ThaiPublica > เกาะกระแส > สนง.การบินพลเรือนจับมือ EASA ทำMOU ยกระดับความปลอดภัยด้านการบิน – 10 ธ.ค.ยังต้องลุ้น

สนง.การบินพลเรือนจับมือ EASA ทำMOU ยกระดับความปลอดภัยด้านการบิน – 10 ธ.ค.ยังต้องลุ้น

8 ธันวาคม 2015


นายแพททริก เคย์ Executive Director The European Aviation Safety Agency (EASA) และนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขณะร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างกัน
นายแพททริก เคย์ Executive Director of The European Aviation Safety Agency (EASA) และนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขณะร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างกัน

วันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่กระทรวงคมนาคม ได้มีการลงนามความร่วมมือ Cooperation Framework Arrangement on Aviation Safety ระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ The European Aviation Safety Agency (EASA) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี

นายอาคมกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง กพท. และ EASA มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของไทย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งเน้นประเด็นด้านการจัดทำกฎระเบียบและการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิชาการเป็นหลัก ใน 4 ประเด็น ได้แก่

  1. การเรียนรู้และใช้ระบบมาตรฐานของทางสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในความปลอดภัยด้านการบินของไทย
  2. การแลกเปลี่ยนเอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ EASA พัฒนาขึ้น
  3. การเข้าถึงข้อมูลระบบงานของ EASA ให้ไทยเข้าอบรมเพื่อนำมาพัฒนาด้านการบินประเทศไทย
  4. การสามารถเข้าสังเกตการณ์ แลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน เพื่อการเรียนรู้

“จากการพูดคุยกัน การลงนามเป็นแนวทางของไทยที่จะใช้มาตรฐานของ EASA เป็นหลักในการพัฒนามาตรฐานด้านการบินของไทย ทางเราก็หวังที่จะให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยด้านการบินคู่กับสิงคโปร์ เพราะในอาเซียนประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางด้านการบิน สิ่งที่เขา (EASA) ย้ำกับเราคือไม่ว่าจะเป็นสายการบินระดับไหนก็ควรมีมาตรฐานการบินในระดับเดียวกัน” นายอาคมกล่าว

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการลงนามครั้งนี้ ได้มีการตั้งกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการณีจำเป็นไว้เป็นจำนวน 2.5 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 100 ล้านบาท และการลงนามในวันนี้จะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการประเมินที่ผ่านมา

สำหรับการประกาศผลการประเมินของ EASA จะมีขึ้นในเวลา 12.00 น. ของกรุงบรัสเซลส์ หรือประมาณ 18.00 น. ของไทย จะมีการส่งผลนี้ไปยัง DG Move ซึ่งเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวงคมนาคมของอียู ซึ่งจะนำรายงานสู่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปอีกครั้งในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ในกรณีที่ไทยไม่ผ่านการประเมิน

“หากผ่านการประเมินจะไม่ถูกประกาศขึ้นทางเว็บไซต์ของ EASA กรณีที่เป็นไปได้หากไม่ผ่านการประเมินคือ ประเทศไทยถูกแบน แต่อาจมียกเว้นสายการบินบางสายที่ผ่านการประเมิน เพราะในเบื้องต้น การบินไทย และสายการบินเอ็มเจ็ท ได้ขอให้ EASA ทำการตรวจประเมินไปแล้ว แต่ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือไทยถูกแบนจากอียู สายการบินทั้งหมดที่เคยบินเข้ายุโรปทั้ง 28 ประเทศจะถูกระงับให้บริการ” นายจุฬากล่าว

ทั้งนี้ นายปีเตอร์ บอมเบย์ Deputy Head of Unit, DG Move Aviation Safety ระบุว่า ผลประเมินที่ทาง EASA จะประกาศในวันที่ 10 ธันวาคม 2558 นี้นั้นยังไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตรวจประเมินของทาง EASA แต่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีที่ทาง EASA จะเข้ามาช่วยเหลือไทยให้เกิดผลในระยะยาว ซึ่งความร่วมมือกับไทยถือเป็นแนวทางไปสู่ภารกิจของอียูกับอาเซียนในระยะต่อไป

ด้านนายแพททริก เคย์ Executive Director of The European Aviation Safety Agency กล่าวว่า ไทยถือเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวยุโรป ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการบินของไทยย่อมกระทบต่อนักท่องเที่ยวยุโรปด้วย ซึ่งเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่นิ่งนอนใจไม่ได้ อาทิ ในปี 2556 ที่ไม่พบรายงานอุบัติเหตุการบินเกิดขึ้นเลย แต่ในปี 2557 กลับมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 4 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ การพัฒนาด้านความปลอดภัยด้านการบินไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น

จำนวนนักท่องเที่ยว ตุลาคม 2558

อนึ่ง ยอดนักท่องเที่ยวยุโรปที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในปี 2557 จำนวน 6,156,132 คน คิดเป็น 23.75% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ล่าสุด สถานการณ์ท่องเที่ยว เดือนตุลาคม 2558 มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 404,060 คน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 2,228,796 คน