ThaiPublica > คอลัมน์ > ทบทวนแฟชั่น “ผ่าท้อง” แทนคลอดลูก

ทบทวนแฟชั่น “ผ่าท้อง” แทนคลอดลูก

16 พฤศจิกายน 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ที่มาภาพ : http://mypregnanthealth.com/wp-content/uploads/2014/02/Why-is-My-Belly-Button-Painful-During-Pregnancy.jpg
ที่มาภาพ : http://mypregnanthealth.com/wp-content/uploads/2014/02/Why-is-My-Belly-Button-Painful-During-Pregnancy.jpg

หนึ่งปัญหาหนักอกขององค์การสาธารณสุขระดับโลกในปัจจุบันก็คือการผ่าตัดเอาทารกออกจากมดลูกแทนการคลอดตามธรรมชาติ ในเมืองจีนนั้นประมาณร้อยละ 50 ของเด็กที่เกิดในแต่ละปีใช้วิธีผ่าตัด บ้านเราก็มีสถิติที่ไม่ห่างนักคืออยู่ประมาณร้อยละ 40 เช่นเดียวกับอินเดีย กระแสความนิยมที่กำลังมาแรงเช่นนี้มีอันตรายแฝงที่พ่อแม่ไม่รู้อยู่หลายประการ

การผ่าตัดเช่นนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Caesarean section หรือเรียกย่อ ๆ ว่า C-sections เคยมีความเชื่อว่าเหตุที่เรียกการผ่าตัดเอาทารกออกมาจากครรภ์แม่เช่นนี้ก็เพราะ Gaius Julius Caesar รัฐบุรุษและนักรบเอกสมัยโรมัน (มีชีวิตอยู่ประมาณ 500 ปีหลังพระพุทธเจ้า) ออกมาสู่โลกด้วยวิธีนี้ ความเข้าใจนี้ผิดเพราะแม่ของเขาคือ Aurelia ก็ยังมีชีวิตอยู่หลัง Caesar เกิด ในสมัยนั้นเด็กที่เกิดวิธีนี้ได้ก็เพราะแม่เพิ่งตายจึงรีบผ่าเอาลูกออกมา

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชื่อการผ่าตัดน่าจะมาจากบรรพบุรุษของเขาซึ่งมีชื่อเดียวกันผู้เกิดมาด้วยการผ่าตัด ที่จริงในประวัติศาสตร์ของจีนและอินเดียก็มีการกล่าวถึงการเกิดของทารกด้วยการผ่าตัดจากแม่ที่กำลังจะตายหรือเพิ่งตาย (ชาวโรมันห้ามฝังแม่ที่มีครรภ์ อาจเกรงว่าจะเป็นการฆ่าทารกโดยไม่ตั้งใจก็เป็นได้)

C-sections พัฒนามาเรื่อยอย่างช้า ๆ แม้แต่ใน ค.ศ. 1865 การผ่าตัดเช่นนี้ในอังกฤษแม่ยังตายร้อยละ 85 เพิ่งพอจะปลอดภัยบ้างก็ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-1917) ปัจจุบัน C-sections เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี สถิติ C-sections ของประเทศพัฒนาแล้วก็มิได้ให้ความอุ่นใจนักเมื่อเปรียบเทียบกับการคลอดแบบธรรมชาติ ในกรณีของครรภ์ปกติที่มีความเสี่ยงต่ำ อัตราการตายของ C-sections คือ 13 ต่อ 100,000 รายของการคลอด ในขณะที่ตัวเลขเดียวกันของการคลอดแบบธรรมชาติคือ 3.5 ต่อ 100,000

อันตรายของ C-sections ที่เห็นกันชัดเจนก็คือปัญหาจากการวางยาสลบ ติดเชื้อหลังผ่าตัด แผลปริ เสียเลือดขนาดหนัก มีปัญหากับการท้องต่อมา ฯลฯ งานวิจัยตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันหลายชิ้นพบผลเสียที่มองไม่เห็นทันทีของ C-sections หลายประการดังต่อไปนี้

(1) C-sections เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กล่าวคือ เมื่อแม่ต้องถูกเย็บแผลทันทีและใช้เวลาพักฟื้น การสัมผัสทันทีระหว่างแม่กับลูกหลังเกิดก็ขาดไป ไม่เหมือนกับการคลอดธรรมชาติซึ่งลูกต้องต่อสู้ผ่านช่องคลอด เกิดการสัมผัสรัดรึงกับลูกจนคลอดออกมา

(2) การคลอดปกติทำให้ทารกมีโอกาสได้รับสิ่งที่เรียกว่า microbiota ของแม่ (เป็น microorganism หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อยู่ร่วมในร่างกายมนุษย์ เช่น แบคทีเรียในกระเพาะที่ช่วยย่อยอาหาร) มากกว่า ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องสุขภาพของทารกในเวลาต่อไป

(3) หากทารกขาด microbiota จากแม่อาจทำให้สิ่งที่เรียกว่า bifido bacteria probiotics ซึ่งอยู่ในลำไส้ของทารกไม่เติบโตเต็มที่ ซึ่งมีผลทำให้ไม่สามารถย่อยสลายสารอาหารที่อยู่ในนมแม่ได้อย่างเต็มที่ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การขาดสารอาหารที่รุนแรงในทารกและทำให้การเจริญเติบโตของทารกสะดุดหยุดชะงักได้ ทารกลักษณะนี้เมื่อโตขึ้นมีทางโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคไต และโรคเบาหวาน

งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า C-sections ซึ่งเป็นสิ่งที่ไปกระทบ microbiota ที่ทารกมีมาแต่แรกอาจทำให้เกิดการปรับระบบภูมิคุ้มกันของทารกไปในด้านลบจนอาจทำให้เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดเมื่อโตขึ้นได้ หรือแม้แต่ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก (โรคเบาหวาน Type 1)

