ThaiPublica > คอลัมน์ > “หญิงบริการ” กับ “ความมั่นคงระหว่างประเทศ”

“หญิงบริการ” กับ “ความมั่นคงระหว่างประเทศ”

3 กุมภาพันธ์ 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

รูปของหญิงสาวคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศโดยทหารญี่ปุ่น ตั้งอยู๋ด้านหน้าของสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล เกาหลีใต้ ในช่วงสัปดาห์การชุมนุมต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2015 ที่มาภาพ : http://www.forbes.com/sites/scottasnyder/2016/02/01/the-japan-korea-comfort-women-deal-this-is-only-the-beginning/#65ce99bb2e0b
รูปของหญิงสาวคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศโดยทหารญี่ปุ่น ตั้งอยู๋ด้านหน้าของสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล เกาหลีใต้ ในช่วงสัปดาห์การชุมนุมต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2015
ที่มาภาพ : http://www.forbes.com/sites/scottasnyder/2016/02/01/the-japan-korea-comfort-women-deal-this-is-only-the-beginning/#65ce99bb2e0b

“หญิงบริการ” “ความมั่นคงระหว่างประเทศ” “ความปลอดภัยของโลก” สามคำนี้สามารถมีความสัมพันธ์กันได้อย่างน่าแปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าเรื่องของ “หญิงบริการ” เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 80 ปีมาแล้ว แต่สองคำหลังนั้นเกี่ยวกับโลกปัจจุบัน

“หญิงบริการ” ในที่นี้มาจากคำว่า “Comfort Women” (หญิงให้ความสบาย) ซึ่งแปลมาจากภาษาญี่ปุ่น เป็นคำสุภาพแทนคำว่า “หญิงโสเภณี” ซึ่งในกรณีนี้เกี่ยวพันกับการลักพาตัว การบังคับ หลอกลวง ล่อหลอก หญิงจำนวนมากให้เป็น “หญิงบริการ” ให้ทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945)

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2015ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้มี ข้อตกลงกันในประเด็น Comfort Women (CW) ซึ่งเรื้อรังมายาวนาน และเป็นเรื่องที่ทำให้สองประเทศนี้กินแหนงแคลงใจกันมากว่า 20 ปี จนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศลุ่มๆ ดอนๆ แทนที่จะประสานร่วมมือกันคานอิทธิพลของจีนและต่อต้านศัตรูร่วมกันคือเกาหลีเหนือ ก็มัวแต่หมางใจกันจนเพิ่งตกลงกันได้ในครั้งนี้

เรื่อง CW นี้ก็มีอยู่ว่า กองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นเมื่อยึดเซี่ยงไฮ้ได้ในปี 1937 ก็มีการตั้ง Comfort Stations (CS ซ่องนั่นแหละแต่เรียกอย่างสุภาพ) ขึ้นโดยหาอาสาสมัครจากหญิงญี่ปุ่นให้มาเป็น “หญิงบริการ” ให้ทหารผู้หาญกล้า มีการจัดอย่างเป็นระบบ มีการตรวจโรค มีที่เป็นสัดส่วน (ในค่ายทหารและในแนวหน้า) แต่เมื่อลัทธิทหารของญี่ปุ่นแพร่กระจายก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมากขึ้นก็มีจำนวนทหารมากขึ้น จำนวน CW สัญชาติญี่ปุ่นก็ไม่เพียงพอและทางการเห็นว่าสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ดังนั้นจึงต้องหันมาหาซัพพลายจากท้องถิ่นเนื่องจากมี CS มากขึ้นเป็นลำดับในหลายประเทศ

กระบวนการจัดตั้ง CS ขึ้นนี้ก็กระทำอย่างเป็นระบบ และไม่ขัดกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งยอมรับเรื่องการมีหญิงโสเภณีในสังคมอย่างเปิดเผยมายาวนาน สำหรับซัพพลายในเขตเมืองทางการอาศัยคนกลางเป็นคนหาและมีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน อย่างโจ่งแจ้ง อย่างไรก็ดี ที่หาง่ายที่สุดก็คือหญิงท้องถิ่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ยึดครองของญี่ปุ่นอันได้แก่เกาหลี (ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นระหว่าง 1910-1945) บางเมืองของจีน และต่อมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นแล้ว ฯลฯ

