ThaiPublica > เกาะกระแส > เมืองไทยประกันชีวิตขยับเป็น “Regional Company” ร่วมทุน”แคนาเดียอินเวสท์เมนต์โฮลดิ้ง” กลุ่มทุนใหญ่กัมพูชาเปิด “โสวรรณภูมิไลฟ์ แอสชัวรันซ์”

เมืองไทยประกันชีวิตขยับเป็น “Regional Company” ร่วมทุน”แคนาเดียอินเวสท์เมนต์โฮลดิ้ง” กลุ่มทุนใหญ่กัมพูชาเปิด “โสวรรณภูมิไลฟ์ แอสชัวรันซ์”

5 เมษายน 2016


โสวรรณภูมิไลฟ์ แอสชัวรันส์

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) นำโดยนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ประธานกรรมการ และนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมกับนักอกยา ปุ้ง เครียว แซ่ ประธานกรรมการธนาคารแคนาเดียและประธานกรรมการบริษัทโสวรรณภูมิไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จำกัด(มหาชน) เปิดโสวรรณภูมิ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ ณ กรุงพนมเปญ หลังได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) นำโดยนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ประธานกรรมการ และนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมกับนักอกยา ปุ้ง เครียว แซ่ ประธานกรรมการธนาคารแคนาเดียและประธานกรรมการบริษัทโสวรรณภูมิไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จำกัด(มหาชน) เปิดโสวรรณภูมิ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ ณ กรุงพนมเปญ หลังได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) นำโดยนายโพธิพงษ์ ล่ำซำ ประธานกรรมการ และนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วมกับนักอกยา ปุ้ง เครียว แซ่ ประธานกรรมการ ธนาคารแคนาเดีย และประธานกรรมการ บริษัท โสวรรณภูมิไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดโสวรรณภูมิ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ ณ กรุงพนมเปญ หลังได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตในกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

นายสาระกล่าวถึงนโยบายการขยายธุรกิจมายังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ว่า “สอดคล้องกับการเปิดประชาคมอาเซียนหรือ AEC ต้องยอมรับว่าเรื่องประกัน บางประเทศเพิ่งจะเริ่ม บางประเทศอาจจะยังไม่ได้เริ่ม บางประเทศเริ่มไปสักพักแล้ว แต่ผมมองว่าประเทศเหล่านี้มีความใกล้เคียงกันกับประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเน้นประกันแบบสะสมทรัพย์ การประกันเพื่อความคุ้มครอง และมาเรื่องสุขภาพ (wellness) ก็เหมือนกันหมด และหากนับในเชิงเบี้ยประกัน บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตเป็นอันดับสองในกลุ่มอาเซียน อาจจะรองสิงคโปร์ และเราทำ treaditional products เยอะที่สุด ประกอบกับภูมิประเทศ เราก็เป็นประเทศเพื่อนบ้านกันอยู่แล้ว น่าจะทำอะไรได้เยอะ รวมทั้งตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล เมดิคัลฮับ ลอจิสติกส์ และเรื่องอะไรอีกหลายๆ อย่าง ผมว่าประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องพวกนี้”

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายการทำธุรกิจนั้น บางประเทศกฎหมายเปิดเต็มที่ รับการลงทุนจากต่างประเทศ สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ บางประเทศยังไม่เปิด อย่างเมียนมา เป็นได้แค่สำนักงานผู้เทน แต่โมเดลการลงทุนของเมืองไทยประกันชีวิตใน CLMV จะเป็นการร่วมลงทุน (joint venture) ผมเชื่อในเรื่องการร่วมลงทุน จริงอยู่ว่าเราอาจจะมีประสบการณ์ในธุรกิจประกันชีวิตมากว่า 64 ปี แต่ในขณะเดียวกัน พอเราเข้าไปในต่างประเทศ เราจะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องตลาด เรื่องวัฒนธรรม เรื่องคน ของประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การร่วมลงทุนน่าจะตอบโจทย์ได้

“นอกจากนั้นจะเห็นโมเดลว่า แม้แต่ของไทยเอง เรื่องของเน็ตเวิร์กเป็นเรื่องสำคัญมาก ต่อให้คุณมีโนฮาวดีแค่ไหน ถ้าไม่มีเน็ตเวิร์ก ไม่มีทางที่จะ start of ไปด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น โมเดลของเมืองไทยประกันชีวิตจะต้องเป็นร่วมลงทุน และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างการลงทุนในเวียดนาม เมืองไทยประกันชีวิตถือหุ้นแค่ 10% เพราะถือว่าเข้าไปในตลาดที่ใหญ่มากๆ ในเวียดนาม และที่นี่เขามีธุรกิจประกันมาในระดับหนึ่งแล้ว การแข่งขันค่อนข้างแรง เพราะฉะนั้น หลักการของเมืองไทยประกันชีวิตก็คล้ายกับการร่วมลงทุน แต่สัดส่วนการถือหุ้นอาจจะต่างกัน นั่นคือสิ่งที่เราทำ” นายสาระกล่าว

