ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าลืม “คนดี” เวลาพัฒนาสังคม

อย่าลืม “คนดี” เวลาพัฒนาสังคม

25 มีนาคม 2016


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ :  https://pixabay.com/en/hands-interlaid-finger-wait-kind-1201826/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/hands-interlaid-finger-wait-kind-1201826/

“คนดี” หรือกฎหมายดีที่ทำให้บ้านเมืองดี? สิ่งไหนที่สามารถเบนเข็มสังคมจากความเห็นแก่ตัวไปสู่จุดหมายของส่วนรวมได้?

คำถามสั้นๆ นี้ผ่านการขบคิดโดยนักปราชญ์และนักปกครองจำนวนนับไม่ถ้วนมาแล้วหลายพันปี

แนวคิดหนึ่งมองว่ารัฐมีหน้าที่ต้องหล่อหลอมและเสริมสร้างพลเมืองให้เป็น “คนดี” ที่มีสำนึกต่อส่วนรวมไม่ว่าจะผ่านทางระบบการศึกษาหรือศาสนา หวังว่าจะสามารถปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่า “ความพอใจส่วนรวม” (social preference) ไว้ในจิตใจของประชาชนให้เติบโตไปเป็นคนที่โหยหาและปรารถนาให้ส่วนรวมดีขึ้น ไม่ใช่แค่สนองความพอใจส่วนตน (individual preference) พูดง่ายๆ ก็คือแนวคิดนี้มองว่ารัฐควรพยายามทำให้ประชาชน “อยาก” ทำสิ่งดีๆ ต่อเพื่อนร่วมสังคมเพื่อสนองความพอใจส่วนรวมของตนเอง ไม่ต่างกับเวลาประชาชนมีความต้องการอื่นๆ เช่น ความอยากบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ความบันเทิงเพื่อสนองความพอใจส่วนตน

แต่อีกแนวคิดกลับมองว่าจิตใต้สำนึกคนเรานั้น “เน่า” และ “เอาแต่ได้” กันทั้งนั้น อย่าหวังว่าจะเปลี่ยนสันดานนี้ได้ รัฐจึงควรทุ่มกำลังไปกับการสร้างสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่ไม่ได้เอาไว้สร้างคนแบบในแนวคิดแรก แต่เอาไว้สร้างแรงจูงใจและบทลงโทษเพื่อตีกรอบบังคับได้อย่างสมบูรณ์จนพลเมืองที่เห็นแก่ตัวสามารถเล่นละครตบตาเราได้ราวกับว่าตัวเองเป็น “คนดี”

หลายพันปีผ่านไปดูเหมือนว่าแนวคิดที่สองจะได้รับชัยชนะไปอย่างล้นหลาม (ต้องขอบคุณแนวคิดของ the Invisible Hand ของ อดัม สมิธ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสังคมที่เราเรียกกันว่า “สังคมพัฒนาแล้ว” ทุกวันนี้สังคมสมัยใหม่มักให้น้ำหนักกับแนวคิดที่สองมากในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่การสร้างบทลงโทษเพื่อป้องกันอาชญากรรมไปจนถึงการร่างกฎหมายค่าปรับเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศ จนเหมือนกับว่าทุกวันนี้ “คนดี” เป็นอะไรที่ล้าสมัยและกำลังถูกลืมไปอย่างช้าๆ

บทความนี้จะนำเสนอมุมต่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างคนให้เป็น “คนดี” และแนวทางการพัฒนาบ้านเมืองโดยใช้แนวคิดอันแตกต่างทั้งสองแนวนี้ควบคู่ไปด้วยกัน

“คนดี” ช่วยอุดช่องโหว่ในสังคม

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/park-closed-sign-gate-defiant-972173/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/park-closed-sign-gate-defiant-972173/

ในสังคมที่พัฒนาแล้วคุณสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งของ บทสนทนา และ บริการกับคนแปลกหน้าได้โดยที่คุณแทบจะไม่ต้องคำนึงเลยว่า เขาเป็นคนยังไง มาจากครอบครัวแบบไหน มีประวัติไม่ดีหรือไม่ เพราะหากกฎหมายในสังคมเหล่านี้ถูกสร้างมาได้ดีจริงมันจะการันตีได้ว่าโอกาสที่คุณจะถูกหลอกหรือถูกทำร้ายจากการแลกเปลี่ยนครั้งนี้คือศูนย์ แต่ลองจินตนาการดูนะครับว่าสถานการณ์จะแตกต่างออกไปขนาดไหนหากคุณต้องทำการแลกเปลี่ยนกับคนแปลกหน้าคนเดียวกันนี้ในถิ่นกันดารหรือในพื้นที่ที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

