ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. แจงหลักสูตร นยปส. เกิดผลต้านโกงรูปธรรม ปัดสร้างคอนเน็กชั่นช่วยวิ่งเต้นคดี – ทัวร์นอกออกเงินกันเอง

ป.ป.ช. แจงหลักสูตร นยปส. เกิดผลต้านโกงรูปธรรม ปัดสร้างคอนเน็กชั่นช่วยวิ่งเต้นคดี – ทัวร์นอกออกเงินกันเอง

22 ธันวาคม 2015


 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ เรื่อง “ข้อเท็จจริงกรณีมีข่าวพาดพิงถึงหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง(นยปส.)” อ้างคำพูดของนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนในบางแขนงเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ และมีการพาดพิงถึงหลักสูตร นยปส. ของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า “ไปทัศนศึกษาทั้งในหรือต่างประเทศ ข้าราชการจะเบิกได้บางส่วน แต่อยากนอนโรงแรมดีๆ โรงแรม 5 ดาว อยากได้ทัวร์ที่ดี ๆ ส่วนเกินเอกชนจ่ายหมด หรือค่ารับรองของหน่วยงาน ไม่อยากบอกว่ามีการให้พ็อกเกตมันนี่กันหรือไม่…มีนักธุรกิจเข้าไปเรียนกันเต็มไปหมด และเกิดขบวนการวิ่งเต้นฝากคนของพวกตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ในหน่วยงานพวกนี้กันมาก เวลาเกิดปัญหา มีคดีขึ้นมา ก็พวกที่เข้าอบรมมีสายสัมพันธ์กันนั่นแหละเป็นตัวช่วยกันเป็นขบวนการ” ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่เกิดขึ้นในการดำเนินการหลักสูตรของสำนักงาน ป.ป.ช. แต่อย่างใด ดังนั้น

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอเรียนชี้แจงดังนี้

  1. หลักสูตร นยปส. เป็นหลักสูตรที่เกิดจากเจตนารมณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการทุจริตในเชิงบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานได้รับความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการทุจริต สร้างผู้นำต้นแบบที่ดี สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดเป็นพลังร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกภาคส่วนอย่างสัมฤทธิ์ผล
  1. การบริหารหลักสูตรและการคัดเลือกบุคคลเข้ารับการอบรมในแต่ละปี จะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง 2 คณะ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยสำนักงาน ป.ป.ช.จะมีหนังสือเชิญให้หน่วยงานพิจารณาส่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของหน่วยงานเข้ารับการคัดเลือก เพื่อเปิดให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสเข้ามาอบรม สร้างความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และตระหนักผลกระทบที่เกิดจากการทุจริต การพิจารณาจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของหลักสูตร โดยพิจารณาจากผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเงื่อนไข โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นตัวอย่างที่ดี หรือหน่วยงานที่มีความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตได้ง่าย นักการเมืองที่เข้ารับการอบรมจะเชิญไปที่หน่วยงานสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา โดยไม่ระบุสังกัดพรรคการเมืองใด
  1. การอบรมของหลักสูตรจะมีทั้งการอบรมภาควิชาการและการเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่นักบริหาร มีเงื่อนไขการสำเร็จการอบรม จะต้องมีระยะเวลาการอบรมไม่น้อยกว่า 70% ของระยะเวลาการอบรมทั้งหมด การอบรมและศึกษาดูงานในต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมในหลักสูตรโดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะประสานเพื่อกำหนดหัวข้อวิชาการอบรมและการศึกษาดูงานในสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือสถาบันที่มีการติดตามเรื่องทรัพย์สินคืน หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญา UNCAC ค.ศ.2003 ที่ผ่านมา ได้มีการประสานงานเพื่อเข้าศึกษาอบรมที่สถาบัน International Anti-Corruption Academy (IACA) กรุงเวียนนา สถาบัน Basel Institute on Governance สมาพันธรัฐสวิส องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) Ombudsman สำนักตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในด้านการตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือด้านธรรมาภิบาล ฯลฯ โดยมอบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกอบรม ทั้งนี้ ขึ้นกับความพร้อมของหน่วยงานในต่างประเทศด้วย เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตและเครือข่ายระหว่างประเทศ บูรณาการทำงานของหน่วยงานในการต่อต้านการทุจริต และพัฒนาเครือข่ายในประเทศ โดยหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานภายนอกจะต้องใช้งบประมาณของต้นสังกัดหรืองบประมาณส่วนตัวในการเดินทางเอง ไม่มีการใช้งบประมาณของภาคเอกชนมาเพิ่มเติมในการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ
  1. ผลจากการอบรมที่ผ่านมาทำให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วนชุมชน ทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมที่หลากหลาย เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น การจัดตั้งชมรม นยปส. มูลนิธิต่อต้านการทุจริต หมู่บ้านช่อสะอาด ที่บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ โครงการรักบ้านเกิดสระแก้ว การอบรมอาสาสมัครของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โครงการจัดทำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดและความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต เผยแพร่ไว้ในศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการสอดส่องเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้ที่มีส่วนในการทุจริตและขาดคุณธรรมจริยธรรม เกรงว่าอาจมีผู้เข้าร่วมในการตรวจสอบและแจ้งข้อมูลเบาะแสเรื่องการทุจริตมากขึ้น เพราะอาจมีการนำข้อมูลต่างๆ แจ้งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการตามกระบวนการ
  1. หลักสูตรนี้ ต่อมารัฐบาลได้ให้ความสนใจและได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้เป็นหลักสูตรภาคบังคับให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรนี้
  1. การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โครงการของสำนักงาน ป.ป.ช. หากทุจริตจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย และมีโทษมากกว่าข้าราชการปกติทั่วไป 2 เท่า ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้ารับการอบรมหรือพวกพ้อง หรือใครก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. และบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้

“จึงขอยืนยันว่าหลักสูตร นยปส. ของสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด” นายสรรเสริญระบุ