ThaiPublica > คนในข่าว > “ชวลิต จันทรรัตน์” กูรูน้ำเตือนวิกฤติภัยแล้ง (ตอน 2) : อ่านความรุนแรง พื้นที่ไหนหนักสุด อาจไม่มีน้ำบริโภค

“ชวลิต จันทรรัตน์” กูรูน้ำเตือนวิกฤติภัยแล้ง (ตอน 2) : อ่านความรุนแรง พื้นที่ไหนหนักสุด อาจไม่มีน้ำบริโภค

2 ธันวาคม 2015


ต่อจากตอนที่1

“เราทุกคนต้องช่วยกันประหยัด เพราะถ้าเรามองว่าไม่ใช่ภาระของเรา เราเปิดน้ำในก๊อกน้ำก็ยังไม่เค็มเราจึงยังไม่บ่น คงไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าเรา(คนกรุงเทพฯ)ประหยัดขึ้นร้อยละ 10 ก็จะมีน้ำเหลือให้พื้นที่อื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ถึง 5 แสน ลบ.ม. ต่อวันหรือเอาไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำให้อุ่นใจก็ได้ เพราะภาวะที่น้ำอาจจะดีหรืออาจจะไม่ดีก็ได้ ซึ่งเราต้องติดตามดูเอง แต่ถ้าเราประหยัดได้ร้อยละ 20 ก็ประหยัดน้ำได้วันละ 1 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำปริมาณนี้จะไปเก็บไว้ที่เขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนสิริกิติ์ก็ได้ น้ำก็จะได้ประโยชน์ต่อไป จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ จากที่ปกติใช้น้ำวันละ 120 ลิตร ก็เหลือวันละ 110 ลิตร หรือ 100 ลิตร ก็พอ”

ทำนาปรังไปแล้ว 3.4 ล้านไร่ หวั่นแย่งสูบน้ำแน่

จากข้อมูลจากกรมชลประทานก็เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง โดยกรมชลประทานจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคให้ 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอหากไม่มีการดักสูบน้ำ แบ่งเป็นน้ำเพื่อคนกรุงเทพฯ 4 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอีก 2 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุปโภคบริโภคของเมืองต่างๆ ที่อยู่ระหว่างทาง ด้านการรักษาระบบนิเวศจะต้องดันน้ำลงมาให้ถึง อ.บางไทร อยุธยา ปทุมธานี เพื่อดันน้ำเค็ม โดยเฉพาะข้างขึ้นข้างแรมที่ต้องระวังเรื่องน้ำกร่อย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่เกิดภาวะแล้งจัด ความชุ่มชื้นในดินลดลง เกษตรกรต่างแอบสูบน้ำ ทำให้มีปริมาณน้ำไปดันน้ำเค็มน้อย อีกทั้งบ่อน้ำต่างๆ ที่มีก็จะไม่พอใช้ และเกิดภาวะตึงเครียดไปถึงเดือนเมษายน แล้วต้องลุ้นให้ฝนตกในเดือนพฤษภาคม

ปัจจุบัน กรมชลประทานมีปริมาณน้ำสำรองที่จะปล่อยได้ในเดือนพฤษภาคมประมาณ 1,400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถ้าคาดการณ์ว่าเดือนมิถุนายน 2559 จะมีฝน ก็จะสามารถใช้น้ำก้อนนี้ได้บ้าง แต่เมื่อดูตัวเลขแล้วตกใจว่า ปริมาณน้ำที่สำรองไว้นั้นกำลังจะถูกใช้แล้ว กลายเป็นภาวะความตึงเครียดเนื่องจากการทำนาปรัง ทั้งๆ ที่รัฐบาลบอกไว้แล้วว่าตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ห้ามปลูกข้าวเด็ดขาด เพราะถ้าปลูกแล้วมีความเสียหายรัฐบาลจะไม่เข้าไปช่วยเหลือ ด้านคลองชลประทานก็ไม่มีการส่งน้ำให้ ยกเว้นในกรณีที่ต้องการรักษาระดับน้ำนอนลำคลองไม่ให้คลองแตกหักเสียหาย หรือคันคลองพังทลายหากไม่มีน้ำไปเลี้ยง แต่เกษตรกรกลับมาสูบน้ำที่มีไว้เพื่อเลี้ยงลำคลองไปใช้ ด้านกรมชลประทานก็จำเป็นต้องเติมน้ำเสมอเพื่อรักษาสภาพลำคลอง (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

น้ำทะเลอาจจะหนุนถึงบางไทร
น้ำทะเลอาจจะหนุนถึงบางไทร

“ซึ่งก็เป็นอย่างนี้ ห้ามสูบก็สูบ ห้ามปลูกก็ปลูก ก็เป็นเรื่องที่หนักทีเดียว”

อย่างพื้นที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ที่หนองจอก ปัจจุบันก็เริ่มปลูกข้าวแล้ว เนื่องจากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องปลูก โดยเฉพาะในกรณีเป็นผู้เช่านาที่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าตลอดจึงต้องปลูกข้าวเพื่อสร้างผลผลิตและนำเงินมาจ่ายค่าเช่า มิฉะนั้นคนอื่นก็จะมาเช่านาแทน เรียกว่าอุปสงค์อุปทาน ถ้าผู้เช่าไม่จ่ายเงินเจ้าของที่นาก็หาคนอื่นมาเช่าแทน ดังนั้น เกษตรกรก็ต้องรักษาสิทธิ์ อีกทั้งยังเห็นว่าในคลองยังพอมีน้ำจึงสูบมาใช้โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวตั้งท้องหรืออายุ 2 เดือนจะต้องสูบน้ำให้ได้เพราะเป็นช่วงที่เริ่มใช้น้ำเยอะขึ้น ถ้าไม่มีน้ำรวงข้าวจะลีบไม่มีเมล็ดข้าว เพราะฉะนั้น เกษตรกรก็จะทนไม่ได้ พอข้าวเริ่มครบ 8 สัปดาห์ ก็ต้องเริ่มหาแหล่งน้ำที่จะมาสูบน้ำใส่นา เพื่อให้ข้าวของตัวเองมีรวงมีเมล็ด มิใช่กลายเป็นหญ้าปลูกไว้เฉยๆ