ต่อมาเมื่อมี CS รวมถึง 2,000 แห่ง ไปทั่วพื้นที่ยึดครองในเอเชียจึงต้องใช้การบังคับและลักพาตัวเสียเลย กองทัพญี่ปุ่นกระทำเรื่อง CW อย่างกว้างขวางจนมีตัวเลขซึ่งถกเถียงกันมากว่ามีจำนวนเท่าใดแน่ ในปัจจุบันก็ตกลงกันได้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 200,000 คน ซึ่งเป็นคนเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลย์เซีย ไต้หวัน (ญี่ปุ่นยึดครอง 1895-1945) พม่า ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ พื้นที่ที่เป็นอินโดนีเซียในปัจจุบัน แม้แต่คนดัตช์และออสเตรเลีย (ไทยแตกต่างกว่าที่อื่นเพราะเป็นประเทศร่วมรบกับญี่ปุ่นเนื่องจากประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร)

ชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้น่าสงสารมาก CW มีที่มาจากการฉุดไปจากบ้านทั้งแม่และลูกสาว (ไม่เว้นแม้แต่ยังไม่เป็นสาว) จากการล่อหลอกว่าไปทำร้านอาหารและโรงงานอุตสาหกรรม จากการบังคับ จากพวกอาสาไปเองโดยไม่รู้ว่าจะต้องรับใช้ทหารถึงวันละ 25-35 คน ส่วนใหญ่ทำงาน 6 เดือนก็ถูกปลดระวาง มีสถิติว่าสามในสี่เสียชีวิต ที่รอดมาก็ประสาทหลอนเพราะถูกซ้อมและละเมิดทางเพศ วันๆ พบแต่ความรุนแรง

วัตถุประสงค์ของทางการในการมี CW ก็คือเพื่อไม่ให้ทหารไปข่มขืนชาวบ้าน (เลยลักพาลูกสาวชาวบ้านมาเองเสียเลย จนทำให้ระคายใจประชาชนในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง) ป้องกันโรคโกโนเรีย ซิฟิลิส และควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ อย่างไรก็ดี นักวิจัยญี่ปุ่นวิจารณ์ว่าแท้จริงแล้วต้องการเอาผู้หญิงมายัดเยียดให้เพื่อไม่ให้คิดกบฏลุกฮือขึ้นต่อต้านการเป็นทหาร เพราะทหารจำนวนมากรู้สึกขุ่นใจที่ถูกบังคับให้มารบ

เมื่อทหารรู้สึกกลัวตาย เผชิญความเครียด รู้สึกโกรธแค้น มีความโมโห มีความเกลียดชัง (ที่ต้องมาเป็นทหารและเผชิญกับความเลวร้ายต่างๆ) จึงมาระบายกับ CW ผ่านอารมณ์ทางเพศ CW จึงเป็นเป้ารับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

เมื่อตอนแพ้สงคราม หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับ CW และ CS ถูกญี่ปุ่นทำลายไปเกือบหมด แต่ปัจจุบันมีหลักฐานจากจีน จากหญิงดัตช์ จากสหรัฐอเมริกา ที่ยืนยันถึงความโหดร้ายของเรื่องนี้มากขึ้นทุกที จากหลักฐานที่พอมีนักวิจัยคนหนึ่งประมาณการว่าใน 200,000 คนของ CW มีเกาหลีอยู่ร้อยละ 52 จีนร้อยละ 36 และญี่ปุ่นเองร้อยละ 12

ในปี 1951 หลังสงครามไม่นานเกาหลีก็เรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดเชยค่าเสียหายเกี่ยวกับการถูกบังคับใช้แรงงานแต่ไม่พูดตรงๆ เรื่อง CW ในปี 1965 ญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงินกู้ผ่อนปรน 800 ล้านเหรียญสหรัฐแก่เกาหลี

ในปี 1993 ทางการญี่ปุ่นยอมรับว่ามีการบังคับหญิงให้มาเป็น CW และขอโทษที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และในปี 1994 ก็มีการชดเชยให้ CW ผ่านกองทุนกึ่งเอกชนประมาณ 500 คนกองทุนนี้เลิกไปในปี 2007