ที่น่าสนใจคือสถานการณ์ที่ไร้กฎหมายที่ว่านี้หากคิดดูดีๆ แล้วมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในถิ่นกันดารเท่านั้น

ลองนึกถึงเวลาที่คุณเซ็นสัญญาทำงานนะครับ ตามทฤษฎีแล้วคุณควรจะขยันทำตามทุกข้อความในสัญญานั้น แต่เราทุกคนก็ทราบกันดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่นายจ้างจะเขียน “ทุกอย่างที่ลูกจ้างต้องทำหรือห้ามทำ” ลงไปในสัญญาได้หมด และที่สำคัญคือไม่มีใครเขามีเวลาพอที่จะมาจ้องมองคุณตลอดเวลาที่คุณเข้าทำงาน

สิ่งที่ยังเตือนใจพนักงานให้ขยัน ไม่เล่นไลน์ ไม่เล่นเฟสบุ๊คในเวลาทำงาน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วก็ไม่มีใครมาคอยจับผิดได้หรือไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาก็คือจริยธรรมในการทำงานที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของค่านิยมที่แนวคิดแรกสนับสนุนให้รัฐคอยเสริมสร้าง สังคมที่พร้อมด้วยกฎหมายแต่พลเมืองไร้จริยธรรมในการทำงานก็จะลำบากในสถานการณ์แบบนี้ที่กฎหมาย แรงจูงใจ บทลงโทษ และกลไกตลาดเข้าไปไม่ถึง

สถานการณ์ “ช่องโหว่” แบบนี้ปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งแม้กระทั่งในสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจไม่ลอกข้อสอบแม้ว่าจะไม่มีครูเดินตรวจ การตัดสินใจไม่ทิ้งก้นบุหรี่หรือขยะเรี่ยราดแม้จะไม่มีกล้องที่หัวมุมถนน หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจยอมสละความสะดวกสบายส่วนตัวในการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมในช่องโหว่ขนาดยักษ์ที่เราเรียกกันว่าภาวะโลกร้อน

นี่คือสิ่งที่ “คนดี” ในมุมมองของแนวคิดแรกสามารถเข้ามามีอิทธิพลกับการพัฒนาสังคมได้ดังที่ เคนเนธ แอร์โรว์ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นบุกเบิก (ที่ผู้เขียนคิดว่าควรได้รับรางวัลโนเบลอีกอย่างน้อยสามครั้ง) เคยเขียนเอาไว้ว่าในกรณีช่องโหว่แบบนี้ ค่านิยม จริยธรรม และบุคลิกนามธรรมต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวช่วย “อุดช่องโหว่” ที่เป็นข้อจำกัดของแนวคิดที่สองและนำพาสังคมไปสู่ภาวะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

สังคมดี ต้องการทั้ง “คนดี” และกฎหมายดี

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/gears-cogs-machine-machinery-1236578/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/gears-cogs-machine-machinery-1236578/

คำถามข้างต้นที่ถามว่าคนดีหรือกฎหมายดีที่ทำให้สังคมดีนั้นไม่ใช่คำถามที่ดีที่สุดเสียทีเดียวเพราะว่าผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่จะยกระดับส่วนรวมได้ดีที่สุดจะมาจาก “ความเข้าขา” กันระหว่างคนกับกฎหมายมากกว่าการตัดสินฟันธงว่าแนวคิดไหนถูกต้องกว่ากัน

ล่าสุดบทความวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ชิ้นนี้โดย Samuel Bowles และ Sandra Polania-Reyes ได้รวบรวมหลักฐานจากทั้งในห้องแล็ปและภาคสนามหลายต่อหลายชิ้นและพบว่าบทบาทของความพอใจส่วนรวม เช่น ความใจบุญต่อผู้อื่น นั้นอาจไม่จำกัดอยู่แค่ในกรณีช่องโหว่เท่านั้น และพบด้วยว่าหากรัฐดีไซน์ระบบแรงจูงใจผิดพลาดไปนิดเดียวอาจจะเกิดผลตรงกันข้ามกับที่รัฐต้องการก็ยังได้

ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยชิ้นนี้โดย Uri Gneezy และ Aldo Rustichini ทำการทดลองยาวกว่า 20 อาทิตย์โดยให้สถานรับเลี้ยงเด็กบางแห่งในประเทศอิสราเอลประกาศว่าจะเริ่มปรับผู้ปกครองที่มารับลูกหลังเวลาปิดเพื่อไม่ให้พนักงานต้องอยู่เลยเวลาทำงาน ผลปรากฏว่าผู้ปกครองมารับลูกสายขึ้นกว่าสองเท่าในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีการริเริ่มค่าปรับ ทั้งนี้นักวิจัยให้คำอธิบายว่าการสร้างบทลงโทษในสถานการณ์แบบนี้เป็นการเข้าไปเปลี่ยนการตีความสัญญาระหว่างผู้ปกครองกับสถานรับเลี้ยงเด็ก กลายเป็นว่าความพอใจส่วนรวมของผู้ปกครองบางคนที่แต่เดิมทำให้เกิดความเกรงใจในระดับหนึ่งได้เจือจางลงไปเมื่อมีการริเริ่มค่าปรับขึ้น

อีกกลุ่มการทดลองที่ให้ผลลัพธ์ผิดคาดคือการที่ทีมนักเศรษฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาทำการทดลองกับคนจาก 15 สังคมทั่วโลกเพื่อให้ลองเล่นเกมส์ที่ชื่อว่า The Third Party Punishment Game เกมนี้จริงๆ แล้วก็คือการดัดแปลง Dictator Game ที่ปกติจะมีกฎคือให้ผู้เล่นคนแรกเล่นเป็น Dictator ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินหรือสิ่งของที่ได้รับให้กับผู้เล่นคนที่สองในปริมาณเท่าไหร่ ผู้เล่นคนที่สองไม่มีสิทธิทำอะไรทั้งนั้น ได้แต่รับ

แต่ใน The Third Party Punishment Game แบบที่มีผู้เล่นคนที่สามนั้น ผู้เล่นคนที่สามจะมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจการดูว่า Dictator แบ่งเงินได้เหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ ผู้เล่นคนที่สามสามารถจ่ายเงินเพื่อปรับลงโทษ Dictator ได้ คนส่วนมากจะคิดว่าการเพิ่มผู้ตรวจการเข้าไปน่าจะทำให้ Dictator ยอมแบ่งเงินให้กับผู้เล่นคนที่สองมากขึ้นเพื่อที่จะลดโอกาสที่ตนจะถูกปรับ ปรากฏว่าผิดคาด เกิดการปรับ Dictator ขึ้นบ่อยมากถึง 30% ของการเล่นทั้งหมด มีแค่ 2 ใน 15 สังคมเท่านั้นที่ Dictator ใจดีขึ้น แต่กลับมีถึง 4 ใน15 สังคมที่ Dictator กลับใจแคบกว่าเดิมมากเมื่อมีผู้ตรวจการ ทั้งนี้ทีมนักวิจัยคิดว่าจริยธรรมหรือความใจบุญของ Dictator ถูกกัดกินเมื่อเราผสมใส่แรงจูงใจลงไปในเกมส์เพราะว่าเขาพบว่าบทบาทของศาสนาและความเชื่อ (เช่น การนับถือศาสนาหลักๆ หรือความถี่ในการไปโบสถ์) ที่เคยช่วยให้ Dictator แบ่งเงินเพิ่มขึ้นเวลาไม่มีผู้ตรวจการนั้นลดลงมาจนแทบไม่ไม่ต่างจากศูนย์เวลามีผู้ตรวจการเข้ามาเล่นด้วย

ในสองตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่าแรงจูงใจกับความพอใจส่วนรวมเป็นสองแรงที่สวนทางหักล้างกันจนความประพฤติดีต่อส่วนรวมที่เคยมีอยู่ (ผู้ปกครองเกรงใจสถานรับเลี้ยงเด็ก และ Dictator บางคนมีใจเผื่อแผ่พอสมควร) เจือจางลงหลังจากที่เรานำเสนอแรงจูงใจหรือบทลงโทษ (ค่าปรับผู้ปกครอง แฃะ การลงโทษโดยผู้ตรวจการ) เข้าไปในสถานการณ์นั้นๆ

จริงอยู่ว่ายังมีอีกหลายการทดลองและสถานการณ์จริงที่แรงจูงใจสามารถโน้มน้าวการกระทำของคนให้เป็นไปตามทางที่ต้องการได้ และจริงอยู่ที่ถ้าหากค่าปรับผู้ปกครองในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือค่าปรับ Dictator มันรุนแรงพอ ก็อาจไม่เกิดผลลัพธ์ที่ผิดคาดเหล่านั้น แต่สองตัวอย่างนี้และอีกหลายตัวอย่างในบทความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแรงจูงใจกับความพอใจส่วนรวมนั้นนอกจากจะมีความสำคัญทั้งคู่แล้วยังมีความสัมพันธ์ระหว่างกันเองอย่างมากเกินกว่าที่เราจะมองสองสิ่งนี้แยกออกจากกันได้

จุดนี้สำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากโดยปกติแล้วรัฐบาลมีบทบาทในการออกแบบมาตรการในมิติอื่นๆ ที่จะไปมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้างกว่าแค่การที่ผู้ปกครองไม่กี่คนไปรับลูกสาย ยกตัวอย่าง เช่น การสร้างบทลงโทษผู้หนีภาษี การรณรงค์ให้พลเมืองลดการบริโภคสิ่งเสพติด หรือการสร้างแรงจูงใจให้พลเมืองไม่ขับรถขณะมึนเมา การออกแบบมาตรการเหล่านี้โดยไม่คำนึงถึงความพอใจส่วนรวมของประชาชนอาจทำให้มาตรการเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและยังอาจเกิดผลลัพธ์ผิดคาดย้อนศรได้อีกด้วย

โอกาสในการใช้และสร้าง “คนดี”

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/love-relationship-partnership-856193/
ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/love-relationship-partnership-856193/

แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคสมัยแห่งการแข่งขันที่ “คนดี” ดูเหมือนจะหายากขึ้นทุกวันและรัฐบาลในหลายประเทศต่างเน้นการทำนโยบายที่เชื่อมั่นในพลังของแรงจูงใจจนแทบจะไม่ต้องคำนึงถึงความพอใจส่วนรวมในตัวพลเมือง ผู้เขียนยังคงมองโลกในแง่ดีเพราะว่าสองเหตุผลต่อไปนี้

เหตุผลแรกคือผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนมีความพอใจส่วนรวมอยู่ในตัวในบางระดับและรัฐควรใช้ประโยชน์จากทุนเดิมที่มีอยู่แล้วนี้ในการสร้างมาตรการที่ชาญฉลาดเพื่อผลักดันสังคมไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าต่อส่วนรวม

ความพอใจส่วนรวมของแต่ละคนมักจะมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ในมุมมองเศรษฐศาสตร์มันไม่สำคัญขนาดนั้นว่าคุณทำให้ส่วนรวมดีขึ้นเพราะคุณชอบให้ส่วนรวมดีขึ้นจริงๆ หรือคุณชอบช่วยส่วนรวมเพียงเพราะคุณชอบได้รับคำชมว่าคุณเป็นคนดีหรือชอบความรู้สึกภาคภูมิใจตราบใดที่การกระทำของคุณมันช่วยส่วนรวมในอัตราที่เท่ากัน เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติที่มนุษย์เราจะต้องการความรัก ความชอบว่าตนเองดีงาม ดังที่ อดัม สมิธ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เคยเขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Theory of Moral Sentiments (ที่น่าจะสำคัญว่า Wealth of Nation เสียอีก):

Man naturally desires, not only to be loved, but to be lovely; or to be that thing which is the natural and proper object of love. He naturally dreads, not only to be hated, but to be hateful; or to be that thing which is the natural and proper object of hatred. He desires, not only praise, but praiseworthiness…(The Theory of Moral Sentiments, Adam Smith)

