ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุปรีดา อดุลยานนท์” ผจก.สสส.คนใหม่ เปิด 4 แนวทางบริหาร เน้นความเป็นมืออาชีพ – พร้อมเปิดข้อมูลโครงการให้ทุนมากขึ้น

“สุปรีดา อดุลยานนท์” ผจก.สสส.คนใหม่ เปิด 4 แนวทางบริหาร เน้นความเป็นมืออาชีพ – พร้อมเปิดข้อมูลโครงการให้ทุนมากขึ้น

4 กุมภาพันธ์ 2016


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนใหม่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนใหม่

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ได้แถลงข่าวชี้แจงแนวทางการบริหารองค์กรภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ มีสาระสำคัญว่า นับแต่ สสส. ก่อตั้งมาเมื่อปี 2554 คำว่า “การสร้างเสริมสุขภาพ” ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ยังไม่มีต้นแบบการทำงานที่ชัดเจน สสส. ในยุคแรก ช่วงปีที่ 1-10 จึงเป็นยุคแห่งการแสวงหาทั้งแนวทางและรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย จน สสส. ได้เป็นต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาพที่มีหลักเกณฑ์การทำงานสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย และในยุคต่อไปของ สสส. จะเป็นยุคของการ ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ

“จากสถานการณ์ปัจจุบัน สสส. มีโจทย์ที่ท้าทายการทำงานเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างประเด็นเรื่องสุขภาพที่เปลี่ยนไปเร็วมาก ที่ชัดเจนคือเชื้อโรคไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงอีกต่อไป เห็นได้จากสถิติที่คนสามในสี่ที่เสียชีวิตจากโรค เป็นโรคที่ไม่มีเชื้อ ดังนั้น สสส. ยุคต่อไปต้องก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ”

ดร.สุปรีดากล่าวว่า แนวทางการทำงานของ สสส. ยุคต่อไปจะยึด 4 ข้อ

  1. เป้าหมายหลักตามยุทธศาสตร์ “ผู้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” จะต้องคมชัดเป็นระบบยิ่งขึ้น เพื่อให้สังคมเข้าใจนิยามเชิงปฏิบัติการและองค์ความรู้ต่างๆ ของ สสส.
  2. พัฒนากระบวนการทำงานแบบองค์กรมืออาชีพ
  3. พัฒนาวัฒนธรรมองค์กร หรือคุณค่าหลักของ สสส. ในการเป็นผู้สร้างเสริมสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ ที่จะต้องแปลคุณค่านี้ไปสู่แนวปฏิบัติและทักษะของบุคลากร
  4. สร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมให้ได้ตระหนักว่า สสส. เป็นองค์กรที่ยึดมั่นในธรรมาภิบาล

ดร.สุปรีดากล่าวว่า สสส. มีแนวทางการทำงานเรื่องสุขภาพที่ต่างจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะไม่ใช่องค์กรตั้งรับแต่จะทำงานเชิงรุกไปด้วย ส่วนตัวมองว่า การจะทำให้สังคมยอมรับ เรื่องธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมา สสส. ก็ไม่เคยเป็นองค์กรปิด การอนุมัติทุนสนับสนุนให้กับองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็ไม่เคยตัดสินใจเอง แต่มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ขึ้นบัญชีไว้กว่าพันคนมาช่วยพิจารณา แต่ในยุคถัดไป การทำงานของ สสส. จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์ และสุจริต ทั้งนี้ สสส. มีกลไกการประเมินผลที่เข้มงวดกว่าระบบหน่วยงานของรัฐอื่นๆ และจะเดินหน้าต่อไป

“นอกจากนี้ จะมีการสื่อสารต่อสังคมให้มากขึ้น เพื่อให้รู้ถึงตัวตนของ สสส. เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะไปเน้นที่สื่อสารกิจกรรม เช่น ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ลดพุงลดโรค ฯลฯ แต่ต่อไปจะเน้นสื่อสารตัวองค์กรให้มากขึ้น และจะมีการจับชีพจรของสังคมไทยอยู่ตลอดเวลาว่าพอใจต่อการทำงานของ สสส. แล้วหรือไม่ เพราะ สสส. เป็นองค์กรที่มีพลวัตสูง ผมอยู่มาตั้งแต่ปี 2545 ไม่เคยมีการทำงานช่วงใดที่ไม่มีปัญหา แต่เราก็ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา และหากมีอะไรที่สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็จะพยายามชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจน” ดร.สุปรีดากล่าว

