ThaiPublica > คอลัมน์ > การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz: วิธีการเคาะราคาแข่งกัน

การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz: วิธีการเคาะราคาแข่งกัน

6 พฤศจิกายน 2015


พัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ [email protected]
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz รอบสาธิต สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล โชว์ความพร้อมสำหรับการประมูลจริงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่มาภาพ : http://www.nbtc.go.th/wps/wcm/connect/NBTC/fa21fcfa-980f-4d4c-8589-02c04a75ae40/03.jpg?MOD=AJPERES&CACHEID=fa21fcfa-980f-4d4c-8589-02c04a75ae40
กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz รอบสาธิต สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล โชว์ความพร้อมสำหรับการประมูลจริงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่มาภาพ : http://www.nbtc.go.th/wps/wcm/connect/NBTC/fa21fcfa-980f-4d4c-8589-02c04a75ae40/03.jpg?MOD=AJPERES&CACHEID=fa21fcfa-980f-4d4c-8589-02c04a75ae40

การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหญ่ของประเทศไทยก็ใกล้เข้ามาแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยอยู่ว่าการประมูลครั้งนี้มีการเคาะราคาสู้กันอย่างไร ผมขอถือโอกาสนี้อธิบายรูปแบบการเคาะราคาครั้งนี้แบบง่าย ๆ นะครับ

กสทช. จะเปิดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ย่านละสองใบ โดยผู้ประมูลจะเริ่มเคาะราคาคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 และ 900 MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รูปแบบการประมูลมีชื่อสั้น ๆ ว่า SMRA (Simultaneous Multiple-Round Auction หรือ Simultaneous Ascending Bid Auction) ซึ่งเป็นวิธีการเคาะราคาแบบเดียวกับที่ใช้ในการประมูล 2.1 GHz ของไทยเมื่อ พ.ศ. 2555 แต่เนื่องจากลักษณะและจำนวนชุดคลื่นความถี่ของการประมูลคราวนี้น้อยกว่าของ 2.1 GHz การเคาะราคาของการประมูล 1800 MHz และ 900 MHz จึงเข้าใจง่ายกว่ามาก

ในการประมูล ผู้ประมูลต้องเสนอราคาเป็นรอบ โดยเริ่มเคาะราคาจาก “ราคาประมูลรอบแรก” ถ้ามีผู้เสนอราคามากกว่าจำนวนใบอนุญาต ผู้ประมูลจะต้องไล่ราคาขึ้นไปเป็นรอบ ๆ เมื่อราคาสูงขึ้น แน่นอนว่าต้องมีผู้ประมูลบางรายไม่สู้ราคาต่อ การประมูลจะจบลงเมื่อเหลือผู้ประมูลเพียงสองรายเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ทั้งนี้จะไม่มีการจำกัดจำนวนรอบการประมูล ผู้ประมูลต้องสู้ราคากันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะยอม

ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างการเคาะราคาในการประมูล 1800 MHz ผมจะขออธิบายการประมูล 1800 MHz เท่านั้น เพราะการเคาะราคาในการประมูล 900 MHz ใช้หลักการเดียวกัน ตัวอย่างนี้ไม่ได้เป็นการคาดการณ์ผลการประมูลแต่อย่างใดนะครับ สมมติว่ามีผู้ประมูลมีสี่ราย ได้แก่ ผู้ประมูล ก ข ค และ ง แข่งขันประมูลคลื่นความถี่สองชุด ขอเรียกว่า ชุด A และชุด B (ของที่นำไปประมูลจะเรียกว่า “ชุดคลื่นความถี่” เมื่อการประมูลสิ้นสุดลง กสทช. จะออกใบอนุญาตตามชุดคลื่นความถี่ที่ผู้ชนะประมูลได้)

รูปที่ 1 การประมูลรอบที่1
รูปที่ 1 การประมูลรอบที่1

การประมูลรอบที่ 1 (ดูรูปที่ 1 ประกอบ) ระบบการประมูลจะประกาศราคารอบแรกของชุดคลื่นความถี่แต่ละชุด ซึ่งเท่ากับ 16,708 ล้านบาท ผู้ประมูลแต่ละรายเลือกได้แค่ว่าจะเคาะราคาชุด A หรือชุด B โดยมีเวลาตัดสินใจ 15 นาที ราคาที่เคาะจะต้องเท่ากับราคาที่ประกาศไปเท่านั้น ผู้ประมูลแต่ละรายจะไม่ทราบเลยว่าใครเคาะราคาสำหรับชุดคลื่นความถี่ชุดใด สมมติว่าผู้ประมูล ก ข และ ค เคาะราคาชุด A และผู้ประมูล ง เคาะราคาชุด B เมื่อการประมูลรอบแรกจบลง ระบบการประมูลก็จะสุ่มหา “ผู้ชนะชั่วคราว” ของใบอนุญาตแต่ละชุด สำหรับชุด A มีผู้ประมูลเคาะราคาชนกัน 3 ราย สมมติว่าระบบสุ่มเลือกผู้ประมูล ข เป็นผู้ชนะชั่วคราว ส่วนชุด B มีผู้เคาะราคาเพียงรายเดียว ดังนั้น ผู้ประมูล ง จะเป็นผู้ชนะชั่วคราวไปโดยปริยาย ผู้ชนะชั่วคราวจะชนะคลื่นความถี่ชุดนั้น ๆ ถ้ารอบถัดไปไม่มีผู้เคาะราคาแม้แต่รายเดียว (และไม่มีใครใช้สิทธิในการไม่เสนอราคา)

 รูปที่ 2 การประมูลรอบที่ 2
รูปที่ 2 การประมูลรอบที่ 2

การประมูลรอบที่ 2 (ดูรูปที่ 2 ประกอบ) ระบบการประมูลจะประกาศราคารอบที่ 2 ของชุดคลื่นความถี่แต่ละชุด ในการคำนวณราคา ถ้าไม่มีผู้เคาะราคาสำหรับชุดคลื่นความถี่ชุดหนึ่ง ๆ ในรอบก่อนหน้า ราคาชุดคลื่นความถี่ชุดนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้ามีผู้เคาะราคาในรอบก่อนหน้า ราคาของชุดนั้น ๆ จะเพิ่มขึ้นครั้งละ 796 ล้านบาทจนกว่าราคาประมูลจะสูงกว่า 19,890 ซึ่งหลังจากนั้นราคาจะเพิ่มขึ้นครั้งละ 398 ล้านบาท ในตัวอย่างนี้ เนื่องจากคลื่นความถี่ชุด A และ B มีผู้เสนอราคาทั้งชุด A และ B ในรอบที่ 1 ราคาของแต่ละชุดในรอบที่ 2 จะเพิ่มขึ้น 796 ล้านบาท กลายเป็น 17,504 ล้านบาทต่อชุด

ในรอบนี้ ผู้ประมูล ข เป็นผู้ชนะชั่วคราวของชุด A อยู่แล้ว ผู้ประมูล ข สามารถเคาะราคาชุด A ที่ตัวเองชนะอยู่แล้วเพิ่มเติมได้ แต่เปลี่ยนไปเสนอราคาในชุด B ไม่ได้เพราะผู้ประมูลแต่ละรายเคาะราคาได้มากที่สุดหนึ่งชุดในแต่ละรอบ ผู้ประมูล ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนไปเสนอราคาชุด A ได้เช่นกัน แต่ผู้ประมูล ก และ ค สามารถเคาะราคาชุดใดก็ได้เพราะไม่ได้ชนะชุดคลื่นความถี่ใดเลยในรอบปัจจุบัน
สมมติให้ผู้ประมูล ข และ ง อยู่เฉย ๆ ถ้ารอบนี้ ผู้ประมูล ก และ ค ไม่สู้ราคาต่อ ผู้ประมูล ข กับ ง ก็จะได้รับคลื่นความถี่ชุด A กับ B ตามลำดับไปเลย สมมติว่าผู้ประมูล ก และ ค ยังไม่ยอมแพ้และเคาะราคาชุด A ทั้งคู่ หลังจากปิดรอบ ผู้ประมูล ข ที่เคยเป็นผู้ชนะชั่วคราวของชุด A ที่ราคา 16,708 ล้านบาทโดนเกทับโดยผู้ประมูล ก และ ค ที่ราคา 17,504 ล้านบาทในรอบนี้ ผู้ประมูล ข ก็จะสูญเสียสถานะผู้ชนะชั่วคราวไป ระบบจะสุ่มเลือกผู้ชนะชั่วคราวจากผู้ประมูล ก และ ค สมมติให้ระบบสุ่มเลือกผู้ประมูล ก อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครมาแย่งชุด B จากผู้ประมูล ง เลย ผู้ประมูล ง จึงยังเป็นผู้ชนะชั่วคราวของชุด B อยู่

รูปที่ 3 การประมูลรอบที่ 3
รูปที่ 3 การประมูลรอบที่ 3

การประมูลรอบที่ 3 (ดูรูปที่ 3 ประกอบ) ระบบการประมูลจะประกาศราคารอบที่ 3 ราคาของชุด A จะเพิ่มขึ้นเป็น 18,300 ล้านบาท ส่วนราคาของชุด B จะเท่าเดิมเนื่องจากไม่มีผู้เสนอราคาในรอบที่แล้ว สมมติให้ผู้ประมูล ข ไม่สู้ราคาแล้ว มีแต่ผู้ประมูล ค เท่านั้นที่สู้ราคาชุด B ต่อ เมื่อจบรอบ ผู้ประมูล ก ยังเป็นผู้ชนะชั่วคราวอยู่ที่ราคา 17,504 ล้านบาทเช่นเดิม และผู้ประมูล ค เป็นผู้ประมูลรายเดียวที่เคาะราคาชุด B ดังนั้น ผู้ประมูล ค จึงกลายเป็นผู้ชนะชั่วคราวแทนผู้ประมูล ง

รูปที่ 4 การประมูลรอบที่ 4
รูปที่ 4 การประมูลรอบที่ 4

การประมูลรอบที่ 4 ระบบการประมูลจะประกาศราคารอบที่ 4 ราคาของชุด B จะเพิ่มขึ้นเป็น 18,300 ล้านบาท แต่ราคาของชุด A จะเท่าเดิม ในรอบนี้ ผู้ประมูล ข ไม่สามารถเคาะราคาได้อีกแล้ว เพราะรอบที่ 3 ผู้ประมูล ข ไม่ได้เป็นผู้ชนะชั่วคราวหรือเคาะราคา การประมูลกำหนดให้ผู้ประมูลต้องเคาะราคาอย่างต่อเนื่องถ้ายังอยากจะสู้ราคาอยู่ จะแอบอยู่เฉย ๆ แล้วอยู่ดีดีก็กระโดดมาเคาะราคาไม่ได้ ถ้าไม่เคาะก็ต้องออกจากการประมูลไป เว้นเสียแต่ว่าผู้ประมูลใช้ “สิทธิในการไม่เสนอราคา” เพื่อให้ตัวเองไม่เด้งออกจากการประมูลแม้จะไม่เคาะราคา ผู้ประมูลมีสิทธิดังกล่าวสามครั้งต่อการประมูล สมมติว่าผู้ประมูล ง ก็ยอมแพ้ด้วยในรอบนี้ ผู้ประมูล ก และ ค ซึ่งเป็นผู้ชนะชั่วคราวในรอบนี้จะได้รับคลื่นความถี่ชุด A และ B ตามลำดับ ณ ราคาที่แต่ละรายเคาะล่าสุดซึ่งเท่ากับ 17,504 ล้านบาท เป็นอันจบการประมูล

การประมูลจริงอาจจะจบเร็วหรือช้ากว่าตัวอย่างนี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับการแข่งขันในการประมูล แต่อาจจะพูดคร่าว ๆ ได้ว่า การประมูลจะจบลงก็ต่อเมื่อผู้ประมูลสองรายไม่สู้ราคาต่อ ดังนั้น ราคาจะถูกดันไปสูงขึ้นเท่าใดจะขึ้นอยู่กับผู้แพ้เป็นหลัก เพราะต้องไล่ราคาขึ้นไปจนกว่าจะมีผู้ประมูลสองรายจะยอมแพ้นั่นเอง การประมูลคลื่นความถี่ของไทยเราอาจจะฟังดูซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิดใช่ไหมครับ สุดท้ายผมขอฝากคำถามให้ลองคิดกันเล่น ๆ ว่าถ้าผู้อ่านเป็นผู้ประมูล จะมีกลยุทธ์การเคาะราคาในการประมูลครั้งนี้อย่างไร และคิดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบยังไงกับผลการประมูล ใบ้ให้นิดนึงว่าไม่มีคำตอบตายตัวครับ