ThaiPublica > คอลัมน์ > องค์กรอาชญากรรม : ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของรัฐ

องค์กรอาชญากรรม : ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของรัฐ

4 เมษายน 2016


Hesse004

เมื่อตอนที่แล้วทิ้งท้ายไว้ว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นอิทธิพลมาเฟียในการพัฒนาประเทศ คือ ตัวชี้วัดของ Global Competitive Index (GCI) ซึ่งคิดคะแนนออกมาเป็นสเกล 1-7 คะแนน

ประเทศที่ได้คะแนนเข้าใกล้ 7 แสดงว่าประเทศนั้นปลอดอิทธิพลมาเฟียที่เข้ามาคุกคามระบบเศรษฐกิจ บั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน ในทางกลับกัน ประเทศที่คะแนนเข้าใกล้ 1 คะแนน แสดงว่า มาเฟียมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศนั้นอยู่ไม่น้อย

ผลการจัดอันดับล่าสุด (ปี 2015-2016) ปรากฏว่า ฟินแลนด์ได้คะแนนเรื่องนี้สูงสุด ส่วนประเทศที่ได้คะแนนแย่ที่สุด คือ เอลซัลวาดอร์

สำหรับประเทศไทย ดัชนีตัวนี้อยู่ที่ 4.2 คะแนน อยู่อันดับที่ 101 จาก 140 ประเทศ (ใกล้เคียงกับรัสเซีย อิหร่าน กายอานา และเนปาล)

หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว เรามีคะแนนสูงกว่าอินโดนีเซีย (4.1) และเมียนมา (3.5) และเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ 140 ประเทศ (5.25) พบว่า เราอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ตัวเลขนี้ถูกอ้างอิงในเว็บไซต์ของ World Economic Forum โดยผู้จัดทำดัชนีได้สำรวจความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในช่วงปี 2014-2015

น่าคิดเหมือนกันว่า ดัชนีชี้วัดทำนองนี้น่าจะทำให้หลายฝ่ายหันกลับมาทบทวนถึงภัยความมั่นคงในอีกรูปแบบหนึ่ง

การสร้างดัชนีชื่อแปลกๆ ที่วัดเรื่องที่ไม่น่าจะวัดได้ สะท้อนให้เห็นว่า พรมแดนความรู้ในโลกสมัยใหม่ได้เกิดวิชาที่ไม่คุ้นหูขึ้นเป็นจำนวนมาก

ขึ้นชื่อว่าการศึกษาแล้ว การค้นหาข้อเท็จจริง สรุปผลการศึกษาในภาษาสละสลวย เป็นวิชาการ มีข้อมูลสถิติรองรับ อยู่ภายใต้ระเบียบวิธีวิจัยยืนยันความถูกต้อง ย่อมทำให้ศาสตร์วิชานั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะอธิบายเหตุการณ์ พฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ได้อย่างเป็นระบบ

วิชา Mafia Study หรือบางทีเรียกว่า Organized Crime Study มีความน่าสนใจตรงที่วิชานี้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “กลุ่มองค์กรอาชญากรรม” มาเฟีย ผู้มีอิทธิพล แก๊งข้างถนน สุดแล้วแต่ใครจะเรียก แต่การเกิดขึ้นและเติบใหญ่ขององค์กรเหล่านี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการน่าติดตาม ชวนหลงใหล แม้จะเป็นพัฒนาการที่อยู่ตรงข้ามกับหลักกฎหมาย ความดีงาม เป็นมุมกลับของสังคมที่วางมาตรฐานเรื่องคุณธรรม จริยธรรม

การรวมกลุ่มของมาเฟียมีมิติมากกว่าเหมารวมยัดเยียดว่า คนกลุ่มนี้ชั่วช้าสามานย์ตั้งแต่กำเนิดหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ยากจะขัดเกลา ซึ่งการวิเคราะห์แบบนี้ดูจะ “ตื้นเขินเกินไป” เพราะมีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดองค์กรอาชญากรรมขึ้นมา

การเติบโตของกลุ่มอาชญากรรม มีรากฐานความเป็นมาที่อธิบายได้จากการจับกลุ่มของคนตั้งแต่สามคนขึ้นไป (ตามนิยามทางวิชาการ) การรวมกลุ่มดังกล่าวหล่อหลอมคนเหล่านี้ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น

…ปัจจัยหนึ่งมาจากความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน มีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ช่วยเหลือคนในชุมชนเดียวกัน มีวัฒนธรรมเหมือนกัน เช่น มาเฟียในซิซิลี อิตาลี กลุ่มอั้งยี่จากจีน

