ThaiPublica > คนในข่าว > โมเดลธุรกิจ Readery ร้านหนังสือออนไลน์มากไอเดีย “เขย่าความฝันให้เข้ากับความเป็นจริง” กับเบื้องหลังการขาย ที่ไม่ sexy

โมเดลธุรกิจ Readery ร้านหนังสือออนไลน์มากไอเดีย “เขย่าความฝันให้เข้ากับความเป็นจริง” กับเบื้องหลังการขาย ที่ไม่ sexy

19 พฤษภาคม 2016


readery1
(จากซ้ายไปขวา) เน็ต-นัฎฐกร ปาระชัย และ โจ วรรณพิณ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสือออนไลน์ Readery

Reading is Sexy

เมื่อกล่าวถึงร้านหนังสือที่ฮ็อตที่สุดเวลานี้ ไม่น่าจะมีร้านไหนเกิน ร้านหนังสือออนไลน์ Readery ที่ก่อตั้งโดย 2 หนุ่ม “เน็ต-นัฎฐกร ปาระชัย” นักออกแบบเว็บไซต์ และ “โจ วรรณพิณ” นักเขียนบทภาพยนตร์

เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ที่ปรากฏทั้งในนิตยสาร aday นิตยสาร 247 หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ รายการวิทยุและโทรทัศน์อีกหลายรายการ

ท่ามกลางภาวะที่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์กำลังย่ำแย่ เมื่อผู้คนไม่ซื้อหนังสือ เพราะหันไปอ่านฟรีบนออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน หลายคนต้องมานั่งขบคิดว่าจะไปต่อหรือวางมือ โดยเฉพาะธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรม อย่าง “ร้านหนังสือ” ที่แทบทุกคนฟันธงว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

แต่ร้านหนังสือที่ไม่มีหน้าร้านอย่าง Readery (อ่านว่า รี้ด-เดอ-รี่) เจ้าของสโลแกนข้างต้น “การอ่านเป็นเรื่องเซ็กซี่” กลับอยู่รอดอย่างสบายๆ กับอนาคตที่สดใสรออยู่ เมื่อธุรกิจโตขึ้นทุกขณะ โดยมีช่องทางขายอยู่ช่องทางเดียว คือบนเว็บไซต์ มีสินค้าชนิดเดียว คือหนังสือ และมีทีมงานเพียงแค่ 7 คน

หากตั้งคำถามแบบโรแมนติก อะไรคือแรงขับดันที่ทั้งสองคนใช้เพื่อแปลงความหลงใหลใฝ่ฝันส่วนตัวมาเป็นสิ่งจับต้องได้ และสามารถอยู่รอดบนโลกแห่งความเป็นจริง

หากตั้งคำถามแบบเรียลลิสติก อะไรคือวิธีการที่ทีมงานของ Readery ใช้ในการดำเนินธุรกิจ e-commerce นี้จนประสบความสำเร็จ ทั้งที่ขายสินค้าที่หลายคนมองว่าไม่น่าจูงใจเอาเสียเลย

โดยสรุป สิ่งที่เราอยากจะถามก็คือ อะไรที่ทำให้ Readery เป็น Readery อย่างทุกวันนี้

กว่าหลายชั่วโมงที่เรานั่งคุยกันอย่างยืดยาว เบื้องหลังบทสนทนาอันสนุกสนาน มีระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจ การเป็นคนขายหนังสือมีทั้งแง่มุมโรแมนติก ฟุ้งฝัน ตาเป็นประกาย แต่ในมุมของการทำธุรกิจ กลับต้องการวินัย การบริหารจัดการ และการลงทุนลงแรงอยู่พอสมควร

Bookselling is sexy – and not sexy – in the same time

อะไร “เซ็กซี่” และไม่ “เซ็กซี่” บนเส้นทางการเติบโตของ Readery ขอเชิญชวนอ่านในบรรทัดถัดไป

หน้าแรกของเว็บไซต์ Readery.co
หน้าแรกของเว็บไซต์ Readery.co

กำเนิดร้านหนังสือออนไลน์ Readery

“ถ้าถามเรื่องธุรกิจ อาจจะตอบไม่ค่อยได้นะครับ”

เป็นการออกตัวแบบนุ่มๆ ของเน็ต ก่อนจะเริ่มเล่าที่มาที่ไปของการเปิดร้านหนังสือออนไลน์แห่งนี้

