ThaiPublica > คอลัมน์ > แยกแยะ VS หลอมรวม จะเอาความดีหรือความเห็นแก่ตัวไปสู้กับคนโกงเขาดี

แยกแยะ VS หลอมรวม จะเอาความดีหรือความเห็นแก่ตัวไปสู้กับคนโกงเขาดี

22 เมษายน 2016


บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว ในการประชุมสมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) ได้มีผู้ใหญ่ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) คนหนึ่งกล่าวว่า จะต่อสู้กับคอร์รัปชันให้สำเร็จได้ มีทางเดียว คือ ต้องให้คนไทยทุกคน “แยกแยะ” ประโยชน์ส่วนรวมออกจากประโยชน์ส่วนตนให้ได้ แล้วให้ยึดเอาประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน เอาส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งมันฟังดูดีมากเลยนะครับ เหมือนๆ กับค่านิยมข้อที่ 12 ที่ท่านผู้นำมอบให้เลย (เขาว่า…ให้ “คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง”…ผมเอามาให้เพราะแน่ใจว่าไม่มีใครจำได้)

คำพูดอย่างนี้นี่เราได้ยินทุกวัน เราเองก็ท่องก็พูดเสียจนชิน ฟังจนรู้สึกเป็นหลักการเป็นสัจจะที่เกิดได้ปฏิบัติได้ ผู้หลักผู้ใหญ่ทุกคนก็พูดอย่างนี้ และอวดอ้างว่าตนเป็นคนอย่างนี้ ถ้าใครไม่พูดไม่ยึดอย่างนี้ก็จะไม่มีทางมาร่วมขบวน “คนดี” ในบ้านเมืองได้เลย

พูดอวดอ้างน่ะใครๆ ก็ทำได้ แต่ผมขอให้มาทบทวนกันอย่างจริงจังดูสิครับ ทบทวนกันอย่างซื่อสัตย์ อย่างไม่ลำเอียง ว่าอุดมคติอย่างนี้ ใครทำได้บ้าง และมีทางที่จะให้ทุกคนหรือแม้แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ยึดได้ทำได้จริงๆ หรือ หรือแค่เอาไว้พูดโก้ๆ เท่ๆ ไปวันๆ ว่าแล้วก็เอามือมากำไขว้กันบนหน้าอก (อย่าลืมเอาขวาทับซ้ายนะครับ)

ในการประชุมวันนั้น ผมเสนอจริงจังให้เราทบทวนหลักคิดนี้ ผมขอให้เปลี่ยนเป็น ส่งเสริมให้คนไทย “หลอมรวม” ประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตนเข้าด้วยกัน ให้ไปในทิศทางเดียวกัน แล้วออกมาตรการต่างๆ ภายใต้หลักคิดใหม่นี้ แต่ก็เป็นไปดังคาด ท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นยืนกรานว่าที่ท่านพูดไว้นั้นถูกต้องแล้ว ท่านอภิปรายต่อยืดยาวสนับสนุนหลักการของท่าน แถมตบท้ายว่า ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทั้ง พล.อ. เปรม (ติณสูลานนท์) ทั้งท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เป็นระดับองคมนตรีก็พูดอย่างนี้ ท่านนายกฯ หัวหน้า คสช. ก็พูดอย่างนี้ ป.ป.ช. ก็ยึดหลักนี้มาตลอด ท่านยืนยันว่าหลักของผมผิดแน่นอน ประโยชน์ชาติประโยชน์ตนจะหลอมรวมกันได้อย่างไร ต้องแยกแยะสิ ถึงจะถูก

พอผมทำท่าจะอภิปรายต่อ (เถียงนั่นแหละครับ) หลายคนในที่ประชุมก็ทำท่าเบื่อหน่ายรำคาญทำนองว่า เรื่องไม่เห็นเป็นสาระสำคัญเลย จะมาถกเถียงให้แตกสามัคคีกันทำไม ผมก็เลยสงบปากคำ ไม่ว่าอะไรอีก

