ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เห็นชอบ 3 มาตรการรวด ช่วยเกษตรกร – นายกฯ ห่วง “คดีธรรมกาย” บานปลาย ขออย่ากดดันเร่งจับ “ธัมมชโย”

ครม. เห็นชอบ 3 มาตรการรวด ช่วยเกษตรกร – นายกฯ ห่วง “คดีธรรมกาย” บานปลาย ขออย่ากดดันเร่งจับ “ธัมมชโย”

31 พฤษภาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นายกฯ หวั่นจับ “พระธัมมชโย” บานปลาย ขออย่ากดดัน

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ว่า ขอความกรุณาอย่าไปขยายความเรื่องนี้ เพราะหากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปในวัดเพื่อนำตัวพระธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหา อาจต้องเผชิญหน้ากับลูกศิษย์ของวัด แล้วถ้ามีคนยิงเข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น อย่ามากดดันว่าถ้าไม่ทำจะถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 157 รัฐบาลนี้ไม่กลัว เพราะต้องดูสถานการณ์ด้วย หากทำไปช่วงนี้อาจจะบานปลาย จะทำวันนี้หรือวันข้างหน้าก็เหมือนกัน อยากให้ดูลักษณะการตั้งป้อมค่ายคล้ายกับเหตุการณ์ที่สวนลุมพินี เมื่อปี 2553 อยากให้นำอดีตมาเรียนรู้ด้วย ตายกันไปเยอะแยะแล้วยังไม่พออีกหรือ

“ถ้าทุกคนเข้ากระบวนการยุติธรรมก็จบ จะมากล่าวหาว่ารัฐบาลรังแกพระมันไม่ใช่ เพราะถ้าเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ก็ไปต่อสู้ว่ากันในชั้นศาล ไม่ต้องกังวลเรื่องการนำตัวเข้าสู่กระบวนการ เพราะทำได้ในชาตินี้แน่นอน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

โยน กกต. คุมรณรงค์ประชามติ – ปรับสถานที่รายงานตัว คสช.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ คสช. เปลี่ยนนโยบายให้การเรียกรายงานตัวเปลี่ยนจากเดิมต้องมาที่ค่ายทหารเป็นศาลากลางจังหวัดได้ ว่า ต้องไปดูก่อนว่าที่ผ่านมาเรียกรายงานตัวเพื่ออะไร เราเรียกคนเหล่านั้นมาเพื่อพูดคุยเท่านั้น ส่วนใครมีคดีความอะไรก็ว่ากันไป การดำเนินคดีทุกอย่างเพราะทำผิดกฎหมาย เป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีการเมือง และต่อให้ขึ้นศาล ส่วนใหญ่ก็ให้ประกันตัวหมด การที่ คสช. ดำเนินการเช่นนี้ไม่ใช่การปรับยุทธศาสตร์ แต่เป็นการลองปล่อยดู แต่หากเกิดความวุ่นวายก็อยากจะให้ทุกคนรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่มาโยนให้ตนรับผิดชอบเพียงคนเดียว

เมื่อถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันว่าการใส่เสื้อแสดงจุดยืนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ให้ กกต. ตอบเองว่าจะใส่ได้หรือใส่ไม่ได้ ถ้าทำแล้วจะทะเลาะเบาะแว้งกันไหม คสช. มีหน้าที่รักษาความสงบ เมื่อ กกต. เป็นผู้ออกกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบเอง ส่วนกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งศูนย์จับโกงประชามติ ถามว่าใครจะโกง ตนไม่โกงอะไรอยู่แล้ว

ลั่นไม่ขุดคลองเชื่อม “อันดามัน-อ่าวไทย” ชี้ใช้งบมาก เสี่ยงขัดแย้ง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงข้อเสนอของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอให้มีการขุด “คลองไทย” เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยบริเวณ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง และกระบี่ ว่า ตนยืนยันเป็นร้อยครั้งแล้วว่าจะไม่ทำในรัฐบาลนี้ ได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสื่อสารไปยังสมาชิก สปท. กลุ่มดังกล่าวแล้ว เพราะไม่ใช่เวลา ทำแล้วจะเกิดความขัดแย้ง แถมยังใช้งบประมาณสูงนับแสนล้านบาท ถามว่าถ้าทำตอนนี้จะเอางบประมาณมาจากไหน นอกจากนี้ ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่ การแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ มันใช่เวลาหรือไม่ ที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าขุดคลองนี้แล้วเศรษฐกิจจะโต เพราะยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีก

ย้ำเจรจาสันติภาพใต้ยึด กม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเทศกาลรอมฎอนที่จะเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2559 นี้ ว่า รัฐบาลนี้ดูแลอยู่แล้ว การแก้ปัญหาในภาคใต้รัฐบาลนี้จะใช้กรอบของกฎหมาย รวมถึงใช้การพัฒนาเป็นหลัก แต่ปัญหาคือเอกชนยังไม่สามารถไปลงทุนได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ สำหรับการพูดคุยสันติสุข หากพร้อมค่อยดำเนินการ แต่ต้องทำใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ใช่ไปตามเขาหมด แต่ขออย่ามากดดันรัฐบาลให้มาก เพราะทุกอย่างขึ้นกับอีกฝ่าย รัฐบาลไม่ใช่ผู้ริเริ่มก่อความไม่สงบ

เชิญ “ซูจี” เยือนไทย มิ.ย. นี้ ไม่คุยปมโรฮิงญา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่กระแสข่าวว่า นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า จะเดินทางเยือนไทยในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ว่า ตนเชิญมาเอง รวมถึงนายถิ่น จอ ประธานาธิบดีพม่าด้วย ทั้งนี้เป็นการเดินทางเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านต่างๆ โดยไทยจะเข้าไปช่วยสร้างความปรองดองในพม่า ด้วยการไม่ให้คนของเราเข้าไปสร้างปัญหา อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาชาวโรฮิงญา จะปล่อยให้พม่าแก้ปัญหากันเอง ตามหลักการของอาเซียนที่จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศอื่น

คะแนน “ความสามารถในการแข่งขัน” ไทยพุ่ง ขึ้นอันดับ 28 โลก

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) ปรากฏว่า ไทยได้คะแนน 74.681 อยู่ในลำดับที่ 28 จากทั้งหมด 61 ประเทศ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ได้คะแนน 69.786 อยู่ในลำดับที่ 30) โดยไทยเป็นเพียงประเทศเดียวใน 5 ประเทศกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับจาก IMD ที่มีลำดับสูงขึ้น

โดยจากตัวชี้วัดทั้งหมดที่ IMD ใช้ในการประเมินทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนใหญ่ไทยได้รับคะแนนที่ดีขึ้น

“การจัดอันดับครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีของไทย อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ดีขึ้น จะส่งผลดีต่อการลงทุนภายในประเทศ” นายปรเมธีกล่าว

ครม. เห็นชอบแก้ กม.ตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มโทษทางแพ่ง

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้มี 2 ประการ 1. พัฒนามาตรฐานตลาดเงินตลาดทุนในประเทศให้เทียบเท่าสากล ด้วยการเพิ่มความโปร่งใสและธรรมาภิบาลด้วยการกำหนดให้กรรมการบริษัท ครอบครัว และญาติ ต้องเปิดเผยรายละเอียดการถือหุ้นร่วมกัน และ 2. เพิ่มโทษทางแพ่งสำหรับการกระทำผิดตามกฎหมายนี้ จากเดิมที่มีแต่โทษทางอาญา ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นสงสัย ขณะที่โทษทางแพ่งจะใช้เวลารวดเร็วกว่า

“เดิม คสช. ได้เคยเห็นชอบร่างกฎหมายนี้ไปแล้ว จากนั้นก็ส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจสอบและส่งไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง แล้วส่งกลับมาให้ ครม. พิจารณา การมีร่างกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

ไฟเขียวเกณฑ์จ่ายเงินชดเชยชาวบ้าน กรณีเรียกคืนที่หลวง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม สามารถใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือที่ดินให้กับราษฎรที่ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินของหน่วยราชการ เช่นเดียวกับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอยู่แล้ว คือ 1. ค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และ 2. ค่าทดแทนไม้ยืนต้นและพืชล้มลุก

