ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องของท่อก๊าซ ปตท. เอาแต่เรื่องหยุมหยิม ไม่ดูภาพใหญ่กันเสียเลย…

เรื่องของท่อก๊าซ ปตท. เอาแต่เรื่องหยุมหยิม ไม่ดูภาพใหญ่กันเสียเลย…

13 พฤษภาคม 2016


บรรยง พงษ์พานิช

อ่านข่าวเรื่อง คตง. มีมติให้กล่าวโทษฟ้องร้อง อดีต รมต.คลัง และอดีตผู้บริหาร ปตท. เรื่องการคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งโทษหลายๆ คนเมื่อไม่กี่วันก่อน แล้วให้เกิดความรู้สึกเป็นห่วงประเทศไทยเหลือเกิน

เนื่องด้วยว่าหน่วยงาน รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่ควรจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบให้กลไกต่างๆ ของรัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่รั่วไหล ไม่มีการคดโกงทุจริต แต่พอเอาเข้าจริง ท่านกลับไม่เคยมองภาพใหญ่เลย กลับมาทำแต่เรื่องหยุมหยิมไม่สร้างสรรค์ แทนที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ กลับจะทำให้กลไกทุกอย่างหยุดชะงัก ทำให้คนไม่กล้าทำงาน ไม่กล้าตัดสินใจ คนดีไม่ขันอาสา ในขณะที่เรื่องทุจริตคดโกงจริงๆ ท่านกลับทำไม่ได้ผลสักเท่าไร จับได้แต่คนพลาดกฎ จับคนชั่วไม่เคยได้

ทำไมผมถึงบังอาจกล้าสรุปอย่างนี้ ทำไมกล้าไปตำหนิหน่วยงานสถาบันสำคัญขนาดนั้น จะขออธิบายนะครับ…

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า ผมเชื่อว่าทุกหน่วยงาน รวมทั้งคนฟ้องด้วย ต่างก็รู้อยู่แก่ใจ ว่าเรื่องนี้ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน จะคืนท่อครบหรือไม่ครบ ไม่มีใครได้รับเงินทุจริต ไม่มีใครจ่ายเงิน สมมติถ้าจะมีใครได้ประโยชน์ก็คงเป็นผู้ถือหุ้นที่ก็เป็นกระทรวงการคลังเสีย 65% ที่เหลือก็เป็นนักลงทุนอีกหลายแสนรายที่ไม่มีใครรวบรวมเอาเงินมาจ่ายจ้างทุจริตเป็นแน่ (นอกจากว่าถ้าท่านยังหลงเชื่อว่าหุ้นที่เหลือเป็นของทักกี้ ก็ขอให้เลิกอ่านต่อเถอะครับ)

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คงต้องขอเท้าความยาวหน่อยนะครับ

ปตท. ได้ทำการแปรรูปจาก การปิโตรเลียมฯ เป็น บมจ.ปตท. ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ จำหน่ายหุ้น IPO มูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท ในปลายปี 2544 แล้วนำเงินที่ได้ไปแก้ปัญหาการเงินที่กิจการรวมทั้งในเครือประสบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งไปขยายตัวซื้อกิจการเพิ่มและลงทุนอีกมาก จนทำให้กิจการรุ่งเรืองมาตามลำดับ กลายเป็นบริษัทไทยที่ใหญ่ที่สุด

ตลอดสิบห้าปี ปตท. และบริษัทในเครือระดมทุนเพิ่มจากตลาดทุนอีกเกือบสองแสนล้านบาท และมีการลงทุนร่วมสองล้านล้านบาท ซึ่งผมขอยืนยันเลยว่า ถ้าไม่มีการเข้าตลาดฯในครั้งนั้น ปตท. จะไม่มีวันนี้อย่างแน่นอน ไม่เละเทะก็อย่างเก่งจะเป็นได้แค่รัฐวิสาหกิจชั้นดีที่ขยายตัวไม่ได้

แล้วผมก็ไม่เชื่อว่า ถ้า ปตท. ไม่เข้าตลาดจะทำให้ราคาพลังงานถูกลง (ค่อนข้างมั่นใจว่าจะแพงขึ้นด้วย และมีโอกาสขาดแคลนเกิดวิกฤติสูงกว่านี้) ซึ่งเรื่องประโยชน์ของการเข้าตลาดของ ปตท. นี้ผมมั่นใจว่ามีมากมาย และได้เขียนถึงมาหลายครั้งแล้ว จะสรุปแค่นี้นะครับ