ผมเรียกเรื่องอย่างนี้ว่า “มายาคติ” คืออะไรที่พูดๆ เชื่อๆ กันมาแล้วฟังดูดี เราก็เลยไม่ค่อยพิจารณาถึงรายละเอียดแท้จริง ตามแห่เชื่อๆ พูดๆ ทำๆ กันไปอย่างนั้น ทั้งๆ ที่คนไทยแทบทุกคนรู้จัก “กาลามสูตร” ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ว่า “สิบอย่าเชื่อ” ทุกคนพูด ทุกคนทำ ตำราเขียน ครูเราสอนก็อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องใช้เหตุใช้ผลพิจารณาให้ถ่องแท้ ซึ่งผมก็เข้าใจแหละครับว่า ท่านเคยเชื่อเคยพูดไว้อย่างนั้นมาหลายร้อยหลายพันครั้ง จะยอมให้ไอ้เตาซึ่งเป็นใครไม่รู้มาจากไหนมาเปลี่ยนได้อย่างไร (แหะๆ บังเอิญเกือบทุกคนในห้องประชุมต่างก็เคยพูดทำนองนี้กันมาตลอดด้วย ไอ้เตาเสือกขวางโลกเอง)

หลายคนคงคิดว่าเรื่องเข้าใจไม่ตรงกันอย่างนี้ เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไม่สำคัญ แต่สำหรับผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะหลักการร่วม (Common Principles) เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำอะไรก็ตามให้เป็นผลสำเร็จ ถ้าจุดเริ่มไม่ถูกต้องไม่เป็นที่ยึดถือด้วยกันก็ย่อมไม่มีทางบรรลุผล อย่างกรณีนี้ สำหรับผมก็เห็นได้ชัดว่าเรากำลังทำสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ ฝืนข้อเท็จจริง ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เลยไม่ค่อยแปลกใจที่มันไม่ค่อยได้ผล มันเหมือนกลัดกระดุมเสื้อแหละครับ ถ้าเริ่มเม็ดแรกแล้วกลัดผิด ยังไงมันก็ต้องบิดต้องเบี้ยววันยังค่ำ อย่างเรื่องนี้เห็นได้ชัดเลยว่า “แยกแยะ” กับ “หลอมรวม” นั้นตรงข้ามกันเลยทีเดียว ไม่ถกเถียงสรุปให้ชัดย่อมเดินกันไปคนละทางสองทาง มาตรการเตะกันไปเตะกันมา แล้วจะไปต่อสู้กับนักโกงกินที่หลักการเขาชัดเจนมากว่าจะ “โกงทุกทาง ทุกอย่าง ทุกบาท เท่าที่จะไม่ถูกจับได้” ได้ยังไงกันครับ

ผมขอยกวาทะของ Richard Posner มาอีกทีนะครับ เขาบอกว่า

“จะชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ โลกในวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ความเห็นแก่ตัวนั้นมีพลัง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มากกว่าความเห็นแก่ส่วนรวมมากนัก (จากการที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีมีชัยชนะเหนือระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบไม่เห็นฝุ่น) ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำยังไงจะสร้างระบบจัดการไม่ให้ความเห็นแก่ตัวของแต่ละคนไปเบียดเบียนคนอื่น ไปทำลายส่วนรวม สิ่งแวดล้อม และทำอย่างไรถึงจะให้ความเห็นแก่ตัวสามารถสานกันเป็นพลังร่วมที่เกิดประโยชน์ทวี แบ่งปันกันในสังคม”

ถ้าเรายึดหลักนี้ เราก็ย่อมจะออกแบบกลยุทธ์มาตรการที่จะให้คนเอาความเห็นแก่ตัว (ที่เป็นธรรม) นี่แหละครับ ไปต่อสู้กับเหล่าอธรรมนักโกง

