ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แบงก์ชาติประเมินผล “Brexit” กระทบการค้า- การเงินไทยในวงจำกัด – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดฝุ่นตลบ ‘Post-Brexit’

แบงก์ชาติประเมินผล “Brexit” กระทบการค้า- การเงินไทยในวงจำกัด – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดฝุ่นตลบ ‘Post-Brexit’

24 มิถุนายน 2016


ที่มาภาพ : http://kingworldnews.com/
ที่มาภาพ : http://kingworldnews.com/

จบลงไปแล้วในช่วงเช้าวันนี้(24 มิถุนายน 2559)กับผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ หรือ UK) ด้วยผลสรุปว่าประชาชนในอังกฤษลงความเห็นให้อังกฤษ “ออก” จากสถานภาพเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือกล่าวสั้นๆ คือปรากฏการณ์ “Brexit” (มาจาก British รวมกับ Exit) ได้เกิดขึ้นแล้ว ชาว UK กว่า 33.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 72.16% เดินทางมาใช้สิทธิ ลงคะแนนเสียงประชามติ Brexit ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุด นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของ UK ได้ประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการว่า UK ต้องการสิ้นสุดสมาชิกภาพจาก EU ด้วยผลการโหวตที่เชือดเฉือนชนะกันด้วยคะแนนเสียง 52% ต่อ 48% พร้อมทั้งประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นว่า ผลกระทบทางตรงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยผ่านช่องทางการค้าและความเชื่อมโยงของสถาบันการเงินคาดว่าจะค่อนข้างจำกัด แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกในระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาวะความไม่แน่นอนจากกระแสการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

สำหรับการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ เบื้องต้น มีดังนี้

ผลกระทบผ่านช่องทางการค้า คาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด โดยหากพิจารณาระดับการค้าของไทยกับสหราชอาณาจักรโดยตรง พบว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรคิดเป็นร้อยละ 1.8 ในปี 2558 (เป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามในกลุ่มสหภาพยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์) อย่างไรก็ดี หากรวมการส่งออกที่รวมกลุ่มสหภาพยุโรป ผลกระทบก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าว (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) มีประมาณร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมคาดว่าจะไม่มากนัก หากปัญหาไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดการแยกตัวของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสหราชอาณาจักรและกลุ่มสหภาพยุโรปภายหลังจากแยกตัวด้วย

ทางด้านผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของไทย ประเมินว่ามีในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากสถาบันการเงินของไทยมีความเชื่อมโยงทางการเงินโดยตรงกับสถาบันการเงินในสหราชอาณาจักรและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นเพียงร้อยละ 1.31 ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยได้มีการเตรียมความพร้อมและป้องกันความเสี่ยงสถานะเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งในตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดทุน จากความกังวลของนักลงทุนที่มีเพิ่มขึ้นและการปรับฐานะการลงทุนระหว่างประเทศให้ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความผันผวนของราคาสินทรัพย์และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะสั้นและเป็นที่คาดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยล่าสุดพบว่า ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงและค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงร้อยละ 8.0 และ 3.2 ตามลำดับ (ณ เวลา 13.00 น.) จากวันก่อนประกาศผลการลงประชามติ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ค่าเงินเยน รวมทั้งราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย สำหรับค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลง ร้อยละ 0.7 (ณ เวลา 13.00 น.) สอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาคอื่นๆ ที่ปรับอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนผลกระทบต่อตลาดทุนก็จะเผชิญกับความผันผวนในระยะสั้นได้เช่นกัน โดยคาดว่าอาจมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของไทยบ้าง แต่จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติได้ปรับลดการลงทุนในตลาดการเงินไทยไประดับหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้

แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยในเบื้องต้นจะมีค่อนข้างน้อย กอปรกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ แต่ผลกระทบจากการปรับแผนธุรกิจของเอกชนและคู่ค้าต่างๆ ของสหภาพยุโรป เพื่อรับมือกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปจะสร้างความไม่แน่นอนในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินหากมีความจำเป็นรวมทั้งขอแนะนำให้ภาคธุรกิจเอกชนดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินได้ในระยะต่อไป

ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นในเรื่องความผันผวนของตลาดเงินของอังกฤษและภูมิภาคอื่น ๆ เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของตลาดทุน ดังจะเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ ใน Asia-Pacific มีดัชนีที่ลดลงในวันนี้ ในส่วนของ SET ที่ลดลงอยู่ในช่วง 2-3% นั้น ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ก.ล.ต. มองว่าเป็นเรื่องปกติและระบบของ SET รองรับได้ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ดี แม้ผลโหวตเป็น BREXIT แต่อังกฤษและอียูต้องมีกระบวนการเจรจาเพื่อหารูปแบบการออกจากอียูอีกประมาณ 2 ปี ดังนั้น การประเมินผลกระทบระยะยาวคงต้องขึ้นกับความสำเร็จของกระบวนการดังกล่าว และขึ้นกับว่า BREXIT ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคยุโรปมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถคอยติดตามความคืบหน้ากันได้

สำหรับผลกระทบระยะสั้นที่มีต่อตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ยังคงมองว่า BREXIT เป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานของ บจ. ไทยโดยตรง เพราะมูลค่าการค้าไทย-อังกฤษมีสัดส่วนไม่สูงประมาณไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย แต่คงทำให้ SET มีความผันผวนอยู่บ้างในระยะสั้น จึงขอให้ผู้ลงทุนอย่าตื่นตระหนกและขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงทุน

ฝุ่นตลบ ‘Post-Brexit’

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง Brexit จะส่งผลลบต่อไทยในด้านการค้าและตลาดเงิน โดยมองว่าการส่งออกจากไทยไปอังกฤษและยุโรปในปีนี้อาจหดตัวถึง 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ ส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยราว 0.1% ในปีนี้ ขณะที่เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่ามากขึ้น

นอกจากผลกระทบด้านการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความผันผวนของตลาดการเงินโลกหลัง Brexit อาทิเช่น ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5% ขณะที่ค่าเงินเยนก็แข็งค่าขึ้นราว 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์อย่างรวดเร็วเนื่องจากความไม่แน่นอนที่มากขึ้นส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกจำเป็นต้องถอยกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ในขณะที่ค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรปรับตัวลง 5-10% ทันที ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกมอง Brexit เป็นปัญหาของทั้งอังกฤษและยูโรโซน

สำหรับเศรษฐกิจและตลาดเงินในช่วง “Post-Brexit” ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะจับตาทั้งการเคลื่อนไหวของทั้งอังกฤษและยุโรปในช่วงนี้ให้ดี โดยมองว่า Brexit จะส่งผลกระทบโดยตรงกับไทยมากที่สุดในสองเรื่อง คือการค้าและความผันผวนของตลาดการเงิน

ในด้านการค้า ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำจับตาไปที่ข้อตกลงที่อังกฤษเคยมีกับ EU โดยเราแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรกคือผลกระทบในระดับปานกลาง กล่าวคืออังกฤษสามารถเจรจาเรื่องการลงทุนและการค้าเสรีกับ EU ใหม่ได้เร็ว ซึ่งในกรณีนี้น่าจะส่งผลไม่มากกับเศรษฐกิจยุโรปและจะส่งผลให้การส่งออกไทยไป UK และ EU หดตัวที่ระดับ 6.7% และ 3.3% ตามลำดับ แต่ถ้าอังกฤษไม่สามารถเจรจาเรื่องการลงทุนและการค้ากับ EU ได้เลย อาจส่งผลกระทบรุนแรงจนมีความจำเป็นที่ทั้ง UK และ EU จะต้องลดการลงทุนระหว่างกันทั้งในอดีตและในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไปยุโรปหดตัว 8-10% ต่อปีไปอย่างน้อยในอีกสามปีข้างหน้า
จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ ในกรณีแรก การส่งออกของไทยจะลดลง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2559-2561 เฉลี่ยคิดเป็น 0.1% ของจีดีพีไทยในแต่ละปี แต่หากผลกระทบลุกลามจนส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูงถึง 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 3 ปี หรือคิดเป็นการหดตัวของจีดีพีไทยถึง 0.4% ต่อปีเลยทีเดียว

นอกจากด้านการค้าแล้ว ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำจับตาไปที่ภาคการเงินโลก โดยมองว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องกลับมาทบทวนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มถ้าเศรษฐกิจยูโรกลับไปหดตัวหรือค่าเงินเยนแข็งค่ามากเกินไป

