ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต.ปรับผู้บริหาร 6 บริษัท “เอ็ม ลิ้งค์ – WHA – กรุงเทพประกันภัย- AMC- GLOBAL และ GLOBAL-W” ความผิดให้ข้อมูลเท็จ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง

ก.ล.ต.ปรับผู้บริหาร 6 บริษัท “เอ็ม ลิ้งค์ – WHA – กรุงเทพประกันภัย- AMC- GLOBAL และ GLOBAL-W” ความผิดให้ข้อมูลเท็จ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง

16 มีนาคม 2016


เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยกรณีคณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบนายพิเชษฐ์ บุญยภักดี กรณีบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่เจตนาให้บุคคลอื่นสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงินหรือราคาหุ้นของบริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MLINK) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) (FER )

ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 นายพิเชษฐ์ บุญยภักดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงินของ MLINK ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการเพิ่มทุนของ MLINK

นายพิเชษฐ์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลและหาแนวทางปรับปรุงสถานะทางการเงินและโครงสร้างส่วนทุนของ MLINK ทราบข้อเท็จจริงและพัฒนาการเกี่ยวกับการเพิ่มทุนของ MLINK อย่างต่อเนื่อง แต่ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 เวลา 12.53 น. นายพิเชษฐ์ได้ปฏิเสธข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ข่าวที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า MLINK มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร โดยมีวาระหลักเกี่ยวกับการเพิ่มทุน เพื่อนำเงินเพิ่มทุนไปขยายกิจการ ไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด ทั้งที่ในขณะนั้น นายพิเชษฐ์ทราบดีว่าเรื่องการเพิ่มทุนของ MLINK ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารของบริษัทแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาในการประชุมวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 เวลา 12.30 น.

การกระทำของนายพิเชษฐ์ เป็นการกระทำผิดโดยการบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่เจตนาให้ผู้อื่นสำคัญผิดเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 238 และมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งนายพิเชษฐ์ได้รับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับจากคณะกรรมการเปรียบเทียบเป็นเงิน 500,000 บาท

ปรับผู้บริหาร WHA แพร่ข่าวที่อาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นหรือลดลง

คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบนายสมยศ อนันตประยูร กรณีแพร่ข่าวอันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ จำกัด (มหาชน) (WHA) จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง และเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายสมยศ ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับผิดชอบในการดำเนินกิจการ และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WHA ได้เผยแพร่ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2557 มีใจความสำคัญว่า WHA กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง ที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท เป็นบริษัทที่มีค่า P/E ประมาณ 10 เท่า มีอายุมากกว่า 20 ปี และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกับ WHA ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการแพร่ข่าวในข้อเท็จจริงที่มิได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก่อน และมีสาระสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน อันอาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ WHA ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การกระทำของนายสมยศเป็นการกระทำผิดโดยการแพร่ข่าวที่อาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงก่อนแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามมาตรา 239 และมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งนายสมยศได้รับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับจากจากคณะกรรมการเปรียบเทียบเป็นเงิน 500,000 บาท

ปรับผู้บริหารเปิดเผยข้อมูลภายในเพื่อให้บุคคลอื่นซื้อหุ้น BKI

คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบ นายชัย โสภณพนิช กรณีเปิดเผยข้อมูลภายในเพื่อให้บุคคลอื่นซื้อหุ้นบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) (BKI) เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท

ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่านายชัย ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารของ BKI เสนอให้มีการจ่ายหุ้นปันผลให้กับผู้ถือหุ้น BKI ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นปันผล เพิ่มเติมจากการจ่ายเงินปันผลตามปกติของ BKI จากผลการดำเนินงานประจำปี 2556 ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและจะมีผลด้านบวกต่อราคาหุ้น BKI โดยนายชัยเปิดเผยข้อมูลนี้ให้แก่บุคคลอื่นทราบ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้ซื้อหุ้น BKI ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2557 ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 จึงเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอกการกระทำของนายชัยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

