ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แบงก์ไทยพาณิชย์ทุ่มเงิน 2,000 ล้านบาท ตั้งบริษัท-กองทุน พัฒนา “FinTech” ตอบโจทย์บริการการเงินทศวรรษใหม่

แบงก์ไทยพาณิชย์ทุ่มเงิน 2,000 ล้านบาท ตั้งบริษัท-กองทุน พัฒนา “FinTech” ตอบโจทย์บริการการเงินทศวรรษใหม่

22 มกราคม 2016


นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร (ซ้าย) และ นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(ขวา)
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร (ซ้าย) และ นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(ขวา)

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ธนาคารไทยพาณิชย์จัดงานแถลงข่าว เพื่อชี้แจงมุมมองต่อธุรกิจและแผนงานของธนาคารในปี 2559 โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าในภาพรวมของปี 2559 ธนาคารจะต้องสร้าง Foundation หรือ “รากฐาน” ของธนาคารตัวใหม่ ได้แก่ 1) การสร้าง Digitization โดยต้องปรับกระบวนการทำงานภายในธนาคารและการบริการลูกค้าให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่เปลี่ยนโฉมการให้บริการการเงินไปหรืออาจจะนำมาร่วมใช้กับเทคโนโลยีดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในอนาคตอาจจะไม่ต้องมีสมุดบัญชีธนาคาร หรือเมื่อเข้ามาในสาขา พนักงานจะสวมแว่นตาที่ช่วยให้สามารถจดจำลูกค้าได้ทันที เป็นต้น 2) การสร้าง Business Intelligence จากข้อมูลจำนวนมหาศาลของลูกค้า เพื่อเข้าใจความต้องการของลูกค้าของสามารถตอบโจทย์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะความเข้าใจในระดับย่อยๆ จนสามารถให้บริการได้อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นแกนของการแข่งขันของธนาคารต่อจากนี้ไป

ในเชิงรูปธรรม ธนาคารจะแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน 1) ส่วนของการวิจัยและพัฒนา จะลงทุนตั้งบริษัทการวิจัยใหม่ด้วยงบลงทุนจากกำไรของธนาคารปีละ 1.5% โดยปีแรกจะมีงบลงทุนที่ 500 ล้านบาทจากกำไรของปี 2558 เบื้องต้นประสานคุณธนา เธียรอัจฉริยะ มานั่งเป็นหัวเรือใหญ่แล้ว 2) จัดตั้งกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Captital วงเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,750 ล้านบาท เพื่อลงทุนกับ Startup ต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการลงทุนในกองทุนที่ไปลงทุนใน Startup ก่อนที่จะเริ่มให้ทุนสนับสนุนตรงกับ Startup ที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศต่อไป

นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่า วัตถุประสงค์หลักคือ จะทำอย่างไรให้ธนาคารเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ทำอย่างไรธนาคารถึงจะไปรู้ไปเห็นไปเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น ทำอย่างไรให้ธนาคารมี Partner ที่อยู่ในสนามธุรกิจอีกด้านซึ่งธนาคารไม่เคยเข้าไปมาก่อน รวมถึงว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็วและมีจำนวนมากพอ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารเริ่มตระหนักว่าถ้าให้ธนาคารสร้างสิ่งเหล่านี้เองอาจจะมีความสามารถไม่เพียงพอ และอาจจะไม่ทันกับการแข่งขันในธุรกิจในปัจจุบันแล้ว

โดยโจทย์ที่ธนาคารสนใจส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของระบบการชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับ National e-Payment ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ เรื่องของบริหารความมั่นคง เรื่องของวิเคราะห์ข้อมูล โดยเป้าหมายสุดท้ายคือการเข้าถึงและสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการให้แตกต่างจากบริการปัจจุบันที่ธนาคารพาณิยช์มีอยู่ เช่น ผ่านสาขาหรือผ่านมือถือ แต่โลกอนาคตอาจจะต้องไปอยู่ในมือถือมากขึ้นหรือไม่ จะมีลูกเล่นอะไรอีกไหม จะเป็นโมเดลธุรกิจแบบนี้เหมาะสมจริงๆ หรือไม่

“ในอดีตที่ผ่านมาเราต้องรอให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงจะก้าวขาเดิน แต่ธุรกิจต้องลองทำไป เวลาก้าวไปก้าวที่ 2 ก้าวที่ 3 เราจะเห็นมุมมองที่ไม่เหมือนกับก้าวที่ 0 สิ่งที่ยากในองค์กรใหญ่คือต้องให้ถูกก่อนแล้วจึงตัดสินใจ แต่เอาเข้าจริง ถ้ารอให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดก่อน สุดท้ายก็ไม่ได้ตัดสินใจหรือตัดสินใจช้าเกินไป ซึ่งการแยกออกมาแบบนี้จะไม่ใช้กระบวนการตัดสินใจแบบธนาคารแล้ว เพราะคิดแบบธนาคารเรามักจะกลัวพลาด แต่อันนี้ผิดก็ผิดให้มันรู้ไป จะทดลองดู ส่วนเรื่องความเสี่ยง เราจำกัดเอาไว้แล้วว่า 1.5% ต่อปีนะ หมดก็หมดเท่านี้ แต่ทำไปทำมาได้ผล มูลค่าที่กลับมามันอาจจะประเมินไม่ได้ด้วยซ้ำ” นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่าเป็นปีที่มาถึงจุดที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มอย่างมาก หากไม่ปฏิรูปอย่างจริงจังอาจจะมีปัญหาในระยะยาว ประกอบกับเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลเพียงปีเศษ จุดนี้จึงจำเป็นมากที่รัฐบาลจะต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศและสิ่งต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป โดยเฉพาะประเด็นการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไม่ให้เผชิญกับภาวะวิกฤติในอนาคต

