ThaiPublica > คอลัมน์ > Where Have All ตำรวจจราจร Gone?

Where Have All ตำรวจจราจร Gone?

4 ธันวาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เดือนที่ผ่านมานี้คนกรุงเทพฯ มีความรู้สึกว่ารถติดมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต สาทร สุขุมวิท ลาดพร้าว หรือราชดำเนิน สิ่งที่คนใช้รถรู้สึกหงุดหงิดก็คือแทบไม่เห็นตำรวจจราจรเลย และถ้าจะว่าไปก็ไม่เห็นมานานแล้วตลอดเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมา คำถามก็คือ หายไปไหนกันหมด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจราจรหนาแน่นจนถึงจุดที่เรียกว่ารถติดก็คือ เมื่อความต้องการใช้ผิวถนน (ปริมาณการจราจร) มากกว่าผิวถนนที่มีให้ใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเร่งด่วน อย่างไรก็ดี มีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้การจราจรเลวร้ายลง เช่น พื้นที่ผิวจราจรหายไป (ขุดท่อ รถล้างถนน กีดขวาง สร้างสะพาน หรือสร้างรถไฟกลางเกาะหรือใต้ดิน) หรือจำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาหนึ่งเป็นพิเศษ (ช่วงเวลาเร่งด่วน หรือมีงานมหกรรม) หรือมีการขับช้าลงเพราะเหลือบดูเหตุการณ์ผิดปกติ หรือมีการกั้นปิดถนนบางสายเป็นพิเศษ หรือผู้ขับขี่ทำผิดกฎจราจรกันอย่างกว้างขวาง

ผลเสียของการจราจรติดขัดมีมากมายอย่างที่รู้ๆ กัน

(ก) เพิ่มต้นทุนการเดินทาง (ค่าเสียโอกาส กล่าวคือ ถ้ารถไม่ติดก็ได้กลับไปนอนเล่นที่บ้านหรือเล่นกับหมาที่บ้านนานแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้มีคุณค่าแต่ก็ต้องเสียไปเพราะการจราจรติดขัด)

(ข) การไปสาย ไม่ว่าการนัดหมายหรือการทำงาน การไม่สามารถจัดการเวลา ทำให้เกิดการสูญเสียและเสียหาย

(ค) ต้องจัดแบ่งเวลาไว้เผื่อรถติดมากจนสูญเสียเวลาที่ไม่ควรเสียไป

(ง) เผาผลาญน้ำมันโดยไม่จำเป็น สูญเสียเงินตราต่างประเทศ

(จ) สร้างมลภาวะอากาศ

(ฉ) รถสึกหรอมากขึ้นโดยไม่จำเป็นเพราะต้องติดเครื่องไว้ขณะรถติด

(ช) คนป่วยเร่งด่วนอาจเสียชีวิต

(ซ) โอกาสอุบัติเหตุรถชนกันมีสูงขึ้น เพราะเดี๋ยวหยุดเดี๋ยวไป ฯลฯ

ข้อเสียสำคัญนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็คือ ทำให้เกิดความเครียดในอารมณ์ของผู้ใช้ถนน จนอาจทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงอย่างคาดไม่ถึงซึ่งฝรั่งเรียกว่า road rage คือ ผู้ขับขี่มีความก้าวร้าวต่อกันมากเป็นพิเศษ ด่าทอกัน สบถสาบาน ลงไม้ลงมือกัน ขับรถคุกคามกันจนเกิดอุบัติเหตุหรืออาชญากรรม

คำนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1987-1988 ในเมืองลอสแอนเจลิสที่มีการจราจรติดขัดอย่างหนัก (ปัจจุบันยังเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา รถคันหนึ่งเสียเวลาจากการรถติดเฉลี่ยปีละ 64.4 ช.ม.) จนเกิด road rage มีการยิงกันจนคนตายหลายศพบนถนนหลายสายอย่างผิดสังเกต