ในส่วนของตลาดเงินไทย ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวผันผวนมากขึ้นหลังเหตุการณ์ Brexit โดยมองว่านักลงทุนต่างชาติจะยังไม่ลดการลงทุนในตลาดการเงินไทยลง และคาดว่าค่าเงินบาทจะซื้อขายในระดับ 34-36 บาท ในกรณีที่อังกฤษหาข้อตกลงกับ EU ได้โดยเร็ว ในทางกลับกันศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าถ้าปัญหาในยุโรปลุกลามจนส่งผลให้อังกฤษและ EU ไม่สามารถหาข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนจะเข้าสู่โหมด “ลดความเสี่ยง” และขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอีกครั้งซึ่งในกรณีนี้ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวอ่อนค่าเกิน 36 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า หลังจากจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน แต่ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังเชื่อว่า Brexit เป็นหนึ่งในชนวนที่นำไปสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศในกลุ่มยูโรโซนอื่นๆ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย หรือการเลือกตั้งในสหรัฐฯในช่วงปลายปี ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยควรติดตามและเตรียมตัวรับกับเศรษฐกิจที่จะยิ่งผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559

เศรษฐกิจไทยในสภาวะ ‘Brexit’

ขณะที่วิจัยกรุงศรีได้รวบรวมผลการศึกษาจากงานวิจัยเชิงวิชาการ รวมถึงข้อมูลความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และได้นำเสนอข้อสรุปดังนี้

1. ระยะสั้น สหราชอาณาจักรอาจประสบกับสภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจจากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้น จากนั้น ผลที่เกิดจากการสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าในภาวะปกติถึง 3.7% ในระยะยาว 2. การส่งผ่านผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นผ่านความผันผวนในตลาดการเงินระหว่างประเทศในระยะสั้น และจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลงในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ระบบเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงค่อนข้างมากต่อความผันผวนของตลาดเงินตราระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ความเชื่อมโยงทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสหราชอาณาจักรที่อยู่ในระดับไม่สูงมาก ทำให้การส่งออกไทยอาจลดลง 0.45% เพิ่มเติมจากภาวะปกติ

ผลกระทบต่อประเทศสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไร?

งานศึกษาจาก National Institute of Economic and Social Research (NIESR) หากค่าเงินปอนด์อ่อนลง 20% เทียบกับค่าเงินเงินอื่นๆ ในตระกร้าสกุลเงิน ความผันผวนจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ค่าเงินที่อ่อน เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการตึงตัวในภาคการเงิน อาจทำให้สหราชอาณาจักรประสบกับภาวะ Stagflation (NIESR) มีการประมาณการเอาไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะลดลงจากที่ควรจะเป็นถึง 1% ในปี 2017

ในระยะยาว สหราชอาณาจักรอาจสูญเสียความได้เปรียบทางการค้าจาก FTA ที่มีกับกลุ่มประเทศยุโรป ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด GDP Growth อาจลดลงถึง 3.7% ในปี 2030 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบอาจน้อยกว่าที่ประมาณการเอาไว้หากรูปแบบการค้าปรับเปลี่ยนมาคล้ายกับที่นอร์เวย์หรือสวิตเซอร์แลนด์มีกับกลุ่มประเทศยุโรป กล่าวคือ ยังคงมีสิทธิพิเศษทางการค้าในระดับทวิภาคีกัน

ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร
ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

Brexit จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางการค้า และช่องทางการเงิน ในทางการค้า พบว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมีเพียง 1.8% ของการส่งออกรวมทั้งหมด หากนำผลการศึกษาจาก NIESR ที่ว่าการนำเข้าของสหราชอาณาจักรจะลดลงได้เฉลี่ย 25% มาร่วมวิเคราะห์ ดังนั้น ผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะอยู่ในราว -0.45% นอกจากนั้น หากรวมผลจากการค้าทางอ้อม ข้อมูลยังชี้ว่า ผลกระทบก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผลกระทบจากช่องทางการเงินจะเกิดจากความผันผวนของการไหลของกระแสเงินระหว่างประเทศ จากข้อมูลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง ปัจจุบัน สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP มีค่าเป็นบวกค่อนข้างมาก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานค่อนข้างดี และน่าจะยังคงผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้

สัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้นอกประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัด
สัดส่วนทุนสำรองต่อหนี้นอกประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัด

ผลการทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน ได้เพิ่มความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจของคนในระบบเศรษฐกิจ และมีผลต่อเนื่องไปยังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางมากขึ้น เราคงจะประมาทไม่ได้ การทำนโยบายทางเศรษฐกิจคงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ “Brexit อิสรภาพที่ทวีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและสร้างรอยร้าวใน EU” อ่านรายละเอียดที่นี่

ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ถึงผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยจาก BREXIT อ่านรายละเอียดที่นี่