แต่พอมาปี 2549 ก็ได้มีกลุ่ม NGO ยกเรื่องขึ้นมาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนการแปรรูป ให้ทุกอย่างเป็นโมฆะ โดยยกเอาความบกพร่องไม่สมบูรณ์หยุมหยิมบางจุดในการดำเนินการ เช่น การตั้งอนุกรรมการชุดย่อย รายละเอียดการประชาพิจารณ์ ฯลฯ รวมทั้งได้อ้างการเอาทรัพย์สินสาธารณะที่ได้จากการใช้อำนาจรัฐเวนคืนหรือรอนสิทธิ์ไปจำหน่ายจ่ายโอน

พอปลายปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาตัดสิน สรุปให้ยกคำฟ้องเรื่องการเพิกถอนการแปรรูป แต่สั่งให้ ครม. และ ปตท. ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติและสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนเพื่อการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อกลับมาเป็นของรัฐ

ตรงนี้ขอวิจารณ์การตัดสินของศาลปกครองหน่อยนะครับ (ขอยืนยันว่าวิจารณ์ตามหลักการ ไม่ได้หมิ่นศาลนะครับ) ผมเห็นด้วยอย่างมากกับการตัดสินที่ไม่เพิกถอนการแปรรูป เพราะไม่อย่างนั้นก็เกิดวิกฤติแน่นอน ถ้าให้การแปรรูปการขายหุ้นเป็นโมฆะ ก็จะเกิดวิกฤติตลาดทุนก่อนเลย ตามมาด้วยวิกฤติพลังงาน และถ้าไม่เกิดวิกฤติใหญ่จนถดถอยทั้งเศรษฐกิจไทย อย่างน้อยก็จะทำให้หยุดชะงักเป็นเวลานาน

แต่การตัดสินที่ให้คืนท่อบางส่วนนี้ ผมไม่คิดว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องเลย (ไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุผลทางรัฐศาสตร์หรือเปล่า) เพราะถึงจะเป็นการเวนคืน เป็นการรอนสิทธิ์ แต่ ปตท. ก็เป็นผู้จ่ายค่าเวนคืนค่ารอนสิทธิ์ และเป็นผู้ลงทุนสร้างท่อเอง ตอนขายหุ้นไปก็ชัดเจนว่าเป็นการขายทรัพย์สินส่วนนี้ไปด้วย การไปเอาคืนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ นั้น จริงๆ มันก็คือการ “ยึดคืน” ดื้อๆ

เป็นการ Nationalize จากเอกชน (อย่าลืมว่าศาลก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐนะครับ)

ทรัพย์นั้นจะได้มาโดยเหตุใดๆ ก็ตาม ย่อมนำมาใช้ประโยชน์ได้ และน่าจะจำหน่ายออกไปได้เช่นกัน ถ้าการจำหน่ายนั้นจะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น (และไม่ได้เอื้อประโยชน์ผู้ซื้อ) การกำหนดบรรทัดฐานว่าห้ามขายจ่ายโอนอย่างนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบกับกิจการร่วมการงานระหว่างรัฐกับเอกชนอื่นๆ ได้อย่างมากทีเดียว

ความจริงเรื่องท่อก๊าซนี้ ข้อควรคำนึงในทางเศรษฐศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องของการเป็นเจ้าของ แต่เป็นเรื่องของการผูกขาด ซึ่งถึงแม้จะไม่ห้ามใครทำแต่ก็มีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ ซึ่งก่อนแปรรูปก็ได้มีมติว่า ให้แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกที่ ปตท. ถือหุ้น 100% (เพื่อประโยชน์ในการควบคุมราคาค่าบริการ ไม่ให้ใช้อำนาจ Monopoly ทำกำไรเกินควร) และให้เปิดบริการแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้วย ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ปตท. ดำเนินการล่าช้า แต่ทางแก้ก็ควรเร่งรัดให้ทำ ไม่ใช่ไปยึดคืน เพราะคนละเรื่องกัน …จนถึงบัดนี้ ผมก็ยังเชื่อว่าคำตัดสินส่วนนี้ไม่สมเหตุผล และน่ากลัวว่าจะถูกนำไปใช้เป็นบันทัดฐานในกรณีอื่นๆ จนเป็นอุปสรรคในการที่รัฐกับเอกชนจะร่วมกันพัฒนาประเทศ

