ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > กสทช. รับรองผลประมูลคลื่น 900 – JAS ยันมีแหล่งทุนเพียงพอ เล็งจับมือพันธมิตรต่างชาติ TRUE หวังครองส่วนแบ่งตลาด 34%

กสทช. รับรองผลประมูลคลื่น 900 – JAS ยันมีแหล่งทุนเพียงพอ เล็งจับมือพันธมิตรต่างชาติ TRUE หวังครองส่วนแบ่งตลาด 34%

22 ธันวาคม 2015


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 บริษัทเอกชน 2 รายที่ชนะการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (คลื่น 900) เพื่อนำไปให้บริการในระบบ 4G ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้แก่

  1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด หรือ JAS MOBILE ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ชุดที่ 1 (895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz) ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท
  2. บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TRUEMOVE-H ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 (905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz) ด้วยราคา 76,298 ล้านบาท

ได้เปิดแถลงข่าวถึงแผนการประกอบธุรกิจในอนาคตหลังจากได้คลื่นความถี่ย่านนี้

พิชญ์1
นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

JAS ยันมีแหล่งเงินพอ ไม่ต้องเพิ่มทุน – ตั้งเป้าลูกค้า 5 ล้านราย ใน 3 ปี

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS บริษัทแม่ของ JAS MOBILE กล่าวว่า การได้คลื่น 900 ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่ม JAS ที่ทำธุรกิจบรอดแบนด์มาหลายปีจนประสบความสำเร็จ มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นลำดับ 2 ของไทย เพราะในอนาคต ตลาด fixed broadband กับ mobile broadband จะเกิดการหลอมรวม ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม JAS มีฮอตสปอตอยู่กว่า 1 แสนจุดทั่วประเทศ และมีร้านค้าอยู่กว่า 300 แห่งอยู่แล้ว

“เราตั้งเป้าว่าภายในปีแรกจะมีลูกค้าอย่างน้อย 2 ล้านราย เนื่องจากมีฐานผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ของ 3BB อยู่แล้วกว่า 2 ล้านครัวเรือน และภายใน 3 ปี จะทำให้มีลูกค้าถึงกว่า 5 ล้านราย ซึ่งจากที่เราประเมิน เป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ยากจนเกินไป โดยปัจจุบันตลาดมือถือมีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท หากได้ส่วนแบ่งมาสัก 10% ก็จะทำให้กลุ่ม JAS มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาดบรอดแบนด์เวลานี้มีมูลค่าแค่ราว 5-6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น”

นายพิชญ์กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยเรื่องแหล่งเงินทุน กลุ่ม JAS มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ทั้งกองทุน JAS-IF ที่หลังจ่ายปันผลไปยังเหลือเงินสดอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท กระแสเงินสดของ 3BB ที่มีรายได้อยู่ที่ปีละ 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่ม JAS ยังเพิ่งออก warrant ไปเมื่อกลางปี 2558 มีอายุ 5 ปี ซึ่งหากดำเนินกิจการให้ดีก็จะสามารถระดมทุนได้อีก 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมถึงการขอกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่เบื้องต้นมีติดต่อเข้ามาหลายแห่ง ทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งน่าจะได้มาอีกหลายหมื่นล้านบาท และหากธุรกิจมือถือเติบโตได้เร็ว ก็จะทำ IPO หุ้น JAS MOBILE ขณะที่เวลานี้ยังมีการเจรจากับพันธมิตรต่างชาติอย่างน้อย 2 ราย ให้เข้ามาร่วมทุนกับ JAS MOBILE แต่จะไม่ให้เป็นผู้ถือหุ้นหลัก เพราะต้องการให้ยังเป็นบริษัทของคนไทย

“จึงเชื่อว่าเรามีแหล่งทุนมากเพียงพอ โดยไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน JAS จึงขอเรียนให้ผู้ถือหุ้น JAS สบายใจ”

