ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวิจัยกวดวิชา”เลิร์น เอ็ดดูเคชัน” ชี้เด็กไทย Lost Focus เรียนสูตรเก่าไม่ได้ผล – ชู “blended education” แก้ปัญหาครูขาด

งานวิจัยกวดวิชา”เลิร์น เอ็ดดูเคชัน” ชี้เด็กไทย Lost Focus เรียนสูตรเก่าไม่ได้ผล – ชู “blended education” แก้ปัญหาครูขาด

21 มีนาคม 2016


ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการพยายามลองผิดลองถูกปรับระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้เรียน ตั้งแต่นโยบายให้ครูเป็นศูนย์กลาง สู่ยุคนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และปัจจุบันการศึกษาไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคลดเวลาเรียน แต่เด็กไทยจำนวนมากยังคงต้องพึ่ง “การกวดวิชา” เพื่อพาตัวเองไปให้ถึงฝั่งฝัน ทำให้วงการกวดวิชาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตนี้สะท้อนถึงสิ่งที่ระบบการศึกษาของภาครัฐยัง “ไปไม่ถึง” ได้อย่างชัดเจน

On Dedmand เจาะตลาดกวดวิชาผ่านผลสำรวจพฤติกรรมเด็ก

หากมองข้ามข้อบกพร่องของการศึกษาในระบบไป อะไรคือสิ่งที่สถาบันกวดวิชาสามารถจูงใจเด็กนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากให้เชื่อมั่นได้ว่าจะช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้นสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้สัมภาษณ์นายสุธี อัสววิมล หรือที่เด็กๆ รู้จักในนาม “พี่โหน่ง” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ ขณะนี้มี 41 สาขา ใน 32 จังหวัด ได้ฉายภาพให้เห็นการปรับตัวของกวดวิชาว่า “ไม่ได้มาเล่นๆ” เพราะในสถาบันใหญ่ๆ มักมีทีมที่คอยศึกษาพฤติกรรมเด็ก และปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กในแต่ละยุคสมัยเสมอ

นายสุธี อัสววิมล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์
นายสุธี อัสววิมล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์

นายสุธีกล่าวว่า ตนเริ่มทำสถาบันกวดวิชามา 10 ปี และเป็นทีมแรกที่ทำเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนกับคอมพิวเตอร์ในการกวดวิชา ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของเด็กที่เรียนกับทีวี ดีวีดี ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ด้วยลักษณะของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้กวดวิชาปรับตัวโดยการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ทำให้เด็กสามารถเลือกที่จะหยุดพัก หรือกดทวนซ้ำในส่วนที่ตามไม่ทันได้

“เรามุ่งเน้นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กๆ มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่ผมพบก็คือ เด็กๆ ทั้งหมดทั่วประเทศอยู่ในยุคที่ Lost Focus ไม่มีสมาธิ แล้วก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่ชีวิตของน้องดีขึ้นเพราะว่าพ่อแม่ส่งเสริม ให้ความสนใจด้านการศึกษา แต่ว่าเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ และรอยต่อระหว่างเข้ามหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเลือกอนาคตของเขา”

นายสุธีกล่าวถึงการจัดการสอนรูปแบบใหม่ของออนดีมานด์ว่า เพื่อให้รับรู้ถึงความเข้าใจของเด็กว่าเข้าใจในสิ่งที่สอนหรือไม่ โดยอาศัย “คลิกเกอร์”ที่อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยใช้ในการเรียนการสอนเข้ามาวัดผล เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถแสดงข้อมูลของการตอบคำถามจำแนกรายข้อ แสดงสัดส่วนคะแนนกรณีตอบผิด จากผู้ตอบคำถามทั้งหมด คะแนนเฉลี่ยทั้งหมด ให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจ และผู้สอนสามารถรับรู้ความเข้าใจของเด็กในชั้นเรียนได้ทันที และระหว่างที่พูดหรือสอนนั้น มันมีการถ่ายทำเพื่อลงไปสู่เด็กๆ ที่เรียนอีก 5,000-6,000 เครื่องในทุกสาขาเช่นกัน

และสิ่งที่จูงใจให้เด็กจำนวนไม่น้อยเลือกหันหน้าเข้ากวดวิชาก็คือ “ตำรา” ที่เข้าใจง่าย เช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ ผู้บริหารออนดีมานด์กล่าวว่า ตำราที่เด็กเรียนหนาๆ กวดวิชาจะต้องนำมาปรับให้เรียบง่ายที่สุด ทำสรุปออกมาเป็นแผนผัง โดยอาจารย์ที่สอนจะเป็นผู้หาวิธีการของตัวเองในการย่อยเนื้อหา และเช็คกับเด็กผ่านการเรียนและการสอบจริงว่าเด็กเข้าใจ

