ThaiPublica > คอลัมน์ > “เงิน” (Money) มีไว้ทำไม (ตอน 1) : สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก…แล้วมันจะทำลายโลกไหม?

“เงิน” (Money) มีไว้ทำไม (ตอน 1) : สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก…แล้วมันจะทำลายโลกไหม?

3 มีนาคม 2016


บรรยง พงษ์พานิช

ถ้าถามว่าในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สิ่งประดิษฐ์อะไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ทำให้เกิดผลกระทบกว้างขวางต่อผู้คนในโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเรียกได้ว่า ถ้าไม่มีเจ้าสิ่งนั้นๆ โลกจะไม่มีทางเป็นอยู่อย่างที่เป็น จะไม่พัฒนาเจริญมาให้คนเจ็ดพันล้านคนได้เบียดเสียดกระเสือกกระสนดิ้นรนเวียนว่ายกันอยู่อย่างวันนี้ บ้างก็สุข บ้างก็ทุกข์ บางเวลาก็สบาย บางเวลาก็ลำบาก

มนุษย์มีมาก็ประมาณแสนปี อารยธรรม (Civilization) นั้นแค่หมื่นปี ถ้าเทียบกับอายุโลกที่มีคนประมาณว่าปาเข้าไปสี่พันล้านปีแล้วก็นับว่าสั้นนัก แต่ตั้งแต่มีมนุษย์ขึ้นมาโลกก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ความรู้ วิทยาการต่างๆ และสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นสะสมนั้น เกินกว่าจินตนาการของธรรมชาติดั้งเดิมไปไกล …มีคนเคยพูดเล่นว่า ถ้าพระเจ้าสร้างโลกจริง แล้วทรงผ่านไปประกอบภารกิจอื่น ถ้าทรงแวะกลับมาเยี่ยมก็คงจะทรงพระงงเต้ก ว่าพวกมึงทำอะไรกันวะ ถึงได้สับสนวุ่นวายกันได้ขนาดนี้ …พวกมึงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้นตั้งแต่โบราณกาลนั้น ที่ถูกนับว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากนั้นมีมากมาย …ในยุคโบราณที่แทบไม่รู้จักคนคิดคนสร้างก็มีมาก เช่น ล้อ กระดาษ คันไถ เข็มทิศ …ในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก เช่น เครื่องจักรไอน้ำ แท่นพิมพ์ เครื่องบิน รถยนต์ วิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสิ่งประดิษฐ์ล่าสุดที่มนุษย์รังสรรค์ขึ้นมายังไม่ถึงสามสิบปีดีแต่ก็เปลี่ยนโลกไปแล้วอย่างมากมายก็คือ อินเทอร์เน็ต นั่นเอง

มีสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่ง ที่ทั้งเปลี่ยนโลก ทั้งกำกับโลกมาอย่างยาวนาน มีส่วนทั้งในด้านสว่าง คือสร้างความเจริญความผาสุกให้กับโลกอย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนไม่น้อยในด้านมืด สร้างความแตกแยกร้าวฉาน ความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมหลายส่วนก็มาจากมัน มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แทบจะไม่เคยได้ถูกนับอยู่ในรายชื่อสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ใดๆ จนหลายคนลืมไปแล้วว่ามันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างจากมือมนุษย์ล้วนๆ โดยแทบไม่มีส่วนใดมาจากธรรมชาติเสียเลยด้วยซำ้ แถมมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ใช้มัน และแทบทุกคนในโลกใช้มัน …นั่นก็คือ “เงิน” (Money) สิ่งที่ไม่เคยมีในธรรมชาติมาก่อนจนกระทั่งมนุษย์สร้างมันขึ้นมา

“เงิน” ถือกำเนิดมาได้ประมาณสี่พันปีแล้ว (บางตำราก็ว่าห้าพันปี) โดยน่าจะเกิดขึ้นในเมโสโปเตเมียก่อน และในจีนก็เริ่มมีการใช้เงินมากว่าสามพันปี โดยในระยะเริ่มแรกก็อยู่ในรูปของสินค้าที่โยกย้ายได้ เช่น เมล็ดพืช ปศุสัตว์ แล้วค่อยพัฒนามาเป็นวัสดุหายาก เช่น เปลือกหอย ฟันวาฬ จนเป็นโลหะหายาก ทอง เงิน ทองแดง จนมาจัดพิมพ์บนกระดาษ (Banknote) ที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดในรูปของวัตถุจับต้องได้ในปัจจุบัน และเป็นที่ค่อนข้างจะแน่นอนว่า ในอนาคต “เงิน” จะอยู่ในรูปแบบตัวเลขเฉยๆ เป็นแค่ข้อมูล ไม่มีอะไรเป็นวัสดุให้จับต้องอีกต่อไป (สวีเดนจะเป็นประเทศแรกที่ไม่มีธนบัตรใช้ในเร็วๆ นี้)

ที่มาภาพ : http://www.slate.com/content/dam/slate/articles/business/moneybox/2011/12/111212_TECH_money.jpg. CROP.rectangle3-large.jpg
ที่มาภาพ : http://www.slate.com/content/dam/slate/articles/business/moneybox/2011/12/111212_TECH_money.jpg.
CROP.rectangle3-large.jpg

“เงิน” นั้นพัฒนารูปแบบมาตลอด …แต่ที่สำคัญกว่ารูปแบบก็คือหน้าที่และบทบาทของ “เงิน” มนุษย์สร้างสิ่งสมมตินี้ขึ้นมาทำไม? เงินมีหน้าที่อะไร? สำคัญอย่างไร? มันทำหน้าที่ของมันได้ดีไหม? มีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงพัฒนาอย่างไร?

“เงิน” นั้นมีหน้าที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ใช้เป็นเครื่องวัดมูลค่า (Measure of Value) และใช้เป็นที่เก็บมูลค่า (Store of Value)

เมื่อแรกสร้าง “เงิน” ขึ้นมา หน้าที่หลักก็คงเอาไว้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยน แทนที่เราจะต้องขนแบกสินค้าที่ผลิตได้แล้วเหลือใช้ ไปแลกกับสินค้าที่ไม่ได้ผลิตแต่อยากได้ (ระบบ Barter) ย่อมขาดความสะดวกทั้งปวง มนุษย์เลยสร้างเงินขึ้นเป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนชำระราคา และก็เลยเป็นเครื่องวัดมูลค่าไปในตัว …แทนที่จะต้องระบุว่าข้าวล้านตันแลกเครื่องบินได้หนึ่งลำ ก็เปลี่ยนเป็นข้าวตันละ 300 เหรียญ ขณะที่เครื่องบินลำละ 300,000,000 เหรียญ

ลำพังหน้าที่สองอย่างแรกนี้ นอกจากจะทำให้สะดวกแล้ว ยังมีส่วนเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)ให้กับโลกได้มากมาย เพราะมันทำให้เกิดการค้า ทำให้คนสามารถหันไปผลิตแต่สิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วเอามาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ต้องทำเองทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ส่งเสริมให้ได้บริโภคแม้สิ่งที่ตัวเองผลิตไม่ได้

แต่หน้าที่ที่ผมคิดว่าทำให้ “เงิน” มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกมากที่สุดก็คือหน้าที่อย่างที่สาม นั่นก็คือ “เงิน” ทำให้มนุษย์สามารถ “เก็บมูลค่า” (Store Value) ไว้ได้ …ซึ่ง “มูลค่า” นั้น แท้จริงก็คือ “ผลิตภาพ” (ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั่นเอง ถ้าไม่มี “เงิน” ผลิตภาพนั้นก็จะถูกเก็บไว้ได้เพียงในรูปแบบของสินค้าหรือสิ่งของ ซึ่งนอกจากไม่สะดวกแล้วส่วนมากย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ถ้าไม่มี “เงิน” มาทำหน้าที่เก็บมูลค่าไว้ให้ การผลิตจะต้องมีน้อยกว่านี้หลายล้านเท่าเลยทีเดียว

ผมชอบยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับสัตว์ เช่น สิงโต ซึ่งประสิทธิภาพของมันก็คือการล่า (สิงโตมีชีวิตเพียงเพื่อล่าและสืบพันธุ์) ถามว่าทำไมสิงห์หนุ่มตอนที่ยังมีพละกำลัง น่าจะสามารถล่ากวางได้วันละสามตัว แต่มันก็ไม่ทำ ล่าสามวันตัวเดียว วันๆ เอาแต่นอนกับเอากัน เป็นเพราะมันขี้เกียจหรือ พอแก่ตัวล่าไม่ไหวก็ต้องคอยรอขอเขากิน พอฝูงไม่แบ่งให้ก็เลยต้องโทรมตายเร็วกว่าที่ควร (สิงโตส่วนใหญ่จะอดตาย) …ที่สิงโตทำเช่นนั้น ก็เพราะมันไม่มี “เงิน” (หรือแม้แต่ตู้เย็น) ไว้เก็บผลิตภาพนั่นเอง ถ้าขยันล่ามากก็กินไม่ไหว สบายไฮยีน่าไปเปล่าๆ มันเลยทำแต่พอกินไปวันๆ ทำไม่ไหวเมื่อไหร่ก็ตายไป