นายชัยได้รับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับ แต่เนื่องจากมูลค่าผลประโยชน์ที่นายชัยได้รับเมื่อนำมาพิจารณากำหนดเป็นค่าปรับแล้วมีมูลค่าไม่สูง และยังต่ำกว่ามูลค่าเปรียบเทียบปรับขั้นต่ำ ดังนั้น คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับในจำนวนขั้นต่ำเป็นเงิน 500,000 บาท

นอกจากนี้ นายชัยยังเป็นกรรมการของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับใบอนุญาตนายหน้า ค้า หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) ซึ่งเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน การกระทำข้างต้นถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน* นายชัยจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้เป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559 และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในตลาดทุน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อื่นได้ในช่วงเวลาเดียวกัน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ

ปรับ 6 ราย อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL และ GLOBAL-W

คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบผู้กระทำผิด 4 ราย ได้แก่ (1) นายวิทูร สุริยวนากุล (2) นางสาวกุณฑี สุริยวนากุล (3) นายอภิลาศ สุริยวนากุล และ (4) นายเกรียงไกร สุริยวนากุล เป็นเงินรวม 25,322,064.39 บาท กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นสามัญบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL) และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL-W) และกล่าวโทษผู้กระทำผิด 2 ราย ได้แก่ (1) นายสุรศักดิ์ จันโทริ และ (2) นายเอกกมล จันโทริ กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL

ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานว่า นายวิทูรกับพวกรวม 4 คน ได้ซื้อและเป็นผู้รับประโยชน์จากการซื้อหุ้น GLOBAL และ GLOBAL-W โดยนายวิทูร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ GLOBAL มีอำนาจตัดสินใจเงื่อนไขความตกลงระหว่าง GLOBAL กับบริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในการที่ SCG จะเข้าถือหุ้นในบริษัท GLOBAL ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ด้วยการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ GLOBAL จะออกเสนอขายให้แบบเฉพาะเจาะจง โดย SCG จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ GLOBAL บางส่วน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจของ GLOBAL แข็งแกร่งขึ้น

ข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งได้รับการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 แต่พบว่าระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 23 สิงหาคม 2555 นายวิทูรได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี และได้รับความช่วยเหลือจากนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรให้มีการซื้อและชำระค่าซื้อหลักทรัพย์

ส่วนกรณีนายสุรศักดิ์ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว จากการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระของ GLOBAL ได้ซื้อหุ้น GLOBAL จำนวน 75,000 หุ้น ในวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายเอกกมล

การซื้อหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก เป็นความผิดตามมาตรา 241 ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

นายวิทูร นางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกร กระทำผิดตามมาตราข้างต้น จึงได้รับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับ คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบนายวิทูร เป็นเงิน 24,322,064.40 บาท และเปรียบเทียบนางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรในฐานะผู้สนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท

ส่วนนายสุรศักดิ์และนายเอกกมลไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และนายสุรศักดิ์ยังขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดีอีกด้วย

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรรม

ปรับผู้กระทำผิดกรณีสร้างราคาหุ้น AMC

คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งปรับนายสมชาย ชัยศรีชวาลา เป็นจำนวน 500,000 บาท ในฐานความผิดกรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) (AMC)

ก.ล.ต. ได้รับรายงานการตรวจสอบจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า นายสมชาย ชัยศรีชวาลา ได้รู้เห็นหรือตกลงร่วมกับนางสาวชนินันท์ เหลืองเวคิน ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองและของบุคคลอื่นซื้อขายหุ้น AMC ระหว่างวันที่ 13 กันยายน ถึง16 พฤศจิกายน 2549 ในลักษณะอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่า หุ้น AMC มีการซื้อขายกันมาก และราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป และซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน อันเป็นผลทำให้การซื้อหรือขายหุ้น AMC ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อหรือขายหุ้นดังกล่าว

การกระทำของนายสมชายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 244 และมาตรา 243(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

เมื่อเดือนกันยายน 2555 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษนายสมชายต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และต่อมานายสมชายตัดสินใจรับการลงโทษทางอาญาโดยการถูกปรับจากคณะกรรมการเปรียบเทียบเป็นเงิน 500,000 บาท

สำหรับผู้ร่วมกระทำผิดคือนางสาวชนินันท์ ได้ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555

ข้อมูลประกอบข่าว