ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “ประยุทธ์”ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า แถมคนรายได้เกิน 4 ล้านลดภาษี 5%

“ประยุทธ์”ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า แถมคนรายได้เกิน 4 ล้านลดภาษี 5%

20 เมษายน 2016


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรมสรรพากรให้ผู้ที่มีเงินได้หักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 60,000 บาท ค่าลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งอัตราดังกล่าวนี้ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2535 ดังนั้นเพื่อให้โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรม สอดคล้องกับความเป็นจริง และช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือน จึงได้ปรับใหม่ดังนี้

1. เพิ่มค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการหักภาษี สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เพิ่มเป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. เพิ่มค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการหักภาษี สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากค่ากู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ และสิทธิอื่นๆ มาตรา 40 (3) จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าลิขสิทธิ์ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เพิ่มเป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

3. ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี มีรายการดังนี้

1) ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท
2) ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
3) ค่าลดหย่อนบุตร จากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร (จากเดิมที่ให้หักลดหย่อน 2,000 บาทต่อคน)
4) ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
5) กองมรดก เดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
6) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

4. ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีดังนี้ ตามภาพด้านล่าง

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี60

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของการเพิ่มค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้ที่มีเงินได้ประเภทเงินเดือน หรือที่เรียกว่า “มนุษย์เงินเดือน” โดยเน้นไปที่กลุ่มคนในระดับล่างเป็นสำคัญ หากนำข้อมูลโครงสร้างของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2557 มีผู้มีเงินได้มายื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 ประมาณ 10 ล้านคน มาวิเคราะห์ จะเห็นว่า กลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จำนวน 6.3 ล้านคน ยังคงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 ต่อไป ส่วนคนที่มีเงินได้ในช่วง 150,001-300,000 บาท มีจำนวน 2 ล้านคน ได้รับสิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 70,000 บาทต่อคน รวมผู้เสียภาษีทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับประโยชน์จากมาตรการภาษีของรัฐบาลประมาณ 8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 80% ของผู้ที่มายื่นภาษีกับกรมสรรพากร

ผู้สื่อข่าวถามว่าสาเหตุที่ลดภาษีให้คนที่มีรายได้ 4,000,001-5,000,000 บาท เดิมเสียภาษี 35% ลดเหลือ 30% นายประสงค์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ ทำให้โครงสร้างอัตราภาษีที่แท้จริง หรือ Effective Rate มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 29% ใกล้เคียงกับกรณีบุคคลธรรมดาที่นำเงินไปลงทุนในบริษัทได้กำไรต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ของกำไรสุทธิ กำไรที่เหลือ 80% นำมาจ่ายเป็นเงินปันผล ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% รวมแล้วบุคคลธรรมดาที่นำเงินไปลงทุนในบริษัทมีภาระภาษีที่แท้จริง 28% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำลังจะเริ่มใช้ในปีภาษี 2560

ถามว่าการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เท่าไหร่ นายประสงค์กล่าวว่า โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปรับปรุงใหม่จะมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2560 เริ่มเปิดให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 อยู่ในช่วงปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ไม่เกิน 32,000 ล้านบาท กว่าจะถึงวันนั้นคิดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวแน่นอน อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรมากนัก โดยการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้ทำให้มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ไม่ถึง 26,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี60_2

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การเพิ่มค่าใช้จ่ายจาก 60,000 เป็น 100,000 บาท ค่าลดหย่อนจาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถนำมาหักภาษีได้เพิ่มขึ้น 70,000 บาทต่อราย หากกรมสรรพากรไปเพิ่มค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ผู้เสียภาษีต้องนำเงิน 70,000 บาท มาเสียภาษีที่อัตรา 5% ดังนั้น มาตรการของรัฐบาลชุดนี้ช่วยลดภาระให้กับผู้เสียภาษีทุกราย รายละ 3,500 บาท ยกเว้นกลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิ 4,000,001-5,000,000 บาท ได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้มากที่สุด เพราะเดิมคนกลุ่มนี้เสียภาษีที่อัตรา 35% โครงสร้างใหม่ที่จะใช้ในปี 2560 เสียภาษีที่อัตรา 30% ลดลง 5% ทำให้ภาระภาษีคนกลุ่มนี้ลดลง 50,000 บาท เมื่อมารวมมาตรการเพิ่มค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอีก 3,500 บาท คนกลุ่มนี้มีภาระภาษีลดลง 53,500 บาทต่อราย ส่วนกลุ่มคนที่มีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท ไม่ได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่เพิ่มขึ้น เพราะเดิมได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว

ประเด็นสุดท้าย ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้

1. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว
– กรณีโสด จากเดิมผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท
– กรณีสมรส เดิมผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท

2. กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน
– กรณีโสด เดิมผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
– กรณีสมรส เดิมผู้มีเงินต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท

3. กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง เดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

4. กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงสร้างภาษ๊บุคคลธรรมดา 2559

อ่านรายละเอียดการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นี่