นายพิชญ์ยังกล่าวว่า สำหรับการเปิดให้บริการคลื่น 900 จะทำอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากมีการเตรียมการล่วงหน้านานแล้ว โดยจะขอเช่าเสาส่งสัญญาณจากรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรกจะลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทั้งด้านการตลาดและด้านการให้บริการ เบื้องต้นกลุ่ม JAS มีฮอตสปอตอยู่ใน 5,500 ตำบล ก็จะทำให้ครบทุกตำบล คาดว่าจะสามารถให้บริการ 4G ได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนจะใช้ชื่อใด ยังอยู่ระหว่างการหารือกัน ยืนยันว่าจะไม่ไปเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทผู้ให้บริการมือถือรายอื่นๆ ในตลาดเวลานี้

“ทุกคนมองว่าธุรกิจนี้คือ red ocean แต่ผมมองว่าเป็น blue ocean ถ้าไปดูรายละเอียดรายได้จากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในตลาดเวลานี้ ส่วนใหญ่จะมาจาก voice เป็นหลัก สำหรับ data ส่วนใหญ่ยังเพิ่งเริ่มต้น เหตุที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายเดิมอีก 2 บริษัท ไม่สู้ราคา เพราะมองว่าการประมูลคลื่น 900 ทำไปเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือแค่เปลี่ยนจากระบบสัมปทาน จึงตั้งลิมิตไว้ที่จุดหนึ่ง ต่างกับกลุ่ม JAS ที่ยังไม่มีลูกค้าสักราย แต่เห็นว่านี่คือโอกาสสำคัญ มุมมองของเราจึงแตกต่างกัน” นายพิชญ์กล่าว

ศุภชัย1
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

TRUE หวังคลื่น 900 เป็นสปริงบอร์ด ครองส่วนแบ่งตลาดมือถือ 34% ใน 5 ปี

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE บริษัทแม่ของ TRUEMOVE-H กล่าวว่า คลื่น 900 มีศักยภาพสูงที่สร้างความครอบคลุมได้กว้างไกล เหตุที่กลุ่ม TRUE ประมูลคลื่นนี้เพราะเราประเมินว่าคลื่น 900 จะช่วยประหยัดการลงทุนภายใน 5 ปีข้างหน้าได้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาท เพราะมีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่าคลื่นอื่นๆ โดยสูงกว่าถึง 3 เท่า ที่สำคัญ คลื่น 900 ของไทย ยังเป็นคลื่นที่มีผู้ใช้บริการอยู่แล้วคิดเป็น 50% ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศ เฉพาะผู้ใช้งานในระบบ 2G ที่มีอยู่กว่า 15 ล้านราย ส่วนใหญ่ก็ใช้คลื่น 900 นี่คือมูลค่าเพิ่มและเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการประมูลคลื่น 900 ในต่างประเทศที่ได้เพียงคลื่นเปล่าๆ

“หลังจากกลุ่ม TRUE ได้คลื่น 900 มา ทำให้เป็นผู้ที่มีคลื่นในมือมากที่สุด ทั้งคลื่น 850 (ความกว้าง 15 MHz) คลื่น 900 (ความกว้าง 10 MHz) คลื่น 1800 (ความกว้าง 15 MHz) ที่เพิ่งชนะการประมูลจาก กสทช. มาก่อนหน้านี้ และคลื่น 2100 (ความกว้าง 15 MHz) รวมความกว้างทั้งหมด 55 MHz จึงมีศักยภาพพร้อมจริงๆ ที่จะให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 4G ที่ดีที่สุด ต่างกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีความกว้างของคลื่นในมือเพียง 30 MHz 15 MHz และ 10 MHz ซึ่งกลุ่ม TRUE ก็ตั้งเป้าจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารระดับโลก โดยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน”