นักเศรษฐศาสตร์พยายามอธิบายสภาวะจราจรติดขัด โดยอธิบายว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The Tragedy of the Commons (โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน) กล่าวคือ เมื่อมีแปลงที่ดินที่ใช้ร่วมกัน ต่างคนก็ต่างใช้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์อย่างไม่คำนึงถึงคนอื่นเนื่องจากไม่มีค่าใช้ เมื่อทุกคนต่างทำอย่างเดียวกัน ในที่สุดที่ดินแปลงนั้นก็จะมีปัญหาเสื่อมโทรมและเละเทะไปหมด ไม่มีใครคิดจะดูแล ดังนั้น กฎระเบียบที่ออกโดยภาครัฐเพื่อมากำกับดูแลการใช้ที่ดินเช่นว่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อสามารถใช้ถนนได้โดยไม่มีค่าใช้ ผู้คนก็ใช้รถใช้ผิวจราจรกันอย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ละคนไม่มีแรงจูงใจทางการเงินที่จะหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ถนนชนิดที่เรียกว่ามากเกินไปก็จะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงจุดที่การจราจรเป็นอัมพาต ยกเว้นแต่จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

Anthony Downs นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะเสนอว่า การจราจรติดขัดในช่วงเร่งด่วนเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะทุกคนจำเป็นต้องใช้ผิวถนนในช่วงเวลานั้น ในสังคมทุนนิยมสินค้าบริการถูกแบ่งสรรโดยการซื้อขาย ใครมีเงินมากน้อยแค่ไหนก็เลือกซื้อกันไป ปัญหาการจราจรก็เหมือนกัน เมื่อการจัดสรรผิวจราจรเป็นไปโดยไม่ต้องจ่ายค่าใช้ก็ต้องขยายถนนกันไม่รู้จบสิ้นเพื่อรับมือช่วงเวลาเร่งด่วน การเก็บเงินจากการใช้ผิวถนนในช่วงเวลานั้นจะทำให้บางคนตัดสินใจที่จะไม่ใช้โดยเลี่ยงไปใช้ในเวลาอื่น ปัญหาติดขัดก็จะลดลง (สิงคโปร์ทำมากว่า 30 ปี อย่างประสบความสำเร็จ ปัจจุบันหลายเมืองก็ทำ เช่น ลอนดอน มิลาน สตอกโฮล์ม กอเทนเบิร์ก)

วารสารเศรษฐศาสตร์ชื่อ The American Economic Review ในปี 2011 มีบทความเขียนโดยนักวิจัยจาก London School of Economics and Political Science ซึ่งใช้ข้อมูลการใช้ถนนในสหรัฐอเมริกา จำนวนประชากร การจ้างงาน ภูมิศาสตร์ ปัจจัยการเมือง การเดินทางของปี 1983, 1997 และ 2003 วิเคราะห์สภาวะการจราจรและสรุปเป็นกฎพื้นฐานเกี่ยวกับการจราจรติดขัดว่า “ระยะทางที่เดินทางโดยรถยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับระยะทางของถนน (คำนวณจากทุกช่องทางการจราจร) ที่มีให้ใช้เสมอ” ข้อสรุปมีนัยยะว่า การสร้างถนนใหม่ การขยายช่องทางจราจร จะก่อให้เกิดการจราจรเพิ่มขึ้นและจะไม่หยุดจนเกิดการติดขัดสูงสุด การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดด้วยการเพิ่มพื้นที่ถนนจึงไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

การเก็บเงินค่าใช้ถนนในบ้านเรายากที่จะเป็นไปได้ถ้าไม่มีทางเลือกในการเดินทางให้แก่เขา การขยายช่องทางจราจร การเพิ่มผิวถนน ฯลฯ ก็ไม่ช่วยให้การจราจรดีขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน การบังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งขันโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมายคือตำรวจจราจรเท่านั้นที่อาจช่วยได้อย่างสำคัญ

ที่มาภาพ : http://www.trafficthai.com/images/1264688283.jpg
ที่มาภาพ : http://www.trafficthai.com/images/1264688283.jpg

การไร้วินัยยามไม่มีตำรวจกำกับนั้นเกิดขึ้นทุกชาติ แต่มากเป็นพิเศษในบ้านเรา ปัจจุบันเราเห็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขับฝ่าไฟแดงกันเป็นเรื่องปกติเพราะยากนักที่จะเห็นตำรวจจราจรยืนริมถนนหรือตรงสี่แยกเพื่อปรามพฤติกรรมเหล่านี้ดังที่เราเคยเห็นกันในอดีต (แม้แต่ “จ่าเฉย” ของผมก็ถูกเก็บไปหมดเพราะเกรงว่าจะเตือนใจให้นึกถึงตำรวจที่หายไป?)

ตำรวจอาจเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่โดยมีกล้องถ่ายภาพเพื่อส่งใบสั่งจราจรไปทางไปรษณีย์เป็นเรื่องสมัยใหม่ที่สบายกว่าและได้ผลกว่าการมาโบกและ “ขู่” กันตามสี่แยก อยากบอกว่าวิธีไฮเทคนี้ผู้ใช้ถนนเขาไม่กลัวเพราะ (1) ไม่เชื่อว่าจะมีกล้องทุกแห่งและจะใช้งานได้ทุกตัว (2) ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์บอกว่ามนุษย์กลัวภัยใกล้ตัวมากกว่าไกลตัว (มีใบสั่งมาปรับในวันหลัง) ขอฝ่าไฟแดงก่อนแล้ววันหลังจะปรับค่อยว่ากันใหม่ ตอนนี้ขอเสี่ยงดวงไปก่อน

สงสัยว่า เหตุใดบางครั้งจึงเปิดไฟจราจรแปลกๆ เช่น ปล่อยบางสายนานเป็นพิเศษ (ถูกสั่งหรือเปิดเพื่อเอาใจนายที่บ้านอยู่แถวนั้น?) เมื่อเหลียวไปมองป้อมตำรวจตามสี่แยกก็ไม่เห็นตู้ใดเลยที่ดูเป็นมิตร ทุกตู้ล้วนมีกระจกสีดำมืดมิดจนมองเข้าไปไม่เห็นราวกับเป็นไนท์คลับ ไม่มีทางรู้ว่ามีตำรวจอยู่หรือไม่

แรงจูงใจในการทำงานเป็นเรื่องที่เราเห็นใจ การที่สถานีตำรวจได้ส่วนแบ่งจากใบสั่งจราจรและอาจได้น้อยลงตามอารมณ์ของผู้กำกับจนไม่อยากออกมาโชว์ตัวตามสี่แยกตอนรถติดเพราะกลัวโดนด่า ควันก็เหม็น ร้อนก็ร้อนนั้นเราก็เห็นใจ แต่อย่าลืมนะครับว่าท่านก็รับเงินเดือนเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งก็มาจากภาษีของพวกเรา ดังนั้น การดูแลจราจรเป็นความรับผิดชอบพื้นฐาน ส่วนเงินจากแรงจูงใจนั้นเป็นของแถม

ปัจจุบันเราไม่รู้จักผู้บังคับการจราจร (เดี๋ยวนี้เรียกตำแหน่งนี้ว่าอะไรก็ไม่รู้ ยศอาจถึงพลตำรวจโท) ไม่เคยเห็นออกโทรทัศน์มาชี้แจง ไม่เคยเห็นตำรวจยศระดับนายพันมายืนดูแลกำกับการจราจรแบบสมัยก่อนเลย ตำรวจจราจรผู้น้อยก็กลายเป็นนินจาเห็นตัวได้ยากเต็มที การย้ายผู้รับผิดชอบการจราจรของกรุงเทพฯ ไปมาอยู่เนืองๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ต่อเนื่อง ไม่มีผู้ใหญ่หาญกล้าออกมารับผิดชอบ จนคนกรุงรู้สึกว่ามีการขาดความรับผิดชอบในเรื่องการจราจรของกรุงเทพฯ

ตำรวจจราจรกรุณากลับมาทำหน้าที่ของท่านเถอะครับ ต่างคนต่างทำหน้าที่ พวกเราผู้ใช้ถนนก็ทำหน้าที่ของเราในฐานะผู้เสียภาษีจ่ายเป็นเงินเดือนท่านอยู่แล้วตลอดเวลาที่รถติดเผาผลาญน้ำมันราคาสูงเพราะภาษี

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 1 ธ.ค. 2558