ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น ลุยประชามติร่าง รธน. นับเฉพาะ “รับ-ไม่รับ” – ไฟเขียวกม.“กองทุนเพื่อการศึกษา” เพิ่มมาตรการทวงหนี้

รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น ลุยประชามติร่าง รธน. นับเฉพาะ “รับ-ไม่รับ” – ไฟเขียวกม.“กองทุนเพื่อการศึกษา” เพิ่มมาตรการทวงหนี้

2 มีนาคม 2016


บรรยากาศการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
บรรยากาศการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเตรียมจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะพิจารณาร่างสุดท้ายเสร็จสิ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2559 นี้

หลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ แต่มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย มากล่าวถึงผลการประชุมร่วมกันของ ครม. และ คสช. แทน

นายวิษณุกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเตรียมจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. กำหนดเกณฑ์ในการลงประชามติ โดยแก้ไขถ้อยคำว่า ให้ยึด “คะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการตีความภายหลัง โดยจะนับคะแนนเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนว่า เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่รวมถึงบัตรเสียและที่งดออกเสียง “สมมติ มีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง 30 ล้านคน เห็นชอบ 12 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10 ล้านบาท บัตรเสีย-งดออกเสียง 8 ล้านคน ก็จะนับเฉพาะคะแนนเห็นชอบที่ได้มากกว่าไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่รวมบัตรเสีย-งดออกเสียง ถือว่าได้เสียงข้างมากแล้ว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้คะแนนถึง 15 ล้านคน”
  1. กำหนดอายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ที่เดิมกำหนดไว้ว่าให้มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปีในปีที่มีการเลือกตั้งครั้งหลังสุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ให้เป็น “มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี ในวันที่จัดทำประชามติ” ทั้งนี้ เพื่อขยายฐานของผู้มีสิทธิออกเสียงให้มากขึ้น
  1. แก้ไขเรื่องหลักเกณฑ์ในการแจกจ่ายรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าต้องแจกจ่ายให้ถึง 80% ของครัวเรือนทั้งหมด เพราะในปัจจุบันมีวิธีการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าในอดีต โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายถึง 20 ล้านฉบับ โดยอาจจะใช้วิธีทำคู่มือสรุปเนื้อหาสาระแจกจ่าย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ หรือซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ ฯลฯ แทน
  1. กำหนดให้องค์กรอื่นตั้งคำถามประชามติเพิ่มเติมได้ ซึ่งเดิมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมตั้งคำถามได้องค์กรละ 1 คำถาม แต่เนื่องจากปัจจุบัน สปช. ถูกยุบเลิกไปแล้ว เหลือเพียง สนช. จึงกำหนดให้ สนช. มีสิทธิในการตั้งคำถามประชามติเพิ่มเติมได้ โดยให้ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลย ไม่ต้องมีการกลั่นกรองอีก
  1. สำหรับหลักเกณฑ์ในการรณรงค์หรือชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ จะให้ กกต. ไปกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ. ประชามติฉบับใหม่ ที่ยังอยู่ระหว่างการยกร่าง โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะยึดว่าอะไรที่เคยทำได้ในการรณรงค์หรือชี้แจงก่อนการทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้สามารถทำได้ในการรณรงค์หรือชี้แจงก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

“คาดว่าจะสามารถส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ให้ สนช. พิจารณาได้ภายในสัปดาห์นี้” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า หากยึดตามแนวทางการรณรงค์หรือชี้แจงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะมีกิจกรรมบางอย่างที่อาจขัดกับคำสั่งหรือประกาศของ คสช. เช่น ชุมนุมเกิน 5 คน จะทำอย่างไร ต้องแก้ไขคำสั่งหรือประกาศของ คสช. หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ที่ประชุมร่วมกันของ ครม. และ คสช. ไม่ได้หารือกันเรื่องนี้ จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร และต้องขอดูเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ที่ กกต. กำลังจัดทำอยู่ก่อน

เมื่อถามว่า ที่ประชุมร่วมกันได้หารือกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว เพราะถ้าคุยกันถึงทางออก เช่น หยิบรัฐธรรมนูญใดในอดีตมาใช้ จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ แล้วจะทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น ทำไมไม่หยิบรัฐธรรมนูญฉบับนั้นฉบับนี้มาใช้แทน และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจริง เราก็ยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่ไม่ผ่านเป็นเพราะอะไร ที่สำคัญ ทำไมถึงไม่นึกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้อาจจะผ่านประชามติก็ได้

“ในการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ยังได้มีมติด้วยว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2560” นายวิษณุกล่าว

เห็นชอบกม.แก้ปัญหาคนล้นคุก

หลังการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม. กับ คสช. ก็มีการประชุม ครม. ตามปกติ โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

นายวิษณุกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญคือการกำหนดให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยหรือชะลอการฟ้องคดีอาญา เพื่อแก้ไขเรื่องผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยให้ใช้บังคับกับคดีความที่มีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ให้ผู้เกี่ยวข้องกำหนดรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ ให้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

แผนป้องกันกรณี BTS ขัดข้อง – ตั้ง “กรมขนส่งทางราง”

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. ถึงการแก้ไขปัญหา กรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องทางเทคนิค เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ว่า หลังเกิดเหตุได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพ ทั้งที่เป็นเอกชนและรัฐวิสาหกิจมาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต ก่อนจะได้ข้อสรุปใน 2 ระดับ

