ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > การบินไทยปี’58 พลิกฟื้นติดลบจากการดำเนินงานแค่ 1,304 ล้านบาท “น้ำมันถูก-บริหารจัดการดีขึ้น” แต่แผนปฏิรูปขายเครื่องบิน 10 ลำทำขาดทุน 13,000 ล้านบาท

การบินไทยปี’58 พลิกฟื้นติดลบจากการดำเนินงานแค่ 1,304 ล้านบาท “น้ำมันถูก-บริหารจัดการดีขึ้น” แต่แผนปฏิรูปขายเครื่องบิน 10 ลำทำขาดทุน 13,000 ล้านบาท

1 มีนาคม 2016


เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2558 ว่าขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,304 ล้านบาท ลดลงจาก 21,715 ล้านบาท ในปี 2557 หรือลดไปกว่า 94.3% มาจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ลดลง ประกอบกับมาตรการควบคุมและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด แต่หากรวมผลการด้อยค่าของสินทรัพย์ โดยเฉพาะเครื่องบินพิสัยไกลที่รอจำหน่าย 10 ลำและค่าใช้จ่ายพิเศษตามแผนปฏิรูป ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสูงถึง 16,324 ล้านบาท (โดยยังมีรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนมาช่วยพยุงกว่า 4,000 ล้านบาท) สุดท้ายทำให้ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 13,047 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากงบการเงินของการบินไทย ปี 2558 ที่ส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 การบินไทยมีรายได้รวม 53,183.17 ล้านบาท พลิกฟื้นจากไตรมาส 2 และ 3 ที่มีรายได้เพียง 38,218.23 ล้านบาท และ 39,887.11 ล้านบาทตามลำดับ ด้านค่าใช่จ่ายรวมในไตรมาส 4 อยู่ที่ระดับ 48,154.78 ล้านบาท ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2558 จากระดับ 59,037.62 ล้านบาทในไตรมาสแรก หรือลดลงกว่า 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสสุดท้ายการบินไทยมีกำไร 5,052.78 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลการดำเนินงานการบินไทย 2558

ขณะที่ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากช่วงต้นปี 2558 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการใน 5 ประเด็น

1) การปรับเส้นทางบินให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยเพิ่มเส้นทางที่มีกำไรและหยุดบินในเส้นทางที่ขาดทุนหรือขาดศักยภาพที่จะพัฒนา ในปีที่ผ่านมาได้หยุดบินไปทั้งสิ้น 4 เส้นทางหลัก ขณะเดียวกัน จำนวนผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ลดต้นทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในปี 2559 ได้วางแผนขยายเปิดเส้นทางการบินอีก 3-4 เส้นทางในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีความหวังที่จะกลับเข้าไปทำตลาดในสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง แต่ต้องรอผลการประเมินจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ FAA ให้กลับไปที่ระดับ category 1 ก่อน

2) ปรับแผนการตลาด โดยเพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และขายตั๋วเองมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาใช้ระบบตัวแทนค่อนข้างมาก ซึ่งการปรับปรุงแผนการตลาดดังกล่าวนี้ ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพต่อไป

3) แผนการขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินที่จำนวนมากเกินความจำเป็น และอาคารสำนักงานต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยในปี 2558 ได้ปลดระวางเครื่องไป 15 ลำ และยังอยู่ระหว่างขายอีก 14 ลำ ขณะเดียวกัน ได้รับมอบเครื่องบินใหม่ที่เหมาะสมกับเส้นทางการบินอีก 8 ลำ ส่งผลให้สิ้นปีการบินไทยมีเครื่องบินอยู่ 95 ลำ ลดลงจาก 102 ลำ ด้านการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่ม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ของเดิมในปี 2559 ต้องรับมอบเครื่องบินอีก 2 ลำ เป็นเครื่องรุ่น Airbus A350 และในปี 2560 รับมอบ 7 ลำ เป็นรุ่น Airbus A350 5 ลำ และ Boeing 787 อีก 2 ลำ และสุดท้ายในปี 2561 รับมอบอีก 5 ลำ รุ่น Airbus A350 ขณะที่การขายสำนักงานต่างๆ ยังอยู่ในการพิจารณา ไม่ได้มีข้อสรุปแต่อย่างใด

4) ปรับโครงสร้างอัตรากำลังจาก 25,000 ราย เหลือเพียง 20,000 ราย ในปี 2558 มีผู้ร่วมโครงการ “ร่วมใจจาก” 1,401 ราย มีผลแล้ว 1,277 ราย ใช้งบประมาณไป 5,500 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องปรับโครงสร้างอีกจำนวนเท่าไร แต่มีงบประมาณรองรับไว้ที่ 2,000 ล้านบาท

5) ปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรมและกิจการขนส่งน้ำมัน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน

“ตามที่ทางการบินไทยได้วางแผนยุทธศาสตร์ 3 ระยะ คือ ระยะแรก ลดการขาดทุนให้ได้โดยเร็วที่สุด ระยะที่ 2 เร่งสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันและสร้างรายได้ และระยะสุดท้าย ขยายธุรกิจให้เติบโตและมีกำไรในระยะยาว โดยใช้จุดแข็งขององค์กรเป็นหลัก ตอนนี้เราหยุดขาดทุนได้แล้ว ขั้นต่อไปเราจะอยู่ในโหมดของการเติบโตเต็มรูปแบบ ทั้งในภูมิภาคและทวีปต่างๆ” นายจรัมพรกล่าว