นายสุธีกล่าวถึงพฤติกรรมเด็กในปัจจุบันที่ทำให้การฝึก การท่องจำในรูปแบบเก่าไม่ได้ผล “ถ้าเขาเรียนจากห้องเรียนไปแล้วเราไม่มีเครื่องมือไปทำให้เขาช่วยฝึก ได้ทบทวน มันจะทำให้เขาไม่สามารถ จับความรู้ได้เลย วิธีแบบเก่าๆ สมัยก่อนที่อาจารย์เคยสอนว่า ระหว่างนั่งรถเมล์กลับบ้านให้ท่องศัพท์ไประหว่างนั่งรถเมล์ด้วยนั้นใช้ไม่ได้กับเด็กยุคนี้ เพราะเด็กยุคนี้ระหว่างนั่งรถเมล์เขาเล่นไลน์ คือบังคับให้เขาท่องศัพท์เขาทำไม่ได้จริงๆ เขาขอร้องมา แม้กระทั่งโต๊ะอ่านหนังสือเขายังเล่นไลน์เลย”

“อันนี้คือสิ่งที่เราต้องช่วยเขา ตอนแรกเหมือนสปอยด์ แต่ถ้าไม่ช่วยก็จะแย่กันไปทั้งหมด แต่นอกเหนือจากการช่วย เราต้องใช้เครื่องมือทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น เพราะเด็กยุคนี้แกร่งน้อยกว่ายุคก่อนๆ มาก จึงมีเครื่องมือที่เรียกว่า “เคลียร์การตอบคำถาม” ประกันการตอบ 24 ชั่วโมง เด็กสงสัยจะได้ตอบได้ และสามารถถามได้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน ระหว่างเรียนกับคอมพิวเตอร์ หรืออยู่ที่มือถือ หรืออยู่ที่บ้าน สงสัยโจทย์สามารถถ่ายรูปแล้วส่งได้เลย”

นอกจากนี้ นายสุธียังกล่าวถึงปัญหาการเรียนรู้ของเด็กไทยที่เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ระดับประถม เขาระบุว่าเด็กๆ ในปัจจุบันไม่สามารถบวก ลบ คูณ หารได้ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ในระดับมัธยม และเทรนด์การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่เปลี่ยนไปโดยเด็กมัธยมที่เรียนโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนเอกชนอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติ มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติของสถาบันอุดมศึกษามากขึ้น รวมถึงการเลือกที่จะศึกษาต่อในต่างประเทศก็เช่นกัน ซึ่งออนดีมานด์เตรียมที่จะเปิดคอร์สเรียนใหม่ เพื่อเจาะตลาด ประถม-อินเตอร์ โดยเฉพาะ

และอีกสิ่งที่เป็นกุญแจให้การเรียนประสบความสำเร็จ คือ “ผู้สอน” ซึ่งสถาบันกวดวิชาหลายแห่งใช้ และออนดีมานด์ก็เช่นกัน คือ ผู้สอนที่มีความรู้เฉพาะทาง ผู้สอนชีววิทยาที่จบแพทย์ ผู้สอนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ที่จบวิศวะ มีรางวัลการันตีความสามารถในด้านนั้น ภาพเหล่านี้คือตัวอย่างคร่าวๆ ที่ฉายให้เห็นถึงความเอาจริงของสถาบันกวดวิชา ที่พยายามเข้าถึงและตอบสิ่งที่เด็กเรียกร้อง นี่คือสิ่งที่กวดวิชากำลังปรับตัว

เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น สร้างรูปแบบการเรียน ตอบโจทย์ปัญหา

นอกจากสถาบันกวดวิชาที่เป็นการประกอบธุรกิจในแวดวงการศึกษาแล้ว ปัจจุบันโมเดลธุรกิจการศึกษารูปแบบใหม่ที่พยายามนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้กับระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหา “การขาดแคลนครู” และตอบโจทย์เรื่องผลสัมฤธิ์ทางการเรียนของเด็กยุคดิจิทัล

นายธานินทร์ ทิมทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด
นายธานินทร์ ทิมทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด

นายธานินทร์ ทิมทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า ระบบการเรียนการสอนในชื่อ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” จะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของประเทศผ่านเทคโนโลยี โดยให้คอมพิวเตอร์เป็น “เครื่องมือ” ช่วยครูและเสริมสร้างการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบให้กับนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ตนมีความถนัด และการเรียนการสอนในระดับมัธยมเป็นส่วนที่มีอัตราการขาดแคลนครูมากที่สุด จึงเริ่มจากจุดดังกล่าวเป็นอันดับแรก

