ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > The China Wave คลื่นจีนบุกไทย (3) : เปิดเว็บแชร์ประสบการณ์เที่ยวสุดฮิตของจีน “mafengwo.cn” แหล่งข้อมูลนักท่องเที่ยว”FIT”

The China Wave คลื่นจีนบุกไทย (3) : เปิดเว็บแชร์ประสบการณ์เที่ยวสุดฮิตของจีน “mafengwo.cn” แหล่งข้อมูลนักท่องเที่ยว”FIT”

4 พฤษภาคม 2016


ในตอนที่แล้วจากการไปสำรวจย่านช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวชาวจีน มัคคุเทศก์รายหนึ่งได้บอกว่า จำนวนของกรุ๊ปทัวร์น้อยลง เนื่องจากเทรนด์การท่องเที่ยวด้วยตนเอง และกระแสของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องพึ่งไกด์ ซึ่งตรงกับรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ที่ระบุว่า ในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวจีนที่อายุต่ำกว่า 45 ปี คิดเป็น 90% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจีนวัยรุ่นมาเที่ยวไทยมากขึ้น เพราะความสะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะเงื่อนไขของวีซ่า ที่เป็นแบบ visa on arrival (วีซ่า ณ ช่องด่านอนุญาตตรวจคนเข้าเมือง) คือ ได้รับวีซ่าที่จุดตรวจคนเข้าเมืองของประเทศจุดหมาย ถือว่าเป็นการผ่อนคลายนโยบายวีซ่า และค่าครองชีพของไทยที่นับว่าถูกในสายตาของชาวจีน

www.mafengwo.cn
www.mafengwo.cn

เว็บไซต์ www.mafengwo.cn (แปลว่า รังต่อ) เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนยุคใหม่ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จะท่องเที่ยวเองโดยไม่พึ่งไกด์ หรือที่เรียกว่า Free and Independent Traveler (FIT) ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนระบุว่า เป็นเว็บไซต์แชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ มีข้อมูลทั้งเรื่องการตรวจลงตรา เส้นทางคมนาคม โรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งช็อปปิ้ง

จำนวนกระทู้ที่คนตั้งเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีประมาณ 20,000 กว่ากระทู้ เรียงตามจำนวนการเข้าชม (view) มากไปน้อย (ไม่ได้เรียงลำดับวันที่) แต่ละกระทู้จะมีเพลงประกอบ เพิ่มความบันเทิงขณะอ่าน

เนื้อหาส่วนหนึ่งที่เล่าถึงการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นดังนี้

นักท่องเที่ยวผู้ชาย 1 คน

ผู้ชาย 1 คน มาไทยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 จำนวนอยู่ 10 วัน ค่าใช้จ่ายรวมค่าที่พักและค่าตั๋วเครื่องบินรวม 5,600 หยวน (ชายผู้นี้ประเมินค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางจริงไว้ 6,000 หยวน) มีความตั้งใจตั้งต้นอยากเดินทางไป 8 แห่ง แต่ได้ไปจริง 5 แห่ง ได้แก่ 1. นวดแผนไทย จ.เชียงใหม่ 2. ขี่ช้าง จ.เชียงใหม่ 3. กินแกงกะหรี่ 4. เดินตลาดกลางคืน (ไม่ได้ระบุจังหวัด) 5. หน้าผาแห่งหนึ่ง ที่ปาย และที่ไม่ได้ทำ คือ 6. ป้อนอาหารให้วัวนม 7. แช่น้ำพุร้อน ปาย 8. ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

ข้อคิดเห็นที่มีต่อประเทศไทย: รถติดทั้งวันทั้งคืน กลางคืนก็มีอาหารขายข้างถนนไม่ว่าจะเป็นที่เยาวราช เซ็นทรัลเวิลด์ และถนนข้าวสาร ก็มีแผงขายอาหารออกมากินเลยถนนทำให้รถติด และมีของขายทุกอย่าง อะไรที่นึกไม่ถึงก็ยังมีขาย และการให้ทิปนั้นต้องให้แบงก์ยี่สิบบาท อย่าให้เหรียญ เพราะเหรียญสำหรับให้ขอทาน

นักท่องเที่ยวชาย-หญิง 2 คน เป็นคู่รัก

นักท่องเที่ยวชาย-หญิง 2 คน เป็นคู่รัก มาไทยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2559 จำนวนอยู่ 12 วัน ค่าใช้จ่าย 8,500 หยวน/คน สถานที่ท่องเที่ยวในไทย ได้แก่ เชียงใหม่, ปาย, ภูเก็ต, สิมิลัน และเกาะตาชัย ระบุชัดว่าแต่ละวันทำอะไรที่ไหน โดยใน 7 วันแรกพักที่เชียงใหม่

  • วันที่ 1-2 เที่ยว 5 แห่งในเชียงใหม่ ชมประตูท่าแพ วัดมังกร วัดพระสิงห์ และตลาดกลางคืน
  • วันที่ 3 บินจากเชียงใหม่ไปปาย เดินเล่นตลาดกลางคืน
  • วันที่ 4 ไปน้ำตก สะพานสงครามโลกครั้งที่ 2, บ้านในต้นไม้, บ้านสีเหลือง, สวนสตรอว์เบอร์รี และหน้าผาใหญ่ๆ จากนั้นบินกลับมาพักที่เชียงใหม่
  • ไม่ได้บันทึกช่วงวันที่ 5
  • วันที่ 6 บินจากเชียงใหม่ไปเชียงราย ไปดูวัดขาววัดดำ
  • วันที่ 7 บินจากเชียงใหม่ไปภูเก็ต เดินห้างจังซีลอน และห้างมายา เดินตลาด
  • วันที่ 8 เที่ยวป่าตอง บาร์ และถนนคนเดินในป่าตอง
  • วันที่ 9 ไปสิมิลัน
  • วันที่ 10 ไปเกาะตาชัย
  • วันที่ 11 ไม่ได้ทำอะไร นอนพักที่ภูเก็ต
  • วันที่ 12 กลับประเทศจีน
  • มีการระบุว่า มาเที่ยวไทยสะดวก เพราะเรื่องวีซ่า คือมาไทยก่อนแล้วค่อยทำวีซ่าที่ไทย

    คู่เพื่อน 2 คน

    คู่เพื่อน 2 คน มาไทยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 จำนวนอยู่ 6 วัน ค่าใช้จ่าย 5,000 หยวน/คน บินมาลงที่กรุงเทพฯ แล้วไปเที่ยว อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นกลับมากรุงเทพฯ เที่ยวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วัดพระแก้ว และเยาวราช แล้วก็ไปนั่งเรือที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ส่วนใหญ่แล้วช็อปปิ้งในห้างเซ็นทรัลเวิลด์

    “รู้สึกสนุกสุดๆ ได้ถ่ายรูปเยอะๆ ของกินก็ถูกกว่าเมืองจีนมาก คนไทยนิสัยดี ใจดี คุยง่าย”

    คู่รักชาย-ชาย 2 คน

    คู่รักชาย-ชาย 2 คน มาไทยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 จำนวนอยู่ 5 วัน ค่าใช้จ่าย 6,000 หยวน/คน บินมาภูเก็ตโดยตรง เที่ยวป่าตอง ได้กินกุ้งมังกร หอยเชลล์ และซีฟู้ดอื่นๆ เช่ามอเตอร์ไซค์วันละ 300 บาท ไปทะเล ถ่ายรูปฝรั่ง เช่าเรือยอร์ช นอนบนเรือ ถ่ายเกาะแมงดา นอนบนปลากระเบน

    คู่รักชาย-หญิง มาจากเซี่ยงไฮ้

    คู่รักชาย-หญิง มาจากเซี่ยงไฮ้ มาไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ไม่ระบุจำนวนวันที่มาพัก ค่าใช้จ่าย 8,000 หยวน/คน ซึ่งคู่นี้มากับบริษัทเพื่อถ่ายพรีเวดดิ้งที่ภูเก็ต โดยมีการแนะนำให้ซื้อของที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ พักที่โรงแรมโนโวเทล ได้ใส่ชุดไทยถ่ายพรีเวดดิ้ง ได้กินข้าวเหนียวมะม่วง โรตี ที่ไม่เคยกินที่จีนมาก่อนเลย หลังจากนั้นก็ได้นวดแผนไทย ได้เดินตลาด และดูโชว์ทิฟฟานี ได้ขี่เจ็ตสกี ได้ไปเที่ยวที่สิมิลัน เกาะพีพี และไปกระบี่

    ทั้งคู่บรรยายภูเก็ตตามที่เห็นว่า “90% ที่เห็นในภูเก็ตเป็นคนจีน วุ่นวาย ใช้ภาษาจีนได้ทุกที่ในภูเก็ตเลย ภาษาอังกฤษไม่เก่งก็ไม่เป็นไร” พร้อมกันนั้นก็ได้บอกว่า “ตอนมากระเป๋าโล่งๆ 2 ใบ ขากลับกระเป๋า 2 ใบเต็ม และต้องซื้อเพิ่มอีก 1 ใบ แถมยังต้องมีกระเป๋าถืออีกใบ”

    คู่รักชาย-หญิง 2 คน

    คู่รักชาย-หญิง 2 คน มาไทยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 จำนวนอยู่ 7 วัน มาไทยเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ค่าใช้จ่าย 12,000 หยวน/คน เที่ยวในกรุงเทพฯ พักที่โรงแรมอินดิโก้ เที่ยววัดพระแก้ว และตึกใบหยก กินร้านอาหารสมบูรณ์โภชนา ชอบปูผัดผงกะหรี่ และต้มยำกุ้ง

    คู่รักหญิง-หญิง 2 คน ไม่เปิดเผยค่าใช้จ่าย นั่งสายการบินแอร์เอเชีย พักโรงแรมถูกๆ สถานที่ไปเที่ยวได้แก่ เชียงใหม่ เมืองเก่า วัดพระแก้ว ตลาดกลางคืน ชมชนเผ่ากะเหรี่ยง กระบี่ เกาะพีพี อ่าวนาง และเกาะลันตา ด้วยการเหมาเรือเที่ยวเกาะ

    ทั้งนี้ ทั้งคู่เล่าถึงถึงโรงแรมในเชียงใหม่ว่า มี 3 แบบ คือ สำหรับฝรั่ง สำหรับคนไทย และสำหรับคนจีน โดยบอกว่า โรงแรมสำหรับคนจีนนั้นแย่มาก เทียบกับโรงแรมสำหรับคนไทยไม่ได้เลย โรงแรมสำหรับคนไทยและฝรั่งดีกว่ามากๆ

    กลุ่มเพื่อนผู้ชาย 5 คน

    กลุ่มเพื่อนผู้ชาย 5 คน จำนวนอยู่ 7 วัน ค่าใช้จ่าย 5,000 หยวน/คน สถานที่ไปเที่ยวหลักๆ คือ พัทยาและกรุงเทพฯ ได้ไปเกาะล้านและเที่ยวทะเล ทะเลสกปรก แต่เกาะล้านสะอาด แล้วก็ไปดูกะเทย กะเทยสวยมาก ผู้หญิงสู้ไม่ได้ เมื่อมากรุงเทพฯ ก็มาวัดพระแก้ว สักการะพระพรหม และช็อปปิ้ง

    รูปแผนที่ทางเดินรถไฟฟ้า อักษรสีแดง แปลว่า "เปลี่ยนสถานี"
    รูปแผนที่ทางเดินรถไฟฟ้า อักษรสีแดง แปลว่า “เปลี่ยนสถานี”

    สไตล์การเขียนกระทู้แต่ละคนต่างกันไป บ้างแจงค่าใช้จ่ายละเอียดยิบ

    เพื่อนผู้หญิง 2 คนมาเที่ยว 15 วัน เมื่อปี 2557 ค่าใช้จ่าย 4,000 หยวน/คน รวมตั๋วเครื่องบิน (จองล่วงหน้าครึ่งปี) โดยไป กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ปาย และหัวหิน ระบุค่าใช้จ่ายรายวัน ดังนี้

    วันที่ 1 ค่าแท็กซี่ 300 บาท, ที่พัก 790 บาท/คน, ค่ามัดจำ 100 บาท, ค่าอาหาร 65 บาท, ค่าเงาะ 30 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 550 บาท มีการบอกเพิ่มว่า ของถูกมากๆ แต่รสชาติก็ธรรมดา

    วันที่ 2 ไปวัดพระแก้ว นั่งแท็กซี่ดูแผนที่จากกูเกิลแมป ได้เจอคนจีนที่วัดพระแก้ว ได้คุยกันเลยรู้ว่าที่เหมารถตุ๊กตุ๊กไปชมวัดแห่งหนึ่งที่แพงมาก นั้นโดนหลอก ถ้านั่งเรือจะได้ราคาถูกกว่า จากนั้นไปพระบรมมหาราชวัง มีทัวร์จีนเยอะ มีไกด์ภาษาจีนด้วย แต่พวกเราไม่ได้จ้าง อาศัยแอบฟังเอา แล้วนกพิราบที่นี่ก็ไม่กลัวคนเลย เพราะที่นี่ไม่มีคนกินนกพิราบ

    ค่าใช้จ่ายวันนี้ คือ ค่ารถ 290 บาท, ค่าห้อง 1,380 บาท/คืน, ค่าไปดูวัดแห่งหนึ่ง 2,800 บาท (ที่เล่าว่าโดนหลอก), ค่าอาหาร 205 บาท, ค่าเรือ 1,019 บาท, ค่าขนมกับน้ำ 146 บาท, ค่าตุ๊กตุ๊ก 20 บาท

    วันที่ 3 ไปชมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นนั่งรถไฟไปแม่กลอง ไม่เคยเห็นคนขายของริมทางรถไฟมาก่อนเลย ค่าใช้จ่ายวันนี้ คือ ค่ารถไฟใต้ดิน 138 บาท, ค่ารถจากกรุงเทพฯ ไปอัมพวา 320 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 105 บาท, ค่าอาหาร 462 บาท, ค่าห้องน้ำ 25 บาท และค่าขนม 310 บาท

    ราคารถไฟฟ้า

    วันที่ 4 ค่ารถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ด้วยบัสนครชัยแอร์ ราคา 1,314 บาท, ค่าเดินทาง 296 บาท, ซื้อของเซเว่นอีเลฟเว่น 63 บาท และค่าอาหาร 90 บาท

    วันที่ 5 ไปประตูท่าแพ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และถนนนิมมานเหมินทร์ ค่ารถสองแถว 400 บาท, ค่าอาหาร 737 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 60 บาท และค่ารถชมรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 100 บาท

    วันที่ 6 ค่าอาหาร 445 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 100 บาท และค่าผลไม้ 60 บาท

    วันที่ 7 ไปเที่ยวปาย ค่าใช้จ่าย 1,200 บาท, ค่ารถไปปาย 340 บาท, ค่าเช่ามอเตอร์ไซค์ 3 วัน 1,400 บาท, ค่าน้ำมัน 50 บาท, ค่าอาหาร 300 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 89 บาท และ ค่าอื่นๆ 350 บาท

    วันที่ 8 ค่าอาหาร 269 บาท, ค่าเข้าชมสถานที่เที่ยวแห่งหนึ่ง 40 บาท, ค่าน้ำมัน 50 บาท, เติมเงินมือถือ 80 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 100 บาทและค่าอื่นๆ 700 บาท

    วันที่ 9 ค่าอาหาร 220 บาท, ซื้อแตงโม แก้วมังกร มังคุด มะพร้าว และมะม่วง 140 บาท และซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 210 บาท

    วันที่ 10 วันนี้ได้ขี่ช้าง ค่าอาหาร 160 บาท, ค่าขนม 75 บาท, คืนรถมอเตอร์ไซค์ 740 บาท, ซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 138 บาท และค่ารถจากปายไปเชียงใหม่ 300 บาท

    วันที่ 11 ค่ารถจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ 1,314 บาท, ค่ารถสองแถว 100 บาท, ค่าอาหาร 305 บาท, ค่าน้ำ 80 บาท, ค่าห้องน้ำ 6 บาท, ค่านวดแผนไทย 400 บาท ค่าฝากกระเป๋า 230 บาท และซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 100 บาท

