ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาลบิ๊กตู่โยกรายได้ 4 จี 5.6 หมื่นล้าน ตั้ง “งบกลางปี 59” เพิ่ม ทำนโยบายเร่งด่วนหล่อเลี้ยง ศก. แต่ 60% ไม่มีแผนงาน

รัฐบาลบิ๊กตู่โยกรายได้ 4 จี 5.6 หมื่นล้าน ตั้ง “งบกลางปี 59” เพิ่ม ทำนโยบายเร่งด่วนหล่อเลี้ยง ศก. แต่ 60% ไม่มีแผนงาน

23 กุมภาพันธ์ 2016


เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2559 วงเงินไม่เกิน 56,000 ล้านบาท (งบกลางปี) 3 วาระ ใช้เวลาพิจาณา 3 ชั่วโมง สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลต้องทำงบกลางปี 2559 โดยดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า “รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนโยบายเร่งด่วน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงต้องตั้งประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมีวงเงินไม่เกิน 56,000 ล้านบาท นอกจากจะสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่ช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2559 (งบกลางปี) (3)

แหล่งรายได้สำคัญที่นำมาใช้ในการจัดทำงบกลางปี 2559 ครั้งนี้มาจากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ วงเงิน 56,290 ล้านบาท คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะนำรายได้ส่งคลังภายในปีงบประมาณ 2559 ทำให้ประมาณการรายได้ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2,330,000 ล้านบาท เป็น 2,386,000 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งรายจ่ายมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,776,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ระดับเดิม คือ 390,000 ล้านบาท

จากการที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 มาตรา 9 ทวิ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีบวก 80% ของงบชำระคืนต้นเงินกู้ การจัดทำงบกลางปีครั้งนี้ จึงทำให้กระทรวงการคลังมีอำนาจในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มจาก 539,539 ล้านบาท เป็น 604,793 ล้านบาท หักวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2559 กระทรวงการคลังจึงมีอำนาจในการกู้เงินเพื่อชดเชยได้อีกไม่เกิน 214,793 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2559

โครงสร้างการจัดสรรงบกลางปี 2559 วงเงิน 56,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กอง ดังนี้

กองที่ 1 จัดสรรงบประมาณวงเงิน 32,661 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.3% ของงบกลางวงเงิน 56,000 ล้านบาท โอนเข้ามาอยู่ในหมวดรายการ “งบกลาง” ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามเอกสารงบประมาณ ระบุว่า “เป็นค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป” แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดของแผนงาน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าจะมอบหมายให้หน่วยงานใดรับผิดชอบหรือใช้จ่ายงบประมาณ และไม่สามารถกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจนได้ จึงนำมาตั้งไว้เป็นงบกลาง ทำให้รายการงบกลางที่บรรจุในงบประมาณปกติปี 2559 มีวงเงินเพิ่มขึ้นจาก 422,721 ล้านบาท เป็น 455,382 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของวงเงินงบประมาณปี 2559 โดยมีวงเงินมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากงบฯ กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 517,077 ล้านบาท

กองที่ 2 จัดสรรงบประมาณวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารดำเนิน “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เริ่มดำเนินการเดือนเมษายน 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 กำหนดเป้าหมาย พัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ประกอบด้วย 2 โครงการหลัก ดังนี้

1) โครงการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ วงเงิน 11,500 ล้านบาท มีวิธีการดำเนินงานดังนี้
– มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลที่มีความพร้อม ดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30,000 หมู่บ้าน คิดเป็นสัดส่วน 90% ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ
– ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตจากชุมสาย (Node) เดิม ด้วยสื่อสัญญาณเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) แก่หมู่บ้านเป้าหมาย
– ติดตั้งระบบบริหารจัดการโครงข่ายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่หมู่บ้านเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

2) เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) วงเงิน 3,500 ล้านบาท มีวิธีการดำเนินงานดังนี้
– ก่อสร้างเส้นทางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำจากจังหวัดสงขลาเชื่อมต่อกับเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีระบบเคเบิลใต้น้ำระบบใหม่ เชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสิงคโปร์
– จัดหาวงจรเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงระหว่างประเทศในเส้นทางญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา
– ขยายความจุระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีอยู่ เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดเชื่อมต่อต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ฮ่องกง สิงคโปร์ เพื่อให้มีขนาดความจุรวมมากขึ้น
– ขยายความจุระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีอยู่ เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดเชื่อมต่อต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา
– ขยายโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศ เพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบเคเบิลใต้น้ำ

กองที่3 จัดสรรวงเงิน 8,339 ล้านบาท ชำระคืนเงินคงคลัง ที่รัฐบาลนำมาจ่ายค่าเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ไปแล้วก่อนหน้านี้

[scribd id=299910643 key=key-ozBwAwoOVBsX2Hhrahs2 mode=scroll]