ThaiPublica > คอลัมน์ > มาเฟียศึกษา: ดัชนีชี้วัดอิทธิพลมาเฟีย

มาเฟียศึกษา: ดัชนีชี้วัดอิทธิพลมาเฟีย

27 มีนาคม 2016


Hesse004

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟีย แก๊งอันธพาล องค์กรอาชญากรรม (Organized Crime) นับว่านโยบายนี้ถูกใจประชาชนอยู่ไม่น้อย

อันที่จริง ความพยายามปราบกลุ่มมาเฟียมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย แต่ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวจะถูกซุกไว้ใต้พรมมาโดยตลอด เพราะพอลงมือเดินหน้าปราบกันจริงจัง ก็มีอันต้องใส่ “เกียร์ถอย” ทุกครั้งไป เข้าทำนองว่า “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ”

รัฐบาล คสช. ล็อกเป้ามาเฟีย โฟกัสกลุ่มความผิดที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลไว้ 16 กลุ่ม อาทิ มือปืนรับจ้าง ฮั้วประมูล บ่อนพนัน ผู้ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ เป็นต้น

ความตั้งใจดีนี้จะประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ไม่ใช่มวยล้มต้มคนดู เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ในแวดวงวิชาการ สนใจปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ทั้งกลุ่มที่เป็นแก๊งอันธพาลข้างถนน (Street Gangster) ไปจนถึงองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง องค์กรเหล่านี้จัดเป็นตัวละครที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state Actor) มีอิทธิพลทั้งทางบวกและทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ด้วยเหตุนี้ การจัดการปัญหามาเฟียจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก รัฐจะหาวิธีกำราบคนนอกกฎหมายเหล่านี้ได้อย่างไร จะใช้ไม้แข็งกวาดล้างอย่างรุนแรงหรือจะใช้ไม้นวมลดแรงจูงใจให้แก๊งเหล่านี้หันมาทำตามกฎหมาย แต่ที่น่าคิดมากไปกว่านั้น คือ ยิ่งแก๊งมาเฟียมีอิทธิพลมากเท่าไหร่ กลับดูจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้ใช้อำนาจรัฐจนแทบจะแยกไม่ออก1

วิชามาเฟียศึกษา (Mafia and Organized Crime Study) ระบุกิจกรรมผิดกฎหมายที่แก๊งอันธพาลเป็นผู้ดำเนินการรับสัมปทานการผลิต ประกอบด้วย (1) การใช้อิทธิพลข่มขู่ เก็บค่าคุ้มครอง (2) ยักยอกเงิน (3) ขนสินค้าเถื่อน (4) ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมือง (5) โจรกรรมรถยนต์ (6) ค้ายาเสพติด (7) ค้ามนุษย์ค้าประเวณี (8) เรียกค่าไถ่ ลักพาตัว (9) ขู่กรรโชกทัพย์ (10) ควบคุมตลาดมืด เป็นต้น

ที่มาภาพ : http://mafiatoday.com/wp-content/uploads/2013/01/Organized-crime.jpg
ที่มาภาพ : http://mafiatoday.com/wp-content/uploads/2013/01/Organized-crime.jpg

มาเฟียจึงสัมพันธ์กับการบังคับใช้กฎหมายไปโดยปริยาย เพราะกิจกรรมที่ว่ามาข้างต้นล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ยิ่งประเทศไหนบังคับใช้กฎหมายแบบ เหลาะแหละ หย่อนยาน หรือบังคับแบบขอไปที เหล่าแก๊งอันธพาลยิ่งได้ใจและโตวันโตคืน จนกลายเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของประชาชนคนธรรมดา รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันไม่รู้จักจบสิ้น

องค์กรอาชญากรรมเป็นตัวกลางรับทำเรื่องผิดกฎหมายทุกประเภท ขณะเดียวกัน พวกเขาจะใช้ผลประโยชน์ที่ได้จากการผลิตสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจ่ายคืนหรือตอบแทน เจ้าหน้าที่รัฐอีกทอดหนึ่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐคุ้มครองพวกเขาให้สามารถทำมาหากิน ผลิตสินค้าบริการผิดกฎหมายได้ต่อไป

รายงาน Global Competitiveness Report ปี 2015-2016 ได้ประเมินความสามารถทางการแข่งขันของ 140 ประเทศทั่วโลก โดยดัชนีชี้วัดความสามารถทางการแข่งขันหรือ Global Competitiveness Index (GCI) ได้กำหนดตัวชี้วัดไว้ 12 เรื่อง (คำที่ใช้ในรายงาน คือ Pillars)

