ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > กสิกรไทยเปิดตัว KBTG เดินหน้าผลักดันให้เกิด “ฟินเทค 2.0” – ปรับสไตล์ทำงานรับยุคเจนวาย

กสิกรไทยเปิดตัว KBTG เดินหน้าผลักดันให้เกิด “ฟินเทค 2.0” – ปรับสไตล์ทำงานรับยุคเจนวาย

26 เมษายน 2016


นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวบริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group: KBTG) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีโลกการเงินใหม่ โดยร่วมกับพันธมิตรทางเทคโนโลยีและจับมือ FinTech และ Tech Startup สร้างนวัตกรรมการเงินรองรับดิจิทัลแบงกิ้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงินของโลก

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป รับโจทย์ใหม่ความท้าทายในอนาคต ที่ต้องคิดให้ออก คิดให้ทะลุว่าจะทำอย่างไร ที่จะสนองความต้องการมนุษย์ในโลกอนาคต

“ในช่วงเวลาที่มีความร้อนระอุหลายเรื่องในบ้านเมืองของเรา การเมืองก็ร้อนโดยทั่วไปอยู่แล้ว อากาศก็ร้อน ไปอยู่ที่ จ.น่าน สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (อุณหภูมิ) 40 องศาฯ ป่าไม้ที่น่าจะสร้างความร่มเย็นให้กับประเทศได้ทำท่าจะไปบ้านหมดแล้ว ขนาดสงกรานต์จะรดน้ำให้มันเย็นยังต้องใช้ขันสีแดง เผลอๆ หากไม่ระวังจะโดน IUU (กรณีการทำประมงผิดกฎหมาย) ให้ใบแดงเราอีก อะไรมันจะวุ่นวาย ใครจะบริหารราชการแผ่นดิน ปวดหัวที่สุด อันนี้คือความเป็นจริง ถามว่าเรารู้พวกนี้ได้อย่างไร ทำไมข่าวถึงกันเร็วขนาดนี้ เพราะวันนี้ทุกอย่างอยู่ในมือถือ นี่คือความเป็นจริงของชีวิตเราในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีหมายเลขมือถือกว่า 80 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากร และใน 80 กว่าล้านเลขหมายนี้เป็นมือถือแบบ data function ประมาณ 30 ล้านเลขหมาย”

พร้อมกล่าวต่อว่า “สมัยก่อน เวลาลุกขึ้นมาพูด ใครไม่ตั้งใจฟังก้มหน้าทำนั่นทำนี่ เหมือนตอนนี้ที่กำลังก้มหน้าจุ๊กจิ๊กๆ ก็จะหาว่าไม่มีมารยาท แต่นั่นคือในบริบทวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ซึ่งโลกอย่างนั้นไม่มีแล้ว ตอนนี้ทุกคนหูก็ฟังไป มือก็ยิกๆๆ ก็ไม่ว่ากัน เพราะนั่นคือลักษณะของมนุษย์ที่ทำงานกันในวันนี้แล้ว แล้วจะยิ่งกว่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น อะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ มันจะอยู่ในฐานของเทคโนโลยีที่กำลังใช้กันอยู่ และนับวันก็จะเร็วกว้างขวางไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชีวิตทางการเงินและอื่นๆ ที่รวมกันเป็นระบบเศรษฐกิจจะต้องมีวิธีการที่แตกต่าง ตอนนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เป็น e-Platform, e-Payment ซึ่งเป็นการคิดที่ช้ากว่ากสิกรไทย เพราะเรามี e-Girl มาก่อนเกือบ 10 ปีแล้ว แต่นั่นคือสิ่งท้าทายที่รัฐบาลโยนโจทย์มาให้รัฐกับเอกชนได้ร่วมมือกันในการหาทางออก นำมาสู่ความมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ของการทำงานของคน หลีกเลี่ยงการต้องใช้เงินสด เหรียญ มันพูดง่ายแต่ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ เพราะเป็นสิ่งที่เราใช้มาโดยตลอด ยิ่งคนเล็กคนน้อย ยังติดในเหรียญ ในธนบัตรต่างๆ แต่ถ้าสมมติเราหนีจากตรงนั้น เราจะทุ่นค่าใช้จ่ายด้วยกันทุกฝ่าย เร็วกว่าด้วย ปลอดภัยกว่าด้วย นี่คือความท้าทายที่ผ่านมาทางกระทรวงการคลัง ผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย มาที่สมาคมธนาคารไทย ว่าต้องดันประเทศไทยให้ไปสู่โลกธุรกรรมทางการเงินทุกด้าน หนีจากธนบัตรกับเหรียญให้มากที่สุด เพื่อความมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นต่อชีวิตโดยรวมของทุกคนและของเศรษฐกิจของประเทศด้วย นี่คือโจทย์ที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ หารูปแบบใหม่ ฐานใหม่”

นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า “การที่จะคิดของใหม่ หากอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ โอกาสที่จะคิดนอกกรอบคงยาก อย่าง ซิลิคอนวัลเลย์ ทำไมความคิดบรรเจิดเรื่องในโลกอินเทอร์เน็ตถึงกระจุกอยู่ที่นี่ วัฒนธรรมทุกด้าน การจัดสถานที่ การแต่งกาย วิธีการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล ไมโครซอฟต์ อินเทล แอปเปิล เราก็อยากไปในทิศทางนั้นเหมือนกัน เป็นเทคนิคของการจัดการแบบใหม่ คือก่อนที่จะไปคาดคั้นเอาความคิดใหม่ๆ ออกมา มันต้องจัดการสภาพแวดล้อม ที่เป็นตัวอาคาร วัฒนธรรมองค์กร การแต่งกาย วันนี้ที่ต้องผูกเนคไทก็ต้องโยนทิ้งไปหมดแล้ว ที่ตึกนี้ปล่อยฟรีเต็มที่ ขออย่างเดียวอย่าเพิ่งใส่รองเท้าแตะมาทำงาน ถ้าเมื่อไรคิดเบรกทรู (breakthrough) ได้จะอนุญาตให้ใส่รองเท้าแตะมาทำงาน การผูกเนคไทต่างๆ ไม่จำเป็นแล้ว เป็นโลกที่ต่างออกไปแล้ว ทำไมที่ธนาคารกสิกรไทยซึ่งคิดเรื่องนี้ล่วงหน้ามา 1-2 ปีแล้ว ถึงได้เดินมาถึงวันนี้ที่เรามีตึกนี้ที่แจ้งวัฒนะ เราออกแบบใหม่หมด ทิ้งของเก่า คือทิ้งวิธีการแบบเดิมๆ วิธีคิดแบบเดิมๆ หาวิธีการแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดธุรกรรมที่อยู่บนฐานที่ทันสมัย รวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพประหยัดต้นทุนได้ และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย”

“เพราะฉะนั้น วันนี้เราพยายามเดินไปในทิศทางที่เป็นอนาคต โลกของการเงิน อนาคตของวิธีการทำงานของคนยุคใหม่ และอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย KBTG รวมบริษัทต่างๆ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อคิดหาอะไรที่วันนี้ยังไม่เกิด หาให้ได้ก่อนที่จะอุ้ยอ้ายเกินไปและทำงานไม่ได้” นายบัณฑูรกล่าว((ดูข้อมูล Digital Banking)

บรรยากาศภายในตึกKBTG
บรรยากาศภายในตึก KBTG

ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธาน KBTG กล่าวถึง KBTG ว่า “ความคิดที่จะแข่งกับฟินเทค เป็นความคิดที่ล้าสมัย จริงๆ ฟินเทคเกิดขึ้นมาเมื่อหลายๆ ปีที่แล้ว ตอนนั้นฟินเทคมีความคิดที่จะมา distrub แบงก์ แต่ตอนนี้เรากำลังเข้ายุคที่เรียกว่า ‘ฟินเทค 2.0’ เป็นยุคที่ฟินเทคกำลังหันกลับมาจับมือทำงานร่วมกับธนาคารและสร้างสิ่งใหม่ๆ เพราะฟินเทคมีข้อดีหลายอย่าง มีอินโนเวทีฟไอเดีย มีวิธีการมองตลาด มีเทคโนโลยีของตัวเองที่น่าสนใจมาก แต่สิ่งที่ฟินเทคขาดและทำให้มีการผลักดันให้เกิดฟินเทค 2.0 คือการขาดฐานลูกค้า ขาดแบรนด์ ขาดเทคโนโลยีหลายๆ ตัว เมื่อเขาเข้ามาในฟิลด์นี้ เขาเห็นว่าการจะสร้างโซลูชั่นสักอัน ต้องมีเทคโนโลยีมาประกอบกันหลายๆ ชิ้น เป็นจำนวนมาก หรือขาดความสามารถในการสเกลอัพ (scaleup, ขยายขนาด) เพราะเขาโตจากการเป็นบริษัท startup เล็กๆ พอเขาจะสเกลอัพขึ้นมา เขาจะมีปัญหาทันทีว่าจะสเกลอัพในลักษณะแบบไหน ไม่ว่าตัวเทคโนโลยี หรือขั้นตอนวิธีการ ขบวนการบริหารงาน บางบริษัทโตขึ้นจากการมีคน 20-30 คน พอโตขึ้นมาเป็น 200-300 คน ความซับซ้อนการจัดการเขาจะเริ่มขึ้นทันที เขาจะเจอปัญหา ซึ่งตรงนี้ธนาคารทั้งหลายจะเข้าช่วยเติมเต็มได้”

