ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ธปท. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโตช้า ผู้บริโภคห่วงรายได้ในอนาคต กำลังซื้อชะลอกว่าที่คาด

ธปท. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโตช้า ผู้บริโภคห่วงรายได้ในอนาคต กำลังซื้อชะลอกว่าที่คาด

1 เมษายน 2016


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน เดือนมีนาคม 2559 เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของ กนง. หลังจากมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ว่า โดยรวมเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มโตช้ากว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย และกระทบการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การส่งออกที่หดตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำต่อเนื่อง และสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตที่เริ่มลดลง ยังกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ชะลอลงมากกว่าคาด เนื่องจากความกังวลด้านรายได้ในอนาคตของประชาชน

ด้านภาวะเศรษฐกิจของจีนและโลกที่อาจชะลอมากกว่าที่คาดถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ กนง. ตัดสินใจเก็บ “พื้นที่นโยบาย” ไว้ถ้าหากเกิดความผันผวนขึ้นมาในอนาคต นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้มองเศรษฐกิจโลกและให้คำแนะนำที่ไปในทางเดียวกันว่า รัฐบาลควรจะใช้นโยบายการเงินและการคลังเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกให้เต็มที่ เนื่องจากไอเอ็มเอฟมองเห็นความเสี่ยงสูงขึ้นค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีแรงส่งจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อเอสเอ็มอี มาตรการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และโครงการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กตามมาตรการประชารัฐ นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่สูงกว่าคาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ ของสายการบินต้นทุนต่ำ และเส้นทางการเดินทางโดยรถยนต์จากจีนมาไทย

ทั้งนี้ ความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคของภาครัฐที่ออกมาจะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจในระยะต่อไปหรือไม่ นายจาตุรงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมาแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนชะลอลงมาตลอด ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพี ที่รวมผลทางราคา หรือ Nominal GDP พบว่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังมีแนวโน้มที่จะลดลง

“ขณะนี้เห็นตัวเลขโตอย่างช้าๆ ถามว่าอยากเห็นโตกว่านี้ไหม อยากเห็นมากๆ เลย โดยเฉพาะตัวลงทุนของภาคเอกชนเป็นตัวที่ทำให้สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย และถ้าอยากให้ศักยภาพการเติบโตของเรา หรือ Potential GDP โตได้ 3.4-4% ต้องมีการลงทุนภาคเอกชน ภาคเอกชนถ้ามีความชัดเจนของการฟื้นตัวและการลงทุนภาครัฐ เขาจะกล้าลงทุนมากกว่านี้ แต่ก่อนการลงทุนเคยเพิ่มเป็น 10% แต่ตอนนี้เพิ่มไหม ก็เพิ่ม แต่เพิ่มต่ำๆ” นายจาตุรงค์กล่าว(อ่านเพิ่มเติมรายงานนโยบายการเงิน)

Print

ย้อนรอย กนง. ย้ำ “เก็บพื้นที่นโยบาย” แม้ปัจจัยกดดันให้ลดดอกเบี้ย

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เพื่อรักษา “พื้นที่นโยบาย” แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีปัจจัยที่เอื้อให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไม่เติบโตลดลงกว่าที่คาด อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ แต่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายเพียงพอเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของระบบที่มี

“ปัจจัยที่ระบุไปจะเห็นว่าเป็นปัจจัยที่ดูเหมือนว่าควรจะต้องลด แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า นโยบายการเงินมันผ่อนปรนเพียงพอหรือไม่ ตรงนี้ กนง. เห็นว่าผ่อนปรนเพียงพอแล้วและควรรักษาขีดความสามรถเอาไว้ พื้นที่นโยบาย รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่อยู่ในระดับที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบโดยรวมได้ แต่ถ้ามองระยะต่อไป หากว่าเศรษฐกิจกลับทิศทางขึ้นมา อาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงตรงนั้นอย่างมากได้ ส่วนเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก กนง. ก็มองว่าอาจจะไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจ แต่ดอกเบี้ยก็ไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่ใช้ได้ กนง. เองก็พร้อมใช้เครื่องมือเหล่านั้นดูแลหากอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนออกจากปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น” นายจาตุรงค์กล่าว

โดย กนง. ยังได้เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเป็นครั้งแรก ซึ่งปกติจะเปิดเผยในรายงานโยบายการเงินปีละ 4 ครั้งในแต่ละไตรมาส ภายหลังการประชุม กนง. 1 อาทิตย์ โดย ธปท. ได้ปรับลดจีดีพีลงจากครั้งประมาณการเดือนธันวาคม 2558 ที่ 3.5% เป็น 3.1% โดยในรายละเอียดปรับลดลงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ถูกปรับจนติดลบ 2% มีเพียงการลงทุนภาครัฐที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวถือเป็นความเสี่ยงด้านบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจร่วมกับการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป

สำหรับภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน นายจาตุรงค์กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี 2558 ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงเช่นเดียวกัน สะท้อนแรงสนับสนุนด้านอุปสงค์ที่แผ่วลงและมีความเสี่ยงด้านลบต่ออัตราเงินเฟ้อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณะชนยังสูงกว่า 2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน แม้จะปรับลดลงแต่ยังอยู่ในแดนบวกอ่อนๆ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการปรับลดประมาณการในครั้งนี้ก็ตาม

“ความเสี่ยงถ้าเทียบกับครั้งที่แล้วมีความสมดุลมากขึ้น คราวเดือนธันวาคม 2558 และเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ความเสี่ยงออกไปด้านต่ำมาก ครั้งนี้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง เพราะเรารับรู้ปัจจัยด้านต่างประเทศมาพอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัจจัยด้านลบจากต่างประเทศ เพราะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ความผันผวน ความเสี่ยงของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลัก สำหรับประเทศเกิดใหม่ที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ” นายจาตุรงค์กล่าว