นายสาระกล่าวต่อว่า ส่วนทางตอนล่างของประเทศ ต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่มีประชากรที่เยอะ อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กำลังศึกษาอยู่ นโยบายของเมืองไทยประกันชีวิต บางประเทศเราอาจจะทำในรูปแบบบิสซิเนสพาร์ทเนอร์ ไม่จำเป็นต้องร่วมลงทุน เป็นการทำอะไรด้วยกันและเป็นการแชร์โนฮาวกันและกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ รวมทั้งกฎหมาย และต้องยอมรับว่าบางประเทศตลาดค่อนข้างเต็มแล้ว แต่มีเรื่องโนฮาวที่จะทำอะไรด้วยกันได้ เช่น สิงคโปร์ แต่ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขั้นศึกษา

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

“วันนี้เราหวังจะเป็นบริษัทประกันชีวิตระดับภูมิภาค (Regional Life Insurance Company) นั่นคือภาพเมืองไทยประกันชีวิต และใน Regional Company ผมคิดว่าเราวงในอาเซียนก่อน ในอนาคตอาจจะเป็นอาเซียนบวกอะไรก็ว่าไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้นๆ อาทิ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ความพร้อมของตลาด รวมทั้งความพร้อมของเมืองไทยประกันชีวิต แต่ตลาดหลักของเรายังเป็นประเทศไทย โอกาสของประกันยังไปได้อีก จริงๆ ไทยกำลังเป็นตลาดที่ไปได้ดีด้วย คนเริ่มเห็นภาพมากขึ้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเยอะ” นายสาระกล่าว

นายสาระกล่าวต่อว่า “ต้องเรียนว่าบางประเทศอาจจะยังใหม่มาก ทั้งในแง่ตัวผลิตภัณฑ์ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะจูงใจให้คนเดินเข้าสู่ระบบประกันได้ อาทิ ภาษียังไม่ได้เริ่ม ผมคิดว่าไทยสามารถแชร์ในหลายๆ เรื่องได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะแชร์ในทุกเรื่อง จะแชร์ในตัวโครงใหญ่แล้วไปปรับแต่งให้เข้ากับประเทศนั้นๆ มากกว่า แต่เราจะเห็นว่าปัจจัยหลักที่จูงใจในแง่ที่ทำให้คนเดินเข้าระบบประกันเป็นเรื่องอะไรบ้าง เช่น ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายขนาดไหน ช่องทางการเข้าถึงเป็นอย่างไร ความรู้ ความเข้าใจ มีการสนับสนุนให้ความรู้แค่ไหน ในขณะเดียวกัน กฎเกณฑ์อื่นๆ ตัวช่วย เช่น ภาษี มีขนาดไหนที่จะช่วยผลักดัน เป็นโจทย์ที่ไม่ใช่แค่บริษัทประกันทำ อย่างที่กัมพูชา สมาคมประกันชีวิตและสมาคมประวินาศภัยรวมอยู่ด้วยกัน แต่เริ่มเห็นว่าสมาคมเริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวผลักดันที่จะหารือกับหน่วยงานกำกับ อย่างตอนนี้ผู้กำกับดูแลเขาต้องการจะคุยกับสมาคม อันนี้ก็จะเห็นว่า ที่กัมพูชา หน่วยงานกำกับเขาได้ไปเห็นในหลายๆ ประเทศมาและหยิบมา ชอร์ตคัตมาเลย ผมก็คิดว่าเขาจะไปได้เร็ว”

นายสาระอธิบายว่า “จริงๆ กัมพูชาค่อนข้างตอบรับเรื่องประกัน เวียดนามก็ค่อนข้างปรับกฎหมายในมุมที่ส่งเสริมมากขึ้น ส่วนลาว หลายๆ คนก็สนใจเข้าไป เมียนมายังให้เป็นแค่สำนักงานผู้แทน ตอนนี้ที่กัมพูชามีบริษัทประกันชีวิตอย่างเดียว ประกันวินาศภัยอย่างเดียว หรือเป็นทั้งสองอย่าง รวมๆ มีประมาณ 12 บริษัท เป็นบริษัทในท้องถิ่นทั้งหมด”