– ระยะเร่งด่วน ส่วนแรก จะตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงาน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนที่ 2 จะร่วมกันยกร่างแผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุในระบบขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพ มีกำหนดการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2559 ก่อนส่งให้ ครม. เห็นชอบ เพื่อเป็นคู่มือปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่วนที่ 3 คณะทำงานจะหารือร่วมกันเพื่อยกร่างความตกลงร่วมกัน ในการบริหารงานในช่วงภาวะฉุกเฉินเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

– ระยะยาว จะดำเนินการใน 2 เรื่อง 1.จัดตั้งกรมขนส่งทางราง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ 2.จัดตั้งศูนย์บูรณาการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อให้ระบบการขนส่งเชื่อมต่อกันได้ทุกระบบ

เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่ม 2.7 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินปรับขึ้นสุทธิ 27,857 ล้านบาท จากเดิม 1,591,664 ล้านบาท เป็น 1,619,522 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) แผนก่อหนี้ใหม่ ลดลง 1,248 ล้านบาท จากเดิม 563,926 ล้านบาท เป็น 562,678 ล้านบาท (2) แผนปรับโครงสร้างหนี้ ลดลง 2,969 ล้านบาท จากเดิม 904,623 ล้านบาท เป็น 901,653 ล้านบาท และ (3) แผนบริหารความเสี่ยง เพิ่มขึ้น 32,075 ล้านบาท จากเดิม 123,114 ล้านบาท เป็น 155,189 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติจาก ครม. ที่ลดลง 24,531 ล้านบาท จากเดิม 74,811 ล้านบาท เป็น 50,280 ล้านบาท

ไฟเขียว กม. ควบรวม “กยศ.-กรอ.” เพิ่มมาตรการทวงหนี้

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. ที่มีสาระสำคัญคือการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการศึกษา” ซึ่งเป็นการนำกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) รวมไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาการติดตามเงินกู้ยืมที่มีผู้ค้างจ่ายกว่า 2 ล้านคน วงเงินหนี้ 5.2 หมื่นล้าน ทำให้เงินหมุนเวียนในกองทุนทั้ง 2 ขาดแคลน โดยให้ผู้จัดการกองทุนฯ ใหม่สามารถจ้างสถาบันการเงินมาบริหารจัดการกองทุนฯ และติดตามเร่งรัดเงินคืน โดยจะแจ้งข้อมูลไปยังหน่วยงานเอกชนและหัวหน้าส่วนราชการให้หักเงินเดือนเหมือนหักภาษี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินต้องยินยอมให้กองทุนฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุนฯ ด้วย

ทั้งนี้ ให้ส่งร่าง พ.ร.บ. นี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

แก้ พ.ร.บ.จราจรทางบก เพิ่มช่องทางจ่ายค่าปรับใบสั่ง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือการเพิ่มวิธีการและสถานที่ชำระค่าปรับตามใบสั่งสำหรับผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ โดยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือวิธีการอื่นโดยผ่านธนาคารหรือหน่วยงานบริการรับชำระเงิน โดยร่าง พ.ร.บ. นี้จะพูดถึงเฉพาะการทำผิดกฎจราจรที่ไม่มีการยึดใบขับขี่ไว้ ซึ่งเดิมจะมีวิธีจ่ายค่าปรับกรณีที่โดนใบสั่งแค่ 2 วิธี คือที่สถานีตำรวจหรือไปรษณีย์ แต่วันนี้สามารถไปจ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสหรือธนาคารได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน

“อย่างไรก็ตาม ครม. มีข้อเสนอแนะให้ไปพิจารณาอัตราค่าปรับตามใบสั่งสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้มีความเหมาะสม หลังเคยมีการขึ้นค่าปรับกรณีความผิดลหุโทษ จากไม่เกิน 1 พันบาทเป็นไม่เกิน 1 หมื่นบาทมาแล้ว ดังนั้น ความผิดฐานอื่นๆ ก็ควรจะมีค่าปรับใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผู้ทำผิดกฎจราจรเกรงกลัวและไม่กล้ากระทำผิดอีก” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ปรับค่าโดยสารรถไฟใต้ดินใหม่

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่าด้วยหลักการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือการปรับปรุงอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม. หลังครบกำหนดอัตราค่าโดยสารเดิม ซึ่งต้องพิจารณาทุกๆ 2 ปี ให้มีอัตราต่ำสุด 16 บาท และสูงสุด 42 บาท ซึ่งจากการคำนวณพบว่าอัตราค่าโดยสารส่วนใหญ่จะเท่ากับในปัจจุบัน ยกเว้นสถานีรัชดาภิเษก สถานีศูนย์วัฒนธรรม และสถานีสุขุมวิท ที่จะมีอัตราค่าโดยสารลดลงสถานีละ 1 บาท จากปัจจุบัน ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2559 – 2 กรกฎาคม 2561 ทั้งนี้ ครม. เสนอว่า ในการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินของ รฟม. ครั้งต่อไป ในเมื่อมีสูตรคำนวณอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมาขอมติจาก ครม. อีก

“ประวิตร” ขอ 2 เดือน กวาดล้างผู้มีอิทธิพล

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ได้รายงานความคืบหน้าการจัดระบบผู้มีอิทธิพลตามข้อสั่งการของนายกฯ ที่ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 มีนาคม 2559 ที่จะถึงนี้ โดย พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ได้เก็บข้อมูลรายชื่อผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศครบถ้วนแล้ว หลังจากนี้อีก 2 เดือนจะเริ่มดำเนินการจับกุมและกวาดล้างผู้มีอิทธิพลเพื่อจัดระเบียบสังคมไทย