ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” ย้ำอยากมี ส.ว.สรรหา 5 ปีช่วงเปลี่ยนผ่าน คุม “แก้ รธน.-ยุทธศาสตร์ชาติ” ครม. ทั้งบอร์ด สสส. ใหม่ ย้ายเลขาฯ ปปง.

“ประยุทธ์” ย้ำอยากมี ส.ว.สรรหา 5 ปีช่วงเปลี่ยนผ่าน คุม “แก้ รธน.-ยุทธศาสตร์ชาติ” ครม. ทั้งบอร์ด สสส. ใหม่ ย้ายเลขาฯ ปปง.

9 มีนาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” สั่งซอยโครงการใหญ่ที่เดินหน้าไม่ได้ – ปลอบ รมต. ไม่มีผลงาน

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ในที่ประชุม ครม. ได้หารือถึงการเบิกจ่ายงบประมาณว่า ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามเป้า ที่ล่าช้าอยู่บ้างเพราะรัฐบาลนี้ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่าย แต่ได้มีการแก้ไขปัญหาจนถึงขณะนี้มีความคืบหน้าไป 70-80% แล้ว สำหรับบางโครงการขนาดใหญ่ที่ยังมีปัญหา ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะซอยย่อยโครงการได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงผลโพลบางสำนักที่ระบุถึงรัฐมนตรีบางคนว่าไม่มีผลงานว่า ได้ชี้แจงไปในที่ประชุม ครม. ว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้เน้นการบูรณาการ คือ มีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะเราไม่ได้แก้ไขปัญหาแค่ให้มันจบๆ ไป แต่แก้ปัญหาไปด้วยปรับโครงสร้างปัญหาไปด้วย ทุกๆ ปัญหาจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ก็ไม่ได้มีแค่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ยังมีกระทรวงอื่นๆ ด้วย จึงบอกกับรัฐมนตรีที่มีรายชื่ออยู่ในผลโพลนั้นว่าอย่าน้อยใจไป เพราะบางครั้งการตั้งคำถามของโพลก็ง่ายเกินไป เช่น ถามว่าดีหรือไม่ดี โดยไม่บอกว่าที่ว่าดีหรือไม่ดีนั้นมีรายละเอียดอย่างไร

หนุนตั้ง ส.ว. สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน คุม “แก้รัฐธรรมนูญ–ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ”

เมื่อถามถึงการประชุมแม่น้ำสี่สาย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ว่า มีการหารือเรื่องที่มาของ ส.ว. อย่างไรบ้าง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้คุยถึงข้อดี-ข้อเสีย ว่าหากให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด หรือมาจากการสรรหาด้วยและเลือกตั้งด้วย จะเป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวอยากให้ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีข้างหน้า ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยอาจเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อที่การเมืองจะได้ไม่กลับไปตีกันเหมือนในอดีต เพราะขนาดเวลานี้ตนยังมีอำนาจอยู่ ก็เห็นได้ว่ายังมีการเคลื่อนไหว แล้วถ้าตนหมดอำนาจแล้ว ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อมค่อยกลับไปให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า อยากจะให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ คนต่อไปด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ควรจะให้ ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกฯ ไม่ใช่ ส.ว. โดย ส.ว. ควรจะมีอำนาจหน้าที่ อาทิ กำกับดูแลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำกับดูแลการบริหาราชการแผ่นดิน และกำกับดูแลการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ถึงขั้นชี้ผิดชี้ถูกหรือไปยุบรัฐบาล เพราะเป็นอำนาจของศาล ไม่ใช่ของ ส.ว. ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่มีตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเข้าร่วมประชุมแม่น้ำสี่สายด้วย เพราะติดภารกิจ และป้องกันข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

“เรื่องประชาธิปไตย อะไรที่ผมให้ได้ ผมให้อยู่แล้ว แต่อะไรที่ควรขมวดไว้ ก็ต้องเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ถ้าไม่มี ส.ว. สรรหา ไปเลือกตั้งแบบเดิม จะเกิดปัญหาเหมือนในอดีตหรือไม่ ผมไม่รับประกัน ยืนยันว่าไม่ใช่การสืบทอดอะไร เพราะจะสืบทอดทำไม และเพื่อใคร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ยังไม่เสนอตั้งสังฆราชองค์ใหม่ จนกว่าคดี “สมเด็จช่วง” จะยุติ

เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวในวงการสงฆ์เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้กังวลอะไร และที่ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่าจะส่งเอกสารเรื่องรัฐบาลเสนอรายชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ผิดขั้นตอนตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาให้ ตนยังไม่เห็นหนังสือไม่ว่าจะจากผู้ตรวจการแผ่นดินหรือใครทั้งนั้น เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อกฎหมายโดยฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล

ส่วนกรณีที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกรณีนำเข้ารถยนต์หรูเลี่ยงภาษี พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็จะยังไม่ทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ จนกว่าคดีความจะได้ข้อยุติ เหมือนกับการเสนอรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนมาให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา หากยังมีปัญหาเรื่องคดีความ ตนก็จะตีกลับไปให้พิจารณาใหม่

ปราบ “ผู้มีอิทธิพล” ตามหลักฐาน – ไม่ห้ามเล่นน้ำสงกรานต์

เมื่อถามถึงการเดินหน้าปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งรายชื่อที่ออกมามีบางคนเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าไปโยงทุกอย่างกับการเมือง ไม่ว่าจะอยู่กับใครก็ตาม หากเป็นผู้มีอิทธิพลจะต้องถูกดำเนินการ ยอมรับว่าอาจมีบางคนเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง แต่ยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ยาเสพติด ฯลฯ หรือไม่

เมื่อถามถึงการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ความจริงปริมาณฝนในประเทศไทยไม่ได้น้อย เพียงแต่เก็บเอาไว้ใช้ไม่ได้ รวมถึงในปีนี้มีปัญหาเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญด้วย ส่วนกรณีที่มีบางคนเสนอให้ยกเลิกการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตนคงจะสั่งให้ยกเลิกการเล่นน้ำไม่ได้ เพราะสั่งไปก็คงจะไม่ปฏิบัติตาม ทำได้แค่เพียงขอให้เล่นน้ำอย่างพอเพียง โดยคำนึงถึงว่าจะมีน้ำใช้จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 หรือไม่

ศธ. เปิดตัวแอพ Echo English

ด้าน พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ ตนได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกฯ ที่ให้จัดทำแอปพลิเคชันฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษ สำหรับคน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ผู้ประกอบการ และข้าราชการ ซึ่งขณะนี้ ศธ. ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว 1 แอปฯ สำหรับประชาชน ใช้ชื่อว่า Echo English โดยผู้ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์สามารถดาวน์โหลดมาทดลองใช้ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ส่วนผู้ที่ใช้ระบบไอโอเอสให้รอดาวน์โหลดไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม 2559 สำหรับแอปฯ สำหรับบุคคลกลุ่มอื่นๆ จะตามมาในอนาคต

“เหตุที่ต้องมีการจัดทำแอปฯ นี้ขึ้นมา เนื่องจากเคยมีการสำรวจพบว่า คนไทยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้เพียง 10% เท่านั้น น้อยกว่าคนประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน โดยการจัดทำนี้ รัฐไม่ได้ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว เพราะให้มูลนิธิยุวสถิรคุณและโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Enconcept มาช่วยกันจัดทำ” พล.อ. ดาว์พงษ์ กล่าว

ปมหัวคิวราชภักดิ์จบแล้ว ให้ สตง. สอบเพิ่มประเด็นอื่น

พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นัดแถลงผลการตรวจสอบความไม่โปร่งใสโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งไม่พบการทุจริตคอร์รัปชัน ในวันที่ 10 มีนาคม 2559 ว่า ตนยังไม่ทราบว่า สตง. จะแถลงข่าวในวันดังกล่าว เพราะได้ขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมใน 2-3 ประเด็น ตนจะไปโทรศัพท์สอบถามทาง สตง. ว่าได้ตรวจสอบเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยกรณีการเรียกรับค่าหัวคิวโรงหล่อ ซึ่ง สตง. สรุปมาว่า เงิน 20 ล้านบาท ไม่ใช่ค่าหัวคิว พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับตนถือว่าจบแล้ว และใน 2-3 ประเด็นที่ขอให้ สตง. ตรวจสอบเพิ่มเติม ไม่มีเรื่องการเรียกรับค่าหัวคิวแต่อย่างใด เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อให้รายงานสรุปผลการตรวจสอบมีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น

