวันเวลาที่ปรากฏในใบสำคัญความเห็นแพทย์ จึงถือว่าใบสำคัญความเห็นแพทย์ฉบับนี้มิใช่เอกสารที่ออกโดยถูกต้องตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่าวันนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภาได้พิจารณาประเด็นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษทำหนังสือถึงแพทยสภา ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของแพทย์ในการออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ ขณะเดียวกันทางทีมแพทย์ที่ทำการรักษาพระธัมมชโยขอให้แพทยสภาส่งผู้เชี่ยวชาญไปตรวจอาการอาพาธที่วัดพระธรรมกายนั้น

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

1.เห็นควรส่งเรื่องใบรับรองแพทย์ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ในการออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ โดยมีนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เป็นประธานฯ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข เป็นอนุกรรมการ และ นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

2.กรณีขอความอนุเคราะห์ให้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางไปตรวจและวินิจฉัยโรคพระธัมมชโย ตามหนังสือร้องขอของคณะแพทย์ผู้รักษา คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา ได้พิจารณาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม 2512 มาตรา 7(4) แพทยสภามีวัตถุประสงค์ “ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่นในเรื่องเกี่ยวข้องกับแพทย์ และการสาธารณสุข”
จากกรณีดังกล่าวเห็นว่าเรื่องนี้(การอาพาธของพระธัมมชโย)เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนของสังคม จึงเห็นชอบให้ดำเนินการตามคำร้องขอในการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจอาการอาพาธของพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป

แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพแพทย์ที่เป็นกลาง ยินดีส่งกรรมการแพทยสภา ร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อไปตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอน

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมจากพระธัมมชโย รวมทั้งต้องยินยอมให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากการตรวจต่อสาธารณชนด้วย

“เรื่องเปิดเผยต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าเป็นโรคอะไร จะเป็นมากน้อยแค่ไหนอาจจะพูดมากไม่ได้เป็นสิทธิของผู้ป่วย ถ้าอนุญาตให้บอกได้ ก็บอก คาดว่าผลการตรวจสอบใบรับรองแพทย์น่าจะเป็นปลายสัปดาห์หน้า เพราะวันที่ 9 มิถุนายนนี้ มีประชุมแพทยสภา เราอยากให้ผ่านที่ประชุมแพทยสภาก่อนที่จะแจ้งให้ทราบ ส่วนการส่งแพทย์ไปตรวจนั้น เราได้จดหมายจากคณะแพทย์ที่รักษา(พระธัมมชโย)ขอให้เราไป แต่เราไม่เคยได้จดหมายจากพระเทพญาณมหามุนี ถ้าจะเราไปตรวจ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วยก่อน ต้องให้ผู้ป่วยยินยอม”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า “ข้อมูลคนไข้มีอยู่แล้ว การไปตรวจ หากต้องมีตรวจพิเศษ จะทำได้หรือไม่ก็ต้องให้ผู้ป่วยอนุมัติ ที่ผ่านมามีคนไข้หลายคนไม่อยากไปโรงพยาบาล อยากให้ตรวจที่บ้าน เรามีแพทยศาสตร์ครอบครัว ไปดูคนไข้ที่บ้าน เพราะที่บ้านปลอดภัย ติดโรคน้อยกว่ารพ.เชื้อโรคเยอะ ก็สามารถทำได้ ส่วนแพทย์ที่ไปตรวจจะต้องไม่รักหรือเกลียด ธรรมกาย ต้องเป็นกลาง การไปตรวจเราจะมีทั้งหมอโรคหัวใจ หมอปอด หมอทางเส้นเลือด จะประเมินได้ว่าจริงไหมที่อ้างว่าวันนี้มีอาการเวียนศรีษะ มีลิ่มเลือดจะแข็งตัว ในวิชาแพทย์จะรู้ แต่ทั้งนี้ในเรื่องอาการ วันที่เขียนใบรองแพทย์กับวันนี้อาการอาจจะไม่เหมือนกัน วันนั้นผู้ป่วยอาจจะป่วย แต่ตอนนี้อาจจะดีขึ้น เพราะอาการไม่ได้คงที่ อาจจะรักษาแล้วดีขึ้น บอกไม่ได้ แต่เป็นโรคที่แท้จริงหรือเปล่า”

ส่วนใบรองรับแพทย์ คณะกรรมการสอบสวนด้านจริยธรรมจะพิจารณา หากออกใบรองเป็นเท็จ มีเจตนา อันนี้มีความผิด หากถูกต้องก็ไม่มีความผิด ทั้งนี้ต้องเชิญแพทย์ที่ตรวจมาให้การ ขอข้อมูลเอกสาร มาตรวจสอบ แต่เรื่องการเอาหัวจดหมายมาใช้เป็นเรื่องภายในของโรงพยาบาล ไม่เกี่ยวกับแพทยสภา

“คิดว่าพยายามทำให้ได้ในสัปดาห์หน้า เราอยากตัดปัญหาความข้องใจของประชาชน ที่สับสนว่าอะไรจริงไม่จริง ยุ่งไปหมด หากเป็นแบบนี้ต่อไป คนไข้ ชาวบ้านจะมาขอให้เราไปตรวจได้ไหม บอกได้ว่าไม่ทำ ไม่ใช่หน้าที่ กรณีอันนี้เป็นเรื่องระดับประเทศ ต้องทำ ที่ทำเพราะเป็นหน้าที่ของแพทยสภา มาตรา7(4)”ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม ซีรีย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น