    วันที่ 12 ค่ารถจากกรุงเทพฯ ไปหัวหิน 330 บาท, ค่าแท็กซี่ 50 บาท, ค่าบีทีเอส 62 บาท, ค่าน้ำมัน 100 บาท, ค่าเข้าชมสถานที่แห่งหนึ่ง 100 บาท, ค่าเฝ้ารถ 250 บาท, ค่าอาหาร 130 บาท, ค่าที่พัก 600 บาท และซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 74 บาท

    วันที่ 13 เที่ยวหัวหิน ไปชมสถานีรถไฟ เดินเล่นที่ชายหาด ค่าที่พัก 1,380 บาท ค่ารถกลับจากหัวหินไปกรุงเทพ 360 บาท ค่าบีทีเอส 176 บาท, กินเคเอฟซี 160 บาท และซื้อของในเซเว่นอีเลฟเว่น 150 บาท

    วันที่ 14 ค่าบีทีเอส 176 บาท เป็นวันสุดท้ายแล้วก็กลับประเทศจีน นักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มนี้ซื้อนมเมจิทุกวัน บ่นเรื่องแท็กซี่พาอ้อม และเล่าว่าผลไม้มีราคาถูกมาก

    กลุ่มเพื่อน 3 คน

    กลุ่มสุดท้ายที่จะยกมาเป็นตัวอย่างในนี้ เป็นกลุ่มเพื่อน 3 คน มาไทย 8 วัน เมื่อปี 2558 ชอบเซเว่นอีเลฟเว่นมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเปรี้ยวและเผ็ด ไปเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะเวลา 8 วัน นั่งเครื่องบินมาลงที่กรุงเทพฯ แล้วไปเชียงใหม่ทันที

    “ทันทีที่ลงจากเครื่อง อากาศ 31 องศาเซลเซียส ถือว่าร้อน และคนก็เยอะ ดูแน่น ปัญหาแรกที่เจอในไทยคือ รถเมล์ไทยห่วยแตก ป้ายรถเมล์เมืองไทยไม่มีบอกว่ารถเมล์คันนี้ไปไหน ผ่านที่ใดบ้าง มีแต่หมายเลขรถเมล์ ดูไม่รู้เรื่อง ถ้าเป็นที่จีนจะบอกว่ารถเมล์คันไหนไปไหนบ้าง แต่โชคดีที่คนกรุงเทพฯ ใจดี ช่วยเหลือเรา”

    สำหรับการท่องเที่ยว เล่าว่า “นั่งบัสนครชัยแอร์ชั้นเฟิสต์คลาสไปเชียงใหม่ ราคา 800 บาท/คน ได้ไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในอินเทอร์เน็ตบอกว่ามีจุดเด่นที่ทะเลสาบสวยและอาหารอร่อย แต่พอได้ไป ปรากฏว่ามีนโยบายไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป ก็ได้แต่นั่งรถชมรอบมหาวิทยาลัย ค่ารถ 60 บาท/คน ไม่เห็นสนุกเลย ได้แค่ถ่ายรูปหน้าประตูมหาวิทยาลัยไม่กี่รูป แล้วก็ไปวัดที่มีเด็กดอยให้ถ่ายรูป ไปตลาดกลางคืน ไปวัด รู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแต่วัดและพระ”

    “ที่เชียงใหม่ มีตลาดกลางคืน 3 แบบ คือ 1. เปิดวันธรรมดา 2. เปิดวันเสาร์ 3. เปิดวันอาทิตย์ ตลาดกลางคืน คือสวรรค์ของคนชอบกิน มีอาหารไทยที่กินเท่าไหร่ก็ไม่หมด เดินเท่าไหร่ก็ไม่ทั่ว ทุกครั้งที่คิดว่าเป็นทางตัน ก็จะมีทางให้เลี้ยวอีก ไม่น่าเชื่อ! ได้ซื้อไอศกรีมรสทุเรียน อร่อยจัง สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ กล้วยปิ้ง รสชาติหนักมาก ถือว่าเป็นของแปลก ใครเขาเอากล้วยไปปิ้งกัน!”

    ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าสัมภาษณ์นักท่องเที่ยววัยรุ่นชาวจีนกลุ่มหนึ่งในบริเวณหน้าพระลาน
    ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าสัมภาษณ์นักท่องเที่ยววัยรุ่นชาวจีนกลุ่มหนึ่งในบริเวณหน้าพระลาน

    นอกจากนั้น ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์กลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นชาวจีนกลุ่มหนึ่งในบริเวณวัดพระแก้ว “เอลล่า” ตัวแทนของกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า พวกเธอมาไทย 5 วัน มากันทั้งหมด 7 คน ค่าใช้จ่าย 5,000 หยวน/คน รวมค่าที่พักและค่าตั๋วเครื่องบิน สำหรับการท่องเที่ยวไปตลาดน้ำในตอนเย็น และวันพรุ่งนี้จะไปพัทยาด้วยรถตู้ โดยเธอระบุว่าพระบรมมหาราชวังเป็นสถานที่ที่ต้องไปในการมาเที่ยวกรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นรวมๆ ทั้งประเทศ คือ ภูเก็ตกับกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน อาหารทะเลก็ดูจะเป็นอีกเป้าหมาย โดยหนึ่งในนั้นพยายามจะถามหาร้านอาหารซีฟู้ดกับผู้สื่อข่าว

    ในด้านการอำนวยความสะดวกการท่องเที่ยว “แดเนียล” หนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวโชว์แอปพลิเคชันสำหรับแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย ชื่อว่า Speak Thai และ ชูกั๋วฟันอี้กวน (แปลว่า ตัวแปลภาษา) โดยแอปพลิเคชัน Speak Thai นั้นจะมีภาษาที่ใช้สำหรับสื่อสารในชีวิตประจำวันเบื้องต้น 2,500 ประโยค แบ่งเป็น 9 สถานการณ์ ได้แก่ ช็อปปิ้ง, ท่องเที่ยว, รับประทานอาหาร, พักผ่อนและกีฬา, หาหมอ, ตัวเลข วัน เวลา, สถานที่สำคัญ และทักทาย

    ความคิดเห็นอื่นๆ ของชาวจีนวัยรุ่นต่อประเทศไทยนั้น “อลิซ” ชาวจีนวัย 22 ปี รายหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า ในสายตาของชาวจีนแล้วประเทศไทยไม่ได้มี dynamics ขนาดนั้น ที่ไปเที่ยวเป็นย่าน หรือแต่ละย่านไม่ได้มีสไตล์ที่แตกต่างกัน เหมือนกับยุโรป ส่วนมากก็จะเดินทางตามที่บล็อกเกอร์แนะนำ ที่ดูเป็นแลนด์มาร์ก เช่น วัดต่างๆ ถนนข้าวสาร ห้างสยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ร้านขนมหวานอาฟเตอร์ยู แพลตตินั่ม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภูเก็ตถือว่าเป็นสถานที่ที่ “ต้องไป” มากกว่ากรุงเทพฯ

    “เมืองไทยเป็นที่เที่ยวยอดนิยมของชาวจีนตอนนี้ เพราะว่ามันราคาถูกมากๆ ค่าใช้จ่ายน่าจะประมาณ 4,000-6,000 หยวนสำหรับทั้งหมด ทั้งค่าโรงแรม ค่าอาหาร (อาหารอร่อยสุดๆด้วย) ค่าตั๋วเครื่องบินก็ถูก แถมภูมิทัศน์ของไทยก็สวย ดังนั้น ไทยเลยเป็นตัวเลือกแรกของการไปเที่ยวของวัยรุ่นที่ยังไม่มีเงินมาก ส่วนกลุ่มวัยกลางคน พวกเขาก็ถือว่าบริการของไทยดี อย่างถ้าพูดถึงทะเล ไปเที่ยวไห่หนานก็ได้ แต่ว่าที่ไห่หนานมีพวกต้มตุ๋น ซึ่งที่ไทยไม่มี พอคิดอย่างนี้ ไทยก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า” อลิซกล่าว