“คิดว่าหากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่มาช่วยครูก็น่าจะดี เพราะว่าภาพที่เห็นของบ้านเรา ครูตามต่างจังหวัดก็ สอนคนเดียว 5-6 วิชาและไม่รู้ว่าเรียนจบอะไรมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีว่าคุณครูบ้านเรามีความตั้งใจ แต่จะดีกว่าไหมหากมีเครื่องมือเข้ามาช่วยให้สามารถควบคุมการเรียนการสอนทั้งหมดได้ โดยตั้งต้นจากการที่เราอยากใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการช่วยครู เพื่อทำให้คุณภาพการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้มาตรฐาน”

นายธานินทร์ระบุว่า ในระบบการเรียนการสอนจะนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับเนื้อหาวิชาที่สอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาและทบทวนความรู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งคอมพิวเตอร์จะเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนครูผู้สอนให้สามารถบริหารการเรียนในลักษณะ 1 ต่อ 1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวัดผลการเรียนของนักเรียนแต่ละคนได้ทันที การทำแบบนี้จะช่วยยกระดับผลการเรียนของเด็กให้ดีขึ้น

“สิ่งที่เราแตกต่างไปจากหลักสูตรปกติมีสองอย่างหลักๆ ก็คือ อย่างแรก เราเชื่อมโยงครูเข้ากับเทคโนโลยี เป็นความเชื่อตั้งต้น เราไม่ได้บอกว่ามีเทคโนโลยีแล้วครูไปทำอะไรก็ได้ คำถามคือ ครูจะเปลี่ยนจากผู้ป้อนความรู้ให้กับเด็กเป็นผู้กระตุ้นความรู้ให้กับเด็กได้อย่างไร ให้อยู่ในรูปแบบที่บอกว่าครูในทศวรรษที่ 21 ควรจะเป็นโค้ช เราก็พยายามจับตรงนี้ ประการที่สอง เราเชื่อว่าเด็กไม่ควรจะเรียนเยอะ เด็กเรียนเยอะพอแล้ว ไม่ควรจะเป็นไปในลักษณะที่ว่าเพราะมีส่วนนี้เข้าไปแล้วจะต้องไปเรียนนอกเวลาอีก เราจึงทำให้ตรงตามหลักสูตรแกนกลางและกลับเข้าไปในคาบเรียนจริงๆ เลย ทำให้การเรียนสนุกและมีชีวิตชีวา ช่วยคุณครูได้”

นายธานินทร์กล่าวต่อไปว่า องค์ประกอบของระบบเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น มี 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

ซอฟต์แวร์ เป็นไฟล์การเรียนที่แยกแต่ละหน่วยการเรียนให้ครูและนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยระบบการทดสอบท้ายชั่วโมงเรียน เพื่อวัดความเข้าใจของนักเรียนได้ทันที ส่วนนี้จะเป็นการลดภาระงานของคุณครูและทำให้ครูสามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนานักเรียนแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิผล

ดิจิทัลคอนเทนต์ เนื้อหาการเรียนตรงตามหลักสูตรแกนกลาง พร้อมภาพประกอบ และกราฟิกที่เน้นสร้างความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอบและต่อยอดการเรียนในอนาคต อีกทั้งยังสามารถปรับระดับความยากง่ายให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละโรงเรียนได้

ตำราและแบบฝึกหัดสำหรับนักเรียน พร้อมคู่มือครู ที่พัฒนาโดยนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อเสริมความเข้าใจในบทเรียน ช่วยให้นักเรียนสามารถทบทวนและฝึกฝนความรู้ให้มากขึ้น

ทีมฝึกอบรมและให้บริการ ซึ่งเป็นทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยสนับสนุนด้านการใช้งานระบบ พร้อมดูแลทั้งในส่วนของโรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน อาทิ การฝึกอบรม ร่วมวางแผนการเรียน สร้างบรรยากาศการเรียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น

การเรียนในรูปแบบนี้ในต่างประเทศ เรียกว่า blended education ซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าการเรียนในรูปแบบดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาผลการเรียนได้เป็นอย่างดี โดยเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในรูปแบบรู้ลึกและมีความหมาย (Deep and Meaningful Learning) ในขณะเดียวกัน ก็ยังอยู่ในความชี้นำของครูผู้สอน สามารถสื่อสารหาคำตอบจากครูได้กรณีมีข้อติดขัด