แต่เพราะมนุษย์มี “เงิน” ไว้เก็บมูลค่าของผลิตภาพที่สร้างขึ้น เลยทำให้เราสร้างผลิตภาพได้มากกว่าความจำเป็น มากกว่าที่กินที่ใช้อยู่ทุกวัน มีแรงจูงใจที่ทำให้ขยันทุ่มเท เพราะถึงแม้จะใช้เองวันนี้ไม่หมด ก็เก็บไว้ใช้วันหน้าได้ แม้ใช้วันหน้าไม่หมด ก็แจกจ่ายให้คนที่รักที่ห่วงได้ เก็บไว้เป็นมรดกให้ทายาทก็ได้ไม่จำกัดชั่วคน

ก็เพราะมี “เงิน” มนุษย์เลยสร้างผลผลิตได้มากมายมหาศาล สร้างความเจริญในทุกๆ ด้าน ทำได้แม้ยืดอายุไขออกไปจากเดิมที่ธรรมชาติกำหนดได้ไม่น้อย …

ก็เพราะ “เงิน” ที่ทำให้มนุษย์สามารถใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนได้กว่ายี่สิบปีก่อนที่จะเริ่มหากิน ตอนเด็กตอนหนุ่มก็ใช้ผลิตภาพของคนอื่นไปก่อน ไม่เหมือนสัตว์ที่ต้องหากินเองแทบจะทันทีที่หย่านม …

ก็เพราะ “เงิน” ที่ทำให้เรามีวันหยุด มีพักร้อน มีวันเกษียณอายุ ไม่ต้องทำงานงกๆ หากินตลอดเวลา ตลอดชีวิต เหมือนสัตว์ทั่วๆ ไป

นอกจากทำหน้าที่ “เก็บมูลค่า” แล้ว เงินยังทำหน้าที่ “ย้าย” มูลค่าได้ด้วย ทั้งเคลื่อนย้ายสถานที่และเคลื่อนย้ายผ่านกาลเวลา “เงิน” ทำให้เราเก็บผลิตภาพวันนี้ไว้ใช้วันหน้า และยังช่วยให้เราหยิบยืมผลิตภาพวันหน้ามาใช้ มาลงทุนในวันนี้ได้ด้วย (ผ่านกระบานการสร้างหนี้) และในโลกทุนนิยมปัจจุบันก็ใช้เงินและตลาดการเงินนี่แหละที่เป็นเครื่องโยกย้ายจัดสรรทรัพยากรแทบทั้งมวล

โดยเหตุที่ “เงิน” เป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ของจริงที่จับต้องได้ (มีปราชญ์ไทยเคยกล่าวว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”…มจ.สิทธิพร กฤดากร) …เงินจะมีมูลค่าตราบเท่าที่มีคนส่วนใหญ่ยอมรับและจะไร้ค่าเมื่อคนไม่ยอมรับ และด้วยคุณสมบัติง่ายๆ อย่างนี้ก็เลยทำให้พัฒนาการและบทบาทของมันสามารถขยายได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งนอกจากจะยังประโยชน์มหาศาลให้กับโลกกับสังคมแล้ว ก็ยังเป็นตัวที่ก่อปัญหาอยู่ไม่น้อย …บ่อยครั้งที่เงินและตลาดการเงินทำหน้าที่ได้ไม่ดี ก่อให้เกิดความสับสนจนเกิดวิกฤติน้อยใหญ่อยู่เนืองๆ … เรื่องที่เกิดในตลาดมายา ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ให้กับโลกและผู้คนในภาคเศรษฐกิจแท้จริงได้มากมายนับครั้งไม่ถ้วน

แทบจะทุกครั้งของวิกฤติเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่นี้ จะเกิดจากความบกพร่องของตลาดการเงิน ซึ่งถึงแม้จะมีการแก้ไขปรับตัวจนผ่านวิกฤติมาได้แทบทุกครั้ง แต่ต้นทุนที่สูงและความบิดเบือนรวมทั้งความไม่ยุติธรรมก็ยังดูเหมือนจะทวีมากขึ้นเรื่อยๆ แถมวิกฤติก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แก้ยากขึ้นเรื่อยๆ เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า …ถึงคราวสังคายนาใหญ่หรือยัง? ถ้าปล่อยไปเช่นนี้เรื่อยๆ “เงิน” ที่มีส่วนช่วยสร้างโลกมาช้านาน จะสร้างปัญหามากกว่าสร้างประโยชน์หรือเปล่า

วันนี้จะขอเริ่มตั้งประเด็นว่า “เงินมีไว้ทำไม?” ทิ้งไว้แค่นี้ก่อนนะครับ…โปรดรออ่านตอน2

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 1 มีนาคม 2559