สำหรับธุรกิจประกันชีวิตในกัมพูชาในช่วง 9 เดือนของปี 2558 มีเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 11.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูง 226% และมีเบี้ยประกันชีวิตรวม 15.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 150% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านนางสาวอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ โสวรรณภูมิ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ กล่าวว่า กัมพูชามีประชากรวัยทำงานคิดเป็นสัดส่วน 60% ของประชากรทั้งหมด และประชากรรายได้ปานกลางและมีกำลังซื้อเติบโตค่อนข้างมาก รวมทั้งชาวกัมพูชาในปัจจุบันค่อนข้างให้ความสำคัญกับการวางแผนการศึกษาบุตรและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นโอกาสสำคัญที่ธุรกิจประกันชีวิตจะเข้ามาตอบโจทย์ได้ ตลอดจนการนำเสนอบริการด้านการวางแผนการเงินระยะยาวให้ลูกค้าด้วย ดังนั้น แผนการดำเนินธุรกิจในเบื้องต้นจะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน ทั้งประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เพื่อความคุ้มครอง สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและอุบัติเหตุ ตลอดจนประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อ เป็นต้น

“ตอนนี้ ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีประกาศเกี่ยวกับธุรกิจประกันชีวิตเวียนออกมา 6-7 ประกาศ จริงๆ กัมพูชาเริ่มให้มีธุรกิจประกันในปี 2012 แต่ทำในเรื่อง non-life ต่อมาเริ่มเห็นว่า non-life กับ life มันมีความแตกต่างกัน ปีนี้จึงเป็นความท้าทายในแง่ที่ว่าจะมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ออก และปรับให้เข้าประกันชีวิตมากขึ้น จริงๆ วันนี้ภาคของผู้กำกับดูแลเริ่มเข้าใจว่าธุรกิจประกันชีวิตไม่เหมือนกับประกันภัย จึงมีความร่วมมือระหว่างเอกชนในภาคธุรกิจที่จะต้องช่วยกันในเรื่องการให้ความรู้และพัฒนา เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างของธุรกิจประกันภัยกับประกันชีวิต เขาจึงมองภาพว่าหลักเกณฑ์เหมือนกันไม่ได้ เขามองว่าต้องปรับเกณฑ์ให้เข้าประกันชีวิตให้มากขึ้น”

แคนาเดียแบงก์

นอกจากนี้ กฎหมายกัมพูชาเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น 100% ได้ แต่เมืองไทยประกันชีวิตเลือกร่วมลงทุนเพราะพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญและรู้จักตลาดดี และมีความแข็งแกร่งมาก คือแคนาเดีย อินเวสท์เมนท์ โฮลดิ้ง มีเครือข่ายเป็นแบงก์ 2 แบงก์ และมีธุรกิจอื่นๆ โดยแคนาเดียอินเวสท์เมนต์โฮลดิ้งถือหุ้น 51% และเมืองไทยประกันชีวิต 49%

“แคนาเดียฯ เขารู้จักตลาด รู้จักคนกัมพูชาว่าชอบอะไร วัฒนธรรมเป็นอย่างไร ส่วนเมืองไทยมีโนฮาว ตลาดที่นี่มันเร็วมาก เขาพร้อมจะหยิบว่าผลิตภัณฑ์อะไรที่เหมาะกับคนในประเทศนี้ เราจึงเห็นพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างเร็ว เช่น ไม่ตายคืนเบี้ย เพิ่งเห็นในประเทศเราไม่กี่ปี แต่ที่นี่มีแล้ว มันเป็นการหยิบว่าอะไรที่เหมาะสมมาทำเลย นี่เป็นตัวอย่างว่าทำไมตลาดเขาไปเร็วมาก”