เน็ตกล่าวว่า เดิมตนกับ โจ วรรณพิณ ชอบอ่านและชอบซื้อหนังสืออยู่แล้ว และเพื่อเลี่ยงไม่ให้แต่ละคนซื้อหนังสือซ้ำกัน จึงเริ่มต้นทำเว็บไซต์ที่ชื่อ bibliolism.com ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน ไว้รวบรวมหนังสือที่ทั้งสองคนมีอยู่ในครอบครอง โดยมีการจำแนกข้อมูลตั้งแต่ชื่อหนังสือ ผู้เขียน คนออกแบบปก สำนักพิมพ์ และอื่นๆ

โจเสริมว่า “มันคือความเนิร์ด ความบ้าข้อมูลของพวกเรา เว็บไซต์นี้ก็เหมือนกับโปรเจกต์ส่วนตัว พอมีข้อมูลเยอะๆ เข้า เราก็เห็นโอกาสบางอย่าง แล้วพัฒนาเว็บไซต์นี้ให้เหมือนเป็นห้องสมุด ให้คนที่รักการอ่านมาแชร์ข้อมูลกัน พยายามทำให้เหมือนเว็บไซต์ goodread.com ที่ไม่ค่อยมีภาษาไทย

“ตอนนั้น เรายังไม่คิดจะมีร้านหนังสือออนไลน์นะ ความฝันของเราก็เหมือนคนอื่น คืออยากมีร้านหนังสือปกติเหมือนคนอื่นๆ เป็นความฝันเชยๆ เนอะ” โจกล่าว

แต่ฝันเชยๆ นั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของร้านหนังสือออนไลน์สุดฮิป ที่หลายคนอึ้ง ทึ่ง และยึดเป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจสำหรับการเปิดร้านหนังสือในเวลาต่อมา

หลังออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ และไปพักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ช่วงเวลาหนึ่ง ระหว่างตระเวนหาที่เปิดร้านหนังสือ ปรากฏว่า เน็ตได้ไปเจอกับ “แป๊ด-ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง” บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด ที่แนะนำให้ลองนำหนังสือจากสำนักพิมพ์เธอไปขาย ก็เลยขายผ่านเฟซบุ๊กไปก่อน ปรากฏว่าขายได้ถึง 40 เล่ม ถึงจุดหนึ่งเลยตัดสินใจเปลี่ยนมาทำร้านหนังสือออนไลน์แทน ให้ชื่อว่า Readery

การเดินทางของคชสาร

หนังสือเล่มแรกๆ ที่พวกเขาขายได้ คือ “การเดินทางของคชสาร” เขียนโดยคชสาร ตั้งยามอรุณ สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

ข้อดีของ Readery ในเวลานั้น คือ 1. ทั้งสองคนมีอาชีพอยู่แล้ว (ออกแบบเว็บไซต์ กับรับจ้างเขียนบทหนัง) 2. มีต้นทุนอยู่แล้ว คือทำเว็บไซต์และให้ข้อมูลเรื่องหนังสือได้ และ 3. ไม่มีรายจ่ายเรื่องค่าเช่าที่ เพราะสถานที่ทำงานคือที่บ้าน

“จริงๆ เราก็ไม่เคยจะทำ e-commerce เลยนะ ต้องเข้าใจว่า e-commerce กับการออกแบบเว็บไซต์มันคนละเรื่องกัน” โจอธิบาย

ในช่วงต้น Readery เน้นขายหนังสือให้กับชุมชนนักอ่านที่รู้จักกันกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่พอทำไปสักพัก ธุรกิจก็เริ่มเติบใหญ่ จึงต้องไปติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อนำหนังสือมาขาย แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กอยู่ เช่น ระหว่างบรรทัด กำมะหยี่ เม่นวรรณกรรม และเรียงรัน

กระทั่งวันหนึ่ง มีลูกค้าสั่งซื้อหนังสือ “เพลงรัตติกาลในอินเดีย” ของอันโตนิโอ ตาบุคคี ทำให้ Readery อยากจะหาหนังสืออื่นๆ ของตาบุคคีมาขายด้วย ถึงขั้นไปที่ร้านหนังสือซีเอ็ดเพื่อซื้อหนังสือของตาบุคคีในราคาเต็มมาส่งขายแบบลดราคาให้กับลูกค้า ไม่กี่วันหลังจากนั้น คนจากสำนักพิมพ์มติชน (ผู้พิมพ์และจำหน่ายหนังสือของตาบุคคีในไทย) โทรศัพท์มาถามว่ารับหนังสือจากที่ไหนมาขาย พอพวกเขาเล่าที่มาที่ไปให้ฟัง มติชนก็เริ่มส่งหนังสือมาให้ขาย