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในเกาหลีใต้มากเพราะเป็นฝ่ายถูกระทำมาก่อนหน้าสงครามหลายปีด้วย ดังนั้นจึงเป็นประเทศที่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนญี่ปุ่นเองในบางกลุ่ม เช่น พวกชาตินิยม ก็ปฏิเสธว่าไม่มีเหตุกาณ์นี้ (Abe ในตอนแรกก็กล่าวทำนองนี้ แต่ตอนหลังเงียบไป)

ชาวเกาหลีแสดงภาพของผู้หญิงเกาหลีที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มาภาพ : http://s.newsweek.com/sites/www.newsweek.com/files/2014/07/24/japanese-comfort-women.jpg
ชาวเกาหลีแสดงภาพของผู้หญิงเกาหลีที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่มาภาพ : http://s.newsweek.com/sites/www.newsweek.com/files/2014/07/24/japanese-comfort-women.jpg

ญี่ปุ่นพบว่าประเด็น CW ขวางทางในเรื่องการทูตต่างประเทศ ไม่ว่ามีการประชุมผู้นำครั้งใดเกาหลีใต้ก็จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาตำหนิญี่ปุ่นเพื่อให้ยอมรับความผิดชอบทางกฎหมายและศีลธรรม นอกจากนี้ CW กลายเป็นประเด็นระดับโลกของกลุ่ม Women Activists หลายหน่วยงาน เช่น UN สภา EU รัฐสภาอเมริกัน ต่างมีมติกดดันให้ญี่ปุ่นแก้ไขเรื่อง CW

ผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นต้องต่อสู้กับพวกชาตินิยมในประเทศที่ไม่ต้องการให้เงินชดเชยความเสียหาย ไม่ต้องการยอมรับว่ามี CW และรัฐบาลต้องระวังการยอมรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะจะมีการเรียกร้องตามมากันอีกหลายประเทศ

ญี่ปุ่นอยากให้เรื่องนี้จบไปเสียทีจึงตกลงกันได้ในที่สุด โดยยอมให้เงิน 300 ล้านบาทผ่านกองทุน ยอมรับและให้คำขอโทษ CW ทั้งหลาย ฝ่ายเกาหลีก็รับว่าจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว และจะยอมย้ายอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึง CW ซึ่งตั้งอยู่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล (ในสหรัฐอเมริกาก็มีอนุสาวรีย์ CW ถึง 3 แห่ง) แต่ถึงวันนี้มีข่าวว่าคนเกาหลีก็ยังไม่พอใจ คิดว่าได้มาน้อยไป ประธานาธิบดีปาร์คบอกว่าต้องรีบตกลงเพราะมี CW เหลืออยู่เพียง 46 คน ในปีนี้ตายไป 9 คนแล้ว ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกิน 85 ปี

ลึกลงไปกว่านี้ ประเทศที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีข้อตกลงนี้ก็คือสหรัฐอเมริกา ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนพยายามที่จะให้ 2 ประเทศนี้มานั่งคุยกัน มีความร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ เช่น การแบ่งปันข้อมูลลับในเรื่องความมั่นคงอันเกิดจากเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะ CW เป็นหนามที่ตำอยู่

การที่มหามิตร 2 ประเทศ มีพรมแดนติดกันและติดกับจีนแต่ไม่ยอมร่วมมือกัน ถือได้ว่าสะท้อนการไร้ประสิทธิภาพด้านการทูตของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เมื่อตกลงครั้งนี้กันได้จึงเท่ากับเป็นการปูพื้นไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในคาบสมุทรเกาหลีทันที เช่น การร่วมมือกันป้องกันการทดลองระเบิดปรมาณูของเกาหลีเหนือ (การทดลองที่ทำให้แผ่นดินไหวเมื่อเร็วๆ นี้คือตัวอย่างของการคุกคามโดยตรงต่อโลก) การร่วมมือกันต่อสู้จีนในเรื่องข้อพิพาทหมู่เกาะจีนตอนใต้ การช่วยกันคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ ฯลฯ

เหตุการณ์ CW ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ทำไว้ในอดีตจะย้อนกลับมาทิ่มตำปัจจุบันเสมอ บทเรียนจากอดีตจะช่วยลดความรุนแรงของสงครามในอนาคตได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้เห็นความเลวร้ายของสงครามอย่างกว้างขวางเท่านั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 ม.ค. 2559