ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ครม. ส่งความเห็นร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ. แล้ว ไม่มีเรื่อง “การเมือง-คปป.” ขอเพิ่มหมวดปฏิรูป – นายกฯ คุมสื่อให้แค่ 4 คำถาม

ครม. ส่งความเห็นร่างรัฐธรรมนูญให้ กรธ. แล้ว ไม่มีเรื่อง “การเมือง-คปป.” ขอเพิ่มหมวดปฏิรูป – นายกฯ คุมสื่อให้แค่ 4 คำถาม

17 กุมภาพันธ์ 2016


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน–สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2559

นายกฯ สั่งเปลี่ยนวิธีสัมภาษณ์ ให้สื่อถามได้แค่ 4 คำถาม

หลังการประชุม ก่อนที่ พล.อ. ประวิตร จะให้สัมภาษณ์ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งปรับรูปแบบการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ และรองนายกฯ โดยกำหนดให้ถามผ่านไมโครโฟนได้เพียง 4 คำถาม และผู้ถามจะต้องแจ้งชื่อ-นามสกุล พร้อมต้นสังกัดก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ให้ไปสอบถามจากทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ เอง

จากนั้น พล.อ. ประวิตร ได้เดินทางมาให้สัมภาษณ์

“ประวิตร” เชื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ

เมื่อถามว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญไปให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานหรือยัง พล.อ. ประวิตร ซึ่งเป็นประธานที่ปรึกษา คสช. ด้วย กล่าวว่า คสช. และ ครม. ได้ส่งความเห็นไปยัง กรธ. แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ให้รัฐบาลชุดต่อไปทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการเมือง แต่ตนบอกไม่ได้ว่า กรธ. จะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามที่มีการเสนอไปหรือไม่

เมื่อถามว่า ในฐานะผู้ดูแลงานด้านความมั่นคง มีข้อกังวลอะไรหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ตามความเห็นของตน ช่วงนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ คสช. ส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว จะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อให้สามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของบ้านเมืองในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าได้

เมื่อถามว่า คสช. จะเปิดให้ฝ่ายต่างๆ แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้เมื่อใด พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้ก็เปิดให้แสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว หากมีอะไรก็ให้เสนอไปยัง กรธ. แต่ไม่ใช่การออกมาเดินขบวนหรือลงพื้นที่ไปแต่ละชุมชน เพราะถ้าแต่ละพรรคการเมืองไปทั่วประเทศ ตนจะเอากำลังที่ไหนไปดูแล

เมื่อถามว่า คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านประชามติหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า “ถ้าเป็นผม ผมเห็นว่าผ่าน เพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูแล้วค่อนข้างเป็นสากล ไม่ใช่ว่าเข้าข้างใคร แต่จะให้ถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ ที่ออกมาทุกวันนี้ก็มีทั้งคนที่ชอบและคนไม่ชอบ”

เปิด 6 ข้อเสนอ ครม. ส่ง กรธ. ไม่มี “เรื่องการเมือง-คปป.”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นของ ครม. ต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญ 6 ประเด็น

  1. ครม. ได้หลีกเลี่ยงที่จะแสดงความคิดเห็นประเด็นเกี่ยวกับการเมือง ข้อเสนอส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
  1. ครม. ได้สรุปความเห็นของส่วนราชการต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีข้อเสนอหลากหลาย เช่น เรื่องการจัดทำงบประมาณ เรื่องการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมไปถึงเรื่องหน้าที่ปวงชนชาวไทยที่ขอให้ กรธ. ปรับแก้ให้ประชาชนเข้ามาช่วยรัฐในหลายๆ เรื่อง ทั้งป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ เป็นต้น
  1. ครม. ได้เสนอให้ กรธ. นำเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ ใส่กลับไปในร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิชุมชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
  1. ครม. ได้เสนอวิธีในการร่นระยะเวลาการเลือกตั้ง โดยให้จัดทำกฎหมายลูกเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องถึง 10 ฉบับ โดยกฎหมายลูกอื่นให้ทำระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้งได้
  1. ครม. เสนอให้เพิ่มหมวดเกี่ยวกับการปฏิรูป เช่น ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีระยะเวลาฉบับละ 5 ปี รวม 4 ฉบับ
  1. ครม. ได้แสดงความกังวลไปยัง กรธ. อยากให้นำปัญหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ คสช. ยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน มาคลี่ให้เห็นว่าวิกฤติเกิดจากอะไร แล้วจะมีกลไกในแก้ไขปัญหานี้อย่างไรหากเกิดขึ้นมาอีกในอนาคต ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีการพูดถึงเรื่ององค์กรพิเศษ หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) แต่อย่างใด

