ThaiPublica > คอลัมน์ > ‘โลกเขียว’ กับ Promession

‘โลกเขียว’ กับ Promession

24 เมษายน 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ มนุษย์จึงจำต้องหาวิธีกำจัดร่างคนตาย ซึ่งแต่ดึกดำบรรพ์มีอยู่ 2 วิธี คือ ฝังและเผา วิธีแรกกินพื้นที่โลกและจะเป็นปัญหามากในสถานการณ์ที่ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นจาก 7,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน เมื่อสิ้น ค.ศ. 2100 (ปัจจุบันประชากรโลกเพิ่ม 1 ล้านคนทุกๆ 5 วัน) วิธีที่สองทำให้ปัญหาโลกร้อนหนักหน่วงยิ่งขึ้น ไม่ว่าหันไปทางไหนก็เป็นปัญหาทั้งสิ้น จนกระทั่งมีคนหัวดีเสนอทางเลือกที่สามซึ่งเรียกว่า promession

การฝังลึก 6 ฟุต ในโลงหรือห่อผ้ามิได้กินพื้นที่อย่างเดียวเท่านั้น หากก่อปัญหาโลกร้อนอีกด้วยเพราะเมื่อร่างเน่าเปื่อยในสภาพที่ขาดออกซิเจนก็จะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) อันมีผลในทางลบต่อภาวะโลกร้อนเป็น 20 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ และถ้าสร้างหลุมศพใหญ่โตก็จะเป็นภาระแก่โลกเพราะกระบวนการผลิตทั้งหลายก็ไม่หนีผลิตคาร์บอนไดออกไซด์อีก

การเผาแบบดั้งเดิมต้องใช้ไม้ฟืน และถ้าใช้ไฟฟ้าหรือก๊าซซึ่งเพิ่งใช้กันมาเพียงหนึ่งร้อยปี (ในบ้านเราเพิ่งใช้กันไม่นาน) ก็สร้างปัญหาการสูญเสียพลังงานและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงก๊าซพิษที่คนไม่ตระหนักอีกมาก

ในประเทศตะวันตกที่การเผาศพมีความนิยมมากขึ้นทุกที หลังจากเผาไป 90 นาที ที่อุณหภูมิ 700-800 องศาเซลเซียส เขาก็จะหยุดเพราะหากเผาต่อไปควันจากปรอท (สารอุดฟัน) และโซเดียมคลอไรด์ที่อยู่ในร่างจะเป็นอันตรายต่อคนทำงานเพราะเป็นสารพิษ จากนั้นก็เอาเถ้ากระดูกที่เผาไม่หมดออกมาเข้าเครื่องปั่นจนเป็นผงละเอียด

การฝังและเผาไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนอีกต่อไปสำหรับโลกข้างหน้าเพราะจะช่วยซ้ำเติมภาวะโลกร้อน วิธีการใหม่ที่มีผู้เสนอในนามของ promession (มาจากคำว่า promessa ในภาษาอิตาลีซึ่งหมายถึง promise) ก็คือการรีไซเคิลร่างกายมนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติโดยทำร้ายโลกน้อยที่สุด กระบวนการนี้เปรียบเสมือนการให้สัญญาว่าจะช่วยทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นจากการจากไป

เจ้าของไอเดียนี้คือ Susanne Wiigh-Mäsak นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน ชาวสวีเดน เธอศึกษากระบวนการนี้มา 20 ปี และตั้งบริษัทส่วนตัวในปี 2005

ไอเดียของ promession ก็คือ (ก) แช่แข็งร่างที่ -18 องศาเซลเซียส ประมาณ 24-48 ชั่วโมง (ข) เอาร่างแช่ลงในถังที่บรรจุไนโตรเจนเหลวประมาณ 83 ลิตร เพื่อให้เย็นจัดถึง -196 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ร่างกายจะเปราะเสมือนเป็นแก้ว (ค) ใช้อัลตราซาวด์สั่นสะเทือนร่างเป็นเวลา 1 นาที จนแตกละเอียดเป็นผงไปทั้งหมด (ง) นำผงเหล่านี้ผ่านความร้อนจนน้ำระเหยไปหมดเหลือแต่ผงแห้งไม่มีกลิ่น ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 30 ของน้ำหนักร่างในตอนแรก (จ) ใช้แม่เหล็กและวิธีการดูดโลหะและสารแปลกปลอมออกจากผงเพื่อให้เป็นอินทรียวัตถุ (organic) อย่างแท้จริง (ฉ) บรรจุผงนี้ลงในภาชนะที่ทำจากเปลือกข้าวโพดหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ จากนั้นอาจอัดเป็นแผ่น หรือเป็นกล่อง หรือเป็นขวด แล้วนำไปฝังดินตื้นๆ เพื่อให้ย่อยสลาย ซึ่งภายใน 6-12 เดือนจะกลายเป็นดินเป็นปุ๋ยของต้นไม้ไปในที่สุด