นายธีรนันท์กล่าวต่อว่า ฉะนั้น ธนาคารมีฐานลูกค้า มีแบรนด์ที่ดี มีความเข้าใจต่อผู้กำกับดูแล รู้ว่าข้อกำหนดการกำกับดูแลจะเดินไปทางใด และจะคุยกับผู้ดูแลกฎอย่างไร ถ้าเราต้องการ approval ต่างๆ เรามีประสบการณ์ ซึ่งสำคัญมาก ประสบการณ์ในธุรกิจแบงกิ้งเป็นเรื่องที่ต้องสะสม

“ประสบการณ์ทำให้เกิดอะไร ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า practicality ขึ้นมา คือ ฟินเทคมีไอเดียดีๆ แต่สิ่งนั้นจะมีประโยชน์ใช้ได้กับลูกค้าจริงๆ หรือเปล่า คนที่มีประสบการณ์จะสามารถเข้ามาช่วยเสริมได้ว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งการที่เรามีบิสซิเนสทีม ที่มีความสามารถ มีความเข้าใจ มีทีมงานไอทีที่มีความสามารถระดับโลก สิ่งเหล่านี้เข้ามาเสริมได้ เทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ขาดอยู่ก็อาจจะไม่ต้องสร้างใหม่ ก็มาสร้างไปด้วยกัน มาทำงานร่วมกัน เกิดยุคที่เราเรียกว่าฟินเทค 2.0″

พร้อมกล่าวต่อว่า “เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ที่ผมได้พูดกับพาร์ทเนอร์ๆ หลายคนว่า จริงๆ การเกิดขึ้นของฟินเทคเป็นสิ่งที่เราควรจะยินดี เราควรจะผลักดันให้มันเกิดขึ้น แต่ผมเชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จของฟินเทคได้ต่อเมื่อองค์กรซึ่งมีพลังอย่างเช่นธนาคาร เข้ามาทำงานร่วมกับเขา ทำให้เกิด real business use case ในสิ่งที่เขาคิดอยู่ practical business use case ในสิ่งที่เขามีอยู่ แล้วเราก็เอาทีมงานเราเข้าไปเสริมในสิ่งที่เขาขาด เทคโนโลยีบางอันที่เรามีอยู่แล้ว เปิดให้ใช้ได้ ข้อมูลลูกค้าเรา ในบางส่วนเราสามารถเปิดให้ใช้ได้ ข้อมูลหลายๆ อันของเราสามารถนำมาวิเคราะห์ วิจัยในเชิง analytic ให้ไปถึงการใช้งานอย่างแท้จริง ผมคิดว่านั่นเป็นแนวทางที่ KBTG กำลังเดินอยู่ คือการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ชิพ ทำงานร่วมกับฟินเทค ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีพาร์ทเนอร์ ซึ่งมี knowlegde มีโนฮาวในเรื่องต่างๆ และมีเงินลงทุนในเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว เราพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมเทคโนโลยีพาร์ทเนอร์ของเราเข้ากับฟินเทค รวมทั้ง knowlegde ของกสิกรไทยเองในเรื่องบริการทางการเงิน สะสมมาอย่างลึกซึ้งตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา”

นายธีรนันท์กล่าวต่อว่า “เราเดินไปด้วยกัน ไม่ได้มาแข่งกันเพื่อให้ใครสักคนชนะและอีกคนกลายเป็นคนแพ้ เชื่อว่าการเดินไปด้วยกันจะทำให้โอกาสในความสำเร็จของฟินเทคนั้นเพิ่มขึ้นสูงมาก และนั่นเป็นความตั้งใจของเรา ที่จะช่วยทำให้ฟินเทคประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาคิดและฝันไว้”

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ (กลาง)และนายสมคิด จิรานันตรัตน์ (ขวาสุด)
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ (กลาง) และนายสมคิด จิรานันตรัตน์ (ขวาสุด)

ด้านนายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน KBTG กล่าวว่า “ก่อนที่จะพูดถึงเทคโนโลยีที่เราจะทำ อยากจะพูดถึงฟินเทคตามที่คุณกระทิง (เรืองโรจน์ พูนผล ผู้จัดการกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก) ได้กล่าวว่า ฟินเทคคือการเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพดีขึ้น วิธีการทำงานของฟินเทคคือทำงานอย่างหิวกระหายเหมือน startup ผมก็เลยมีความคิดว่า ฟินเทคในสายตาที่ผมมอง KBTG และอยากจะเห็นคือ ฟินเทคมี 2 ลักษณะ คือInternal FinTech กับ External FinTech ผมอยากจะเห็น KBTG เราทำงานแบบฟินเทค คือมีความหิว มีความกระหาย เอาเทคโนโลยีเข้าไปทำให้ระบบการเงิน Financial System มีประสิทธิภาพดีขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็ร่วมมือกับฟินเทคข้างนอก เพื่อที่จะเอาความคิดริเริ่มใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ดีไซน์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมกำลังให้กับ digital banking ที่เราจะทำในอนาคต”

ถามว่าเทคโนโลยีอะไรที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ KBTG มองอยู่ นายสมคิดกล่าวว่า “ingredients” ของเทคโนโลยีที่สำคัญที่จะเป็นองค์ประกอบของ digital banking ที่สมบูรณ์แบบที่ KBTG มองมีอยู่ 5-6 อย่างด้วยกันคือ

อย่างแรก คือ เทคโนโลยีของโมบาย ที่ใช้มานานแล้ว แต่สิ่งที่เราอยากจะทำ คือเราอยากจะทำให้การใช้งานโมบายมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเราคิดว่าโมบายในอนาคต มันจะสเกลเร็วมาก เราอยากไปสู่ Advanced Moblie Programming ที่จะสเกลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

อย่างที่สอง ผมคิดว่า เรื่องของดีไซน์ ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีทีเดียว แต่พอเราบอกว่าทุกอย่างอยู่บนมือถือแล้ว ดีไซน์เป็นเรื่องสำคัญมาก เราจะดีไซน์อย่างไรให้คนอยากใช้ แอปพลิเคชัน รู้สึกอยากจับต้อง น่าใช้ น่าจูบ น่าสัมผัส น่าลอง ไม่ทำให้คนที่ไม่เคยใช้รู้สึกว่านี่คือคนแปลกหน้า ดีไซน์ที่ดีควรเป็นแบบนั้น เราก็อยากร่วมมือกับเทคโนโลยีพาร์ทเนอร์ที่มี methodology เรื่องดีไซน์ระดับโลก

อย่างที่สาม เรื่องการวิเคราะห์ โดยเฉพาะ machine learning หมายถึงการกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้นโดยเรียนรู้จากการกระทำ หรือสิ่งที่ทำไปก่อนหน้านั้น โดยใช้หลักการของปัญญาประดิษฐ์ เรามีการร่วมมือกับทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา หลายหน่วยงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสุดยอดของเมืองไทยในเรื่อง machine learning

อย่างที่สี่ Application Programming Interface (API) คือโปรแกรมหรือชุดคำสั่งหรือช่องทางสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างซอฟต์แวร์หนึ่งไปยังอีกซอฟต์แวร์หนึ่ง รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันไปยังเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันกับระบบปฏิบัติการ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการเข้าถึงข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแอปพลิเคชัน

“ดังนั้น การร่วมมือกับฟินเทคโดย API ที่จะเปิดโลกของธนาคารให้กับฟินเทคผ่าน API เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเราทำเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว และมีการทดสอบกับฟินเทครายหนึ่ง ว่ามีการต่อเชื่อมกันแล้วฟินเทคได้ประโยชน์อย่างไร ทาง KBTG ได้ประโยชน์อย่างไร และลูกค้า Kbank ได้ประโยชน์อย่างไร”

อย่างที่ห้า วันนี้เราอาจจะยังไม่มีการประยุกต์ใช้ในลักษณะที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain มีคนพูดถึง Blockchain ว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนโลกเหมือนที่อินเทอร์เนตเปลี่ยนโลกในยุค 1990 เขาก็เปรียบเทียบว่า Blockchain ตอนนี้สภาพเหมือนอินเทอร์เน็ตตอนเริ่มต้น ซึ่งเราก็ปล่อยทิ้งไม่ได้ เราก็ต้องมีคนศึกษาเรื่องนี้ เป็นการลองทำดูว่า เอา Blockchain มาใช้กับเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร

อย่างที่หก ที่เราให้ความสำคัญคือ IoT: Internet of Things เป็นเรื่องที่เราคิดว่าเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมาก อีกหน่อย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบๆ ผู้บริโภคจะหันกลับมาให้ข้อมูลผู้บริโภค หันกลับมาบอกผู้บริโภคว่าสุดท้ายแล้วอะไรเกิดขึ้น และเขาควรจะทำอย่างไรต่อไป ก็มีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในเรื่อง IoT

นี่คือ 6 เทคโนโลยีที่คิดว่าเป็น ingredients สำคัญของฟินเทคและ digital banking ในยุคต่อไป

นายสมคิดกล่าวต่อว่า ในแง่วิธีการทำงาน วัฒนธรรมการทำงาน KBTG เน้นอยู่ 3คำ value creation, innovation และ agility นี่คือรูปแบบใหม่ของ KBTG WAY ที่เราจะเดินไปข้างหน้า

“ในเรื่องของคน เราอยากจะทำให้ KBTG น่าสนใจ คนอยากมาทำงาน อยากมาร่วมงานกับเรา ไม่ใช่แค่คนไทย แม้กระทั่งคนที่อยู่ทั่วโลก อยากมาทำงานกับเราว่า KBTG คือสถานที่ที่เขาอยากทำงานด้วย และเรามี KBTG Pay ที่สามารถจ่ายเงินแทนเงินสดได้ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านกาแฟ หรือจ่ายเงินใครก็ตามบนถนนหนทางได้”

นายธีรนันท์กล่าวเสริมว่า “ผมคิดว่าในการเดินต่อไปข้างหน้า สิ่งที่เรามองหาและอยากจะได้มากที่สุดอย่างหนึ่งคือคนและพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถในเทคโนโลยี ที่จะมาพัฒนาร่วมกัน ไม่ว่าคนที่มีประสบการณ์ทำเรื่องนี้มาแล้ว หรือมีไอเดียดีที่อยากจะเปลี่ยนโลกทางการเงิน ให้กลายเป็นโลกที่สะดวกสบายมากกว่านี้ คนได้รับประโยชน์มากกว่า เข้าถึงคนต่างๆ ได้มากกว่านี้ รวมทั้งการที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคขึ้น ส่วนในตลาด CLMV เราน่าจะเป็นศูนย์กลางการเงินในปัจจุบัน ไอเดียเหล่านี้เรามีเยอะแยะมากมาย เราอยากชวนคนเข้ามาทำ เราอยากชวนคนเหล่านั้นเข้ามาคุยกับเรา แน่นอน วิธีการทำงานของธนาคาร เราต้องการทำงานให้เกิดความสำเร็จกับพวกคุณ เราไม่ได้ทำงานเพื่อให้เราสำเร็จอยู่ฝั่งเดียว หรือว่ามาทำงานแล้วไม่ต้องกลัวว่าแบงก์จะขโมยความคิด ไอเดีย นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเรา วัตถุประสงค์ของเราคือการสร้างบริการที่ดีๆ ด้วยกัน เอาจุดแข็งที่เรามีมานำเสนอกับพวกคุณ ร่วมกันพัฒนา เพื่อให้เราได้โซลูชั่นที่ตรงใจคนไทย และคนไทยได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เรียนอยู่ ทำงานอยู่แล้ว ทำธุรกิจอยู่แล้ว ส่งใบสมัครมา บอกเรามาว่าอยากได้อะไร เรามีทีมที่จะดูแลพวกคุณโดยเฉพาะ ไม่ใช่แก่ๆ แบบนี้ เป็นวัยรุ่นเหมือนกับพวกคุณ พร้อมที่จะทำงานด้วยกัน สปีดเดียวกัน ภาษาเดียวกัน สร้างสิ่งดีๆ ให้ตลาดการเงินร่วมกัน และอีกไม่นานเราจะมีพื้นที่ที่จะเปิด KBTG Academy เราจะเอาคนที่มีความรู้ในเรื่องต่างๆ หลายเซสชั่นจะเปิดให้ประชาชนได้ทราบและเรียนรู้ไปด้วยกัน มีกิจกรรมของ startup program ไม่ว่า hackathon การจัดอีเวนท์ในลักษณะต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคได้อย่างไร จากการทำงานร่วมกัน”