ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ครม. อนุมัติแผนพัฒนาสถาบันการเงิน ระยะ 3 สู่ “Digital Banking” Anywhere-Anytime-Any Devices

ครม. อนุมัติแผนพัฒนาสถาบันการเงิน ระยะ 3 สู่ “Digital Banking” Anywhere-Anytime-Any Devices

23 มีนาคม 2016


ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธปท. และนางทองอุไร ลิ้มปิติ (ขวา) รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.
ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธปท. และนางทองอุไร ลิ้มปิติ (ขวา) รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

ค่อยๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องสำหรับนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่รัฐบาลตั้งเป้าในปี 2557 ให้เป็นหนึ่งในทางออกสำคัญของการปฏิรูปประเทศ โดยต้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่มีหน้าที่รับผิดชอบระบบการชำระเงินและสถาบันการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ชี้แจงความคืบหน้าของการ “พัฒนาระบบการชำระเงิน” ให้เป็น “e-Payment” รวมถึงแผน “National e-Payment” ของรัฐบาล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ “แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563)” ซึ่งถูกเสนอไปตั้งแต่เมื่อครั้ง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. และเป็น 1 ใน 3 แผนยุทธศาสตร์หลักของ ธปท. ได้แก่ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน, แผนเงินทุนเคลื่อนย้าย, แผนพัฒนาระบบการชำระเงิน โดยแผนดังกล่าวกำหนดเสาหลัก 4 เสา คือ 1) แข่งได้ 2) เข้าถึง 3) เชื่อมโยง และ 4) ยั่งยืน

“ในการที่เราทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 3 ปีนี้เป็นการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของ ธปท. ที่อยากขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของทั้งของ ธปท. และหน่วยงานอื่นๆ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน ให้พัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจ พัฒนาการระบบการเงินโลก พัฒนาการตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย” ดร.วิรไทกล่าว

ด้านนางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวย้อนไปถึงกรอบการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินว่า ระบบสถาบันการเงินจะต้องคำนึงใน 6 ประเด็นหลัก คือ 1) ความลึกของระบบงาน (Depth) 2) ความมั่นคงเข้มแข็งและมีเสถียรภาพของสถาบันการเงิน (Stability) 3) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) 4) ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) 5) การเข้าถึงระบบการเงิน (Accessibility) และ 6) โครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน (Infrastructures)

ที่ผ่านมา แผนระยะแรกเริ่มในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จึงให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินเป็นอันดับแรก รวมไปถึงสร้างประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินในประเทศให้มีต้นทุนถูกลงและเดินต่อไปได้ ต่อมา แผนระยะที่สอง ธปท. หันมาเน้นประสิทธิภาพ การเข้าถึง ความสามารถในการแข่งขัน และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งพัฒนาไปได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ศึกษาพบว่ามีคนไทยเพียง 20% เท่านั้นที่ยังเข้าไม่ถึงบริการการเงิน สุดท้าย ในแผนระยะที่ 3 ปัจจุบัน ธปท. ยังคงผลักดันประเด็นต่างๆ มากขึ้น โดยจะมาเน้นการแข่งขันได้ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ หรือการเชื่อมโยงและความมีเสถียรภาพ ซึ่งช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสถาบันการเงิน

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (Intended Outcome) ของเสาหลักต่างๆ 1) การแข่งได้ สถาบันการเงินไทยดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีบริการและผลิตภัณฑ์ครบถ้วนหลากหลายด้วยราคาที่เหมาะสม และเอื้อต่อความสามารถในการแข่งขัน 2) การเข้าถึง ประชาชน ธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก 3) การเชื่อมโยง สถาบันการเงินไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถให้บริการระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจไทยและตรงกับความต้องการของประเทศ และ 4) ความยั่งยืน ระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคง สามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย “Digatal Banking” Anywhere – Anytime – Any Devices

ขณะที่ประโยชน์ในมิติของผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ 1) ระบบสถาบันการเงิน ซึ่งรวมทั้งธนาคารพิชย์และที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ จะมีความมั่นคงและมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี เปิดช่องให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างน้อย 1 แห่งมีขนาดใหญ่พอจะแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและสามารถให้บริการทางการเงินได้ครบวงจร สถาบันการเงินต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีให้บริการ Digital Banking แบบครบวงจร มีช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของคนทุกระดับ เช่น อาจจะต้องไม่มีสาขาอีกต่อไป เป็นต้น สุดท้าย ธปท. จะต้องปรับปรุงการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานสากล

2) ประชาชนและภาคธุรกิจ ต้องการให้เกิด Banking Anywhere, Anytime, Any Devices สร้างความเท่าเทียมการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือธุรกิจ

3) เศรษฐกิจโดยรวมจะมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากขึ้น

“ถ้าให้สรุปในคำเดียว ไฮไลท์ของเราเลยคือ Digital Banking ต้องมา ถ้าไม่มาเราสู้ใครไม่ได้เลย แล้วถ้าทำได้มันจะมาหมดเลยที่พูดไป ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ การเข้าถึงระบบการเงิน และอื่นๆ ที่จะตามมาอีก” นางทองอุไรกล่าว

InfoGraphic แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3