ส่วนกรณีที่คนใกล้ชิด พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จำนวน 2 คน อยู่ระหว่างหลบหนีไปยังต่างประเทศ หลังถูกออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า ทั้ง 2 คน ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ส่วนการติดตามตัวมาดำเนินคดีที่ถูกออกหมายจับ เป็นหน้าที่ของตำรวจ

“ระหว่างนี้ กองทัพบกยังสามารถเปิดรับบริจาคเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ได้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน ระหว่างการตรวจสอบกับการรับบริจาค” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

เห็นชอบย้ายผู้บุกรุกคูคลอง 4 พันล้าน – สร้างที่อยู่คนไร้บ้าน 118 ล้าน

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ มีอาทิ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 4,016 ล้านบาท เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่รุกล้ำคูคลองสาธารณะ ทั้งในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร รวม 11,004 ครัวเรือน ซึ่งจะต้องถูกภาครัฐขอคืนพื้นที่ โดยงบประมาณที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและอุดหนุนที่อยู่อาศัย 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส (ครัวเรือนละ 80,000 บาท) 3. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ครัวเรือนละ 250,000 บาท) และ 4. สนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานสำรวจ จัดทำฐานข้อมูล วิจัย พัฒนา องค์กรชุมชน ติดตามประเมินผลบริหารจัดการ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 118 ล้านบาท ในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนไร้บ้าน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และเชียงใหม่ จำนวน 1,395 คน

เปลี่ยนใช้งบปกติแทนเงินกู้ สร้างมอเตอร์เวย์ 2 สาย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขมติ ครม. เดิม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 ที่อนุมัติโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1. สถานที่ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา แต่จากการสำรวจพบว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ไม่จูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยสถานที่ใหม่มีการเสนอ จ.กาญจนบุรี แต่ต้องรอผู้เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และ 2. ระยะเวลาในการดำเนินการ จากเดิมไม่ได้กำหนดว่าให้เริ่มดำเนินการภายในเมื่อใด มาเป็นให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2560

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขมติ ครม. เดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (motorway) ใน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี จากเดิมที่จะใช้แหล่งเงินจากเงินกู้ มาเป็นใช้งบประมาณประจำปี เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้และยอดหนี้สาธารณะ โดยในปี 2559 จะใช้งบกลางก่อน ส่วนปีอื่นๆ จะใช้วิธีตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปี จนกว่าจะครบวงเงินของโครงการคือ 1.3 แสนล้านบาท

เพิ่มวงเงินสินเชื่อช่วยชาวประมง อีก 500 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับชาวประมง ในโครงการ “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” ที่เดิมเคยอนุมัติไปแล้ว 1,000 ล้านบาท แต่มีการกู้จนครบวงเงินแล้ว ให้เพิ่มอีก 500 ล้านบาท พร้อมผ่อนปรนหลักเกณฑ์ให้ชาวประมงสามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น อาทิ ลดอายุขั้นต่ำในการขอกู้เงิน ขยายระยะเวลาปลอดการชำระเงินต้น ลดดอกเบี้ย ฯลฯ เป็นต้น

ตั้งบอร์ด สสส. ชุดใหม่ 7 คน – โยก “สีหนาท ประยูรรัตน์” จากเลขาฯ เป็นที่ปรึกษา ปปง.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) จำนวน 7 คน ประกอบด้วย

  1. นายวีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่สอง
  2. นายคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
  3. นางสุวรรณี คำมั่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการพัฒนาชุมชน
  4. นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
  5. รองศาสตราจารย์ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ด้านการกีฬา
  6. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม
  7. นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป โดยการแต่งตั้งบอร์ด สสส. จำนวน 7 คนครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อทดแทนคนที่ถูกปลดโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2559 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งให้ พ.ต.อ. สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นที่ปรึกษา ปปง. หลังจาก พ.ต.อ. สีหนาท ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. มาจนครบกำหนด 4 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป