ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวบ้านทวายประท้วงไม่รับอีไอเอโครงการทวาย ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “ทีม คอนซัลติ้ง”

ชาวบ้านทวายประท้วงไม่รับอีไอเอโครงการทวาย ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “ทีม คอนซัลติ้ง”

8 ธันวาคม 2015


ชาวบ้านในหลายพื้นที่ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายออกจดหมายเปิดผนึก ประกาศไม่ยอมรับการดำเนินงานและการประเมินผลโครงการที่ละเมิดสิทธิต่างๆ ของชาวบ้าน พร้อมทั้งประกาศว่าจะไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่วนใดส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมากมาย และไม่เคยได้รับการตอบสนองเมื่อเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

จากกรณีชาวบ้านจากหมู่บ้านกาโลนท่า ประเทศเมียนมา เป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อันเป็นโครงการที่ริเริ่มโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ ปี 2551 ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนมาหลายต่อหลายครั้งถึงการดำเนินการที่ขาดความโปร่งใสและความรับผิดชอบ และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำการศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการ ได้เข้ามาขอจัดประชุมเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบดังกล่าว แต่ชาวบ้านเห็นว่าโครงการทำผิดหลักการมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะดำเนินการก่อสร้างจำนวนมากในพื้นที่ก่อนหน้านั้นมานานแล้ว โดยไม่เคยรับฟังเสียงประชาชน และพวกเขาต้องสูญเสียวิถีชีวิต ที่ดินทำกิน และทรัพยากรที่ต้องพึ่งพาไปจำนวนมาก เป็นเหตุให้ชาวบ้านกาโลนท่าเขียนจดหมายไม่ยอมรับการดำเนินการดังกล่าวถึง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดังนี้

ที่ตั้งเขื่อนกาโลนท่า
ที่ตั้งเขื่อนกาโลนท่า

“ดร.ประเสริฐ ภัทรมัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด

วันที่ 3 ธันวาคม 2558

เรียน ดร.ประเสริฐ ภัทรมัย

เรื่่อง ไม่ยอมรับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการถนน

ตั้งแต่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเริ่มต้นในปี 2551 โครงการทวายไม่เคยมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบใดๆ รัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลไทย รวมถึงผู้พัฒนาโครงการ ไม่เคยให้ความสำคัญกับสิทธิต่างๆ ของชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และยังล้มเหลวที่จะสร้างพื้นที่ให้กับชาวบ้านในการเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ความล้มเหลวเหล่านี้ได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยังได้ก่อให้เกิดความสูญเสียกับวิถีชีวิตชุมชน และที่ดินทำกิน ไร่สวน รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนก็ถูกทำลายไปอย่างนับไม่ถ้วน

พวกเราชาวบ้านจากชุมชนดั้งเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ขอเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และรัฐบาลเมียนมา รัฐบาลไทย ปกป้องและเคารพต่อสิทธิและวิถีชีวิต และเพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและความมั่นคง รวมถึงเคารพต่อสิทธิตามหลักการของความยินยอมอันต้องเป็นไปอย่างอิสระ ได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้าและเพียงพอ (Free, Prior and Informed Consent) ของพวกเรา

เนื่องจากความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาที่มิได้ให้ความสำคัญกับเราในกระบวนการตัดสินใจ พวกเราจึงไม่มีความไว้ใจว่า “โครงการพัฒนา” ที่ท่านกล่าวอ้าง จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงในชุมชนของเราได้ เพราะข้อร้องทุกข์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งถึง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองใดๆ

เราเชื่อว่า การก่อสร้างมากมายเกินไปได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดก่อนที่ชุมชนต่างๆ จะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ ในกระบวนการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น เราไม่เคยมีส่วนร่วมใดๆ เลยในการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการสร้างถนนตัดผ่านพรมแดน การสร้างท่าเรือเพื่อการเข้าถึง หรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก การประเมินผลกระทบต่างๆ ของโครงการเหล่านี้ควรจะกระทำก่อนที่โครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ความล้มเหลวที่มิได้รับฟังเสียงชุมชนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการได้ทำให้พวกเราเชื่อว่า บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ไม่ได้เห็นคุณค่าความสำคัญของสิทธิและความคิดเห็นของพวกเรา และการที่มาดำเนินการปรึกษาหารือในขณะที่กำลังต้องการทำอยู่นี้ ก็เป็นไปเพียงเพื่อให้เห็นว่าได้ทำตามกระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของประเทศพม่าเท่านั้นเอง

พวกเราเชื่อว่าพวกเรามีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตที่ยั่งยืนของเรา บนผืนแผ่นดินดั้งเดิมของพวกเรา พวกเราชาวบ้านกาโลนท่าจะไม่ย้ายออกจากพื้นที่ดั้งเดิมของเรา และเราจะไม่ยอมรับโครงการใดๆ ที่ไม่เคารพในหลักการของความยินยอมอันต้องเป็นไปอย่างอิสระ ได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้าและเพียงพอ (Free, Prior and Informed Consent) ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าว พวกเราจึงขอประกาศว่าพวกเราจะไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายหรือโครงการถนนเชื่อมต่อของทวาย และด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พวกเราจึงไม่มีความปรารถนาที่จะเข้าร่วมกับการปรึกษาหารือใดๆ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของคุณ

ด้วยความเคารพ
ชาวบ้านกาโลนท่า

สำเนาถึง:
– นายเปรมชัย กรรณสูต, ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
– บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด
– นาย ฮัน เส่ง, ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
– รัฐบาลแคว้นตะนาวศรี
– สื่อมวลชน”

การประชุมของชาวบ้านกาโลนท่าและเครือข่าย
การประชุมของชาวบ้านกาโลนท่าและเครือข่าย