slideสุปรีดา580203

เมื่อถามว่า ที่ระบุว่า สสส. ยุคถัดไปจะมีความโปร่งใสมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดเผยโครงการและรายชื่อองค์กรภาคีเครือข่ายที่ได้ทุนสนับสนุนจาก สสส. ทั้งหมดเพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบ แทนที่จะระบุไว้ในรายงานประจำปีแค่ตัวเลขรวมเท่านั้น ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ยุคต่อไปเราจะทำเรื่อง open data โดย สสส. จะเข้าไปร่วมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่จะให้มีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบการให้เงินทุนกับองค์กรภาคีเครือข่าย

“ยืนยันว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและรายชื่อองค์กรภาคีเครือข่ายที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. มากขึ้น ให้เป็นไปตามหลักสากล อย่างไรก็ตามคงจะไม่เปิดเผยทั้งหมด เพราะต้องการพิจารณาลำดับชั้นข้อมูลว่าจะเปิดเผยได้มากน้อยเพียงใด” ดร.สุปรีดากล่าว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการสรรหากรรมการ สสส. (บอร์ด สสส.) สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 7 คน ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2559 ดร.สุปรีดากล่าวว่า เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 4-14 กุมภาพันธ์ ก่อนเสนอรายชื่อให้บอร์ด สสส. พิจารณาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อคัดเลือกให้เหลือจำนวนสองเท่า หรือ 14 คน ก่อนส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คัดเลือกให้เหลือเพียง 7 คนต่อไป ส่วนกรณีที่มีปัญหาทางข้อกฎหมายว่า บอร์ด สสส. สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเดิม ทั้ง 7 คน ที่ถูกปลดออกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. จะกลับมาสมัครได้หรือไม่ ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณาแล้ว คาดว่าจะมีความเห็นเป็นข้อสรุปกลับมาภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการปลดล็อกโครงการที่ สสส. ให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กรภาคีเครือข่าย ที่ต้องหยุดชะงักเพราะคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบ รวมเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ดร.สุปรีดากล่าวว่า ตนเห็นใจองค์กรภาคีเครือข่ายที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะนี้ สสส. อยู่ระหว่างเร่งรัดปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกว่า 10 ฉบับ จากทั้งหมด 26 ฉบับ เพื่อให้ คตร. คลายมาตรการนี้ลง อย่างไรก็ตาม ตามกลไกการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ มีการเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบมาอีก 2 ขั้นตอน คือนอกจากต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการของ คตร. ยังต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ สธ. จัดตั้งด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ สสส. ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ เป็นไปด้วยความล่าช้า โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาท

“เบื้องต้นทราบว่า ทางคณะอนุกรรมการของ คตร. ได้อนุมัติมาแล้วกว่า 50 โครงการ แต่ยังต้องไปพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการที่ สธ. จัดตั้งอีก” ดร.สุปรีดากล่าว

เมื่อถามถึงข้อสรุปปัญหากรณีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากองค์กรภาคีเครือข่ายที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. ดร.สุปรีดากล่าวว่า เป็นการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน นอกจาก สสส. ยังมีองค์กรให้ทุนอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันก็ถูกดำเนินการเช่นนี้ ยืนยันว่า สสส. สามารถชี้แจงในเรื่องนี้ได้ เพราะหากเลี่ยงภาษีคงอยู่ไม่ได้มาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ จะพยายามหาข้อสรุปกับกรมสรรพากรให้ได้ในเร็วที่สุด เพราะแนวคิดการจัดการด้านสุขภาพยุคใหม่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วองค์กรภาคีเครือข่ายที่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังก็เป็นโครงการที่ทำสัญญาในลักษณะไปดำเนินการแทน สสส. หากเงินเหลือต้องส่งคืน ไม่มีเงินเข้ากระเป๋าผู้ดำเนินการแทนแม้แต่บาทเดียว ไม่ใช่สัญญาในลักษณะการรับจ้างทำของ ซึ่งต้องเสียภาษีแต่อย่างใด