ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์พาณิชย์มั่นใจ “ไม่ตาย” ในกระแส FinTech – ชูจุดแข็ง “น่าเชื่อถือ” จับมือพัฒนาระบบการเงินเชื่อมประชาคมอาเซี่ยน

แบงก์พาณิชย์มั่นใจ “ไม่ตาย” ในกระแส FinTech – ชูจุดแข็ง “น่าเชื่อถือ” จับมือพัฒนาระบบการเงินเชื่อมประชาคมอาเซี่ยน

15 พฤษภาคม 2016


ในแวดวงการเงินไม่มีกระแสใดจะร้อนแรงกว่า “เทคโนโลยีทางการเงิน” หรือ “FinTech” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะเข้ามาทดแทนการให้บริการของระบบธนาคารทั่วโลก จนอาจจะไม่จำเป็นต้องมีธนาคารอีกต่อไปในอนาคต ถึงขั้นที่บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีของโลก ถึงกับกล่าวว่า “banking is necessary; banks are not” สะท้อนแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่กำลังมุ่งไป

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 ในงานสัมมนา “FinTech VS Bank Thai ใคร ‘Fin’” ในงาน Money Expo 2016 เหล่านายแบงก์ใหญ่ต่างออกมาแสดงวิสัยทัศน์ที่ธนาคารกำลังมองเข้าไปยังการเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมของตนเอง และตอบคำถามสำคัญๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า “ธนาคารยังจำเป็นกับระบบการเงินหรือไม่”, “สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปธนาคารควรจะทำอย่างไร” และ “ธนาคารจะรับมือกับ FinTech อย่างไรดี”

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(กลาง), นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(ที่3 จากซ้าย),  นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(ที่ 3 จากขวา), นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์  กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ(ที่ 2จากซ้าย), นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(คนแรกจากซ้าย) และนายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท Paypal(ที่2 จากขวา) ดำเนินการสัมมนา โดยนางสาวทิพรดา เอื้อพิบูลย์วัฒนา(คนแรกจากขวา)
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(กลาง), นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(ที่3 จากซ้าย), นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(ที่ 3 จากขวา), นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ(ที่ 2จากซ้าย), นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(คนแรกจากซ้าย) และนายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท Paypal(ที่2 จากขวา) ดำเนินการสัมมนา โดยนางสาวทิพรดา เอื้อพิบูลย์วัฒนา(คนแรกจากขวา)

“ไทยพาณิชย์” ชี้ FinTech หันมาร่วมมือมากขึ้น

เริ่มต้นจากนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ถ้าเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินอาจจะยังคงอยู่กับธนาคาร แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือรูปแบบการใช้บริการและเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ตรงนี้ทำให้ธนาคารในอนาคตจะยังคงอยู่ แต่เรื่องรูปแบบการให้บริการอาจจะเปลี่ยนไปและต้องปรับตัวหาทางก้าวข้ามกับดักรายได้ของตนเองอย่างไร เพื่อให้สามารถให้บริการธุรกรรมด้านการเงินแก่ประชาชนได้ตรงความต้องการ ด้วยความสะดวกสบายและความปลอดภัย

นายอาทิตย์กล่าวว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างปัจจุบัน การพัฒนาไปในทางที่หนุนให้คนที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้จะเป็นผู้ฉกฉวยโอกาส ทั้งการทำธุรกิจหรือทำให้ชีวิตประจำวันดีขึ้น ในแง่นี้ ธนาคารเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมบริการที่มีมาตั้งแต่อดีต ช่วยสร้างขีดความสามารถในการให้บริการกับลูกค้ามากขึ้น อีกด้านหนึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่วันนี้อาจจะไม่เห็นชัดเจน แต่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการบางอย่างที่เป็นเรื่องใกล้ตัวให้ได้เร็วขึ้น ให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาแล้วได้ทุกอย่างที่ต้องการออกไป ซึ่งอาจจะซื้อเข้ามา ร่วมมือเป็นพันธมิตร เพื่อช่วยตอบโจทย์ใหม่ๆ ของลูกค้า และประเด็นสุดท้าย จะต้องเป็นการเปลี่ยนทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เดินไปด้วยกันได้สำเร็จ

ขณะที่การเข้ามาของ FinTech นายอาทิตย์กล่าวว่า ภาพในปัจจุบันเปลี่ยนไปค่อนข้างมากจากช่วงแรกๆ ที่ FinTech เริ่มเข้ามา โดยในช่วงแรกธนาคารค่อนข้างกังวล เนื่องจาก FinTech หลายแห่งมีรูปแบบธุรกิจที่ทับซ้อนกับธนาคารมาก หลายคนมองว่าจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งของธุรกิจหรือเข้ามาทุบธนาคารให้ล้มหายไป แต่ช่วงหลัง 50% ของ FinTech ที่เกิดขึ้น ต้องการจะร่วมมือกับธนาคาร เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะไปแข่งขันแบบนั้น แต่จะหันมาสร้างเทคโนโลยีตอบสนองลูกค้าด้วยกันโดยอาศัยฐานลูกค้าและความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อธนาคารมากกว่า