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2558(พื้นที่ปลูกข้าว สังเกตุจากพื้นที่ที่เป็นสีเขียว) พบว่า มีการปลูกข้าวอายุ 0 ถึง 8 สัปดาห์ซึ่งอยู่ในช่วงที่ต้องการใช้น้ำเยอะประมาณ 3.4 ล้านไร่ อีกทั้งจากการสำรวจตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา พบว่าเริ่มมีการปลูกเพิ่มอีก ดังนั้น ในอีก 2 เดือนข้างหน้าเกษตรกรจะเริ่มต้องการใช้น้ำมาก ซึ่งทุกคนก็จะเริ่มดิ้นรนหาน้ำและเริ่มสูบน้ำโดยต้นน้ำก็ได้นำไปใช้ ส่วนคนที่ปลายน้ก็จะไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค

“ตั้งแต่มกราคม-กุมภาพันธ์ปีหน้า ก็จะเริ่มมีการดึงน้ำ สำหรับหน้าที่เริ่มปลูกมกราคมก็จะเริ่มแล้ว ซึ่งจากภาพจะเห็นว่า ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน ก็ยังเห็นพื้นที่สีเขียวแก่สีเขียวอ่อนซึ่งเริ่มปลูกข้าว ยังมีอยู่ แปลว่ากลุ่มที่ปลูกข้าว 3.4 ล้านไร่จะเป็นปัญหา ไม่ใช่เฉพาะแถวภาคกลาง แต่ไล่ตั้งแต่สุโขทัยลงมาพิษณุโลกและอุตรดิตถ์

ขณะนี้ เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณมากกว่าเขื่อนภูมิพล เพราะฉะนั้น การปล่อยน้ำในเขื่อนสิริกิติ์จึงมีมากกว่า แต่เมื่อปล่อยน้ำออกมาจากแล้วก็จะมีเครื่องสูบน้ำประมาณ 200 เครื่อง ดักสูบน้ำตั้งแต่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ลงมาถึงนครสวรรค์ เพราะฉะนั้น น้ำที่ปล่อยออกมาก็จะถูกดึงไปใช้จากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ที่เริ่มปลูกข้าวบ้างประปราย พิจิตร นครสวรรค์ ที่เริ่มปลูกข้าวจำนวนมากแล้ว ซึ่งน้ำที่สูบไปคือน้ำที่ปล่อยมาเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดลำน้ำนั่นเอง และจะเริ่มแย่งน้ำใช้ที่นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา มาจนถึงปทุมธานีและกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ในภาคกลางบางพื้นที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดีก็จะปลูกข้าว 3 ครั้ง ซึ่งหากปลูกข้าวหลังเดือนพฤศจิกายนต้องบริหารจัดการน้ำอย่างดี หรือที่เรียกว่า “ข้าวนาปรัง” แต่หลายๆ คนเลี่ยงไปพูดว่า “ปลูกข้าวต่อเนื่อง” ซึ่งคือการปลูกครั้งที่สอง ก็ถือเป็นภาระที่จะต้องแย่งน้ำกันระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุปโภคบริโภค ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นพยายามพึ่งตนเองอยู่แล้วจากน้ำบาดาลและสระน้ำในพื้นที่โดยใช้จากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณวันละ 5 แสนล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อย ในขณะที่ผู้บริโภคบริโภคตลอดลำน้ำตั้งแต่ปิง วัง ยม น่าน ลงมา ต้องแย่งน้ำเพื่อการเกษตรกัน ทำให้เกิดปัญหามากตลอดลำน้ำน่าน เจ้าพระยา และป่าสัก อย่างไรก็ตาม หากเกิดการแย่งชิงน้ำขึ้นจริงก็จะทำให้หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีปัญหาน้ำเค็มย้อนขึ้นมาและส่งผลกระทบหลักต่อการผลิตน้ำประปา ส่วนในแม่น้ำท่าจีนก็จะได้รับผลกระทบมากในกรณีของสวนกล้วยไม้ สวนส้มโอ สวนผลไม้ ฯลฯ ที่พึ่งพาน้ำจืด

ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปล่อยลงมาประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ก็พอถ้าไม่มีการดักสูบ ก็แบ่งกันใช้โดยให้คนเมืองระหว่างทาง 2 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในทำน้ำประปาและอุปโภคบริโภค ส่วนที่เหลือให้คนกรุงเทพฯ ใช้วันละ 4 ล้าน ลบ.ม. ถ้ามีน้ำเค็มย้อนขึ้นมาในลำน้ำซึ่งเคยขึ้นไปถึงบางไทรจะอันตรายมาก สำหรับช่วงที่น้ำเค็มขึ้น การประปาก็จะหยุดสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและใช้น้ำจากแก้มลิง คือ คลองประปาซึ่งยาว 30 กิโลเมตร และมีความจุส่วนที่เป็นแก้มลิงประมาณ 8 แสน ลบ.ม. รวมถึงแก้มลิงที่คลองเชียงรากอีกประมาณ 7 แสน ลบ.ม. ซึ่งรวมแล้วกว่าล้าน ลบ.ม. นั้นสามารถช่วยให้การประปาผลิตได้วันละประมาณ 6-8 ชั่วโมงในช่วงที่น้ำเค็ม ซึ่งระยะเวลาที่น้ำจะหายเค็มช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความแรงของน้ำที่ปล่อยลงมา นี่คือมาตรการที่ดีของการประปาเพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็ม