นายสาระกล่าวเสริมว่า “แต่ต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่ใหม่มาก แม้เมืองไทยประกันชีวิตจะมีโนฮาว ประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ต้องปรับแต่งให้กับเข้าที่นี่ ตามความเป็นจริงของที่นี่ ความเหมาะสมที่สุด ยอมรับว่าพาร์ทเนอร์ที่ดี มีความเข้าใจ ความรู้ในตลาดของเขา มีเครือข่ายที่ดีมาก ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสร้างตัวบริษัทใหม่อันนี้ขึ้นมา ค่อนข้างดีใจ เป็นโครงการแรกของเมืองไทยประกันชีวิตในรูปแบบการร่วมลงทุน เราเป็นคนทำเรื่องประกันจริงๆ เราต้องการสร้างธุรกิจประกันชีวิตออกไปให้ประชาคมอาเซียนได้ แม้กัมพูชาเขาจะมีประชากรแค่ 15 ล้านคน แต่ในหลักการตลาดยังมีโอกาสเยอะ ผมเชื่อว่าคนรายได้ปานกลางจะวิ่งขึ้นมาเร็ว เพราะการก่อสร้างเกิดขึ้นเยอะมาก และจริงๆ วันนี้กัมพูชาก็เป็นที่สนใจของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารก็มีเยอะ บริษัทประกันเดิมก็มีคนสนใจอยู่ตลอดเวลา และในธุรกิจอื่นๆ ผมก็เชื่อว่าการใช้จ่ายในประเทศก็จะเกิดมากขึ้น และคนที่เข้ามาในตลาดก็เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ มีความเข้าใจเรื่องประกันว่ามีประโยชน์อย่างไร น่าจะไปได้ดี แต่ที่นี่ธุรกิจประกันเพิ่งเริ่มในปี 2012 และบริษัทเองก็พยายามคิดค้นแบบ ในภาคกำกับดูแลก็พยายามออกกฎเกณฑ์มารองรับ หลังจากนี้ก็น่าจะเริ่มเห็นอะไรที่เร็วขึ้น”

“ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตในกัมพูชามี 4 บริษัท ถามว่าเป็นคู่แข่งไหม การแข่งก็ดีอยู่ แข่งกันพัฒนา และตอบสนองแก่ผู้ซื้อ และตลาดยังไปได้อีกเยอะ ต้องยอมรับว่าเพิ่งเริ่ม ทางสมาคมก็คุยกันเยอะ น่ายินดี” นายสาระกล่าว

นางจีรนันท์ วงษ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประเทศกัมพูชา
นางจีรนันท์ วงษ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประเทศกัมพูชา

เปิดกลุ่มทุนกัมพูชา

นางจีรนันท์ วงษ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประเทศกัมพูชา เป็นผู้คลุกวงในเกี่ยวกับกัมพูชา เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่กัมพูชามาอย่างยาวนาน เปิดเผยถึงกลุ่มทุนนักธุรกิจรายใหญ่ของกัมพูชาว่า “กลุ่มนักอกยา ปุ้ง เครียว แซ่ เจ้าของธนาคารแคนาเดียต้องถือเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศ บางคนถามว่าใครรวยที่สุดในกัมพูชา ดิฉันก็คิดว่ากลุ่มนี้ก็รวยมาก เพราะธุรกิจหลากหลาย ทำธนาคารแล้วเขาก็ไปทำบ้านจัดสรร เปิดโครงการทีไรก็ขายหมดทุกที เพราะคนเชื่อถือ เป็นโครงการที่คุ้มค่ากับการลงทุน และที่ดินที่เขาขายไปราคาขึ้นตลอด ไม่มีโครงการไหนที่ขายไม่ออก ราคาไม่ขึ้น เพราะที่พัฒนาดี จากนั้นเขาทำถนนหนทาง ทำโครงการกับรัฐบาล เขาก็ไปแลกกับที่ดินที่รัฐบาล แทนที่รัฐบาลจะจ่ายเป็นเงินก็จ่ายเป็นที่ดินแทน เขาก็มีที่ดินมากขึ้นเรื่อยๆ ขยายการลงทุนไปเรื่อยๆ กลุ่มนี้เขาลงทุนไปทุกจังหวัดไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งกระจายเยอะ เขาเคยบอกดิฉันว่าตัวเขาเองอยากจะทำธุรกิจกับคนไทย เพราะเขาเชื่อว่าคนไทย 1. ซื่อสัตย์ 2. อยากทำสินค้าไทย เชื่อว่าสินค้าไทยคุณภาพดี ซึ่งเขาก็มีคอนเซปต์อย่างนั้น เขาพยายามบอกดิฉันเสมอว่าถ้ามีธุรกิจคนไทยที่อยากมาทำให้บอกเขา มาคุยกับเขา เพราะเขายินดีที่จะแตกไลน์ไปเรื่อยๆ ”