เมื่อเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ จำนวนสินค้าในสต็อกของ Readery ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตอบสนองความต้องการอ่านของผู้คนได้หลากหลายขึ้น ปัจจุบัน Readery จึงไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในหมู่คนกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไป แต่ยังเป็นที่รู้จักระดับประเทศ หรือข้ามประเทศเสียด้วยซ้ำ

เรานั่งฟังกำเนิดของร้านหนังสือออนไลน์นี้ พลางจิบกาแฟที่ลูกค้าเก่าแก่ของ Readery ส่งมาเป็นกำนัลจากเทือกเขาแอลป์

readery2
โจ วรรณพิณ

แนวคิดชีวิต ที่ปรับเข้าถึงธุรกิจ

แนวคิดเริ่มแรกของ Readery คือการ “หาหนังสือให้เพื่อนอ่าน”

และแม้จะมีชื่อเสียงมากขึ้น Readery ก็ยังมองว่าลูกค้าคือเพื่อน เห็นได้จากความพยายามที่จะสื่อสารกับลูกค้าอยู่ตลอด ไม่ว่าจะผ่านช่องทางใด เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากร้านหนังสือออนไลน์อื่นๆ ที่มักจะสื่อสารทางเดียว คือสั่งของมา ส่งของไป ได้รับหนังสือแล้วก็จบ

จนมีลูกค้าบางคน (ระดับนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย) ยกย่องว่า “ถามไปตีสองก็ยังมีคนมาตอบ!”

ขณะที่แนวคิดในการทำงาน เน็ตบอกว่า “เนื่องจากสถานที่ทำงานของเราคือบ้าน เราไม่อยากให้บ้านของเราเป็นออฟฟิศ”

เมื่อพวกเขาต้องนั่งห่อหนังสือเพื่อส่งทางไปรษณีย์จนเกือบรุ่งเช้าหลายครั้ง และหลังจากกดเครื่องคิดเลขคำนวณหลายครั้งแล้วพบว่าวิธีการที่ทำอยู่มันอยู่ไม่ได้จริง ที่สุดแล้วทั้งสองจึงตัดสินใจที่จะทำให้ “การขายหนังสือออนไลน์” เป็น “ธุรกิจ” เต็มตัว นำไปสู่การเปิดรับสมัครคนเข้ามาช่วยงานเพิ่ม ขณะเดียวกันก็มีการวางระบบการทำงานให้บาลานซ์กันได้ระหว่างความเป็นบ้านกับออฟฟิศ โดยนอกเหนือจากการแต่งบ้านให้น่าอยู่-อยู่สบาย Readery ยังกำหนดเวลาทำงานแน่นอน เมื่อจบแล้วก็จบเลย หลังเลิกงานสามารถทำอะไรก็ได้ ขณะที่ทุกวันศุกร์จะมีการทำกิจกรรม เช่น ฉายหนังแล้วดูและดื่มร่วมกันอย่างสนุกสนานภายในหมู่ทีมงาน

เราใช้ความสุขเป็นตัววัด มากกว่าธุรกิจ

การที่ร้านหนังสือออนไลน์เป็น e-commerce ประเภทหนึ่งซึ่งต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีค่อนข้างสูง ทำให้ทั้งเน็ต-โจ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวในโลกเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา จะมาทำแค่ “รับออเดอร์-ส่งของ” อย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องมีโปรเจกต์อะไรใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าอยู่ตลอด โชคดีที่เน็ตเป็นนักออกแบบเว็บไซต์ ทำให้การติดตามเทคโนโลยีอยู่ในลมหายใจอยู่แล้ว ส่วนโจก็อยู่ในแวดวงภาพยนตร์ งานครีเอทีฟจึงเป็นเสมือนดีเอ็นเอที่อยู่ในสายเลือด เป็นข้อได้เปรียบ Readery เหนือร้านหนังสือออนไลน์อื่นๆ

พวกเขายกตัวอย่างการใช้แอปพลิเคชัน Google Hangouts ในการสร้าง book club โดยเปิดให้ผู้คนพูดคุยกันเรื่องหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ ที่จะน่าจะเป็นหนึ่งในวิธีสร้างชุมชนหรือปฏิสัมพันธ์ในหมู่คนอ่านให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ทาง Readery ยังมีไอเดียที่จะทำให้เศษกระดาษกันกระแทกในกล่องพัสดุส่งหนังสือกลายเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง เพื่อเป็นกิมมิกเล็กๆ ให้ลูกค้า ใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า “เรื่องสั้นขยำอ่าน” และกำลังวางแผนว่าจะทำ subscription box ดีหรือไม่ คือ ลูกค้าบางคนร้านรู้พฤติกรรมการอ่านอยู่แล้ว ก็ให้สมัครเป็นสมาชิกของแพ็คเกจนี้ แล้วร้านจะคัดเลือกหนังสือที่รู้ว่าลูกค้าคนนี้อ่านแน่ๆ ส่งไปให้ทุกเดือน พร้อมกับของเล็กๆ น้อยๆ เช่น บุ๊ครีวิว ฟรีก็อปปี้ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะเปิดตัวได้ในเร็วๆ นี้

ขยันมีลูกเล่นใหม่ๆ มาเซอร์ไพรซ์ลูกค้าเสมอ สมกับที่ได้รับฉายา “ร้านหนังสือออนไลน์มากไอเดีย”

จำนวนหนังสือมากมายที่ ทีมงานของ Readery จะขยันหยิบมาแนะนำ เพื่อให้ผู้อ่านได้ซื้อหาไปเสพอรรถรสผ่านตัวหนังสือ
จำนวนหนังสือมากมายที่ทีมงานของ Readery ขยันหยิบมาแนะนำผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม เพื่อจูงใจให้ผู้อ่านซื้อหาไปเสพรับอรรถรสผ่านตัวหนังสือ

ว่าด้วยร้านหนังสือออฟไลน์ และสื่อกระดาษ

เมื่อ “ทุกอย่างต้องกลายเป็นดิจิทัล” หรือ All Things Digital ตามเทรนด์แห่งยุคสมัย

ร้านหนังสือก็ยังต้องมาทำมาค้าขายอยู่บนโลกออนไลน์ – แล้วร้านหนังสือในโลกออฟไลน์จะอยู่อย่างไร

เน็ตตอบว่า ออนไลน์มันทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเปลี่ยน จากที่สมัยก่อนเราไปร้านหนังสือ ทำความรู้จักเจ้าของร้าน มีการแนะนำหนังสือให้แก่กัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องไปที่ร้านก็สามารถพูดคุยกันได้ผ่านช่องทางออนไลน์ มันไม่มีเงื่อนไขเรื่องสถานที่และเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง

“สิ่งที่คนเข้าใจผิด คือ ส่วนสำคัญของการทำร้านหนังสือออนไลน์ไม่ใช่ก่อนจะขาย แต่กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ที่หลังการขายหมด เช่น เมื่อมีคำสั่งซื้อแล้วจะทำอย่างไรให้ส่งได้ภายใน 2 วัน ให้หนังสือยังคงสภาพได้แม้ผ่านการส่งทางไปรษณีย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่เมื่อเขาแกะกล่องแล้วจะได้รับประสบการณ์เหมือนกับมาเลือกหนังสือด้วยตัวเอง” เน็ตกล่าว

ส่วนโจตอบว่า ถึงจุดหนึ่ง ร้านหนังสือทั้งสองแบบมันจะมาใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านหนังสือปกติจะเริ่มมีช่องทางขายออนไลน์มากขึ้น ส่วนร้านหนังสือออนไลน์ก็จะมาจัดกิจกรรมออฟไลน์ (เหมือนกิจกรรมบุ๊กคลับ Readrink ที่ Readery จัดร่วมกันห้องสมุด The Reading Room, Bangkok)

แล้วสถานะของหนังสือที่เป็นสื่อกระดาษล่ะ จะตายเหมือนที่ใครว่ากันไหม

โจตอบว่า เคยคุยกับน้องในทีมเรื่องนี้เหมือนกัน แล้วก็แบ่งหนังสือออกเป็น 2 ประเภท คือหนังสือเล่ม กับหนังสือประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเล่ม เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า อะไรที่สามารถหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตก็จะค่อยๆ เคลื่อนไปอยู่ในนั้น แต่สำหรับหนังสือเล่มบางประเภท เช่น “พี่น้องคารามาซอฟ” ของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ คงไม่มีใครไปอ่านในคอมพิวเตอร์ พวกนี้ก็ยังจำเป็นต้องอ่านบนกระดาษอยู่