“กสิกร” ดัน FinTech เชื่อมโยงอาเซียน

ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าการเข้ามาของ FinTech ไม่ได้กระทบแค่ธนาคาร แต่กระทบกับธุรกิจตัวกลางทั้งหมด ซึ่งกดดันให้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในส่วนของธนาคารถูกกดดันจาก 1) นวัตกรรมที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2) มีกลุ่มลูกค้าที่คุ้ยเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุมากกว่า 50 ปีที่เริ่มคุ้นเคยและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และ 3) รัฐบาลขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง โดยภายใต้แรงกดดันเหล่านี้ธนาคารมีจุดแข็งอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานและระบบที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งหากนำไปแบ่งปันให้ธุรกิจอื่นใช้ได้ เศรษฐกิจดิจิทัลจะสามารถเติมโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน ธนาคารเองสามารถเข้าไปทำธุรกิจเหล่านี้เองได้โดยไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะธนาคารหรือไม่ โดยอาศัยทุนที่มีอยู่แต่เดิมเหล่านี้ไปต่อยอด ดังนั้น ประเด็นคือจะสร้างความร่วมมือและเสริมแรงกันตามจุดแข็งของตนเองมากกว่าจะมาทดแทนกัน

นายธีรนันท์กล่าวว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือการร่วมมือของธนาคารไทยและระบบการเงินไทยที่จะลุกขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นสังคมที่กำลังเติบโต หรือ Growing Society และมีประชากรถึง 230 คน สวนทางกับประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีประชากรเพียง 60 ล้านคนเท่านั้น เมื่อนำมาประกอบกับภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้ โอกาสทางธุรกิจจะเกิดขึ้นอีกมากมาย

“แบงก์กรุงเทพ” ย้ำต้องปรับตัวรับมือ “Digital Revolution”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การเข้ามาของ FinTech เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการ “ปฏิวัติดิจิทัล” หรือ Digtal Revolution เหมือนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกและกระทบกับธุรกิจทั้งหมด แม้ว่าปัจจุบันระบบการเงินของโลกจะพึ่งพาธนาคารอยู่ค่อนข้างมาก แต่ธนาคาจะเริ่มถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ และคำถามว่าธนาคารจะยังสำคัญอยู่หรือไม่จะค่อยๆ มีความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่า FinTech จะเข้ามาหรือไม่ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่โลกดิจิทัลในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ธนาคารต้องเปลี่ยนวิธีคิดเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ จากเดิมที่ธนาคารคิดว่าตนเองเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการช่วยธุรกิจระดมทุน แต่ 10 ปีก่อนหน้านี้ได้เกิดตลาดทุนขึ้นมาทำหน้าที่นี้ได้เช่นเดียวกัน ขณะที่ปัจจุบันธนาคารกำลังเผชิญ FinTech ที่กำลังเข้ามาทำธุรกิจบางส่วนที่เคยเป็นของธนาคาร

โดยปัจจุบันธนาคารมีประเด็นต้องปรับตัวหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เวลาตัดสินใจนาน เนื่องจากมีมูลค่าสูงมากและเชื่องช้า ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจหรือการเรียนรู้ลูกค้าให้เข้าใจมากขึ้นว่ามีความต้องการเพิ่มเติมอะไรบ้างในปัจจุบัน และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะต้องมีความซับซ้อนน้อยลงแต่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งธนาคารปัจจุบันมีจุดแข็งคือความน่าเชื่อถือของลูกค้าและฐานข้อมูลลูกค้าที่ช่วยให้การตัดสินใจถูกต้อองมากขึ้นได้

“กรุงศรี” มองสภาพแวดล้อม “ถูกจังหวะ” ไม่มีใครตาย

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ถูกต้องสำหรับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต มีคู่แข่งใหม่ๆ รวมถึงผู้บริโภคที่พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนที่จะทำระบบชำระเงินใหม่ ทั้งหมดกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้กับธนาคาร ต้องปรับตัวให้ทันท่วงที เนื่องจากจังหวะเวลานี้ธนาคารยังมีจุดแข็งต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้และสามารถร่วมมือกับ FinTech รองรับความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าได้ รวมไปถึงสร้างระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การร่วมมือกันของธนาคารและ FinTech อาจจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ 1) ธนาคารนำ FInTech เข้ามาแก้ไขและตอบโจทย์ปัญหาภายในองค์กรที่มีอยู่ปัจจุบัน 2) นำไปตอบโจทย์ให้กับลูกค้า ดังนั้น ในแง่นี้ FinTech ไม่เคยเป็นคู่แข่งกับธนาคาร แต่จะเป็นผู้เข้ามาช่วยเหลือธนาคารตอบโจทย์หลายๆ อย่างที่ธนาคารไม่สามารถทำได้ในอดีต และสร้างประสิทธิภาพโดยรวมให้กับธนาคารและประชาชนได้

