ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดรายชื่อนักการเมือง 2 รัฐบาล 113 คน นำร่องใช้กฎหมายภาษีมาตรา 49 ประเมินรายได้ ตรวจสอบ “ร่ำรวยผิดปกติ”

เปิดรายชื่อนักการเมือง 2 รัฐบาล 113 คน นำร่องใช้กฎหมายภาษีมาตรา 49 ประเมินรายได้ ตรวจสอบ “ร่ำรวยผิดปกติ”

13 พฤศจิกายน 2015


จากกรณีที่กรมสรรพากรนำข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล 2 ชุดที่ผ่านมาจำนวน 113 คน มอบให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบ ตามที่สตง.เคยร้องขอเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 เบื้องต้นพบนักการเมืองหลายรายมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ในจำนวนนี้มีนักการเมืองและคู่สมรสบางรายมีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น ณ วันที่พ้นตำแหน่งรวม 458 ล้านบาท แต่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้พึงประเมินแค่ 1.5 ล้านบาท และยังขอคืนภาษีด้วย ซึ่งทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เมื่อไม่เสียภาษีจึงเป็นหน้าที่กรมสรรพากรต้องตรวจสอบและประเมินภาษี

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

ผู้สื่อข่าวสอบถามความคืบหน้าของการตรวจสอบภาษีนักการเมืองกับนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สตง.เร่งทำการวิเคราะห์ให้ครบทั้ง 113 ราย ทันทีที่ผลการวิเคราะห์เสร็จเรียบร้อย ทางสตง.จะทำรายงานเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เพื่อให้คตง.ใช้อำนาจตามมาตรา 15 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงิน 2542 แจ้งกรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบภาษีนักการเมืองที่มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นผิดสังเกตในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ตามระเบียบและขั้นตอนการตรวจสอบภาษีนักการเมือง กรมสรรพากรต้องใช้วิธีการปกติ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19-27 แห่งประมวลรัษฎากรก่อน หากนักการเมืองไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถทราบรายได้รายจ่ายที่แท้จริง เพื่อคำนวณภาษีได้ ก็ให้ใช้วิธีพิเศษตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนักการเมือง ตามที่เคยแจ้งไว้กับป.ป.ช. นอกจากนี้คตง.จะขอให้กรมสรรพากรใช้มาตรา 37 ดำเนินคดีอาญากับนักการเมืองดังกล่าว ฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรด้วย

“การตรวจสอบ ประเมินภาษี และดำเนินคดีอาญา ฐานหลีกเลี่ยงภาษีกับนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ นอกจากทำให้นักการเมืองต้องเสียภาษีและติดคุกแล้ว ยังทำให้นักการเมืองดังกล่าวไม่มีสิทธิเล่นการเมืองตลอดชีวิตด้วย ถือเป็นวิธีสกัดนักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือ ทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ให้เข้ามาเล่นการเมืองวิธีหนึ่งที่น่าจะได้ผลดี โดยไม่ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญหาวิธีสกัดให้ยุ่งยาก” นายชัยสิทธิ์ กล่าว

นายชัยสิทธิ์ กล่าวต่อว่าหลังจากสตง.ตรวจสอบนักการเมืองกลุ่ม 113 รายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางสตง.จะขยายผลการตรวจสอบไปยังนักการเมืองรายอื่นๆที่ร่ำรวยผิดปกติ รวมทั้งนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับนักการเมืองต่อไปด้วย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบรายชื่อนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาล 2 ชุดก่อน จำนวน 113 ราย มีรายชื่อดังต่อไปนี้

รายชื่อนักการเมือง