โดยในปี 2559 มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ 2 ประเด็น 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้อุปสงค์ของโลกหดตัวลง โดยที่ผ่านมาจีนเป็นแหล่งรองรับการผลิตของโลก หรือ World Demand  ตามความใหญ่ของเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อจีนชะลอตัวอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคส่งออกของโลกและไทย 2) ความไม่แน่นอนของปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ซึ่งเป็นปัจจัยหลังที่ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำและส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ตกต่ำตามด้วย

สร้าง “กันชน” รับความเสี่ยง ไม่เน้นเติบโต

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยจึงพบว่ากำลังเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกและภาคการเกษตร ซึ่งเผชิญกับภาวะราคาสินค้าตกต่ำจนไม่สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนเองยังไม่มีท่าทีว่าจะลงทุนมากขึ้น ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในปี 2559 อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในด้านความผันผวนของเศรษฐกิจไทยยังถือว่ามี “กันชน” หรือ Buffer ที่ดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ปริมาณหนี้โดยรวมของประเทศที่ต่ำ ซึ่งนอกจากจะเป็นกันชนให้กับเศรษฐกิจแล้วยังช่วยเรียกความมั่นใจให้แก่เอกชนทั้งในและนอกประเทศด้วย

“จากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่กล่าวไป ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ของธนาคารระบุว่าในปี 2559 จีดีพีของไทยอาจจะโตได้ประมาณ 2.5% ส่วนตัวยังมองว่าอาจจะเติบโตได้กว่า 3-3.5% คือยังมีความหวังว่ารัฐบาลยังมีแรงผลักดันอยู่ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภายในประเทศที่มาจ่อรออยู่แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น ในฐานะคนทำแผนธุรกิจ เราไม่ควรมาบอกว่าจะเกิดวิกฤติหรือไม่เกิดวิกฤติ เราต้องเริ่มต้นถามว่าขณะนี้ความเสี่ยงมีมากขึ้นจนกระทั่งเราต้องเตรียมตัวมากขึ้นหรือไม่ แล้วเราต้องเตรียมพร้อมให้องค์กรมีกันชนหรือ buffer แค่ไหน ถ้าความเสี่ยงที่เรากลัวนั้นเกิดขึ้นมาจริงๆ” นายอาทิตย์กล่าว

นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า ธนาคารจะต้องเตรียมแผนรับมือและกันชนภาวะดังกล่าว โดยจะให้พนักงงานติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้นจากเดิม เพื่อให้รับทราบปัญหาและหาทางออกร่วมมืออย่างทันท่วงที ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะต้องมีระบบบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ให้รัดกุมมากขึ้นและจะไม่เน้นการเติบโตที่มีความเสี่ยงมากเกินไป โดยจะทดสอบ Stress Test ลงไปในทุกภาคของเศรษฐกิจและทดสอบบ่อยขึ้น เพื่อให้รับรู้ข้อมูลทันต่อการปรับตัว ขณะเดียวกัน ถ้าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง ธนาคารอาจพิจารณาเพิ่มกันชนต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตั้งสำรองมากขึ้น เพิ่มสถาพคล่อง ฯลฯ

นอกจากนี้ ในด้านธุรกิจ ธนาคารจะขยายฐานลูกค้าใน 3 กลุ่ม ได้แก่ เอสเอ็มอี, ลูกค้าบุคคลพิเศษ, และธุรกิจขนาดใหญ่ ให้กระจายตัวอย่างเหมาะสมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารอาจจะให้ความสนใจน้อยเกินไป

นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมธนาคารในอนาคตว่าได้ก้าวเข้าสู่การปฏิวัติดิจิทัลเต็มรูปแบบ เนื่องจากต้นทุนที่ลดลงตามเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจของหลายธุรกิจไปอย่างมาก รวมถึงธุรกิจธนาคารเช่นกัน

“เรื่องเทคโนโลยีผมคิดว่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนจะนิ่งนอนใจไม่ได้ มันจะกระทบกับทุกธุรกิจ ธุรกิจการเงินอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้หนีไม่พ้นที่ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงมหาศาล มากกว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราเห็นตรงกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังมีสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้เพียง 40% เท่านั้น ทำให้มีช่องว่างสำหรับการลงทุนในสิ่งเหล่านี้ได้อีกมาก เทียบกับธนาคารอื่นที่มีสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้สูงกว่า 40% ” นายญนน์กล่าว

ขณะที่โมเดลธุรกิจในอนาคตระยะ 5 ปี ธนาคารตั้งไว้ 3 ประเด็น 1) พัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า ผ่านการเข้าถึง มีปฏิสัมพันธ์ที่ดี และการให้บริการอย่างมืออาชีพ เพื่อหาทางออกที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง 2) โมเดลการบริหารงานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งประเภทลูกค้าที่ชัดเจนและละเอียดมากขึ้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การให้บริการลูกค้า และเพิ่มขีดความสามารถของธนาคาร ผ่านการพัฒนาบุคคลากรและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น การหาหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ การวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อติดตามรูปแบบธุรกรรมที่น่าสงสัยต่างๆ และ 3) พัฒนาระบบความปลอดภัยรองรับดิจิทัลแบงก์กิ้ง