“ผมคิดว่าหลังจากนี้ไป บังเอิญตอนนี้เป็นจังหวะเวลาที่รู้สึกว่ามันมาพร้อมๆ กันในหลายๆ แบบ มันทำให้พวกเราตื่นตัว แล้วจำเป็นต้องขึ้นไปในคลื่นอันนี้ให้ทัน ถ้า ณ จุดนี้ไม่อยู่บนคลื่นคงจะโดนกระแสของ FinTech ม้วนลงไปในทะเลแน่ๆ” นายฐากรกล่าว

money expo1

FinTech รับต้องพึ่งแบงก์เป็น “นายทุน”

นายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท Paypal จำกัด เล่าย้อนกลับไปถึงสมัยที่เริ่มทำ FinTech ใหม่ๆ ว่า ในช่วง 10 ปีก่อนเรียกว่าสิ่งเหล่านี้แทบไม่เป็นที่รู้จัก เป็นเพียงธุรกิจเอสเอ็มอี เรียกว่า Tech Startup เวลาไปนำเสนอไอเดียกับธนาคารก็ไม่มีใครสนใจคุยด้วย แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป ทุกคนปรับตัวรองรับการเกิดขึ้นของ FinTech อย่างครบวงจร ซึ่งสำหรับประเทศไทยธนาคารยังจำเป็น เนื่องจากจะมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับ FinTech โดยเฉพาะเรื่องของความน่าเชื่อถือ แตกต่างจากในต่างประเทศที่ FinTech เติบโตไปค่อนข้างมากแล้วและอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาธนาคารแบบของไทย

ขณะที่ประเด็นความเสี่ยง นายสมหวังมองว่าเป็นธรรมชาติที่ FinTech จะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากมีความรวดเร็วในการปรับตัวมากกว่า ขณะที่ภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล เนื่องจากติดข้อจำกัดที่จะต้องออกกฎระเบียบต่างๆ ที่มักจะล่าช้ากว่าเสมอและไม่สามารถตรวจสอบได้หมด แต่คิดว่ายังไม่มากพอที่จะทำให้ระบบการเงินไทยมีปัญหาได้ เพราะขนาดของ FinTech ในไทยไม่ได้ใหญ่เมื่อเทียบกับของต่างประเทศ

“ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือผู้เล่นที่เข้ามาแบบไม่มีการกำกับดูแล รัฐตามไม่ทันอยู่แล้ว สมัยที่ผมทำรัฐก็ตามไม่ทัน จนพอเราถึงจุดหนึ่งเขาเห็นแล้วค่อยเข้ามาออกกฎดูแล หรือภาครัฐต้องมีคนไปร้องเรียน ประชาชนไปร้องเรียน แต่รัฐจะบอกว่าไม่มีกฎหมายมากำกับ ไม่มีวิธีการไปบังคับ วิธีที่ดีคือออกใบอนุญาต แต่ตอนนี้นิยามหรือประเภทมันไม่เพียงพอ หรือออกไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ภาครัฐต้องตามให้ทันด้วย ส่วนบอกว่าจะล้ม หรือเอาเงินหนีหายไป ในยุคนี้คงทำได้ยากขึ้น แล้วตลาดบ้านเราไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้น แต่อาจจะทำให้คนใช้รู้สึกไม่มั่นใจมากกว่า” นายสมหวังกล่าว

ธปท. เน้น “ปลอดภัย” แต่ไม่เป็น “อุปสรรค”

ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้กระแส FinTech จะเข้ามา แต่ธนาคารของไทยยังไม่ล้มหายตายจากไป เนื่องจากมีจุดเด่นหลัก 3 ประการ 1) มีเงินทุนหนา 2) มีสาขาและเครือข่ายทั่วประเทศ และ 3) มีความน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันไม่สามารถลงทุนได้รวดเร็วเท่า FinTech เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจใช้เวลานานและมีต้นทุนลงทุนค่อนข้างสูง แตกต่างจาก FinTech ที่มีกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่า แต่ยังขาดเงินทุน เครือข่าย รวมถึงความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ถ้าธนาคารและ FinTech มาจับมือกัน ทั้ง 2 ฝ่ายก็ต่างปิดจุดอ่อนของกันและกันได้ และช่วยให้ระบบการเงินพัฒนาได้

ที่ผ่านมา ธปท. ได้วางแผนและดำเนินการพัฒนาระบบการเงินไทยมาหลายปีแล้ว มี Keyword 4 คำ คือ แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง และยั่งยืน โดยประเด็นสำคัญของ ธปท. คือต้องหาสมดุลระหว่างเรื่องการออกผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่ตอบสนองประชาชน กับเรื่องความปลอดภัยของประชาชน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน

ดูเพิ่มเติมธปท. FinTech VS Bank thai