ส่วนน้ำที่การประปาใช้จากแม่น้ำแม่กลองอีกวันละ 1.5 ล้าน ลบ.ม. นั้นไม่มีปัญหา เพราะว่ามีน้ำมากเพียงพอ แต่ยังมองต่อไปว่าจะเอาน้ำส่วนนี้มาผันเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มในลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีทำประตูไว้พร้อมแล้วที่จะปล่อยน้ำจากคลองประปาฝั่งตะวันตกไปไล่น้ำเค็มได้ (ดูการการคาดการณ์น้ำและแผนการจัดการน้ำปี 2558/2559)

“เราต้องช่วยกันประหยัดทุกคน เพราะถ้าเรามองว่าไม่ใช่ภาระของเรา เราเปิดน้ำในก๊อกน้ำก็ยังไม่เค็มเราจึงยังไม่บ่นคงไม่ได้แล้ว เพราะว่าถ้าเราประหยัดขึ้นร้อยละ 10 ก็จะมีน้ำเหลือให้พื้นที่อื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ถึง 5 แสน ลบ.ม. ต่อวันหรือเอาไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำให้อุ่นใจก็ได้ เพราะภาวะที่น้ำอาจจะดีก็อาจจะไม่ดีก็ได้ ซึ่งเราต้องติดตามดูเอง แต่ถ้าเราประหยัดได้ร้อยละ 20 ก็ประหยัดน้ำได้วันละ 1 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้ำปริมาณนี้จะไปเก็บไว้ที่เขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนสิริกิติ์ก็ได้ น้ำก็จะได้ประโยชน์ต่อไป เพราะฉะนั้น จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ จากที่ปกติใช้น้ำวันละ 120 ลิตร ก็เหลือวันละ 110 ลิตร หรือ 100 ลิตร ก็พอ”

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือทีมกรุ๊ป
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือทีมกรุ๊ป

รณรงค์คนกรุงเทพฯ ประหยัดน้ำร้อยละ 10

บางทีเราก็จินตนาการไม่ออกว่า เราใช้น้ำถึง 100 ลิตรต่อวันจริงหรือ แต่ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำต่อวันของคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 150-200 ลิตร ซึ่งเป็นส่วนที่ทุกคนต้องช่วยกันประหยัด เช่น 1. การแปรงฟันใช้แก้วจะช่วยประหยัดน้ำได้ 0.5-1 ลิตร 2. ลดใช้น้ำชักโครก เช่น นำขวดน้ำไปใส่ไว้ถังน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ใช้กดชักโครกในแต่ละครั้ง จาก 6 ลิตร ก็อาจจะเหลือ 5 ลิตร 3. การตักน้ำอาบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทดลองทำเองแล้วได้ผลดีและประหยัดน้ำที่สุด นอกจากนี้ การยืนอาบน้ำในกะละมังแล้วเอาน้ำในกะละมังนั้นไว้กดชักโครกได้ เพราะน้ำอาบของทุกคนจะพอกับน้ำชักโครกของทุกคน ฉะนั้น ควรยืนอาบในกะละมังและรองน้ำไว้ใส่ชักโครกได้ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเลย ส่วนน้ำจากการล้างภาชนะอาจจะไม่สะดวก หรือการล้างรถก็ต้องใช้น้ำน้อยๆ โดยการใช้ถังน้ำ ด้านการซ่อมบำรุงประปา ปัจจุบันสามารถโทร 1125 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงในเขตประปานครหลวง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือปลูกจิตสำนึกการช่วยกันประหยัดน้ำ

แม้ว่าการประปาจะมีการสำรองน้ำใช้ แต่ว่าถ้าคนในกรุงเทพฯ ไม่ช่วยกันประหยัด เพราะว่ายังมีน้ำใช้ตลอดเวลาโดยไม่มีปัญหาจึงไม่สนใจปล่อยให้คนพื้นที่อื่น เช่น ธัญบุรีขาดแคลนน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วธัญบุรีใช้น้ำประมาณ 5 แสน ลบ.ม. ต่อวัน ดังนั้น ถ้าคนกรุงเทพฯ ประหยัดน้ำร้อยละ 10 ก็จะมีน้ำพอให้คนธัญบุรีใช้ได้ด้วย ทำให้คนธัญบุรีไม่ต้องเผชิญสภาวะอย่างปีที่แล้วที่ต้องรองน้ำใช้ประมาณสัปดาห์ก็จะไม่เกิด

อีกประเด็นที่สำคัญคือ “การเข้มงวดห้ามสูบน้ำ” ซึ่งสำคัญมากแต่ทำลำบาก โดยที่รัฐบาลทำในปัจจุบันคือปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและทหารออกไปชี้แจงชาวบ้านบริเวณที่อยู่ริมคลองในพื้นที่ชลประทาน ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทานกระทรวงมหาดไทยก็เริ่มส่งคนไปชี้แจงผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่รณรงค์อย่างไรทุกคนก็ต้องสูบน้ำใช้ เพราะว่าพืชที่ปลูกไปแล้วก็เหมือนกับทรัพย์สมบัติของตัวเอง ไม่มีผลผลิตไม่ได้ จึงทำให้ทุกคนแอบสูบ

ยกตัวอย่างปีที่แล้วจะเห็นว่า เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อเก็บเงินไปสูบน้ำ เนื่องจากแหล่งน้ำมีจำกัดและน้ำแหล่งหนึ่งต้องรอน้ำซับออกมาแล้วผลัดกันสูบเข้าไปในคลองสายเล็กๆ ซึ่งก็เหมือนกับสมัยน้ำท่วมที่เอากระสอบทรายมาการเป็นคลองไว้เพื่อส่งน้ำในพื้นที่ของตัวเอง บางพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำก็มีการสูบอยู่

จากข้อมูลล่าสุดการปลูกข้าวนาปรังที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 3.4 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มมีปัญหาการใช้น้ำในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 นั้น ถ้ามาตรการหยุดปลูกข้าวยังไม่เป็นผลก็จะก่อปัญหาต่อเนื่อง เพราะเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่แล้งที่สุดและมีความต้องการใช้น้ำเพื่อทำนาปรังสูงสุด เมื่อปัญหาประดังเข้ามา แต่คนยังไม่เชื่อว่าสภาวะแล้งหลักจะเกิดขึ้นจริงต่างคนต่างก็ไม่หยุดปลูกข้าว เพราะฉะนั้น นอกจากการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยแล้ว คิดว่าต้องไปต้องใช้มาตรการเด็ดขาดให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัดหรือหน่วยทหารที่ต้องเข้าไปปฏิบัติการทางจิตวิทยา แม้ว่าทุกวันนี้มีประชาสัมพันธ์และออกพูดคุยกับชาวบ้าน แต่ระยะนี้ต้องร่วมกันเดินตรวจพื้นที่เพื่อปรามเกษตรกร อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่เมื่อทหารคล้อยหลังก็แอบสูบน้ำต่อ

มาตรการรับมือภัยแล้ง

นาปรังมากเกินปริมาณสำรองที่ใช้ได้ 3 เท่า

ถ้าการจัดการน้ำเป็นไปได้ตามที่กรมชลประทานวางแผนไว้ ก็จะมีน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำ 1,400 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับปลูกข้าวได้ประมาณ 1 ล้านไร่แต่ตัวเลขนี้ไม่อยากพูดเพราะคนจะบอกว่าปลูกได้ตั้ง 1 ล้านไร่ ของฉันแค่ 10 ไร่เอง ดังนั้น ต่างคนต่างก็จะปลูกข้าวคนละ 10 ไร่ แต่เมื่อรวมพื้นที่ทั้งประเทศแล้วปรากฏว่าปลูกข้าว 10 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเคยปลูกมากถึง 8 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันปลูกแล้ว 3.4 ล้านไร่ เป็นภาระที่เกินกว่ากำหนดไว้แล้วถึง 3 เท่า และถ้ายังไม่สามารถหยุดปลูกข้าวได้ในแต่ละเดือน ก็อาจจะมีนาปรังเพิ่มขึ้น 3 ล้านไร่ และเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้วก็ลำบากแน่

การเดินตรวจคลองของภาครัฐเพื่อบอกว่าห้ามสูบน้ำเด็ดขาด หลายคนบอกว่าห้ามไม่ได้ เพราะกรมชลประทานเป็นผู้ส่งน้ำให้ชาวบ้าน อยู่ด้วยกันมาเป็น 100 ปี จะมาหักหาญกันไม่ได้ ในขณะที่ทางฝ่ายปกครองของจังหวัดก็ทำอะไรลำบาก ดังนั้น ทหารต้องใช้ความเข้มแข็งและความมีวินัยของตัวเองเข้าไปช่วย ซึ่งปัจจุบันเริ่มปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อให้เกษตรทราบความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้น แต่จากภาพถ่ายดาวเทียมของปริมาณการทำนาปรังที่เกิดขึ้น ก็สะท้อนว่ามาตรการห้ามสูบน้ำ ห้ามปลูกข้าว ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติการจิตวิทยา ที่รัฐบาลได้เริ่มทำไปแล้ว รวมถึงการส่งเสริมในหลายๆ ด้านที่กระทรวงต่างๆ จะเข้ามาดำเนินการร่วมกันนั้นจะได้ผลหรือไม่ต้องติดตามต่อไป (ดูมาตรการแก้ภัยแล้งของรัฐบาล)

กรณีมาตรการ “สนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อให้ปลูกพืชอื่นทดแทน” ความเห็นส่วนตัวคิดว่าทำลำบาก แต่กรมส่งเสริมการเกษตรก็ต้องพยายาม กรมวิชาการเกษตรก็ต้องสนับสนุนพันธุ์ให้เกษตรกร แต่ที่แย่ก็คือ การที่ต้องเพาะปลูกพืชที่ไม่คุ้นเคย เกษตรกรก็ไม่สนใจไม่กล้าที่จะปลูก แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าสินค้าชนิดนั้นตลาดมีความต้องการสูง

เช่น สนับสนุนการปลูกถั่วเหลือง เพราะความต้องการไม่จำกัดและประเทศไทยต้องนำเข้าปีละ 2 ล้านตัน โดยบอกให้เกษตรกรปลูกเพราะมีตลาดแน่นอน แต่เกษตรกรที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลือง หรือไม่ใช่เกษตรกรภาคเหนือที่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อนจนประสบความสำเร็จ ภาครัฐจะต้องฝึกฝน ฝึกอบรมให้เกษตรกรอย่างจริงจังโดยระดมทีมเข้าไปช่วยเหลือ ถึงจะทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ไม่คุ้นเคยได้ การสนับสนุนปลูกพืชอื่นก็จะประสบความสำเร็จ

หากรัฐใช้วิธีสอบถามเกษตรกรว่า ใครสนใจให้มารับพันธุ์ไปปลูกก็อาจจะมีปัญหาเรื่องตลาด เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกษตรกรปรับตัวคือตลาด ถ้าหากขายได้ราคาต่ำหรือขาดทุนเกษตรกรก็ไม่อยากลงทุน กลับไปปลูกข้าวง่ายที่สุด ต้นทุนการผลิตต่อไร่ต่ำที่สุด ใช้แรงงานน้อยที่สุด และเครื่องจักรให้เช่าพร้อมเพียงแค่มีแหล่งยืมเงิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปส่งเสริมโดยปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วในการชะลอการชำระหนี้หรือลดดอกเบี้ย

สำหรับพืชอื่น เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ พืชผักสมุนไพร นั้นตลาดก็ไม่ค่อยแน่นอน โดยเฉพาะสมุนไพรซึ่งเป็นพืชที่ปลูกแล้วต้องดูแลให้ดีด้วย นอกจากนี้คือปศุสัตว์และประมง แคนตาลูปหรือผักผลไม้ เป็นพืชที่ต้องการน้ำ ดังนั้น หากจะปลูกต้องบริหารจัดการน้ำให้ดีเพราะทนแล้งได้น้อย

การจัดสรรน้ำของรัฐบาลต้องการเก็บน้ำในอ่างให้ได้มากที่สุดอยู่แล้ว แต่ด้วยภาวะฝนน้อยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยน้ำลงมาเป็นระยะ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ นอกจากนี้ รัฐยังส่งเสริมการสร้างงานในชนบท เช่น การปรับปรุงคลอง การปรับปรุงท่อการส่งน้ำ ฯลฯ ณ ตอนนี้ทางกรมชลประทานจ้างแรงงานเกษตรเข้ามารับงาน เช่น การปรับปรุงคลอง ท่อน้ำ ประตูน้ำ ขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ขุดบ่อขนาดเล็ก ฯลฯ ที่สามารถใช้แรงงานเกษตรได้ แต่ยังขาดการเชื่อมโยงแหล่งน้ำระหว่างหมู่บ้านกับสระขนาดเล็กหรือขนาดกลาง

การผันน้ำในอ่างมีความจำเป็นที่ต้องยึดโยงกันคือ เมื่อขุดสระขนาดเล็กในพื้นที่แล้ว น้ำฝนที่ตกลงมาจะมีเพียงพอหรือไม่ หรือจะเชื่อมกับแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่อย่างไร ที่สำคัญคือ การจัดสรรพื้นที่ปลูกพืชที่เหมาะสม หรือโซนนิ่ง ซึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน่าจะเริ่มทำเป็นพื้นที่ทดลองว่าต้นทุนดินและน้ำที่มีของบริเวณต่างๆ เหมาะที่จะปลูกพืชใด แล้วกรมส่งเสริมการเกษตรก็เข้ามาดำเนินการต่อเพื่อสนับสนุนกรปลูกได้เต็มที่ และเริ่มฝึกอบรมให้คนใช้น้ำเพื่อการเกษตรประเภทนั้นๆ

แต่ปัจจุยันก็ยังไม่ได้เริ่มทำสักที และตอนนี้เป็นวิกฤติที่รัฐต้องเริ่มทำแล้ว ตรงไหนที่ทดลองได้หรือพอจะมีน้ำอยู่บ้างก็น่าจะรีบจัดโซนนิ่งเลย ซึ่งการจัดแบบนี้รัฐบาลต้องลงมือก่อนจะรอให้เกษตรกรบอกว่าอยากปลูกอะไรแล้วมาแจ้งรัฐเพื่อรอการจัดสรรน้ำคงไม่ได้แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสที่รัฐจะปรับเปลี่ยนเกษตรกร โดยรัฐต้อง 1. จัดโซนนิ่ง 2. ให้คำแนะนำการเพาะปลูก 3. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และ 4. สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การฝึกอบรมเพาะปลูกและการดูแลพืช เพราะถึงแม้พืชจะอายุ 90 วัน แต่การดูแลต้องใกล้ชิด เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่คุ้มค่า เพียงแต่ว่าเกษตรกรไม่เคยปลูกจึงไม่มั่นใจด้านการตลาด และ 5. รับซื้อและสนับสนุนการตลาดซึ่งบางครั้งพูดลำบาก เพราะเหตุยังไม่เกิดจึงไม่รู้ว่าจะเหมือนกับการประกันราคาข้าวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การรับซื้อในโซนนิ่งต้องมองตั้งแต่หัวจรดท้าย คือถ้ามองว่าพื้นที่ไหนเหมาะจะปลูกแคนตาลูปก็ทุ่มเทการปลูกแคนตาลูปให้เต็มที่ ให้กลายเป็นอำเภอแคนตาลูป หมู่บ้านแคนตาลูป ตำบลแคนตาลูป และแหล่งผลิตแคนตาลูปแหล่งใหญ่ของประเทศ แล้วกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วยเรื่องปัจจัยต่างๆ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ซึ่งถ้าเกษตรกรทำตามที่กำหนดได้ทำไมรัฐบาลจะไม่การันตีรับซื้อผลผลิต

“อย่าไปนึกว่ารัฐบาลเดิมทำข้าวล้มเหลวแล้วจึงไม่ทำ เพราะเราไม่ได้ทำอย่างนั้น เรากำหนดให้ตรงนี้ปลูกแคนตาลูป ตรงนี้ปลูกถั่วเหลือง ตรงนี้ปลูกถั่วญี่ปุ่น ถ้ารัฐไม่รับซื้อก็ย้อนไปที่เดิมว่าใครจะอยากเสี่ยง ยิ่งไม่เคยปลูกด้วย”(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

team2

โครงการผันน้ำ ความจำเป็นใหม่ในภาวะภัยแล้ง

การผันน้ำของไทยมีโครงการผันน้ำอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งโครงการที่ทำไปแล้วและได้ประโยชน์ คือ การผันน้ำจากวังโตนดมาไว้ที่อ่างประเเสร์ ทำให้อ่างประเเสร์มีน้ำเต็มในปัจจุบัน ด้วยการจัดการเพิ่มเติมความจุโดยเพิ่มบานประตูและสูบน้ำจากวังโตนดมาเติมด้วย แต่ในโครงการอื่นที่ใกล้เคียงกันก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น อ่างบางพระที่มีน้ำไม่เต็ม เนื่องจากแม่น้ำบางปะกงมีน้ำน้อย และไม่ใช่น้ำชายทะเลเหมือนแม่น้ำคลองวังโตนด คลองเวฬุ คลองจันทบุรี คลองตราด

หลายคนไปพูดถึงการผันน้ำจากต่างประเทศ แต่การจะใช้น้ำจากต่างประเทศได้ต้องพูดคุยกันเป็น 10 ปี เพราะว่าลงทุนสูงและเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ต้องแก้กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงค่าตอบแทนเพราะประเทศที่จะให้น้ำเราได้คือ เมียนมา ลาว ซึ่งมีน้ำมากเหลือใช้แต่ว่าฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าไทย เพราะฉะนั้น ไทยจึงต้องซื้อน้ำ แต่หลายคนก็บอกว่าจะซื้อน้ำต่างประเทศทำไม ทำไมไม่จัดการน้ำในประเทศให้ดีก่อน “การผันน้ำจากประเทศต่างๆ ต่อจากนี้ 10 ปี ก็เหมือนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือเราต้องเริ่มปูพื้นฐานกันแล้วตั้งแต่วันนี้ การศึกษาโครงการที่ทำอยู่ขณะนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น”

สำหรับการผันน้ำในประเทศอย่างโครงการกก-อิง-น่าน นั้น ทั้งกรมชลประทานและไจกา (JICA: Japan International Cooperation Agency) ได้ศึกษาไว้ 10 กว่าปีแล้ว โดยเอาแม่น้ำจากแม่น้ำกกผันมาลงแม่น้ำอิงแล้วผ่านลงแม่น้ำน่าน เพื่อไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าบางปีเขื่อนสิริกิติ์ก็มีน้ำเต็ม ซึ่งช่วง 7-8 ปีก็อาจจะไม่ได้ผันน้ำ แต่ในรอบ 7 ปี ถ้าได้ใช้เพียง 1 ปี ก็คุ้มค่าเพราะว่าบางปีจากการศึกษาและการดูจากรายละเอียดโดยเฉลี่ยจะผันน้ำมาได้ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความจุน้ำของเขื่อนภูมิพลมีน้ำที่ใช้การได้ 6,500 ล้าน ลบ.ม. ถ้าเรามั่นใจว่ามีน้ำมาเติมได้แน่ๆ 2,000 ล้าน ลบ.ม. เราก็กล้าที่จะให้น้ำล่วงหน้าไปใช้ 2,000 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำได้เต็มที่เลย และสามารถสำรองน้ำไว้ได้ทัน

ตัวเลขข้างต้นผ่านการวิเคราะห์มาทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่ว่าไปแย่งน้ำของคนแม่น้ำกก เพราะน้ำกกไหลออกมาจากเชียงรายซึ่งถัดขึ้นไปจากเชียงรายมีคนใช้น้อยแล้ว ส่วนน้ำอิงก็ผันมาจากเมืองเทิงซึ่งจากเมืองเทิงมาถึงแม่น้ำโขงมีคนใช้น้ำน้อย ดังนั้นเมื่อนำแม่น้ำ 2 สายมารวมกันแล้วผันลงที่แม่น้ำน่าน บริเวณท่าวังผา ลงอุโมงค์ยาว 52 กิโลเมตร โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 88,000 พันล้านบาท

อีกโครงการที่มีรายงานการศึกษาชัดเจนหมดแล้วและควรเริ่มทำโครงการได้เลย คือ สบเมย-สาละวิน โดยเริ่มทำเหมือนโครงการกก-อิง-น่าน ที่ศึกษามา 15 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้สร้างใดๆ เลย เพราะฉะนั้น ในส่วนโครงการผันน้ำต่างๆ ก็เริ่มทำได้เลยถ้าอีก 10 ปีข้างหน้าได้สร้างก็ดี จะได้มีน้ำมาเติมเขื่อนภูมิพล ซึ่งปัจจุบันมีน้ำแค่ร้อยละ 9 ยังขาดอีกร้อยละ 91 ของความจุเขื่อน ซึ่งจะผันน้ำลงเขื่อนภูมิพลได้ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. เช่นกัน

นี่คือการผันน้ำในภาคเหนือที่ศึกษาไว้แล้วอย่างดี แต่การจะเริ่มโครงการต่อต้องทบทวนเรื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ เพราะช่วง 15 ปีที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วแต่คงทบทวนไม่มากก็สามารถออกแบบก่อสร้างได้เลย ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุนต้องมาคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับโครงการผันน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือโครงการห้วยหลวง ลำปาว หนองหาน ซึ่งจะผันน้ำได้ 600 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี โดยมีงบประมาณก่อสร้างที่ 32,000 ล้านบาท การส่งน้ำจะมาห้วยหลวง มากุมภวาปีและปล่อยน้ำมาเก็บที่อ่างลำปาว ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำปาวขยายความจุเป็นเพิ่มขึ้นอีก 500 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมมีความจุเพียง 700 ล้าน ลบ.ม. นั่นคือพร้อมที่จะรับน้ำที่ผันมาแล้ว(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

team10

ทั้งนี้ ยังปิดปากคลองห้วยหลวงที่อุดรธานีที่จะไหลลงแม่น้ำโขงไว้แล้ว ทำให้พื้นที่รอบข้างมีน้ำที่สามารถสูบมาใช้งานได้รวม 6,000 ไร่ และมีความสามารถสูบได้เต็มที่ถึง 24,000 ไร่ ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลผ่านมาที่หนองหาน กุมภวาปี และก็ไหลตามธรรมชาติลงมาที่ลำปาว โดยจะมีน้ำมาเติมที่ลำปาวประมาณ 500-600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันกรมชลประทานสร้างอ่างลำปาวเสร็จมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีน้ำมาเติมเลย เพราะฉะนั้น รัฐควรเร่งรัดดำเนินการเพราะโครงการศึกษาไว้เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผันน้ำอื่นๆ อีกหลายโครงการที่มีการศึกษา เพียงแต่ว่า 2 โครงการนี้ศึกษาเรียบร้อยแล้วควรจะไปดำเนินการต่อได้ (ดูโครงการการผันน้ำทั้งหมด)

ย้ำภาครัฐต้องเข้มงวด “ห้ามนาปรัง-งดสูบน้ำ”

ที่สุดแล้วคือ ภาคครัวเรือนต้องประหยัดน้ำ สร้างความร่วมมือของภาคเกษตรกับกรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทยที่จะไม่สูบน้ำไปใช้ โดยกรมชลประทานมีมาตรการเพิ่มเติมจากรัฐบาล เช่น

ควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทาน โดยประตูน้ำจะรับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น จะไม่ยอมให้มีน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนพื้นที่นอกชลประทานที่ดูแลโดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเจ้าหน้าที่อาจจะดูแลลำบาก เพราะเป็นประชาชนใกล้ชิดที่ดูแลกันมา ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องให้คนที่มีระเบียบสูงอย่างทหารเข้าไปปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อพูดคุยกับเกษตรให้เข้าใจว่า ถ้าสูบน้ำอย่างนี้ก็จะทำให้น้ำหมด ซึ่งลำน้ำและคลองส่งน้ำบางแห่งจำเป็นต้องมีน้ำเพื่อรักษาตลิ่งไม่ให้พัง และห้ามสูบน้ำเพื่อการเกษตรเด็ดขาด แต่ปัจจุบันปลูกข้าวมาแล้ว 3.4 ล้านไร่ แล้วจะเด็ดขาดได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเรื่องสถานีสูบน้ำของประปาที่กำหนดให้สูบน้ำได้ตามรอบเวรที่ตกลงกันไว้ ลดการเลี้ยงกุ้ง ลดเลี้ยงปลาในกระชัง และห้ามปล่อยน้ำเสีย แต่ที่น่าห่วงที่สุดก็คือเรื่องการสูบน้ำ อย่างที่เรียนว่าในพื้นที่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ มีเครื่องสูบน้ำกว่า 200 เครื่อง และภาคกลาง 22 จังหวัดมีเครื่องสูบน้ำอีกกว่า 300 เครื่อง รวมเป็น 500 เครื่อง ซึ่งรัฐจะควบคุมการสูบน้ำของคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร

นอกเหนือจาก 8 มาตรการของรัฐยังมีมาตรการที่ต้องไปสนับสนุนอีก ซึ่งถ้าไม่ทำโซนนิ่งให้ชัด ไม่สนับสนุนการปลูกในพื้นที่จำเพาะอย่างจริงจัง ก็จะทำให้คนไม่กล้าไปปลูกพืชอื่น รัฐเพียงแต่บอกว่าส่งเสริมการปลูกอื่นเฉยๆ กับเกษตรกรไม่ได้ ต้องจับมือร่วมกันเลยเป็นระบบโดยที่รัฐสนับสนุนเต็มที่ถึงการตลาด

ทั้งนี้ การเกษตรบางอย่างต้องใช้เงินทุน เช่น การทำระบบน้ำหยด โดยเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจะช่วยลดการชำระหนี้ของปีนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและดอกเบี้ยจะไปจ่ายแทนโดยตั้งในงบประมาณจ่ายแทนดอกเบี้ยซึ่งเป็นหนี้เก่า แต่สำหรับเกษตรกรเขาได้ปลูกแคนตาลูป ปลูกผัก ในระบบสปริงเกอร์หรือระบบน้ำหยดซึ่งจำเป็นต้องทำเพราะมีปริมาณน้ำน้อย ก็เป็นโอกาสที่จะให้เกษตรกรตั้งตัวได้ในโซนนิ่งที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ฯลฯอีกทั้งการจัดโซนนิ่งจะทำให้รู้ได้ว่าปริมาณผลผลิตที่จะต้องรับซื้อนั้นเท่าไหร่ และหาตลาดล่วงหน้าได้ ดังนั้น หากรัฐบอกว่า ประเทศไทยนำเข้าถั่วเหลืองปีละ 2 ล้านตัน ก็ต้องจูงใจให้คนมาปลูกถั่วเหลืองให้ได้ 2 ล้านตัน