เธอได้ทดลองกับซากหมูนับเป็นร้อยๆ ครั้งอย่างประสบความสำเร็จแต่ยังไม่เคยใช้กับมนุษย์เพราะยังมีปัญหากับกฎหมายสวีเดน ขณะนี้มีอยู่ 12 รายที่คอยวิธีการ promession อยู่ตามความประสงค์ของผู้ตาย ทางการสวีเดนกำลังตรวจสอบเพื่อความแน่ใจและจักได้พิจารณาแก้ไขกฎหมายในเรื่องการฝังศพด้วยวิธีใหม่นี้ต่อไป

promession ได้รับความสนใจจาก 60 กว่าประเทศโดยเฉพาะเยอรมนี อังกฤษ เวียดนาม แอฟริกาใต้ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา (รัฐแคลิฟอร์เนีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้ ซึ่งมีการออกกฎหมายยอมรับวิธีการฝังแบบใหม่นี้แล้ว

ถึงแม้หลายหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมสนใจ promession เป็นอย่างมาก แต่อุปสรรคของเธอคือผู้ประกอบอุตสาหกรรมเผาศพทั้งหลายในโลกรวมไปถึงธุรกิจฝังศพด้วย เนื่องจากตระหนักดีว่าหาก promession ได้รับการยอมรับแล้วก็จะกระทบธุรกิจของพวกเขาเป็นอย่างมาก

promession ช่วยในเรื่อง “โลกเขียว” หลายประการดังต่อไปนี้ (ก) ไนโตรเจนเหลว เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตออกซิเจน ซึ่งออกมาเป็น 4 เท่าของออกซิเจนที่ผลิตได้ เมื่อระเหยก็หายไปในชั้นบรรยากาศอย่างไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ข) สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมของโลกน้อยกว่าการฝังและการเผา ทั้งในแง่มุมของการใช้ทรัพยากรและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ค) สร้างการรีไซเคิลโดยทำให้มนุษย์มีค่ายิ่งขึ้นเมื่อตายไปแล้วโดยช่วยสภาพของดินให้มีคุณภาพดีขึ้น

ถ้าเรานึกถึงการใช้กระบวนการนี้กับคนที่ตายถึงเดือนละประมาณเกือบ 5 ล้านคนในโลก ก็จะเห็นภาพของการประหยัดพลังงานและการช่วยให้ “โลกเขียว” ขึ้นได้ชัดเจนขึ้น

กระบวนการนี้ไม่สอดคล้องกับบางศาสนาที่ต้องใช้วิธีฝัง แต่สำหรับกลุ่มที่ใช้วิธีเผา (ในสวีเดนร้อยละ 77 ของผู้ตายใช้การเผา) อยู่แล้วมีโอกาสที่จะเกิดได้ โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งรุนแรงและอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์ครั้งที่หกในรอบ 200,000 ปี ก็เป็นได้ (รายละเอียดดูหนังสือ “The Sixth Extinction” โดย Elizabeth Kolbert สำนักพิมพ์ openworlds แปลโดยสุนันทา วรรณสินธ์ เบล)

ทางเลือกที่สามนี้สำหรับชาวพุทธแล้วน่าจะเป็นวิธีการที่ยอมรับได้เพราะเปรียบเสมือนกับการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต เมื่อชีวิตหนึ่งจากไปก็เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้งอกงามขึ้นมาแทนที่ เถ้าถ่านของตนเองส่งเสริมให้ต้นไม้เติบโตอย่างสนับสนุนโลกให้ดำรงอย่างยั่งยืน ชีวิตตนเองจึงไม่สูญไปหากแต่กลับมาอีกในรูปลักษณ์อื่นที่งดงามอย่างไม่ต่างจากชีวิตที่จากไป

ชาวทิเบตอาจเถียงว่ายังมีอีกวิธีของการกำจัดร่างที่ไร้วิญญาณ นั่นก็คือวิธี ‘Sky Burial’ ซึ่งเป็นประเพณีของผู้อยู่อาศัยบางแห่งในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย กล่าวคือ นำคนตายหรือใกล้ตายไปทิ้งไว้บนยอดเขา และมีผู้ทำพิธีผ่าท้อง ตัดไส้ แขนขา ให้เป็นชิ้นๆ เพื่อให้อีแร้งมาลงกิน ซึ่งหมายความว่าร่างเป็นอาหารของนก และเมื่อถ่ายออกมาก็ย่อยสลายเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ เมื่อนกตายสัตว์อื่นก็มากินซากพร้อมกับเป็นอาหารของหนอน การตายจึงเป็นการสนับสนุนการรีไซเคิลของธรรมชาติซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่ต่างไปจาก promession เพียงแต่หวาดเสียวและสยดสยองกว่า

ถ้าทุกคนที่ตายไปญาติพี่น้องต่างปลูกต้นไม้ตรงที่ฝังผงจากร่างซึ่งผ่านกระบวนการ promession เราคงมีต้นไม้ที่เขียวครึ้มกันทั้งโลกเป็นแน่ โดยไม่ต้องสูดควันไฟตลอดจนเศษผงจากการเผาไหม้ และอาจไม่ต้องทนกับอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนก็เป็นได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 19 เม.ย. 2559