เรื่องสำคัญที่ถูกนำมาชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ ความเข้มแข็งของสถาบันต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ (The 1st Pillar: Institution) โดยความเข้มแข็งนี้แบ่งออกเป็น ความเข้มแข็งของสถาบันภาครัฐ (Public Institution) และสถาบันภาคเอกชน (Private Institution)

กรณีความเข้มแข็งของสถาบันภาครัฐมีเรื่องที่ถูกนำมาวิเคราะห์ คือ เรื่องความปลอดภัยภายในประเทศ (Security) ซึ่งผู้จัดทำดัชนีได้วิเคราะห์ประเด็นย่อยๆ ลงมาอีก และหนึ่งในประเด็นย่อยนั้นคือ ปัญหาความรุนแรงขององค์กรอาชญากรรมภายในประเทศซึ่งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้วย

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราไปลงทุนค้าขายในประเทศใดแล้วต้องจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ให้แก๊งอันธพาล เจ้าถิ่น คงไม่มีนักลงทุนหน้าไหนอยากขนเงินลงทุนหรือสินค้าตนเองไปขายเป็นแน่

ตัวชี้วัดดังกล่าวกำหนดช่วงคะแนนไว้ 1-7 โดยอธิบายความหมายไว้ว่า ประเทศใดที่ได้คะแนนเข้าใกล้ 1 หมายถึง อิทธิพลของมาเฟียนั้นมีสูงมากจนกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ส่วนประเทศใดได้คะแนนขยับเข้าใกล้ 7 แสดงว่า ประเทศนั้นปลอดอิทธิพลมาเฟีย หรือ หากมีองค์กรอาชญากรรมก็ยังควบคุมจัดการไม่ให้เพ่นพ่านออกอาละวาดได้

น่าสนใจว่า ตัวเลข 1-7 สะท้อนภาพอิทธิพลมาเฟียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด (ดูตารางประกอบ)

อันดับมาเฟีย

รายงาน Global Competitiveness Report สรุปภาพรวมของตัวชี้วัดไว้ว่า ประเทศที่คะแนนเรื่องนี้มากที่สุด คือ ฟินแลนด์ ได้ 6.8 จาก 7 คะแนน นั่นหมายถึง ปัญหาแก๊งมาเฟีย องค์กรอาชญากรรมในฟินแลนด์มีน้อยมาก น้อยจนไม่มีอิทธิพลต่อการลดทอนความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้

สำหรับประเทศที่มีปัญหามาเฟียมากที่สุด คือ เอลซัลวาดอร์ (El Salvador) ซึ่งได้คะแนนเพียง 2.4

ความรุนแรงของแก๊งอาชญากรรมในเอลซัลวาดอร์ ทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุน บั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยแก๊งที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ แก๊ง Maras หรือ Marabunta ซึ่งรับดำเนินกิจกรรมผลิตสินค้าและบริการสามานย์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่ ค้าอาวุธ รับจ้างฆ่าคน ลอบสังหารบุคคลสำคัญ ลักพาตัว โจรกรรมรถยนต์ ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ การพนัน ฉ้อโกง ฟอกเงิน เปิดซ่อง…สารพัดกิจกรรมชั่วช้าที่ Maras จะสามารถทำได้2

Maras แก๊งมาเฟียอันดับหนึ่งในประเทศเอลซัลวาดอร์ ที่มาภาพ : http://lab.org.uk/images/old/maras_salvador.jpg
Maras แก๊งมาเฟียอันดับหนึ่งในประเทศเอลซัลวาดอร์
ที่มาภาพ : http://lab.org.uk/images/old/maras_salvador.jpg

การเติบโตของแก๊งมาเฟียในเอลซัลวาดอร์ทำให้ประเทศเล็กๆ ประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาเลยทีเดียว

ตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า ไทยแลนด์ของเราได้คะแนนเรื่องความรุนแรงของปัญหามาเฟียกี่แต้ม และอยู่อันดับที่เท่าไหร่ในโลก

หมายเหตุ: 1.ผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างมาเฟียกับรัฐ โปรดดูงานของ Jean-Louis Briquet ใน Organized Crime and States: The Hidden Face of Politics

2. ผู้สนใจเรื่องราวของ Maras โปรดดูเพิ่มเติมใน The Maras – an escalating problem in El Salvador

ป้ายคำ :