ฉะนั้น ภาครัฐต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างจริงจัง ซึ่งหน้าแล้งนี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่า พื้นที่ไหนบ้างที่มีน้ำพอที่จะเพาะปลูกได้ และถ้ารัฐกล้าที่นำน้ำสำรอง 1,400 ล้าน ลบ.ม. มาใช้ก็เอามาใช้เลยเพราะเชื่อว่าการพยากรณ์ของ NOAA ถูกต้อง แต่ต้องใช้น้ำอย่างมีเป้าหมาย โซนนิ่งพื้นที่ ส่งเสริมการปลูก ทุ่มเทอย่างจริงจัง ในพื้นที่ที่สามารถทำได้ประมาณ 1-2 ล้านไร่ในภาคกลาง ทั้งนี้ควรเริ่มต้นในช่วงนี้ที่ดินยังพอมีความชุ่มชื้นอยู่บ้าง เพราะว่าหากถึงเดือนกุมภาพันธ์แล้วจะร้อนจัด

“ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยถ้ารัฐจะจ่ายเงินชดเชย เพราะคำพูดของรัฐบาลต้องศักดิ์สิทธิ์ เมื่อประกาศห้ามปลูกข้าวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน นั่นก็คือห้ามปลูก แต่เราก็เห็นว่ามีการปลูกแล้ว ทั้งนี้การจ่ายชดเชยเพื่อห้ามปลูกนั้น เนื่องจากเหตุยังไม่เกิดรัฐจะจ่ายได้ไหมยังต้องคุยกันในรายละเอียด เพราะใครๆ ก็สามารถพูดได้ว่า “ผมกำลังจะปลูกเพราะว่าต้องการเงิน” ซึ่งต้องระวังเพราะภาคกลาง 22 จังหวัดรวมพื้นที่ 8 ล้านไร่ แล้วยังมี 7 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งเราจะบอกว่าคน 22 จังหวัดพิเศษของประเทศนี้หรือไง ถึงไม่ปลูกแล้วจ่ายชดเชยไร่ละ 1,000 บาท เหมือนสวนยางพารา ในขณะที่สวนยางพารามีหลักฐานอยู่ว่าเขาปลูก

ดังนั้น มาตรการประกาศแล้วว่าไม่ให้ปลูกก็ต้องไม่ปลูก ถ้าปลูกก็คือข้าวตาย มิฉะนั้นเกษตรกรอาจตั้งใจปลูกข้าวให้ตายเพื่อขอค่าชดเชยไร่ละ 1,000 บาทในภายหลังได้ เนื่องจากเดือนมีนาคม-เมษายนก็จะเริ่มไม่มีน้ำซึ่งจะเหมือนกับปีที่แล้วอีก ที่ตั้งงบประมาณมาจ่ายค่าชดเชยให้รวม 2.4 ล้านไร่ ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลให้ไร่ละ 1,000 คน ก็จะปลูกเพิ่มจากที่ปลูกแล้ว 3.4 ล้านไร่ ก็จะปลูกเต็มทุกพื้นที่ ซึ่งถ้าจ่ายชดเชยให้กับ 3.4 ล้านไร่ที่ปลูกมาแล้วซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ฝืนคำสั่ง ก็จะทำให้มีคนอื่นฝืนคำสั่งอีก แล้วถ้าปลูกเต็มพื้นที่ 8 ล้านไร่ รัฐบาลจะทำอย่างไร สู้เอามาทุ่มให้พื้นทีทดลองเพียง 1 ล้านไร่ อย่างเต็มที่โดยดูตั้งแต่หัวจรดท้ายดีกว่า

ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกทดลองทำได้ถึง 2 ล้านไร่ ถ้าไม่ปลูกข้าวเลยแต่ปลูกพืชไร่หรือพืชผักทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม 2 ล้านไร่เป็นขนาดพื้นที่ที่ไม่อยากพูดถึงนัก เพราะเกรงว่าภาครัฐจะมีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมไม่เพียงพอ โดยพื้นที่ทดลองสามารถจัดการได้ในพื้นที่ภาคกลาง 22 จังหวัด รวมถึงขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม

“ตอนนี้ก็พยายามชี้ให้เห็นชัดๆ ว่ามีปัญหาแน่ๆ เดี๋ยวดูเดือนกุมภาพันธ์นี้เถอะ รัฐบาลก็จะเดือดร้อนเพราะว่าข้าวเริ่มตายตั้งแต่เดือนมกราคม โดยจะเห็นชัดในเดือนกุมภาพันธ์ ตอนแรกเกษตรกรก็เริ่มสู้โดยการสูบน้ำ หรือแอบสูบน้ำลับหลังทหารและฝ่ายปกครอง แล้วคนที่อยู่ท้ายน้ำก็จะไม่มีน้ำใช้ ก็จะลำบาก ซึ่งคนที่ไม่มีน้ำคือแม้แต่น้ำอุปโภคบริโภคก็ไม่มี”