ขณะที่เน็ตมองว่า หนังสือแบบ non-fiction (ไม่ใช่เรื่องแต่ง) มีโอกาสที่คนจะหันไปอ่านบนออนไลน์มากกว่า fiction (เรื่องแต่ง) ที่ยังต้องการการอ่านบนกระดาษอยู่

เน็ตกล่าวเสริมว่า “คงเป็นพฤติกรรมการเสพสื่อของคนรุ่นเราที่ยังใช้วิธีแบบนี้อยู่ แต่ไม่รู้ว่าในอนาคตที่คนรุ่นที่ชินกับการอ่านนิยายบนออนไลน์อยู่แล้วโตขึ้น ชะตากรรมของหนังสือจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ทุกวันนี้ก็เห็นการวกกลับขอคอนเทนต์ คือนำเนื้อหาบนออนไลน์มาบรรจุอยู่ในกระดาษ อย่างหนังสือหลายๆ เล่มของสำนักพิมพ์แซลม่อน หรือกรณีที่ “ชาติ กอบจิตติ” นำสิ่งที่โพสต์บนเฟซบุ๊กมาทำเป็นหนังสือเล่ม

“เวลานี้อุปกรณ์และคนยังไม่พร้อมที่จะไปเป็นออนไลน์ 100% อย่างอีบุ๊กที่เคยมีคนพยายามทดลองในไทย สุดท้ายก็ยังไปไม่ได้ ต้องกลับมาที่หนังสือเหมือนเดิม คือเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราต้องตามให้ทัน การเปลี่ยนแปลงมันมีอยู่ตลอดเวลา

“เราอย่าไปมองว่าหนังสือเป็นของสูง เพราะจริงๆ มันก็เป็นแค่สื่อหนึ่งที่มีไว้เพื่อให้เราอ่านเท่านั้น” เน็ตกล่าว

ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ และยากที่จะทำนายว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แต่สิ่งที่ทั้งสองคนพยายามทำอยู่ คือการทำให้หนังสือเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย จับต้องได้ และน่าค้นหา น่าอ่าน ตามสโลแกนของร้าน คือ Reading is Sexy

readery3
เน็ต-นัฎฐกร ปาระชัย

โรงงานการผลิต หลังฉาก “ความโรแมนติก”

เบื้องหลังการเติบโตในเชิงธุรกิจของ Readery ไม่ได้ “โรแมนติก” อย่างที่ใครหลายคนคิด

ปัจจุบัน Readery มีหนังสือในคลังอยู่ประมาณ 4.2 พันปก ซึ่งเน็ตบอกว่า หากเทียบกับการเติบโตถือว่ายังน้อยอยู่ อาจเพราะเราเลือกขายเฉพาะหนังสือที่ตรงกับแนวทางของร้าน โดยเฉพาะหมวดวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจของร้านมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกปัญหาทางเทคนิคที่จะตามมาในอนาคตก็คือ จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงหนังสือทั้งหมดที่ Readery มีได้อย่างไร

โจเสริมว่า “ทีนี้ก็จะมาเรื่องการจัดการข้อมูลแล้ว ซึ่งในปีนี้ เราจะเน้นปรับปรุงการทำงานตรงนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพราะเราถือว่าตัวเราคือแม่สื่อ เชื่อมระหว่างคนอ่านกับหนังสือ ทำอย่างไรจะทำให้คู่รักมาพบกัน คือให้คนอ่านไปเจอหนังสือที่เหมาะกับเขาได้ นี่คือหน้าที่ของเรา”

จากประสบการณ์ทำร้านมาหลายปี พวกเขาได้สรุปแนวคิดในการทำธุรกิจของ Readery ไว้หลักๆ 4 ข้อ คือ 1. ความไว้วางใจและเชื่อใจจากลูกค้า 2. ความรวดเร็ว จัดส่งของให้ทันใจ 3. ความถูกต้อง ออเดอร์ถูกเล่ม จำนวนครบถ้วน และ 4. การเปลี่ยนจาก computer touch มาเป็น human touch

ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยบริหารจัดการแบบ “โรงงานอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะเรื่องการส่งหนังสือให้ถึงมือลูกค้าตรงเวลา

เน็ตอธิบายเรื่องขั้นตอนการจัดส่งหนังสือว่า จะมีการกำหนดขั้นตอนการทำงานไว้อย่างเป็นระบบ ทุกอย่างจะมีเดดไลน์ของมัน ตั้งแต่การรับออเดอร์จากลูกค้า (order) การหยิบหนังสือที่ถูกสั่งลงจากเชลฟ์ (pick) การบรรจุของลงกล่อง (pack) และสุดท้าย การส่งของผ่านทางบริการของเอกชนที่รับส่งสินค้า (ship) ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการนำระบบไอทีมาช่วย เพื่อการันตีว่าสินค้าจะถึงมือลูกค้าภายใน 2 วัน คือเราทำงานเหมือนสายพานโรงงานเลย จะผิดพลาดไม่ได้ ห้ามสลับชื่อลูกค้าหรือชื่อสินค้า ดังนั้น เอกสารที่กำกับไปในแต่ละออเดอร์ต้องเป๊ะ

ถ้าใครมาเห็นกระบวนการทำงานของเราจะรู้ว่ามันโคตรไม่โรแมนติกเลย น้องคนหนึ่งในทีมงานเคยทำงานอยู่โรงงานน้ำมันพืชก็ใช้ความรู้การไหลของสายพานเข้ามาช่วย แล้วเราจะมานั่งคุยกันทุกสัปดาห์เพื่อสรุปถึงปัญหา และดูว่าจะช่วยกันพัฒนา process ต่างๆ ได้อย่างไร

โจเสริมว่า ทีมงานของ Readery ทุกคนต้องทำได้ทุกหน้าที่ รวมถึงการโพสต์ข้อความและถ่ายรูปบนเฟซบุ๊กด้วย

“อย่างที่ว่า เราไม่อยากให้ที่นี่เป็นเหมือนออฟฟิศอื่นๆ อยากให้มีบรรยากาศเหมือนเพื่อนมารวมตัวกันเพื่อทำรายงานกลุ่ม คือเช้าถึงบ่ายสาม ให้ทำงานแบบทำงานจริงๆ ไป แต่หลังจากนั้นจะมาช่วยกันทำงานครีเอทีฟ ไม่ใช่มานั่งแพ็กของอย่างเดียว เพราะน้องหลายคนในทีมก็ยังหวังว่ามาทำร้านหนังสือน่าจะโรแมนติก ไม่ใช่เป็นโรงงานแบบนี้ เราจึงต้องพยายามหาจุดที่มันบาลานซ์กัน ระหว่างงานรูทีนกับงานครีเอทีฟ” โจระบุ

เน็ตยังกล่าวถึงอนาคตของ Readery ไว้ว่า กระบวนการทำงานในปัจจุบันสามารถรับออเดอร์วันละ 200 ออเดอร์สบายๆ แต่ถ้าพุ่งไปถึง 1,000 ออเดอร์ ก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะทำอย่างไร ให้ส่งหนังสือถึงมือลูกค้าได้ตรงเวลา ซึ่งก็จะมีปัญหาเรื่องของพื้นที่ด้วย เพราะแม้ร้านหนังสือออนไลน์จะไม่มีหน้าร้าน แต่ก็ต้องมีโกดังเอาไว้สต็อกหนังสืออยู่ดี ขณะเดียวกัน เราก็มาคิดกันว่า Readery จะเพิ่มบริการ fast track ได้ไหมให้ส่งหนังสือถึงมือลูกค้าได้เร็วขึ้น ต้องก็ต้องมาคิดเรื่องการปรับกระบวนการทำงานกันอีกที

ทั้งนี้ Readery ใช้บริการบริษัทเอกชนอย่าง Alpha Fast และ Kerry Express ในการจัดส่งหนังสือ เพราะส่งของได้ตรงเวลาและค่าบริการถูกกว่าไปรษณีย์ไทย

เน็ตกล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจ e-commerce ในประเทศไทย จะต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีด้วย เหมือนบริการจัดส่งสินค้าที่มีให้เลือกหลายเจ้าอยู่ในเวลานี้

ธุรกิจเกี่ยวกับการอ่านและหนังสือ ยังไม่น่าจะล้มหายตายจากไปง่ายๆ หากแต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น

Readery เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน ในการเขย่าความฝันให้เข้ากับความเป็นจริง และใช้ความชำนาญปลุกปั้นให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง จนกลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างของ “ผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งพิมพ์” ที่น่าสนใจ ในยุคสมัยแห่งดิจิทัล