แต่เอาเถอะครับ ในเมื่อศาลตัดสินแล้ว จะผิดจะถูกก็ต้องทำตามเพราะเรายึดหลักนิติรัฐ (ผลกระทบจะดีเลวอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับไป) ผู้เกี่ยวข้องก็พยายามทำตามโดยให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด ในการดำเนินการทั้งการตีความและวิธีการต่างๆ ก็ได้ปรึกษาหารือกับศาลปกครองที่เป็นผู้ตัดสินเองนั่นแหละมาตลอด ซึ่ง ปตท. ก็ดำเนินการคืนท่อส่วนที่ศาลตีความตัดสินไปแล้ว โดยก็ยอมจ่ายค่าเช่าให้ทรัพย์สินที่ตัวเองจ่ายค่าที่ค่าสิทธิ์และค่าก่อสร้างเองตามที่ศาลท่านสั่ง ศาลท่านก็ได้บอกแล้วหลายหนว่าดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว รวมทั้ง ปตท. ก็ไปดำเนินการแยกท่อส่วนที่เหลือมาตั้งบริษัทใหม่และเปิดให้มี Third Party Access ตามมติดั้งเดิม (นี่โชคดีนะครับที่รัฐไม่ไปตั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจใหม่มารับโอนท่อแล้วดำเนินธุรกิจซำ้ซ้อนขึ้นมาให้ทั้งสิ้นเปลืองทั้งมีโอกาสรั่วไหล) …นักลงทุนก็พอกล้ำกลืนรับได้ ถึงแม้จะคิดว่าไม่ค่อยถูกหลักการ ไม่ค่อยเป็นธรรม

ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะแก้ปัญหาไปได้แล้ว เดินหน้าต่อไปได้ แม้จะเกิดแผลบ้าง เกิดบรรทัดฐานที่อาจมีผลกระทบภายหน้าบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ 100% แต่การณ์ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่เล่นไม่เลิก เอาเรื่องเก่าไปฟ้องศาลอีกหลายครั้งหลายหน พยายามเปิดประเด็นใหม่ หาข้อผิดข้อพลาดเปิดกฎระเบียบหยุมหยิมทุกทางที่จะให้เรื่องไม่จบ

บอกตรงๆ ว่า ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ณ จุดนี้พวกคนดีที่เคลื่อนไหวไม่เลิก ท่านต้องการอะไร …ยังต้องการยึดคืน ปตท. กลับมาเป็นของรัฐ 100% หรือเปล่า ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นก็คงต้องถามว่าทำไปทำไม และจะทำอย่างไร ถ้ารัฐจ่ายตามมูลค่าเป็นธรรมก็ต้องใช้เงินร่วมแปดแสนล้านบาท จะเอาเงินมาจากไหน ถ้ายึดเอาดื้อๆ หายนะมาเยือนประเทศแน่ๆ (หนักกว่าใช้กำลังยึดประเทศอีกครับ) …เอามาแล้วจะบริหารอย่างไร จะให้กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้นักการเมืองก็เตรียมพบ รฟท.2 ได้ …หรือจะตั้งบรรษัทฯ ให้ NGOs ร่วมบริหาร ก็จะเป็นการตามรอย PDVSA ของท่านชาเวซแห่งเวเนซุเอลาที่ทำเอาฉิบหายทั้งประเทศในเวลานี้