นอกจากนี้ กลุ่มแคนาเดียฯ ยังมีห้างสรรพสินค้าในกรุงพนมเปญ 3 แห่ง ได้แก่ โสรยา สุวรรณา รัตนพลาซ่า และห้างสรรพสินค้าที่เขาสนใจจะทำก็อยู่ที่เกาะเพชรซึ่งกลุ่มแคนาเดียฯ เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด เขามีพื้นที่ มีเงินทุนพร้อม แต่เขาต้องการการบริหารของไทย โนฮาวการจัดการ และต้องการสินค้าไทยเพราะจะทำให้ห้างเขามีคนมาจับจ่ายใช้สอยคึกคัก

“เหมือนห้างอีออนมอลล์ของญี่ปุ่น เขาบอกว่าในห้างของเขา สินค้าไทยขายดีที่สุด บริษัทสหพัฒน์มาขายเสื้อผ้า His&Her เขาได้กำไรตั้งแต่เดือนแรก สหพัฒน์บอกว่าสบายที่มาลงทุนที่นี่ เทียบกับไปลงทุนในหลายๆ ประเทศ เขาบอกว่าเขาแฮปปี้มาก อีออนเป็นห้างญี่ปุ่น พยายามดึงสินค้าไทยมาขาย สินค้าญี่ปุ่นคนกัมพูชาไม่ได้ชื่นชมมากเหมือนสินค้าไทย และคนที่นี่รวย ไม่แต่งตัวไม่แสดงออก เขาแต่งตัวเหมือนไม่มีเงิน พกเงินสดไปซื้อ อย่างลูกค้าบางคนขายที่ดินได้เงินมาซื้อมอเตอร์ไซค์ มีเรื่องเล่าวว่า ป้าถามว่ามอเตอร์ไซค์ขายคันเท่าไหร่ ป้าบอกเอา 7 คัน เพราะลูกเยอะ คนขายช็อกไปเลย ดูถูกไม่ได้”

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ทำคาสิโนรอบประเทศ มีกลุ่ม”อกยาลียงพัฒน์” เป็นที่รู้จักดีที่ที่เกาะกง และเขามีสัมปทานทำโรงแรม มีคาสิโนหลายแห่ง และมี “อกยากลุ่มอื่นๆ” ที่ทำคาสิโน เช่น “กลุ่มก๊กอาน” และ “อกยากิดเมง” กำลังจะทำธุรกิจการท่องเที่ยว ที่จังหวัดพระสีหนุ ซึ่งกลุ่มคาสิโนจะทำธุรกิจน้ำเมา บุหรี่ ด้วย (อ่าน “10 กลุ่มทุนใหญ่กัมพูชา”)

ปัจจุบันการท่องเที่ยวกัมพูชาเติบโตปีละ 20% จากก่อนหน้านี้ 2-3 ล้านคน ตอนนี้ 4 ล้านคน โดยมีนักท่องเที่ยวจีนมาอันดับหนึ่ง เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มนักธุรกิจประกัน มี 3 ราย มีของ “อกยากิดเมง” ที่มีคาสิโนทางเส้นเวียดนาม มีธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม, กลุ่มคนเวียดนามมาลงทุนกับคนกัมพูชา และกลุ่มคนไทย บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต ที่เข้ามาลงทุน 100%

เมื่อถามว่าแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตเป็นอย่างไร นางจีรนันท์กล่าวว่า “แนวโน้มจะดี เพราะไม่มีอะไรที่จะประกันสุขภาพกับชีวิตเขาเลย จากสิ่งที่ไม่มี ตอนนี้มีกฎหมายออกมาให้คุณเก็บเงินคนไปค้ำประกันสุขภาพกับชีวิตได้ เป็นสิ่งการันตีสุขภาพว่าเขาเจ็บป่วยจะมีคนดูแล เขาเจียดเงินส่วนหนึ่งมาจ่ายสำหรับตัวเอง รัฐยังไม่มีสวัสดกิารตัวนี้ สักวันรัฐจะต้องเอาประกันไปจ่ายให้ข้าราชการ บริษัทให้กับลูกจ้างของตัวเอง กฎหมายประกันชีวิตเพิ่งออกเมื่อธันวาคม 2558 และที่ผ่านมามีประกันชีวิต แต่ไม่มีสุขภาพ ประกันชีวิตไม่ได้รับความนิยม ตอนนี้ทำได้แล้ว ส่วนโรงพยาบาลเขามีหลายเกรด มีโรงพยาบาลที่เป็นคลินิกของต่างชาติมาอยู่ เช่น ของจีน เวียดนาม มีโรงพยาบาลใหญ่ของเวียดนามมาตั้งที่นี่ แต่การพยาบาลไปส่งต่อเมืองไทยก็มี คนที่นี่ชอบ”