งานศึกษาล่าสุดพบว่า การมีอัตรา C-sections สูงถึงประมาณครึ่งหนึ่งของการเกิดของเด็กจีนเกี่ยวพันกับการพุ่งสูงขึ้นของโรคเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็กของเด็กในประเทศนี้ ในเซี่ยงไฮ้มีอัตราการเกิดโรคเบาหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็กเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ต่อปีระหว่างปี 1997 ถึง 2011 และคาดว่าอัตรานี้จะเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัวระหว่างปี 2016 ถึง 2020

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า คนที่มี microbiota ในลำไส้เปลี่ยนแปลง (ลดลง) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเมื่อเป็นผู้ใหญ่ งานศึกษาเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่า C-sections ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในจีนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาอาจเป็นตัวจุดประกายให้เกิดโรคเบาหวานอย่างดาษดื่นในหมู่พลเมืองจีนในอนาคต

การเกิดกระแส C-sections ในจีนมาจากหลายสาเหตุ (ก) เมื่อร่ำรวยขึ้นก็ไม่อยากเจ็บปวดจากการคลอดลูก อีกทั้งสามารถเข้าถึงบริการแพทย์ได้สะดวกขึ้น หมอตำแยและพยาบาลผดุงครรภ์ในจีนจึงหมดอาชีพ แม่หญิงทั้งหลายต่างคลอดลูกที่โรงพยาบาลซึ่งทำให้การเลือก C-sections เป็นไปอย่างสะดวก (ข) โรงพยาบาลถูกบังคับให้เก็บค่าธรรมเนียมจากการคลอดธรรมชาติเพียงครึ่งเดียวของ C-sections และการคลอดธรรมชาติมีต้นทุนสูงกว่า ดังนั้น หมอจึงมักสนับสนุนให้เลือก C-sections เพื่อประโยชน์ด้านรายได้ของโรงพยาบาล (ค) เกิดความสะดวกสำหรับแม่และแพทย์ โดยแพทย์ไม่ต้องรอให้เจ็บท้องเต็มที่หรือต้องถูกตามตัวไม่เป็นเวล่ำเวลา ส่วนแม่ก็สามารถวางแผนชีวิตได้คล่องตัวขึ้น (ง) สามารถเลือกวันเวลาที่ลูกเกิดได้ตามโหราศาสตร์ (คนจีนชอบที่จะให้คลอดก่อน 1 กันยายน ซึ่งเป็นวันโรงเรียนเปิด เพื่อให้ลูกได้เรียนเร็วขึ้น)

นอกจากนี้ นโยบาย “ลูกคนเดียว” ของภาครัฐจีนทำให้ผู้หญิงไม่กังวลกับท้องต่อไปว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่หลังจากทำ C-sections ไปแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้มีทางโน้มสู่ C-sections กันมากขึ้นทุกที จนเป็นอัตราสูงสุดในโลก

ในบ้านเราซึ่งมีอัตรา C-sections ใกล้เคียงกับอินเดียคือกว่าร้อยละ 40 (ในอินเดียมีอัตรา C-sections ถึงร้อยละ 58 ในรัฐ Tamil Nadu ทางตอนใต้ของประเทศ) ก็มีเหตุผลไม่ต่างจากคนจีนและอินเดีย เหตุผลทางวัฒนธรรมในเรื่องฤกษ์ยามมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในหลายครอบครัว จนทำให้ C-sections เป็นคำตอบ (“ดวงบังคับเกิด” แทน “ดวงเกิด”) เช่นเดียวกับเหตุผลในเรื่องความสามารถในการควบคุมด้านเวลา แรงสนับสนุนจากแพทย์ผู้ทำคลอด ความสะดวกของทุกฝ่าย จนกระทั่งอาจมองข้ามเรื่องความเสี่ยง และผลเสียที่อาจเกิดตามมา

WHO พยายามบอกว่า C-sections เป็นทางเลือกที่พิเศษเมื่อการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเกิดปัญหา เช่น ตำแหน่งของทารกทำให้คลอดได้ยากมาก มีการกีดขวางการเคลื่อนตัวของทารก หัวใจและความดันโลหิตของแม่และ/หรือทารกอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง แม่มีปัญหาสุขภาพและหมดแรงเบ่ง ฯลฯ

แฟชั่นการคลอด C-sections แพร่กระจายไปเกือบทั้งโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากอัตราไม่เกินร้อยละ 8 ก่อนหน้านั้น (ในทศวรรษ 1970 คนจีนน้อยคนมากที่รู้จัก C-sections) ได้กลายเป็นกว่าร้อยละ 30 ในประเทศส่วนใหญ่ ความกินดีอยู่ดีทำให้ความเจ็บปวดจากการเป็นแม่เป็นเรื่องน่ากลัว และเมื่อสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่รีรอ อีกทั้งธุรกิจแพทย์ก็พร้อมที่จะรับมือ

ในสังคมไทยปัจจุบัน C-sections ได้กลายเป็นแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ และเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ไม่ตกเทรนด์และมีเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแม่ในกรุงเทพมหานคร คุณแม่เหล่านี้อาจไม่มีข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับผลเสียที่มีต่อทารกและตนเองอย่างเพียงพอ

ถ้าผมเป็นทารกคงจะน้อยใจมากหากมีแม่ที่ชื่นชม C-sections ตามแฟชั่นโดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพของผมเมื่อโตขึ้น อย่าลืมว่าเมื่อแม่เป็นคนนำผมมาสู่โลก แม่ก็ต้องรับผิดชอบชีวิตผมอย่างรอบคอบที่สุดด้วยนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 10 พ.ย. 2558