ทั้งนี้ มีประชาชนขออนุญาตเข้าไปในประโยชน์ในที่ดินหลวง เช่น ทางรถไฟ เขตนิคม กรมธนารักษ์ เป็นต้น เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและปลูกพืชยืนต้น พืชล้มลุก ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องการที่คืนเพื่อทำมอเตอร์เวย์ 3 สาย, ทำทางหลวงเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจ 1 สาย และทางหลวงแผ่นดิน 8 สาย ซึ่งต้องใช้พื้นที่ทั้งหมด 20,000 กว่าไร่ โดย 3,300 กว่าไร่มีประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย

ออก 3 โครงการรวดช่วยเกษตรกร – ควักงบกลาง 217 ลบ. ช่วยชาวนา

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ 3 โครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในปีการผลิต 2559/2560 ได้แก่ 1. โครงการสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2. โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายในฤดูนาปรัง 3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่

โดยโครงการที่ 1 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมการข้าว วัตถุประสงค์ให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเดียว กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกร 64,000 ครัวเรือน ที่ปลูกข้าวหอมมะลิอยู่แล้วใน 23 จังหวัด ในพื้นที่ประมาณ 640,000 ไร่ วิธีการดำเนินการคือคัดเลือกเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและจัดเมล็ดพันธุ์ลงไปสนับสนุน โดยมอบเมล็ดพันธุ์ให้ไม่เกิน 125 กิโลกรัมต่อครัวเรือน ไปปลูกในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน เมษายน 2559 – มกราคม 2560 ใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 206 ล้านบาท (ครม. เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรปรับแผนการใช้เงินของกระทรวงเอง โดยใช้เงินจากเงินทุนหมุนเวียน 200 ล้านบาท และปรับแผนของกระทรวงอีก 6 ล้านบาท)

โครงการที่ 2 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร วัตประสงค์เพื่อลดการทำนาปรัง ให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่นที่รัฐบาลเคยส่งเสริมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกร 60,000 ครัวเรือน ที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการ เมษายน 2559 – เมษายน 2560 วงเงิน 648.24 ล้านบาท (ครม. อนุมัติใช้งบกลาง 636.52 ล้านบาท ส่วนที่เหลือให้ไปปรับแผนของกระทรวงอีก 11.72 ล้านบาท)

โครงการที่ 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ ธ.ก.ส. เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ชาวนาข้าวแปลงใหญ่ กลุ่มเป้าหมายคือสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน มีอยู่ 426 กลุ่ม วงเงินให้สินเชื่อ 2,130 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยปลดเบี้ยให้ ขออัตราดอกเบี้ยเท่ากับ NLR-1 คือร้อยละ 4 ขอให้รัฐบาลชดเชย ให้ 3.9 เกษตรกรเสียดอกเบี้ยเองร้อยละ 0.01 ใช้อัตราดอกเบี้ยเกณฑ์เดียวกับชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง คือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.51 เพราะฉะนั้น รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3.5 (74.55 ล้านบาท) และเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเบิกจ่ายงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งใน จ.น่าน และเพชรบูรณ์ จำนวน 14,143 ราย ที่ตกหล่นจากการช่วยเหลือของรัฐในครั้งที่ผ่านมา รวมวงเงิน 217 ล้านบาท

เห็นชอบ กม.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจ “พนักงานไต่สวน”

รายงานแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “พนักงานไต่สวน” ซึ่งเดิมต้องดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นแต่งตั้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในสาขากระบวนการยุติธรรมที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายให้ “พนักงานไต่สวน” เป็นผู้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการไต่สวนข้อเท็จจริง และให้ “พนักงานไต่สวน” ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 25 (1) (2) และ (3) อาทิ เรียกพยานหลักฐานหรือบุคคลมาให้ถ้อยคำ ขอให้ศาลออกหมายค้น ฯลฯ และมาตรา 27 คือมีอำนาจลงนามในหนังสือแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.