ถ้าบอกว่าที่ทำอยู่ไม่ละไม่เลิกนี่ก็เพื่อเอาคนผิดคนโกงมาลงโทษ ทวงเงินค่าเสียหายคืน ผมอยากถามท่านว่าเรื่องนี้ใครโกง ใครได้ประโยชน์มิชอบ การแปรรูป ปตท. นั้น มีการวางนโยบายไว้ตั้งแต่รัฐบาลอานันท์ (ปันยารชุน) ต่อเนื่องกันมา รัฐบาลชวน (หลีกภัย) 2 เป็นคนออก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจให้แปรรูปได้ รัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) กำกับให้ขายหุ้น รัฐบาลสุรยุทธ์ (จุลานนท์) ดำเนินการให้มีการแยกท่อให้บริการบุคคลที่สาม รัฐบาลสมัครให้รับโอนท่อกลับตามคำสั่งศาล มาเสร็จเอารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (เรื่องนี้) ผมไม่เห็นมีใครโกง และไม่เชื่อว่าร่วมมือกันโกงส่งทอดมาได้ 6-7 รัฐบาล (ขอยืนยันว่า ผมไม่ได้การันตีว่าไม่มีการทุจริตในองค์กรนี้นะครับ ผมเพียงแต่ว่าเรื่องท่อก๊าซนี้เท่านั้น เรื่องอื่นๆ ถ้ามีทุจริตก็ต้องตามตรวจสอบปราบปราม ซึ่งผมก็สนับสนุนเต็มที่)

มันเลยดูเหมือนว่า นี่เป็นการต่อสู้เอาชนะกันด้วยทิฐิล้วนๆ ไปลำเลิกหาประเด็นทุกขั้นตอน ไม่ดูภาพรวมภาพใหญ่กันเลย

อย่างมติ คตง. ล่าสุดที่ให้เอาผิดเอาโทษทางอาญาแถมให้ชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้านกับอดีตรัฐมนตรีคลัง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กับอดีต CEO ของ ปตท. คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นั้น มันน่างงไหมครับ …หมอเลี๊ยบท่านไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย (ผมนึกไม่ออกว่าคุณหมอจะมีทางคดโกงทุจริตหรือได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้อย่างไร) เพียงแต่มารับตำแหน่งในช่วงที่ศาลมีคำสั่งตัดสิน ทางเจ้าหน้าที่เขาก็ดำเนินการตามที่ได้ปรึกษาศาล รมต. ก็มีทางเลือกแค่จะดองเรื่องเอาไว้ หรือแทงผ่านเพราะไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะหยุดชะงัก คนที่มีความรับผิดชอบก็ต้องกล้าทำงาน เลยได้รับผิดจริงๆ เพราะถูกกล่าวโทษร้ายแรง …ส่วนคุณประเสริฐยิ่งน่างงหนัก เพราะเขาเป็น CEO ของ ปตท. ที่เป็นจำเลย ยิ่งต้องรักษาประโยชน์องค์กร พยายามโอนให้น้อยที่สุดเท่าที่ศาลจะยอม ซึ่งเขาก็ทำตามนั้น ถ้าโอนมากเกินองค์กรก็อาจเสียหาย ผู้ถือหุ้นอาจฟ้องเอาได้

ผลของเรื่องนี้ ต่อไปคงไม่มีใครกล้าขยับตัดสินใจทำงานอะไร เพราะเล่นเปิดกฎตีความหยุมหยิม กำกับตรวจสอบทุกขั้นตอน ไม่คำนึงถึงภาพใหญ่ ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ ไม่คำนึงว่าแท้จริงมีคดโกงมีทุจริตจริงหรือไม่ ใช้ระเบียบตัดสินมากกว่าจะใช้หลักการใช้ข้อเท็จจริง อย่างนี้ประเทศจะหยุดชะงัก กลไกรัฐ (ที่ดันขยายเสียใหญ่มาก) ก็คงเป็นอัมพาต ไม่มีใครกล้าทำอะไร

ก็ขอตะโกนถามดังๆ อีกครั้งครับ ว่าท่านอยากได้อะไร …อยากยึด ปตท. คืนมาฟรีๆ ซึ่งก็ฉิบหายแน่นอน …จะซื้อคืนราคาตลาดรัฐก็คงหมดตัว …เอามาแล้วจะบริหารอย่างไร ให้นักการเมืองครอบเต็มที่ก็คงแย่ลง ให้ NGOs บริหารก็ไม่มีทักษะ …อยากได้ท่อเพิ่ม ก็ไม่รู้จะเอามาทำไม ค่าเช่าก็ไม่กี่สตางค์แถมได้ไม่คุ้มเสีย

นี่แหละครับ มัวแต่เอาชนะคะคานกัน ไม่ดูภาพรวม ไม่คิดภาพใหญ่ ประเทศเลยติดกับดักลึกลงลึกลงทุกที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 11 พ.ค. 2559