ความเป็น “คนดี” ที่เป็นธรรมชาติแบบนี้ เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันแทบจะทุกวันตั้งแต่การช่วยคนชราข้ามถนน การบริจาคโลหิต ไปจนถึงการบริจาคเงิน (ชาวอเมริกันบริจาคเป็นจำนวนเงินมากประมาณ 2% ของ GDP ในปี ค.ศ. 2013) ความพอใจส่วนรวมที่อยู่ในนิสัยคนเราคงเป็นส่วนหนึ่งในคำอธิบายหลักวิวัฒนาการทางชีววิทยาว่าทำไมมนุษย์และสัตว์ถึงรวมฝูงและทำอะไรร่วมกันในหลายโอกาสแทนที่จะแย่งชิงแข่งขันกันตลอด

เหตุผลที่สองคือความพอใจส่วนรวมเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่ามันจะใช้เวลายาวนาน

มีตัวอย่างเหล่านี้ในชีวิตจริงที่เราเคยพบเคยเห็นมาจำนวนนับไม่ถ้วน

บางคนพ่อแม่สอนให้ไม่เห็นแก่ตัว โตขึ้นจึงเป็นคนที่คอยเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ

บางคนตอนเด็กๆ ดูการ์ตูนดิสนีย์บ่อย โตขึ้นอาจจะให้เกียรติคู่รักและเสียสละให้คนรักมากกว่าคนอื่น

บางคนที่อินกับหนังจีนตอนเด็กๆ มากก็อาจให้ความสำคัญกับมิตรภาพ คำสัญญา และความซื่อสัตย์ระหว่างเพื่อน ระหว่างศิษย์กับครู ระหว่างบุพการีกับบุตรมากเป็นพิเศษ

บางคนเชื่อในเรื่องบุญบาปเพราะว่าตายายเล่าเรื่องให้ฟังบ่อยๆ จึงหมั่นช่วยเหลือผู้อื่นทุกครั้งที่มีโอกาสเพราะความเชื่อ

บางคนพ่อแม่ให้สวดมนต์ก่อนนอนให้ท่องศีลห้าเป็นประจำ โตขึ้นจึงไม่เคยผิดศีลห้าเลยแม้แต่ครั้งเดียว

บางคนอีโก้สูงคิดว่าตัวเองประเสริฐกว่าผู้อื่นเพราะว่าตนมีโอกาสได้เรียนสูง จึงคอยให้คำแนะนำเพื่อนฝูงเพื่ออวดเก่งอวดรู้ แต่เพื่อนๆ ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย

บางคนชอบมีหน้ามีตาต้องการสร้างอิมเมจดีๆ ทุกครั้งที่ตนบริจาคจะต้องประกาศให้ทั้งโลกทราบว่าตนบริจาคนะ ตนทำความดีแล้วนะ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วประกาศหรือไม่ประกาศ ระดับความดีต่อส่วนรวมนั้นเท่ากัน (ยกเว้นว่าถ้าประกาศแล้วมีคนประเภทเดียวกันนี้อีกมากมาย อาจจะทำให้คนเหล่านี้ยิ่งอยากดูดีเท่าเลยบริจาคกันใหญ่ อันนั้นยิ่งดีต่อส่วนรวม…)

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ คนเหล่านี้ประพฤติเป็น “คนดี” เพราะได้รับความพึงพอใจจากการเสียสละเพื่อส่วนรวมในแต่ละรูปแบบของตนเอง และจะสังเกตได้ว่าความพึงพอใจที่แตกต่างเหล่านี้มันมีที่มาที่ไปจากการถูกอบรมสั่งสอน การศึกษา และการบริโภคในเวลาว่างมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

แน่นอนว่าความพอใจส่วนรวมก็มี “ด้านมืด” เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งชั้นวรรณะ การแบ่งฐานะยศฐาบรรดาศักดิ์ การเหยียดผิว สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเราแบ่งปันหรือมีพฤติกรรมเพื่อส่วนรวมที่น้อยลงเมื่อทราบว่า “ผู้รับ” อยู่นอกกลุ่มตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือคนที่มีความพอใจส่วนรวมด้านมืดแบบนี้จะได้รับความสุขความพอใจน้อยลงเมื่อเขาช่วย “คนนอกกลุ่ม” ไม่ต่างกับเวลาคุณเกลียดอาหารบางอย่าง ซึ่งก็มีงานวิจัยมากมายพยายามพิสูจน์ว่าแนวคิดนี้เป็นความจริงหรือไม่ โดยรวมแล้วยังไม่สามารถฟันธงได้แต่มีหลักฐานค่อนข้างแน่นหนาในสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่ายิ่งพื้นที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์และสีผิว การลงทุนในสินค้าสาธารณะในพื้นที่นั้น เช่นโรงเรียนรัฐบาลมักจะน้อยลง

