ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัจจัยในวัยเด็กอะไรที่มีความสำคัญที่สุดต่อความสุขของเราในอนาคต

ปัจจัยในวัยเด็กอะไรที่มีความสำคัญที่สุดต่อความสุขของเราในอนาคต

16 พฤษภาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่า ที่ประเทศอังกฤษที่ผมอยู่อาศัยมานานกว่ายี่สิบปีนี้นั้น ถึงแม้ว่าจะมีหน้าหนาวที่หนาวจนปวดตับ ถึงแม้ว่าอาหารประจำชาติของเขาจะอร่อยสู้อาหารไทยของเราไม่ได้ และถึงแม้ว่าหนึ่งในทีมฟุตบอลของเขาคงจะไม่มีวันได้ครองแชมป์พรีเมียร์ลีกเป็นแน่แท้ถ้าตอนนั้นเขาไม่ได้คนไทยมาเป็นเจ้าของทีม แต่สิ่งที่ประเทศอังกฤษมีดีกว่าประเทศไทยของเราแบบที่เราเทียบไม่ติดเลยนั่นก็คือ เขามีระบบการเก็บข้อมูลของประชากรที่จะว่าดีที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

ที่มาภาพ : http://www.cls.ioe.ac.uk/
ที่มาภาพ : http://www.cls.ioe.ac.uk/

จากเด็กจนเป็นผู้ใหญ่

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1970 (หรือ พ.ศ. 2513) ศูนย์กลางสำหรับการเก็บข้อมูลระยะยาว หรือ Centre for Longitudinal Study (CLS) ของมหาวิทยาลัยลอนดอน (Institute of Education, University of London) ได้เริ่มทำการเก็บสัมภาษณ์คุณแม่ของเด็กที่เกิดภายในเดือนเมษายนของปีนั้นในประเทศสหราชอาณาจักรทุกคนเป็นจำนวน 17,000 คนด้วยกัน โดยในแบบสอบถามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการถามคุณแม่ของเด็กแต่ละคนนั้นมีคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตของคุณแม่และเด็กหลายๆ อย่าง เช่น คุณแม่ทำงานอะไรก่อนตั้งครรภ์ ครอบครัวมีรายได้เท่าไหร่ เด็กตอนเกิดมีน้ำหนักเท่าไหร่ สภาพจิตใจของคุณแม่เป็นยังไงบ้าง เป็นต้น

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ของ CLS ก็ตามเก็บข้อมูลของเด็กและครอบครัวอีกครั้งตอนที่เด็กมีอายุได้ 5 ปี และก็ตามเก็บไปเรื่อยๆ ตอนที่เด็กมีอายุได้ 10 ปี 16 ปี 22 ปี 26 ปี 29 ปี 34 ปี 38 ปี และเพิ่งจะเก็บข้อมูลครั้งล่าสุดไปเมื่อปี ค.ศ. 2012 ตอนที่เด็กในกลุ่มสำรวจอายุครบ 42 ปีบริบูรณ์ และถึงแม้ว่าจะตามเก็บข้อมูลไม่ได้ของทุกคนเป็นเวลากว่าสี่สิบปี แต่ฐานข้อมูลของเขาก็ยังใหญ่โตพอที่จะบอกอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับชีวิตของคนได้

และการที่เรามีข้อมูลที่เป็นวงจรชีวิต (life-course) ของคนตั้งแต่เกิดจนถึงวัยกลางคนนี้เอง ก็ทำให้ผมและเพื่อนร่วมงานของผมที่ London School of Economics สามารถทำการวิจัยว่าปัจจัยในวัยเด็กอะไรที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อความสุขในชีวิตของเรา (life satisfaction) ในอนาคต

What predicts a successful life?

จากงานวิจัยของผมและเพื่อนร่วมงาน พวกเราพบว่าปัจจัยในวัยเด็กที่เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดของความสุขของเราตอนเราเป็นผู้ใหญ่ (วัดตอนที่เราอายุได้ 42 ปี) ก็คือสุขภาพจิตของเราในตอนเด็ก (emotional health) รองลงมาก็คือความประพฤติของเราในตอนเด็ก (conduct) และรั้งท้ายสุดก็คือความสามารถที่วัดได้จากการสอบที่โรงเรียน (intellectual performance) โดยความหมายของวัยเด็กในข้อมูลของเรานั้นหมายถึงตอนที่เรามีอายุระหว่าง 5 ปีและ 16 ปี

แต่ถ้าสมมติว่าเราสนใจแค่ว่า ปัจจัยอะไรในวัยเด็กที่สำคัญที่สุดต่อการที่จะทำให้เราโตขึ้นแล้วมีเงินเดือนเยอะๆ ในอนาคต พวกเราก็พบว่าความสามารถที่วัดได้จากการสอบที่โรงเรียนนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อโอกาสที่จะทำให้เรามีเงินเดือนสูงตอนที่เราอายุได้ประมาณสี่สิบต้นๆ รองลงมาก็คือสถานภาพการเงินของครอบครัวของเราในวัยเด็ก ส่วนสุขภาพจิตของเราและความประพฤติของเรากลับสู้ปัจจัยอย่างอื่นไม่ค่อยได้ในการเป็นตัวแปรว่าเราจะรวยเงินมากน้อยขนาดไหนในอนาคต

แต่ปัญหาก็คือว่า เงินเดือนของเราตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่นั้นกลับไม่ค่อยมีประสิทธิภาพต่อความสุขของเราตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่เลย และถ้าเราจะทำการเรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่ต่อความสุขในชีวิตของเราตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่แล้วละก็ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสุขภาพจิตของเราตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่ (ยกตัวอย่างเช่น เรามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากน้อยแค่ไหน เครียดมากน้อยแค่ไหน สามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น) ปัจจัยที่สำคัญรองลงมาเป็นอันดับที่สองก็คือ การมีคู่ครองชีวิต ตามมาด้วยการที่เราไม่ตกงาน (พูดง่ายๆ คือการมีงานทำถ้าเราอยากที่จะทำงาน) สุขภาพของเรา ความประพฤติของเรา (วัดได้จากการที่ว่าเราเคยทำอะไรที่ผิดกฎหมายแล้วโดนจับหรือเปล่า) เงินเดือนประจำบ้านของเรา และรั้งท้ายที่สุดก็คือการศึกษาของเรา

ปัจจัยในวัยเด็ก นอกจากสุขภาพจิต ความประพฤติ และความสามารถในการเรียน ที่สำคัญต่อความสุขของเราในอนาคตอีกตัวหนึ่งก็คือสุขภาพจิตของผู้ที่เป็นแม่ตอนที่เรายังเป็นเด็กอยู่ (สุขภาพจิตของผู้ที่เป็นพ่อนั้นก็สำคัญ แต่สู้ของผู้ที่เป็นแม่ไม่ได้) สาเหตุที่สุขภาพจิตของผู้เป็นแม่เป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อความสุขของเราในอนาคตก็เพราะว่าสุขภาพจิตของผู้เป็นแม่เป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อสุขภาพจิตของเราในวัยเด็ก (เพราะถ้าคุณแม่ของเราเครียดมากตอนที่เรายังเป็นเด็ก ความเครียดของคุณแม่ก็สามารถที่จะส่งผ่านมาถึงสุขภาพจิตของเราในขณะนั้นได้โดยผ่านพฤติกรรม ผ่านสิ่งแวดล้อมในบ้าน เป็นต้น) และด้วยเหตุผลที่สุขภาพจิตในวัยเด็กของเราเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อสุขภาพจิตของเราในอนาคต และสุขภาพจิตของเราในอนาคตก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อความสุขในชีวิตของเราตอนเราเป็นผู้ใหญ่ มันจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่สุขภาพจิตของผู้เป็นแม่ขณะที่เรายังเป็นเด็กอยู่จะมีความสำคัญที่ยาวนานมากในชีวิตของเรา

สรุปก็คือ ถ้าเราแคร์แค่ว่าปัจจัยในวัยเด็กอะไรที่สำคัญต่อการที่เราจะมีเงินใช้ในอนาคต เราก็แค่ทุ่มทุนผลักดันให้ลูกของเราเรียนเก่งๆ ก็พอ แต่ถ้าในการผลักดันนั้นกลับทำให้ลูกของเรามีสุขภาพจิตที่ไม่ดีล่ะก็ ถึงแม้ว่าเขาจะเรียนดีขนาดไหนและมีเงินเดือนที่สูงในอนาคตขนาดไหน โอกาสที่เขาจะมีความสุขในชีวิตในอนาคตก็จะน้อยกว่าคนที่อาจจะเรียนได้ไม่ดีเท่าแต่โตมามีสุขภาพจิตที่ดีกว่าเขา

และบทสรุปอีกอย่างก็คือ เห็นได้ชัดเลยว่า การที่เรามีระบบของการเก็บข้อมูลประชากรที่ดีนั้นมีประโยชน์ต่อรัฐ ต่อการสร้างนโยบายที่สามารถใช้สร้างคน และต่อความรู้ของประชาชนในการเข้าใจว่าอะไรสำคัญกับชีวิตของเรามากขนาดไหน เพราะฉะนั้น ถึงเวลาหรือยัง (ที่จริงก็ถึงเวลามานานแล้วนะครับ) ที่ประเทศไทยของเราจะมีการลงทุนใหญ่ๆ ในการขยายการเก็บข้อมูลของประชาชนอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่างที่ประเทศอังกฤษเขาทำกันสักที

อ่านเพิ่มเติม
Layard, R., Clark, A.E., Cornaglia, F., Powdthavee, N. and Vernoit, J., 2014. What predicts a successful life? A life‐course model of well‐being. Economic Journal, 124(580), pp.F720-F738. แต่ท่านสามารถหาอ่านได้จากเว็บของผมฟรีที่นี่