Hate Speech

28 ธันวาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

สังคมไทยมีความเข้าใจว่า Hate Speech หมายถึงคำพูดที่ใช้กันรุนแรงในโลกออนไลน์ เช่น ด่าทอ ดูถูก ท้าทาย ฯลฯ อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความหมายกว้างขวางกว่านั้นมาก

Hate Speech มีมานานก่อนโลกไซเบอร์จะเกิดด้วยซ้ำ เพราะหมายความถึงคำพูดใดๆ ซึ่งกล่าวหาโจมตีด่าว่าบุคคล หรือกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของเพศ ศาสนา เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ดั้งเดิม ความพิการ หรือรสนิยมทางเพศ

เดาว่ามนุษย์ใช้คำพูดเหล่านี้มานานกว่า 150,000 ปีของยุคสมัยใหม่ของมนุษย์ มนุษย์สมัยไหนชาติไหนก็ไม่ต่างกันในสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด โลภะ โทสะ โมหะ ความเอนเอียงไปทางไม่ชอบคนที่แตกต่างจากตนเองหรือกลุ่มตนเองไม่ว่าในมิติใดๆ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป

มนุษย์ฆ่าฟันกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ก็เพราะเห็น “ความไม่เหมือนตนเอง” ของผู้อื่น นอกจากสัญชาตญาณที่ไม่ชอบสิ่งที่ต่างไปจากตนเองแล้ว มันยังเป็นสิ่งคุกคามความอยู่รอดหรือความกินดีอยู่ดีของตนเองหรือกลุ่มอีกด้วย หน้าตา ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ ความเชื่อ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง

ในสมัยอยู่ในถ้ำเมื่อ 50,000-60,000 ปีก่อนของมนุษย์ Hate Speech ก็มีให้เห็นในรูปของภาพเขียน และในการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมของ Hate Speech ก็คือการฆ่าฟัน

ในยุคไซเบอร์ Hate Speech เกลื่อนไปหมดเพราะสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนเองในเรื่อง “ความไม่เหมือนตนเอง” ได้สะดวก ง่ายดาย ต้นทุนต่ำ ไม่เขินอาย ไม่เกรงใจและไม่เกรงกลัวเพราะไม่เห็นหน้ากัน

Hate Speech ในระดับโลกที่ดาษดื่นที่สุดคือเรื่องการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชัง ชนกลุ่มน้อยที่มีชาติพันธุ์ดั้งเดิมหรือศาสนาแตกต่างจากตนเอง คำพูดซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า racist เหล่านี้มีผลเสียต่อคนที่ถูกกระทำเพราะวาทกรรมมีผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้รู้สึกต่ำต้อย เช่นเดียวกับที่คนถูกด่าทอว่าโง่ ยากจน เป็นเวลายาวนาน

ในประเทศต่างๆ Hate Speech ผิดกฎหมายในดีกรีที่แตกต่างกันออกไป เหตุผลของการมีกฎหมายในเรื่อง Hate Speech แบ่งได้ออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ (Public Order) และเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (Protect Human Dignity) ของทุกคนในสังคมอย่างเสมอหน้ากัน

สิงคโปร์มีกฎหมายหลายฉบับที่ห้ามคำพูดซึ่งก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม การยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง หรือความรู้สึกไม่ดีระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ และศาสนา มีโทษอาญา

ในยุโรปซึ่งแต่ละประเทศประกอบด้วยประชาชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ (ไม่มีประเทศใดในโลกที่ประกอบด้วยชาติพันธุ์เดียว ตนเองหรือบรรพบุรุษล้วนแต่เป็นคนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศทั้งสิ้น เพียงแต่ใครมาถึงก่อนกันเท่านั้นเอง) การควบคุม Hate Speech จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการสร้างความสงบเรียบร้อย

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แค่การเดินไปและชี้หน้าบอกว่า “เอ็งเป็นไอ้มืด” แค่นั้นก็สามารถติดคุกได้แล้วเพราะเข้าข่าย Hate Speech ยิ่งถ้าพูดในสาธารณะเรียกผู้คนว่าไอ้ยิว ไอ้เจ๊ก ไอ้แขก ไอ้มุสลิม ไอ้พุทธ รับรองได้ว่ามีคนให้ที่พักฟรี อาหารฟรี เพียงแต่ไม่ให้ออกไปไหนเท่านั้นนานทีเดียว

ในสหรัฐอเมริกานั้น ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1789 ระบุไว้ว่า ห้ามสภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา เสรีภาพในการชุมนุม หรือสิทธิในการยื่นคำเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ก็ไม่ยอมให้ไปไกลถึงการทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมาได้

เมื่อถือได้ว่า Hate Speech เป็นสิ่งน่ารังเกียจในระดับมหภาคอย่างเป็นสากลในปัจจุบัน ดังนั้น ในระดับย่อย การด่าทอ ดูหมิ่น กล่าวหา เหยียดหยาม ระหว่างบุคคลในโลกไซเบอร์ของทุกประเทศจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามและผิดกฎหมายในหลายประเทศ (เฉพาะที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไอที) เนื่องจากเป็นการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความแตกแยกและความสามัคคี

ในบ้านเราโลกไซเบอร์ของบางกลุ่มเต็มไปด้วย Hate Speech มีการด่าทอกันรุนแรงถึงพ่อถึงแม่และหยาบคาย บ่อยครั้งนำไปสู่ความรุนแรงในเวลาต่อมาโดยยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้กระทำ

สาเหตุของการแพร่กระจายของ Hate Speech ในโลกไซเบอร์ของบ้านเราอาจมาจากความคึกคะนอง ความใจร้อนของวัยรุ่น ความสามารถในการอดกลั้นต่ำ การสามารถใช้นามแฝงในเฟซบุ๊กจนทำให้ไม่รู้ตัวตนจริง การไร้การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ

เมื่อมนุษย์พบหน้ากัน รู้ว่าใครเป็นใคร การด่าทอรุนแรงมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่าในกรณีของการไม่เห็นหน้ากัน ไม่รู้จักตัวตนจริงของกันและกัน และเมื่อบวกเอาความสะดวก การสามารถตอบโต้ไปกลับได้อย่างรวดเร็วแล้ว เป็นธรรมดาที่จะเห็นสภาพการณ์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อีกรูปลักษณ์หนึ่งของ Hate Speech ในบ้านเราก็คือ การให้ฉายาเรียกคนพิการ ไม่ว่าจะเป็นไอ้เป๋ ไอ้ใบ้ ไอ้บอด เราเห็นการเรียกอยู่บ่อยๆ ในหมู่เพื่อนและรายการตลกในโทรทัศน์ การล้อเลียนความพิการก็เป็น Hate Speech ในอีกรูปลักษณ์หนึ่งที่ต้องช่วยกันทำให้หายไป

ความเกลียดบ่มเพาะให้เกิดความเกลียดกันมากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่การทำลายล้าง ในขณะที่ความรักปรารถนาดีต่อกันมีแต่จะส่งเสริมให้เกิดความงดงามในโลก

หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ธ.ค. 2558