ผมไม่ได้คัดค้านการปลูกฝังความเห็นแก่ส่วนรวม ไม่ได้คัดค้านการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม หรอกนะครับ (เดี๋ยวหลายคนจะนึกว่าผมเลว) เพียงแต่ผมคิดว่ามันยังไม่พอเพียงที่จะต่อสู้กับการโกงกิน ผมไม่เคยเจอนักโกงกิน นักคอร์รัปชัน รวมทั้งนักธุรกิจที่ยัดเงิน คนไหนเลยที่คิดหรือยอมรับว่าตนเองเป็นคนชั่ว เป็นคนไม่ดี ทุกคนต่างก็คิดว่ามันเป็นครรลองปกติที่ “ใครๆ ก็ทำกัน” แถมบางคนยังคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องโกงกินเสียอีก ไม่อย่างนั้นจะเอาทรัพย์ที่ไหนไปซื้อตำแหน่ง ซื้อเสียง ให้ได้โอกาสมาทำความดีล่ะครับ ส่วนคนยัดเงินก็คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น ไม่อย่างนั้นจะทำธุรกิจให้ได้กำไรมากๆ มาบริจาคการกุศลเยอะๆ ได้อย่างไร ทั้งคนที่โกงกินทั้งคนที่ยัดเงินต่างก็ดูจะได้รับความเคารพ ได้รับการเชิดชู มีเหรียญตราติดกันเต็มอกถ้วนทั่ว แถมมักเป็นพวกบริจาคเยอะ ทำบุญหนักกันทั้งนั้น พอคนโกงไม่ได้คิดว่าตนเป็นคนเลวขาดคุณธรรม จะชูคุณธรรมไปสู้ก็เลยไม่ได้ผล

อย่างมาตรการปลูกฝังต่างๆ ที่มุ่งเป้าไปที่เด็กๆ และเหล่าเยาวชนของชาติ ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะโตมาเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงส่ง (ตามมาตรฐานที่ใครก็ไม่รู้กำหนด) เช่น โครงการ “โตไปไม่โกง” “บัณฑิตไทยไม่โกง” “ค่ายคุณธรรม” ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ ถึงจะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่น่าจะเพียงพอที่จะหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชันได้ เพราะสมมติว่าประสบผลสำเร็จสุดยอด ทำให้คนไทยในอนาคตเป็นคนดีได้ถึง 90% (ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เคยมีศาสดาองค์ใดทำสำเร็จ) ก็ยังมีเหลืออีกตั้ง 6,500,000 คนที่พร้อมจะโกงกิน ประเทศก็ยังย่อยยับอยู่ดี เพราะฉะนั้น จึงต้องเปลี่ยนเป็น “โตไปไม่ยอมให้ใครโกง” “บัณฑิตไทยไม่ยอมให้ใครโกง” เท่านั้นจึงจะมีวันได้ผล เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเพียงแค่เกินครึ่ง เกิน 50% เราก็ชนะได้แล้ว อีกอย่างหนึ่ง ในสังคมพุทธเถรวาทหินยาน เรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้นมักจะเป็นเรื่องของปัจเจกเฉพาะตัว พอเราเป็นคนดีแล้วก็มักจะจบ คนอื่นจะดีเลวช่างหัวเขา ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปบังคับใคร ซึ่งอย่างนี้ก็คงลดโกงอะไรไม่ได้เลย

แต่อย่างว่าแหละครับ พวกโครงการกับเด็กๆ นั้นใครๆ ก็ชอบทำ เพราะฟังดูดี ของบประมาณง่าย ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ต้องรบกับใคร แถมจะวัดผลว่าได้ผลจริงจังหรือไม่ก็ต้องอีกสิบปียี่สิบปี (ขอยืนยันว่าไม่ได้ประชดประชันหรืออิจฉาใครนะครับ ทำไปเถอะครับ ผมแค่ขอวิจารณ์เพื่อสร้างสรรค์น่ะ)