“ส่วนอะไรที่อาจเป็นข้อบาดหมาง ครม. ไม่ได้เสนอความเห็นอะไรต่อ กรธ. ทั้งเรื่องนายกฯ คนนอก นายกฯ คนใน เรื่องการเสนอชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง หรือเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ ครม. ชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำ” นายวิษณุกล่าว

ขยับวันประชามติได้บวกลบ 7 วัน – ยังไม่คิดแผนสำรองไม่ผ่าน

นายวิษณุกล่าวว่า ในการเขียนกฎหมาย มีอยู่ 3 ปัจจัยที่จะทำให้คนเห็นต่างกันได้ หนึ่ง หลักคิด สอง ภาษาและสไตล์ในการเขียน และสาม การมองปัญหา ทั้งนี้ กฎหมายทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายทั่วไปหรือรัฐธรรมนูญ ต่างก็มีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี ดังนั้น ในการทำประชามติ ประชาชนก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าส่วนที่ดีกับส่วนที่ไม่ดี อะไรมากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบว่าหากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร เพราะขณะนี้นายกฯ ยังคิดไม่ออก ถึงคิดออกก็อาจจะยังไม่บอก เพราะไม่อยากให้เกิดภาวะที่ประชาชนต้องเลือกว่าระหว่างร่างรัฐธรรมนูญนี้กับตัวเลือกอื่นจะเอาอะไร

ส่วนความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นายวิษณุกล่าวว่า มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณา แต่เบื้องต้นคงจะแก้แค่ 2 ประเด็น ทั้งตัดหลักเกณฑ์ว่าต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเกินกว่า 80% ก่อนถึงจะทำประชามติได้ และปรับปรุงถ้อยคำให้ชัดเจนว่าเสียงที่จะใช้ในการทำประชามติจะเอาเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเท่านั้น

เมื่อถามว่า ถ้าตัดเกณฑ์ 80% ออก จะทำให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เร็วขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กำหนดวันประชามติเบื้องต้น วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 เป็นสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมา ตามกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว หากจะยับได้ก็คงเป็นก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้น 7 วัน หรือไม่วันที่ 24 กรกฎาคม 2559 ก็วันที่ 7 สิงหาคม 2559

เมื่อถามว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติออกมาภายใน 1 ปี หลังร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ซึ่งแปลว่า ครม. ชุดนี้จะเป็นผู้จัดทำ และมีผลบังคับให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องมาปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะเป็นปัญหาอะไรหรือไม่ และ ครม. ได้เสนอแก้ไขหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเพียงกรอบในการดำเนินงานเท่านั้น เหมือนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ถึงขนาดจะนำไปสู่การถอดถอนได้ หรือไปรัดจนทำให้รัฐบาลชุดต่อไปทำอะไรไม่ได้ หากจะแก้ไขก็สามารถทำได้โดยเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ข้อดีของการมียุทธศาสตร์ชาติก็เพื่อให้ประชาชนรู้ว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง

ส่วนผลการประชุม ครม. ที่สำคัญ มีอาทิ

อนุมัติงบกลาง 114 ล้าน ปรับปรุงด่านอรัญประเทศ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลาง จากปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 114 เพื่อใช้ในโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณจุดผ่านแดนบ้านคลองลึกและด่านศุลกากรอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากปัจจุบัน จุดผ่านแดนบ้านคลองลึก มีช่องทางเข้า-ออกคับแคบ ไม่สอดคล้องกับปริมาณรถยนต์เข้าออกที่มากขึ้นทุกปี ขณะที่ด่านศุลกากรดังกล่าวมีพื้นที่จำกัด ไม่มีสถานที่สำคัญตรวจปล่อยสินค้าเป็นการเฉพาะ และไม่มีที่สำหรับติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ยานพาหนะบรรทุกสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต

“เดิม ครม. คิดว่าจะใช้งบประมาณของปี 2558 ที่เตรียมไว้สำหรับทำถนนหมายเลข 12 ตัด อ.แม่สอด จ.เชียงราย แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีงบประมาณของปี 2557 เหลืออยู่ จึงคิดว่าให้ใช้งบตรงนี้น่าจะเหมาะสมกว่า” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เพิ่มเที่ยวบิน ไทย-รัสเซีย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณารายงานผลเจรจาการบินระหว่างไทย-รัสเซีย โดยมีมติเห็นชอบในหลักการบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างไทย-รัสเซีย และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตไทย-รัสเซีย โดยมีสาระสำคัญ 1. เพิ่มเที่ยวบินฝั่งไทยไปกรุงมอสโก และฝั่งรัสเซียมากรุงเทพฯ จาก 42 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 70เที่ยว/สัปดาห์ 2. เพิ่มเที่ยวบินฝั่งไทยไปยังนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และฝั่งรัสเซียมา จ.ภูเก็ต จาก 14 เที่ยว/สัปดาห์ เป็น 28 เที่ยว/สัปดาห์ 3. เปลี่ยนจุดโดยสารลงในไทยของรัสเซีย จาก จ.เชียงใหม่เป็น จ.กระบี่ และเปลี่ยนจุดโดยสารลงในรัสเซียของไทย จากเออร์กุสต์เป็นโนโวซีเบียร์สก์ โดยให้มีเที่ยวบิน 7 เที่ยว/สัปดาห์ ซึ่งทั้ง 3 กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าเรื่องการท่องเที่ยวของรัสเซียมาไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตเพื่อยืนยันผลการบังคับใช้ของ MOU ดังกล่าว

