ThaiPublica > คอลัมน์ > ปิด Grab Bike – UberMOTO ปล่อย GoBike ป่วน “เศรษฐกิจดิจิทัล”

ปิด Grab Bike – UberMOTO ปล่อย GoBike ป่วน “เศรษฐกิจดิจิทัล”

25 พฤษภาคม 2016


ฉัตร คำแสง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ที่มาภาพ : https://www.grab.com/th/en/download/
ที่มาภาพ : https://www.grab.com/th/en/download/

Grab Bike และ UberMOTO คือ แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการจับคู่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์และผู้โดยสาร เพียงผู้โดยสารระบุจุดหมายปลายทางลงในแอปฯ แล้วแอปฯ จะทำการคำนวณค่าโดยสารให้ทันทีตามระยะทางจริง จากนั้น ข้อมูลดังกล่าวจะปรากฏแก่ผู้ที่ต้องการให้บริการ ว่ารายใดจะตกลงให้บริการ

แอปฯ เหล่านี้มีการตรวจสอบประวัติของผู้ให้บริการ รวมถึงระบบการให้คะแนน ซึ่งผู้ที่จะให้บริการได้ต้องได้รับคะแนนความพึงพอใจที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการอบรมการให้บริการ ระบบการตรวจสอบแบบ real-time และมีการทำประกันอุบัติเหตุให้ด้วย ซึ่งทำให้มีมาตรฐานและเป็นที่ไว้วางใจของผู้ใช้งาน

บริการนี้เป็นการเปลี่ยนโฉมรูปแบบการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างด้วยเทคโนโลยีสื่อสาร ที่ตอบโจทย์ผู้โดยสารได้อย่างดี เป็นตัวอย่างของการก้าวสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งเป็นนโยบายชูโรงของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ต้น

แต่เมื่อกลางเดือน พ.ค. กรมการขนส่งทางบกมีคำสั่งให้ Grab Bike และ UberMOTO หยุดบริการ โดยอ้างเหตุผล 2 ข้อ คือ “ความไม่เป็นธรรมต่อวินรถจักรยานยนต์” และ “การกระทำผิดกฎหมาย” คำสั่งดังกล่าวแสดงถึงทัศนคติและกฎหมายที่ไม่พร้อมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล

ความไม่เป็นธรรมต่อวินรถจักรยานยนต์ที่อ้างถึงนี้ หมายถึง “การแย่งผู้โดยสารจากผู้ให้บริการรายเดิม” แสดงว่า กรมการขนส่งไม่ยอมให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจนี้ คำถามคือ มีเหตุผลใดที่จะต้องมีเฉพาะวินรถจักรยานยนต์เพียงอย่างเดียว

โดยปกติแล้ว ธุรกิจที่ได้รับการปกป้องให้มีลักษณะผูกขาด มักเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูงอย่างการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ ซึ่งการมีผู้ลงทุนรายเดียวสามารถป้องกันการสร้างระบบรางที่ซ้ำซ้อน แต่การให้บริการวินจักรยานยนต์ไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแต่อย่างใด

ในอีกทางหนึ่ง การควบคุมอาจเป็นไปเพื่อรักษามาตรฐานการบริการและคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยระบบใบอนุญาต ที่เป็นกลไกให้ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์รัฐกำหนด ผู้ใช้บริการก็จะได้รับบริการที่มีความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการที่ดี เช่น การกำหนดให้ตรวจเช็คสภาพยานพาหนะเป็นประจำ การคิดค่าโดยสารที่โปร่งใส เป็นต้น ถ้าหากทำผิดก็ต้องปรับปรุง หรือถูกเพิกถอนสิทธิในการให้บริการ

ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่ความกังขาต่อเหตุผลด้าน “กฎหมาย” ที่กรมการขนส่งทางบกยกขึ้นมา กล่าวคือ ผู้ให้บริการผ่านแอปฯ Grab Bike และ UberMOTO มักไม่มีใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ รถจักรยานยนต์ที่ใช้จดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคล รวมถึงการแต่งกายในการให้บริการผิดกฎเกณฑ์ (ไม่ใส่เสื้อกั๊กวิน) ซึ่งเป็นการทำผิดตามกฎหมายจริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพของบริการโดยผู้ที่จดทะเบียนถูกกฎหมายกับผู้ที่ผิดกฎหมาย ดูเหมือนว่า ผู้ที่ผิดกฎหมายมีการให้บริการที่มีคุณภาพดีกว่า โดยมีการคำนวณค่าโดยสารที่ชัดเจนและต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพที่เป็นกฎเกณฑ์และอิงกับข้อมูลจริง โดยเฉพาะการให้คะแนนโดยผู้ใช้งานและการลงโทษผู้มีคะแนนต่ำ ในทางกลับกัน ผู้อ่านอาจพบวินจักรยานยนต์ที่คิดค่าโดยสารเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ทั่วไป

คำสั่งดังกล่าวจึงดูเหมือนเป็นการตอบสนองเหตุผลทางด้านการเมืองมากกว่า เพราะวินรถจักรยานยนต์มีผลประโยชน์จากกฎหมายเดิม ที่ให้อำนาจผูกขาดในเชิงพื้นที่ โดยวินแต่ละแห่งจะสามารถรับผู้โดยสารได้เฉพาะพื้นที่ของตนเอง ไม่สามารถรับผู้โดยสารจากพื้นที่อื่นได้ เป็นการจำกัดปริมาณการให้บริการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสร้างผลตอบแทนส่วนเกินให้แก่ผู้ให้บริการ

เรื่องดังกล่าวยังเหมือนเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ควบคุมการจดทะเบียนวินรถจักรยานยนต์เช่นกัน โดยใบอนุญาตให้บริการ ซึ่งอยู่ในรูป “เสื้อกั๊ก” มีมูลค่าที่สูงเป็นหลักหมื่น-แสนบาท บางย่านมีราคาสูงถึงตัวละ 5 แสนบาท (ดูเพิ่มเติมที่นี่ )

เหตุผลทางการเมืองดูมีความชัดเจนขึ้นจากการที่แอปฯ GoBike ซึ่งมีลัก

ที่มาภาพ : https://www.grab.com/th/en/download/
ที่มาภาพ : https://www.grab.com/th/en/download/
ษณะการทำงานคล้าย Grab Bike แต่ร่วมพัฒนาโดยสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กลายเป็นแอปฯ เดียวที่สามารถดำเนินงานอย่างถูกกฎหมาย ในขณะที่ Grab Bike และ UberMOTO ต้องยุติลง

การยอมให้แอปฯ GoBike สามารถดำเนินการได้เพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าให้บริการโดยวินจักรยานยนต์ที่ถูกกฎหมาย เป็นการรักษาอำนาจให้แก่กลุ่มเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากมีวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้สารพัดแต่ไม่ได้ทำ

ที่มาภาพ : http://www.uberthai.com/moto/
ที่มาภาพ : http://www.uberthai.com/moto/

นอกจากนี้ การให้บริการโดยกลุ่มเดิมยังสร้างความข้องใจต่อกลไกการควบคุมคุณภาพ เพราะจะยังยึดโยงกับการบังคับใช้กฎหมายแบบเดิมๆ จึงไม่ทราบว่าเหตุใดคุณภาพการบริการจึงจะพัฒนาจากการมีแอปฯ นี้

เรื่องทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ว่า ผู้กำหนดนโยบายและผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย มีทัศนคติและเครื่องมือที่ไม่พร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการใช้กลไกตลาดกับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจที่เป็นที่นิยมของเศรษฐกิจดิจิทัลมักเป็นการสร้างระบบตัวกลาง ซึ่งทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) รวมถึงเศรษฐกิจที่มีผู้ทำงานที่ไม่ใช่งานประจำสูง (gig economy) ซึ่งกรณีของ Grab Bike และ UberMOTO อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด

ดังนั้น แนวคิดและตัวกรอบกฎหมายจึงควรเปลี่ยนแปลง หากต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยจริง โดยมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง 3 ประการ คือ

1. เปิดให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการในธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นให้ผูกขาด ทั้งนี้ รัฐอาจมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ต้องไม่กีดกันผู้ให้บริการรายใหม่

2. ความเสมอภาคระหว่างธุรกิจ เช่น การค้าทั่วไปเสียภาษีแต่การค้าออนไลน์ไม่เสียภาษี หรืออย่างการให้เช่าที่พักผ่านแอปฯ AirBnB ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการประกอบธุรกิจโรงแรม เป็นต้น และ

3. จุดยืนด้านสวัสดิการแรงงานพื้นฐาน เนื่องจาก ธุรกิจเหล่านี้เป็นระบบตัวกลางและมักไม่ได้ว่าจ้างผู้ให้บริการเป็นพนักงานของบริษัท จึงอาจไม่เข้าข่ายกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่าง ๆ