ผมพยายามเรียกร้องให้เติมคำว่า “…ไม่ยอมให้ใครโกง” เข้าไปเพื่อเปลี่ยนวิธีและหลักการ เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง เรื่องคุณธรรมจริยธรรมก็จะเป็นแค่เรื่องพื้นฐาน แต่ตัวที่จะใช้ต่อสู้ จะกลายเป็นต้องเอา “ความเห็นแก่ตัว” นี่แหละครับเป็นอาวุธหลัก พอพูดอย่างนี้ หลายคนก็คงรับไม่ได้ เพราะคำว่า “ความเห็นแก่ตัว” นั้นเราไปตีความกันมานมนานแล้วว่าเป็นคำหยาบ เป็นความชั่ว เราทุกคนพยายามโกหกทั้งตัวเองและผู้อื่นมาตลอดว่า ตัวเรานั้นเป็นคน “ไม่เห็นแก่ตัว” เป็นคน “เห็นแก่ส่วนรวม” พูดมาหลายร้อยหลายพันครั้ง ประกาศก้องมานับสิบๆ ปี จะให้เปลี่ยนได้อย่างไร

“ความเห็นแก่ตัว” ในความหมายของผมนั้น เป็นความเห็นแก่ตัวที่จะรักษาสิทธิ์อันชอบธรรมของตน ความเห็นแก่ตัวที่จะไม่ให้ใครมาแย่งชิงเอาประโยชน์สาธารณะที่มีเราเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ความเห็นแก่ตัวที่อยากจะเห็นทั้งตัวเราทั้งสังคมที่เราอยู่เจริญพัฒนามั่งคั่งไปด้วยกัน ความเห็นแก่ตัวที่อยากอยู่ในบ้านเมืองที่สงบสุข ความเห็นแก่ตัวที่ไม่เบียดเบียนใคร

ถ้าเราจะสู้ตามแนวที่ผมว่า เราก็จะเปลี่ยนความคิดที่จะ “แยกแยะ” ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัว เปลี่ยนเป็นพยายาม “หลอมรวม” ประโยชน์ทั้งสองเข้าด้วยกัน

หลายคนคงเห็นว่า เรื่องอย่างนี้ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ เอาเป็นว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องชั่วที่ต่องสู้กับมันก็แล้วกัน จะต้องมานั่งเถียงกันทำไมเรื่องแยกแยะ เรื่องหลอมรวม จะเอาความดี จะเอาความเห็นแก่ตัว ก็ได้ทั้งนั้น ทะเลาะกันอยู่ได้ ไอ้เตามันเรื่องมาก บ้าวาทกรรม

ผมกลับเห็นว่า เรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่มี “หลักการร่วม” ไม่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกัน ย่อมไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ กำหนดวิธีการ ที่จะมีประสิทธิภาพ ที่จะได้ผลได้เลย มันก็เหมือนกับแค่เฮโลยกทัพกันออกไปนอกกำแพง เสร็จแล้วก็ตะโกน “สู้โว้ย” เอามือไขว้หน้าอก (อย่าลืมเอาขวาทับซ้ายนะครับ) แล้วก็มองหน้ากันไปมา ต่างคนต่างงัดวิธีการต่างๆ ออกมาตามความเชื่อความเข้าใจของตนของกลุ่ม อย่างนี้จะไปสู้ชนะได้อย่างไร เราเลยได้แต่สู้ สู้ สู้ กันมาหลายปี โดยที่ศัตรูกลับแข็งแกร่ง เติบโตขึ้นทุกที

นี่แหละครับ ผมอยากให้กระบวนการต่อสู้คอร์รัปชันทั้งหลายมาเถียงให้ตกผลึกเสียที ว่าจะใช้กลยุทธ์ แยกแยะ หรือ หลอมรวม จะใช้อาวุธ ความดี หรือ ความเห็นแก่ตัว มาสู้กับมันดี