ThaiPublica > คอลัมน์ > ศิลปะของการทำนายอนาคตของหุ้น: rationality and irrationality of predictions in equity market

ศิลปะของการทำนายอนาคตของหุ้น: rationality and irrationality of predictions in equity market

29 มกราคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

ผมเชื่อว่าคงจะไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านไหนที่ไม่รู้จัก จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Kaynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่เรียกกันได้ว่าเป็นบิดาของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระเเสหลัก เคนส์เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเเรกๆ ที่เเนะนำให้รัฐบาลเข้าไปเเทรกเเซงเเละสนับสนุนให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนขาลง

เเต่คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่า จริงๆ เเล้ว จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเเรกๆ ที่มีส่วนทำให้เราได้เข้าใจในหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วยคนหนึ่ง โดยเฉพาะหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของการทำนายอนาคตของหุ้น

Keynesian beauty contest

ในบทที่ 12 ของหนังสือของเคนส์ที่มีชื่อว่า The General Theory of Employment, Interest and Money (หรือเเปลเป็นภาษาไทยว่า “ทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับการจ้างงาน, ดอกเบี้ย และเงินตรา”) เคนส์ได้ทำการเปรียบเทียบพฤติกรรมของการซื้อขายของคนในตลาดทุน (equity market) ซึ่งส่งผลให้เกิดการขึ้นลงของราคาอย่างที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำว่าไม่ได้ต่างอะไรจากการให้คนทั่วไปโหวตกันว่าผู้หญิงคนไหนจะชนะในการประกวดนางงามเลย

งงไหมครับ โอเค ในหนังสือของเคนส์ เขาได้ทำการสมมติว่า มีหนังสือพิมพ์อยู่ฉบับหนึ่งที่เปิดการเเข่งขันให้คนอ่านทั่วไปส่งไปรษณีย์เข้าไปเพื่อโหวตกันว่า จากรูปของนางงามที่มีทั้งหมดอยู่ 100 คนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นางงามคนไหนที่จะได้รับการโหวตให้เป็นนางงามที่สวยที่สุดจากคนที่ส่งไปรษณีย์เข้าไปโหวตทั้งหมด เเละหลังจากที่ผลโหวตออกมาเรียบร้อยเเล้ว คนที่โหวตให้นางงามที่ชนะเลิศเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลจากหนังสือพิมพ์

เคนส์เขียนเอาไว้ว่า กลยุทธ์การโหวตที่ไร้เดียงสาที่สุดของคนก็คือการโหวตให้กับนางงามที่ตัวเราเองคิดว่าสวยที่สุด (ผมจะเรียกคนเหล่านี้ว่า “level 1 thinker”) กลยุทธ์การโหวตที่ดีกว่านั้นอีกก็คือการโหวตให้กับนางงามที่คิดว่าคนอื่นส่วนใหญ่น่าจะคิดว่าสวยที่สุด (ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนที่เราคิดว่าสวยที่สุดก็ได้) ซึ่งการคิดเเบบนี้ผมจะเรียกว่าเป็นการคิดของ “level 2 thinker” เเละก็เป็นกลยุทธ์การโหวตที่ทำให้คุณมีสิทธิ์ในการชนะการเเข่งขันจริงๆ

The 2/3 problem

ตัวอย่างของการประกวดนางงามที่ผมเพิ่งจะให้คุณผู้อ่านไปข้างบนอาจจะฟังดูเข้าใจได้ยากนิดหนึ่ง (นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่สามารถมองเห็นผลของมันได้อย่างชัดเจน) โชคดีที่ผมยังมีตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง

สมมติว่าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้เปิดการเเข่งขันให้คนอ่านส่งตัวเลือกที่เป็นตัวเลขอะไรก็ได้ ระหว่าง 0 เเละ 100 เข้าไปเพื่อทำการเเข่งขัน โดยกฎมีอยู่ว่าหลังจากวันที่ปิดรับสมัครเเล้วนั้น คนที่เลือกตัวเลขที่มีค่าเท่ากันกับ 2 ส่วน 3 ของค่าเฉลี่ยของตัวเลขที่คนส่งเข้ามาทั้งหมดก็จะเป็นผู้ชนะได้รับเงินรางวัลไป ถามว่าคุณผู้อ่านจะเลือกส่งเลขตัวไหนเข้าไปเเข่งขันดีครับ

สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็น “level 1 thinker” ก็อาจจะคิดว่า ในเมื่อคนอื่นๆ เขาเลือกที่จะส่งเลขตัวไหนเข้าไปเเข่งขันก็ได้ ค่าเฉลี่ยของเลขที่ทุกคนส่งไป (ถ้ามีคนส่งไปเยอะพอ) ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 (เพราะค่าเฉลี่ยของตัวเลขระหว่าง 0 เเละ 100 ก็คือ 50) เพราะฉะนั้น ผู้อ่านที่เป็น “level 1 thinker” ก็จะเลือกส่งเลขที่เป็น 2/3 (หรือใกล้เคียง 2/3) ของ 50 นั่นก็คือ 33 นั่นเอง

เเต่สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็น “level 2 thinker” ก็อาจจะคิดว่า ถ้าคนส่วนมากเป็น “level 1 thinker” เเละเลือกที่จะส่งเลข 33 เข้าเเข่งขัน เขาก็ควรที่จะส่งเลขที่เป็น 2/3 (หรือใกล้เคียง 2/3) ของ 33 นั่นก็คือ 22 เข้าไปเเข่งขัน

เเต่สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็น “level 3 thinker” ก็อาจจะคิดว่า ถ้าคนส่วนมากเป็น “level 2 thinker” เเละเลือกที่จะส่งเลข 22 เข้าเเข่งขัน เขาก็ควรที่จะส่งเลขที่เป็น 2/3 (หรือใกล้เคียง 2/3) ของ 22 นั่นก็คือ 15 เข้าไปเเข่งขัน

เเต่สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็น “level 4 thinker” ก็อาจจะคิดว่า ถ้าคนส่วนมากเป็น “level 3 thinker” …. and so on, so on…

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณผู้อ่านทุกคนเป็นคนที่มี rationality สูง เลขที่คุณผู้อ่านทุกท่านจะส่งเข้าไปเเข่งขันก็จะมีค่าเท่ากับ 0 ทุกคน (พูดในภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือ 0 เป็น Nash equilibrium ของ the 2/3 problem)

เเต่คนเราในสังคมทุกคนมี rationality ที่สูงขนาดนั้นจริงๆ หรือ

The Financial Times competition

เเละในปี ค.ศ. 1997 จากการส่งเสริมของริชาร์ด เทเลอร์ (Richard Thaler) หนังสือพิมพ์ The Financial Times ก็เปิดรับสมัครให้คนอ่านส่งเลขเข้าไปเเข่งขันตามกฎของ the 2/3 problem จริงๆ โดยมีตั๋วเครื่องบินไปกลับ London-New York ฟรีสองที่นั่งเป็นรางวัล

ถ้าเป็นคุณผู้อ่าน คุณผู้อ่านจะเลือกเลขอะไรส่งเข้าไปเเข่งขันครับ เลข 0 หรือเปล่า

ปรากฎว่าเลขที่ชนะเลิศไม่ใช่ 0 เเต่เป็นเลข 13 นั่นก็เป็นเพราะว่ายังมีคนอ่าน FT หลายคนที่เป็นเเค่ “level 1 thinker” เเละ “level 2 thinkier” ถึงเเม้ว่าจะยังมีคนอ่านหลายคนที่ส่งเลข 0 เข้าไปเเข่งขันก็ตาม

สรุปก็คือ คนที่ส่งเลข 0 เข้าไปเเข่งขันนั้น ถึงเเม้ว่าพวกเขาจะมี logic ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ดีเลิศ พวกเขากลับลืมไปว่าโลกของเรานั้นยังมีอีกหลายคนที่ไม่ rational เหมือนกันกับเขา ซึ่งก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่สามารถ “beat the market” ได้

มันก็คงจะเหมือนกันกับการเก็งราคาหุ้นนะครับ คือปัจจัยสำคัญของการเก็งราคาหุ้นส่วนใหญ่เเทบไม่ได้เกี่ยวข้องกันกับ fundamentals ของตัวหุ้นนั้นๆ เลย เเต่มันเกี่ยวข้องกันกับความเชื่อของคนว่าหุ้นตัวนั้นจะ perform ในสายตาของคนส่วนใหญ่ยังไงมากกว่า เเละมันก็ยังขึ้นอยู่อีกว่า ในนิยามของคนส่วนใหญ่นั้น จะมีสักกี่คนที่ rational เเละกี่คนที่ irrational เเละซื้อขายหุ้นโดยใช้อารมณ์มากกว่า

ศิลปของการทำนายอนาคตของหุ้น

อ่านเพิ่มเติม
Keynes, J.M., 2006. General theory of employment, interest and money. Atlantic Publishers & Dist.
Thaler, R.H., 2015. Misbehaving: The Making of Behavioral Economics. WW Norton & Company.