ThaiPublica > เกาะกระแส > ดีเอสไอเตรียมใช้ ม.189 ลงโทษผู้ขัดขวางการจับกุม “พระธัมมชโย” หลังศาลอนุมัติหมายค้น ชี้มีโทษจำคุก 2 ปี-ปรับ 4 พันบาท-อาจเป็นเหตุให้ถูก “จับสึก”

ดีเอสไอเตรียมใช้ ม.189 ลงโทษผู้ขัดขวางการจับกุม “พระธัมมชโย” หลังศาลอนุมัติหมายค้น ชี้มีโทษจำคุก 2 ปี-ปรับ 4 พันบาท-อาจเป็นเหตุให้ถูก “จับสึก”

30 พฤษภาคม 2016


หลังจากศาลอาญาอนุมัติหมายจับ “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ในดคีรับเช็คจาก ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ปัจจุบันเป็นนักโทษคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และในฐานะที่พระธัมมชโยเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงให้โอกาสพระธัมมชโยมอบตัวกับพนักงานสอบสวนภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2559

หลงัจากถึงกำหนดวันนัดหมาย ปรากฏว่าพระธัมมชโยไม่มา จึงตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา เวลา 13.00 ของวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าได้รับรายงานจาก พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ และที่ปรึกษาคดีพิเศษ สรุปแผนปฏิบัติการตามหมายจับศาลอาญา หลักๆ มี 4 แนวทาง คือ 1. กำหนดแผนจับกุมพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย 2. ส่งหมายจับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ หากผู้ใดพบเห็นให้จับกุมได้ทันที 3. ส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองสงฆ์ทุกระดับ รวมทั้งมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 4. ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ดำเนินคดีแก่ผู้ที่ช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา

มอบพระ 3

การเตรียมเข้าจับกุมพระธัมมชโยของดีเอสไอครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจ เนื่องจากพระธัมมชโยเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ มีประชาชนจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งคาดว่าการดำเนินการจะภายในเร็วๆนี้

วันที่ 28 พฤษภาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งหนังสือเวียนพร้อมหมายจับศาลอาญา แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ หากผู้ใดพบเห็นให้จับกุมทันที นอกจากนี้ ยังได้ส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองพระสงฆ์ทุกระดับ อาทิ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช), สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และพระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งนัดหารือกับพระราชภาวนาจารย์ (พระทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรายหนึ่งเปิดเผยว่า หลังจากศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 มาตรา 69 (4) กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถทำเรื่องถึงศาลอาญา ขออนุมัติหมายค้นตามหมายจับของศาลอาญาได้ทุกเวลา ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้นในคดีอาญา พ.ศ. 2545 และ “ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548” ซึ่งใช้ควบคู่กัน การอนุมัติหมายค้นมีระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน เริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องระบุสถานที่ วัน และระยะเวลาที่เริ่มต้นและสิ้นสุดการตรวจค้น ไว้ในแบบคำร้องขออนุมัติหมายค้นให้ชัดเจน หากไม่อาจกำหนดเวลาสิ้นสุดการตรวจค้นได้ ตามระเบียบให้ระบุว่าค้นได้ติดต่อกันไปจนเสร็จสิ้นภารกิจ

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวต่อว่า หลังจากศาลอนุมัติหมายค้นวัดพระธรรมกายแล้ว ระหว่างที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าตรวจค้นตามหมายจับของศาลอาญา หากมีผู้ใดช่วยเหลือ ขัดขวางการจับกุมผู้ต้องหา ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษใช้มาตรา 189 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยระบุว่าปฏิบัติการครั้งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพระสงฆ์ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งไม่มีทั้งหมายค้นและหมายจับ และถ้ามีการขัดขวางการจับกุมพระธัมมชโยเกิดขึ้น ถือเป็นพฤติการณ์แห่งคดี โดยเจ้าพนักงานสอบสวนอาจใช้เป็นข้ออ้างดำเนินการให้พระธัมมชโยพ้นจากสมณเพศตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้

มาตรา29

ที่มาภาพ : www.facebook.com/สำนักสื่อสารองค์กร-วัดพระธรรมกาย
ที่มาภาพ: www.facebook.com/สำนักสื่อสารองค์กร-วัดพระธรรมกาย

นอกจากนี้วันที่ 28 พฤษภาคม 2559 วัดพระธรรมกาย โพสต์ข้อความและภาพเยาวชนอาสาสวมใส่ชุดขาว ยืนตั้งแถว ต้อนรับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมที่ประตูทางเข้าวัดพระธรรมกาย เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย

อ่านเพิ่มเติม: ซีรีย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น