ปัจจัยอีกประการหนึ่งมาจากการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์กลุ่มพวกพ้องตัวเองไม่ให้ถูกรังแกจากแก๊งอื่น เช่น มาเฟียรัสเซีย มาเฟียยุโรป ยากูซ่าของญี่ปุ่น

องค์กรอาชญากรรมจึงเป็นที่รวมของ “คนนอกกฎหมาย” ซึ่งไม่เคยเชื่อกฎเกณฑ์ ไม่เคารพกติกาหรือกฎหมายที่รัฐวางไว้ แต่พวกเขาเชื่อในผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ตนเองจะได้รับโดยเลือกดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายทุกรูปแบบ และหากผลประโยชน์เหล่านั้นถูกแย่งชิงไป พวกเขาก็พร้อมจะใช้กำลัง อาวุธ แย่งผลประโยชน์นั้นกลับคืนมาโดยไม่สนใจว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่

ในองค์กรฯ มีสายการบังคับบัญชาชัดเจน หัวหน้าถูกโปรโมตขึ้นจากความกล้าและวีรกรรมการต่อสู้ องค์กรฯ ขับเคลื่อนโดยอาศัยผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างผู้นำกับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทำให้เกิดสัมพันธ์ในลักษณะของความจงรักภักดีขึ้น ภายใต้ระบบอุปถัมภ์

ปี ค.ศ. 1998 มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ European Institute For Crime Prevention and Control งานวิจัยชิ้นนี้ ชื่อ Organized Crime Around the World ซึ่งฉายให้เห็นปัญหามาเฟียทั่วโลกได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น นับเป็นงานศึกษาเชิงวิชาการที่ถูกจัดว่า “คลาสสิก” ชิ้นหนึ่ง ในวิชา Mafia Study

งานชิ้นนี้ มี Sabrina Adamoli เป็นหัวหน้าทีมวิจัย พร้อมด้วยนักวิจัยร่วมทีมอีก 3 คน1

Organized Crime Around the World กล่าวถึง แนวโน้มการเติบโตของกลุ่มองค์การอาชญากรรมทั้งในระดับชาติ และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Organized Crime: TOC) ซึ่งทีมวิจัยชี้ให้เห็นว่า นับวันกลุ่มมาเฟียจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่สร้างความปวดหัวให้กับรัฐ

รายงานฉบับนี้วิเคราะห์การเติบโตของมาเฟียยุคหลังสงครามเย็น ต่อเนื่องมาจนถึงยุคโลกาภิวัตน์ที่กลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดกลุ่มแก๊งมาเฟียข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แก๊งที่เกี่ยวกับการลักลอบค้าของผิดกฎหมาย การพนัน ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด Cyber Crime รวมทั้งฟอกเงิน

ธุรกิจผิดกฎหมายที่มาเฟียดำเนินการนั้น พัฒนาแตกไลน์ไปเรื่อยๆ จากการขนของหนีภาษีธรรมดา ค้าเหล้าเถื่อน ค้ายาเสพติด เปิดบ่อน คุมซ่อง ก้าวมาสู่กิจกรรมการฟอกเงิน ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธเถื่อน เรียกค่าคุ้มครอง เรียกค่าไถ่ ผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ปลอมแปลงพาสปอร์ต โจรกรรมทรัพย์สินมีค่าของชาติ

พูดง่ายๆ คือ กิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายได้พัฒนาไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง อะไรที่กฎหมายห้าม จะมีคนกลุ่มหนึ่งกล้าที่จะเข้ามาผลิต

งานวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจตรงที่รวบรวมรายชื่อกลุ่มแก๊งมาเฟียที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รายชื่อเหล่านี้ผู้วิจัยเกริ่นไว้เบื้องต้นแล้วว่ามาจากรายงานของฝ่ายความมั่นคงในประเทศต่างๆ (ที่สามารถเปิดเผยได้) รายงานของตำรวจสากลหรือ Interpol รวมถึงข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์

ยกตัวอย่างเช่น แก๊ง Cosa Nostra ในอเมริกาเหนือ แก๊ง Medellin Cartel มาเฟียโคเคนในโคลัมเบีย (แก๊งนี้มีราชาโคเคนระดับโลกอย่างนาย Pablo Escobar เป็นหัวหน้าแก๊ง) แก๊งยากูซ่าอันลือชื่อของญี่ปุ่น กลุ่มมาเฟียรัสเซียที่กลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลกไปแล้ว แก๊ง 14K ในฮ่องกง เป็นต้น

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงผลการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับ 5 อันดับขององค์กรอาชญากรรมที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกปัจจุบัน

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถอ่านงานชิ้นนี้ได้จาก ที่นี่