นายธานินทร์บอกเล่าถึงการเริ่มต้นรูปแบบการเรียนการสอนของเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ว่า ตนและทีมได้ร่วมกับโรงเรียนสหวิทย์ โรงเรียนเอกชนในจังหวัดสุพรรณบุรี นำร่องโรงเรียนแรก โดยทดลองระบบดังกล่าวอยู่ร่วม 2 ปี ก่อนกระจายไปสู่โรงเรียนต้นแบบอื่นๆ ในทั้งโรงเรียนด้อยโอกาส โรงเรียนในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนรัฐบาลบางส่วนที่ผู้บริหารมีงบประมาณ หรือได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครอง และในปี 2558 ที่ผ่านมาได้ขยายไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายที่ใช้ระบบเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น แล้วร่วม 40 โรงเรียน

เด็กๆชาวเขา โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม ขณะกำลังเรียนด้วยระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น
เด็กๆชาวเขา โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม ขณะกำลังเรียนด้วยระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น

“เมื่อครั้งที่เราไปเริ่มต้นกับโรงเรียนสหวิทย์ เราคิดเพียงแค่ว่าจะแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนนี้ได้อย่างไร ดังนั้น เราจึงอาศัยการฟังรายละเอียดจากเขาทุกเม็ด เด็กและครูเสนอประเด็นอะไรมาเราก็เก็บเอาไว้แล้วนำมาดูว่าจะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้างกับโฟกัสกรุ๊ปตรงนั้น ขณะเดียวกัน บางทีเขาหยิบประเด็นขึ้นมาแต่เราก็ไม่สามารถจินตนาการได้เอง ทางเราก็จะมีทีมที่คอยเช็คว่าในต่างประเทศถ้าเจอแบบนี้เขาทำแบบไหน จนในปีที่ 3 ค่าเฉลี่ย O-Net ของโรงเรียนในระดับประเทศเพิ่มขึ้นถึง 31% …ก็ต้องบอกว่าในช่วงแรกเป็นการลองผิดลองถูกมาเยอะ ไม่ใช่ทำมาแล้วครั้งแรกถูกเลย ซึ่งพอมาใช้กับโรงเรียนอื่นๆ ก็ต้องปรับตามบริบทและความต้องการของแต่ละโรงเรียนไป เพราะไม่ใช่ภาพรวมแบบนี้กับโรงเรียนนี้สำเร็จแล้วโรงเรียนอื่นจะสำเร็จด้วย”

ปัจจุบันสัดส่วนประเภทโรงเรียนที่เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น เข้าจัดการหลักสูตรให้แบ่งเป็นโรงเรียนเอกชน 50% ส่วนที่เหลือเป็นโรงเรียนในสังกัด อปท. โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนด้อยโอกาส และโรงเรียนที่มีบริษัทเอกชนซื้อหลักสูตรไปสำหรับทำ CSR(Corporate social responsibility) ให้กับบริษัท

ทั้งนี้นายธานินทร์กล่าวว่า หากจะแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศให้ได้ก็ต้องเจาะไปที่กลุ่มใหญ่คือโรงเรียนรัฐบาล คิดว่าน่าจะไปช่วยอะไรบางอย่างได้ อย่างเช่น เอาการศึกษารูปแบบที่ทำเข้าไปสนับสนุน เพียงแต่ว่าเนื่องจากเราก็ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก การจะเข้าถึงผู้หลักผู้ใหญ่ก็ค่อนข้างลำบาก จึงเริ่มจากกลุ่มที่เขาตอบรับก่อน พอระบบมันใช้ได้ ก็ขยายในกลุ่มเอกชนก่อน เพื่อทำให้คนเห็นว่ามันได้ผลจริงๆ ไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียว

สำหรับค่าใช้จ่ายของระบบดังกล่าวอยู่ที่ราคา 1,000 บาท/จำนวนนักเรียน รวมค่าใช้จ่ายทั้งการเซตระบบ ตำราเรียน และการฝึกอบรมครูผู้สอน ส่วนโรงเรียนด้อยโอกาส ทางเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จะแบ่งเปอร์เซ็นต์จากรายได้ 15% ในทุกๆ ปี ให้การสนับสนุนรูปแบบการเรียน ซึ่งในปี 2559 เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น มีเป้าหมายขยายระบบไปสู่โรงเรียนต่างๆ ให้ได้ 100 แห่ง โดย 15-20 โรงเรียนเป็นโรงเรียนด้อยโอกาส

โดยรวมแล้วสถาบันกวดวิชา และระบบ “เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น” ต่างก็เป็นโมเดลธุรกิจที่พยายามตอบโจทย์ลูกค้า คือ ผู้เรียน ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่สำหรับการศึกษาที่เป็นรากฐานของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศ ภาครัฐมีความพยายามมากแค่ไหน เพื่อให้ประเทศอยู่รอด อาจเป็นสิ่งที่รัฐต้องทบทวนดูอีกครั้ง