รับเบี้ยคนพิการทันที ไม่ต้องรอปีต่อไป

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ให้คนพิการทุกคนที่ได้รับบัตรประจำตัวคนพิการ มีสิทธิได้รับเบี้ยความพิการทันที โดยไม่ต้องรอลงทะเบียนในปีถัดไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาตามหน้าที่ มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2559 เป็นต้นไป เนื่องจากภายหลังการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนพิการเป็น 700 บาทแล้ว ยังคงประสบปัญหาล่าช้าในการเบิกจ่าย จึงเห็นควรปรับให้คนพิการที่มาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 – 30 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 220,000 คน ได้รับเงินเบี้ยทันที ไม่ต้องรอให้ถึงปีงบประมาณ 2560

“เมื่อคนพิการได้รับบัตรคนพิการเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ต้องรอลงทะเบียน สามารถได้รับเบี้ยได้เลยในเร็วที่สุด ซึ่งเร็วที่สุดแค่ไหน กระทรวงมหาดไทยก็ต้องไปแก้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย คิดว่าเร็วที่สุดอาจจะเป็นเดือน สองเดือน โดยกระทรวงมหาดไทยได้เล่าปัญหาให้ฟังว่าไม่มีการตั้งงบประมาณไว้ก่อน แนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้ให้กับกระทรวงมหาดไทยไปคือ จะต้องบริหารงบประมาณในปีนั้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้เหลืองบประมาณจากปีนั้น เพื่อเจียดจ่ายสำหรับกรณีนี้ ซึ่งน่าจะมีเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3,300 กว่าล้านบาท ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เร่งสร้างรถไฟสายสีน้ำเงิน หาเอกชนร่วมลงทุน

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า พล.อ. ประวิตร ได้สอบถามในที่ประชุม ครม. ถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความล่าช้าของการสร้างรถไฟสายสีน้ำเงิน โดยทางกระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า ส่วนต่อขยายที่ค้างคาตอนนี้มีปัญหาความล่าช้า 2 ประเด็นด้วยกัน 1. เรื่องการเจรจาโดยตรง ที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 เดือน ปรากฏว่าด้วยข้อกฎหมายทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะนี้ก็ต้องมาดำเนินการในอีกแนวทางคือยกเลิกมติ ครม. เดิม แล้วดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 คือต้องหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุน 2. ปัญหาที่ตามมาคือ จะดำเนินการเดินรถแบบเน็ต คือให้ภาคเอกชนรับความเสี่ยง ซึ่งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเสนอว่าเขารับความเสี่ยงได้ แต่ขอให้รัฐชดเชยให้ ซึ่งไม่ใช่หลักการ

“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ เสนอให้กระทรวงการคมนาคมรีบดำเนินตามขั้นตอนเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังหาผู้ร่วมทุน แต่กระทรวงคมนาคมจะต้องคุยให้ได้ข้อยุติว่าเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงตามกฎกติกา ไม่ใช่รับความเสี่ยงแล้วมีข้อแม้” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

คาดโทษนกแอร์ หากผิดซ้ำซาก

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังหารือถึงปัญหากรณีที่นักบินของสายการบินนกแอร์รวม 9 ไฟลต์หยุดบินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก โดย พล.อ. ประวิตร ได้ให้กระทรวงคมนาคมเชิญสายการบินนกแอร์มาพูดคุยเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ละเลยสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมสั่งให้ทุกสายการบินมีมาตรการป้องกัน 1. ต้องเตรียมแผนฉุกเฉิน แผนบริหารความเสี่ยง เสนอต่อกระทรวงคมนาคมล่วงหน้า 1 เดือน 2. มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน และ 3. ต้องประสานความร่วมมือกับสายการบินอื่น ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้

“สำหรับแนวทางลงโทษสายการบินนกแอร์ได้กำหนดไว้แล้วว่า หากทำผิดครั้งแรกจะถูกตักเตือน ทำผิดครั้งที่ 2 ถูกพักใบอนุญาต และทำผิดครั้งที่ 3 ถูกเพิกถอนใบอนุญาต” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว