ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics เผยผลสำรวจเอสเอ็มอีความเชื่อมั่นฟื้น แต่ยังกังวลกำลังซื้อชะลอ

TMB Analytics เผยผลสำรวจเอสเอ็มอีความเชื่อมั่นฟื้น แต่ยังกังวลกำลังซื้อชะลอ

4 กุมภาพันธ์ 2016


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี  เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ในไตรมาส 4 ปี 2558 จำนวน 1,276 กิจการทั่วประเทศ แบ่งเป็นธุรกิจด้านการค้า 869 แห่ง, การผลิต 209 แห่ง และการบริการ 198 แห่ง โดยเป็นธุรกิจใน กทม. 551 แห่ง, ภาคเหนือ 187 แห่ง, ภาคกลาง 140 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 156 แห่ง, ภาคตะวันออก 151 แห่ง และภาคใต้ 131 แห่ง ซึ่งสะท้อนตามการกระจุกตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีที่กว่า 40% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดอยู่ใน กทม.

เชื่อมั่นรวมพุ่งกว่า 18% – ภาคเกษตรเชื่อมั่นต่ำสุด

ดร.เบจญจรงค์กล่าวถึงผลการสำรวจว่า ความเชื่อมั่นฟื้นตัว 18.4% จากไตรมาสก่อนหน้า จากระดับ 34.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี มาอยู่ที่ระดับ 40.5 และแม้ว่าจะยังไม่ถึงระดับ 50 แต่ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกของปี 2558 โดยความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอีลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี 2558 ที่ระดับ 43.7 เป็น 38.7 และ 34.2 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ และเมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าในไตรมาสที่ 4 ความเชื่อมั่นด้านรายได้ปรับตัวขึ้นเป็น 40.7 จาก 32.9 ซึ่งเป็นการพลิกกลับมาสูงกว่าความเชื่อมั่นด้านต้นทุนอีกครั้งหลังอยู่ในระดับต่ำกว่าในไตรมาส 3 และเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันความเชื่อมั่นโดยรวมให้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 40.4 จาก 35.6 เช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ช่วยให้ความเชื่อมั่นในไตรมาสสุดท้ายฟื้นตัวอย่างมาก ดร.เบญจรงค์กล่าวว่าเป็นผลจากมาตรการของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการระยะยาว เช่น ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ มาตรการช่วยเอสเอ็มอี จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือมาตรการระยะสั้น เช่น มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการช่วยเอสเอ็มอีผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะที่ 1 และ 2 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและสินค้าเกษตร มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้านและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายปลายปี 2558 ขณะที่ปัจจัยลบในปี 2558 ประกอบไปด้วยภัยแล้ง การส่งออก ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจอ่อนแอ

“ผลสำรวจความเชื่อมั่นในปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่ปรับลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นด้านรายได้สูงขึ้นกว่าไตรมาส 3 จากภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่มีการจับจ่าย บริโภค ท่องเที่ยว และมีมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาเพิ่มบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี อย่างไรก็ตาม ถ้าแยกเป็นประเภทธุรกิจจะพบว่ากลุ่มเกษตรกรมีความเชื่อมั่นต่ำสุดที่ระดับประมาณ 30 ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวและการค้าปรับตัวขึ้นสูงสุดระดับประมาณ 50 แต่ยังเป็นไปตามพื้นที่ด้วย ตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ อุตสาหกรรมการค้าที่เกี่ยวเนื่องกันจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นชัดเจนกว่า” ดร.เบญจรงค์กล่าว

ส่วนความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าอยู่ที่ระดับ 56.9 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส จากไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ที่ระดับ 60.2 ก่อนจะปรับลดลงที่ 59.3, 53.8, 53.1 ในไตรมาสที่ 1, 2 และ 3 ของปี 2558 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 เนื่องจากแรงส่งจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี และแรงส่งจากมาตรการภาครัฐฯ ที่ทยอยออกมากระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/2558 ยังคงส่งผลต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2559

sme-1

SME - TMB

กังวลกำลังซื้อชะลอ เงินทุนหมุนเวียนขาด

ทั้งนี้ ด้านปัจจัยความกังวลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดร.เบญจรงค์กล่าวว่า ทั่วประเทศ 60.9% ยังรู้สึกกังวลต่อ “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัว” แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงปลายปีที่ดีขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวลในประเด็นนี้ลดลงจาก 63.9% ในไตรมาส 3 ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ถือว่ายังเป็นความกังวลในระดับที่สูง ขณะเดียวกัน ความกังวลด้านการบริหารธุรกิจและเงินทุนหมุนเวียนได้ปรับตัวมากขึ้นเป็น 14.6% จาก 12.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขณะที่ความกังวลด้านภัยแล้งได้ปรับลดลงเป็น 7.3% จาก 8.9% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งได้เปลี่ยนไปเป็นความกังวลด้านกำลังซื้อของประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากภัยแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือกังวลในประเด็นดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ที่ 65.0% และ 64.8% ตามลำดับ สาเหตุเนื่องจากภาคใต้ได้รับผลกระทบจากราคายางพาราที่ยังไม่มีทีท่าจะปรับเพิ่มขึ้น ราคาปาล์มน้ำมันยังคงต่ำ และปัญหาในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลที่ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงได้รับผลลบจากราคาข้าวที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

แนะพยุงความเชื่อมั่น 4 เดือน ดึงเศรษฐกิจจริงฟื้นยาว

ดร.เบญจรงค์ยังกล่าวอีกว่า แม้ความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในไตรมาสที่ผ่านมา แต่การที่ความเชื่อมั่นดังกล่าวจะส่งผลกับเศรษฐกิจจริง ยังจำเป็นที่ความเชื่อมั่นจะต้องเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3-4 เดือน หรือติดต่อกันจนถึงประมาณไตรมาส 2 ของปี 2559 โดยส่วนนี้การบริโภคและใช้จ่ายของประชาชนถือเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล เนื่องจากเป็นรายได้หลักของธุรกิจเอสเอ็มอีและจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่ต้องหามาตรการช่วยเหลือ ขณะที่ประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางและสูงยังมีกำลังซื้อค่อนข้างมากแต่ยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ ทำให้รัฐบาลต้องหาทางดึงความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายในส่วนนี้ขึ้นมา แต่โดยรวมคิดว่าปีนี้ไม่น่าจะเห็นการฟื้นตัวของการบริโภคอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตลอดทั้งปี โดยไม่ทรุดลงอีกแล้ว

“แม้ว่าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในประเทศจะค่อนข้างชะลอตัวและกำลังซื้อในประเทศมีจำกัด จนทำให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการลดลงอย่างมาก แต่ช่วงสุดท้ายของปี เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของความเชื่อมั่น เนื่องจากการกลับมาของกำลังซื้อและบรรยากาศของเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถรักษาบรรยากาศของเศรษฐกิจในประเทศให้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ได้ คาดว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะฟื้นตัวได้ในระยะยาว” ดร.เบญจรงค์กล่าวดูเพิ่มเติม