มองไปข้างหน้า

ผู้เขียนมองว่าประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาควรใช้ประโยชน์จากความพอใจส่วนรวมของประชากรเนื่องจากประเทศเหล่านี้มักมีช่องโหว่ทางการบังคับใช้กฎหมายอยู่มาก

ปัญหาคือสิ่งนี้อาจทำได้ยากในภาคปฏิบัติเนื่องจากว่าเรายังไม่มีเทคโนโลยีในการวัดว่าประชากรในพื้นที่หนึ่งมีความพอใจส่วนรวมในรูปแบบไหน (มันมีมากหลายรูปแบบเหลือเกิน) และเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าการปลูกฝังความพอใจส่วนรวมควรทำหรือไม่ ควรทำโดยใครและผ่านทางใด และยังมีคำถามอีกมากมายที่เรายังตกลงกันไม่ได้ เช่น รัฐบาล โรงเรียน และสื่อควรมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ในตัวตนของประชาชน อีกทั้งความเป็น “คนดี” ก็ยังมีนิยามที่ไม่แน่ชัด

ในขณะที่แนวคิดลิเบอรัลกำลังมาแรงในหลายๆ สังคมบนโลก อีกอย่างที่เราต้องทำให้ดีก็คือการหาจุดสมดุลย์ระหว่าง “การล้างสมอง” เพื่อปลูกฝังความพอใจส่วนรวมเหล่านี้ กับการสร้างกกฎหมายอันเพอร์เฟ็ค ทั้งสองอย่างเป็นการรุกล้ำสิทธิและอิสรภาพของประชาชน

แต่ลองคิดดูเล่นๆ นะครับว่าถ้าเราสามารถค้นพบว่าประชาชนมีความพอใจส่วนรวมแบบใดได้ในภาคปฏิบัติ แทนที่เราจะแค่สร้างบทลงโทษหรือรางวัลที่ใช้เงินตราเพียงอย่างเดียวเพื่อล่อให้พลเมืองไปทำบางสิ่งบางอย่างที่ดีต่อส่วนรวม ทำไมเราไม่เพิ่ม “แรงจูงใจส่วนรวม” โดยการยื่นประเคนสิ่งที่คนเหล่านี้จริงๆ ก็ต้องการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น หากพลเมืองกลุ่มเป้าหมายชื่นชอบเกียรติยศที่มาจากการช่วยเหลือสังคม ชื่นชอบเสียงปรบมือชื่นชมจากผู้คน เราก็ควรสร้างแรงจูงใจที่มียังมีค่าตอบแทนทางเงินตรา แต่ต้องมีการพ่วงการเชิดชูยกย่องผู้ที่ทำตามมาตรการนี้เข้าไปด้วย ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการก็จะต้องถูกประนามให้ทั้งสังคมทราบเพื่อให้เขา “เจ็บปวด” ในอีกมิติหนึ่งเพราะว่าเขาจะเสียเกียรติและได้รับเสียงโห่แทน นี่เป็นสิ่งที่เงินตราและสิ่งทางโลกอื่นๆ เข้าไปแตะต้องไม่ได้
จะเห็นได้ว่าถ้าเราทำถูก แรงจูงใจและความพอใจส่วนรวมจะไปในทางเดียวกัน แทนที่ทั้งสองแรงจะหักล้างกันอย่างในกรณีของสถานรับเลี้ยงเด็กในประเทศอิสราเอล ในกรณีนี้มันกลับเกื้อกูลกันทำให้เราไปถึงจุดหมายส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

มุมมองในบทความนี้อาจจะดูล้าสมัย ดูย้อนยุคไปสักนิด แต่ผู้เขียนคิดว่าสมควรถูกหยิบยกมาถกเถียงกันให้มากขึ้นเนื่องจากว่าความเป็น “คนดี” นั้นมีความสำคัญต่อสังคมทั้งในเชิงจริยธรรมและในโลกจริงที่นักวิจัยและเราเรากันเองสามารถสัมผัสและพบเห็นได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559