นายศุภชัยกล่าวว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า กลุ่ม TRUE จะลงทุนเพิ่มเติม 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเน้นที่การให้บริการในระบบ 4G เป็นหลัก โดยแหล่งทุนจะมีที่มาหลากหลายทั้งจากกระแสเงินสดที่บริษัทมี กองทุน TRUE-DIF รวมถึงการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ แต่รายละเอียดคงเปิดเผยมากไม่ได้ เนื่องจากติดระเบียบของ ก.ล.ต. ส่วนจะจำเป็นต้องเพิ่มทุนหุ้น TRUE หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น แต่ผู้บริหารยังไม่มีแผน ทั้งนี้ ปัจจุบัน กลุ่ม TRUE มี D/E Ratio อยู่ที่ 2.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเคยขึ้นไปถึง 11 เท่า แต่บริษัทก็สามารถนำเงินมาใช้หนี้ได้ทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่ต้องแฮร์คัทหนี้เลย นี่คือชื่อเสียงของเราที่จะไม่ให้เสีย

“ผมยอมรับว่าการประมูลคลื่น 900 ครั้งนี้มีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่เราคิดแล้วว่าบริหารจัดการได้ เพราะการที่ได้คลื่นซึ่งยังมีผู้ใช้บริการอยู่ ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ขณะคนอื่นที่ต้องการก็ไม่ได้ มันคือ 2 เด้ง การแข่งขันหลังจากนี้คงจะสู้กันที่เรื่องของโครงข่าย เรื่องการตลาดคงไม่มีความหมายเท่าไร ซึ่งกลุ่ม TRUE ก็เคยพิสูจน์ว่าสามารถทำได้ โดยในอดีตมีคลื่นความกว้างรวมกันเพียง 12.5 MHz ก็ยังสามารถทำให้มีโครงข่ายที่ดีมากๆ ให้บริการได้ครอบคลุมมาแล้ว จึงเชื่อว่าการมีคลื่น 900 จะเป็นสปริงบอร์ดให้กับกลุ่ม TRUE มุ่งสู่ก้าวต่อไป”

นายศุภชัยยังกล่าวว่า เป้าหมายที่เราจะทำหลังจากนี้คือ จะเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่าตลาดจาก 20% ในขณะนี้ เป็น 34% ให้ได้ภายใน 5 ปี จะเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ของวงการหรือไม่ไม่สำคัญ ขอให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับทั้งบริษัทและผู้ลงทุน

คลื่น900
ผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ของ กสทช. จบลงที่รอบ 198 ในช่วงเช้าของวันที่ 19 ธันวาคม 2558 หลังใช้เวลาประมูล 66 ชั่วโมงเศษ โดยราคาประมูลสุดท้ายรวมกันอยู่ที่ 151,952 ล้านบาท

กสทช. รับรองผล – ให้จ่ายค่าประมูลงวดแรก 8 พันล้าน ใน 90 วัน

วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กสทช. มีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อพิจารณารับรองผลการประชุมคลื่น 900 โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค. มีมติรับรองผลการประมูลคลื่น 900 ที่มีผู้ชนะการประมูล ได้แก่ บริษัทแจสโมบายฯ (ในกลุ่ม JAS) และบริษัททรูมูฟเอชฯ (ในกลุ่ม TRUE) โดยจะมีหนังสือแจ้งผลการประมูลไปยังบริษัทเอกชนทั้ง 2 บริษัทภายในวันเดียวกันนี้ และให้นำเงินค่าประมูลงวดแรก 50% ของมูลค่าคลื่น หรือ 8,040 ล้านบาท มาชำระภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับใบอนุญาตให้ครบถ้วน

“สำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 2G บนคลื่น 900 [ลูกค้าของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS] จะซิมดับก็ต่อเมื่อมีการออกใบอนุญาตให้กับผู้ชนะประมูลรายใดรายหนึ่งแล้ว” นายฐากรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 กสทช. กำหนดไว้ว่า ในปีแรก จ่าย 50% ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น หรือ 8,040 ล้านบาท ปีที่ 2 และปีที่ 3 จ่ายปีละ 25% ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น หรือ 4,020 ล้านบาท และปีที่ 4 ให้จ่ายเงินค่าประมูลที่เหลือทั้งหมด ซี่งบริษัทแจสโมบายฯ จะต้องจ่าย 59,574 ล้านบาท และบริษัททรูมูฟเอชฯ จะต้องจ่าย 60,218 ล้านบาท