ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ควัก 1.3 หมื่นล้าน ช่วยชาวสวนยาง ไร่ละ 1,500 บาท – ลดขั้นตอน PPP นำร่อง 8 โครงการ 3.47 แสนล้านบาท

ครม. ควัก 1.3 หมื่นล้าน ช่วยชาวสวนยาง ไร่ละ 1,500 บาท – ลดขั้นตอน PPP นำร่อง 8 โครงการ 3.47 แสนล้านบาท

4 พฤศจิกายน 2015


581103ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” แจงคำพูดปิดประเทศ – ยันอยู่แค่ ก.ค. 60

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตนอยากให้คนไทยตระหนักรู้ว่าปัญหาของเรามีอะไรบ้าง และขณะนี้องค์กรแม่น้ำ 5 สาย ทั้ง คสช. ครม. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังทำอะไรอยู่ ปัญหาบางอย่างถ้าแก้ในขณะนี้ไม่ได้ ก็จะไม่สามารถใช้กฎหมายปกติแก้ไขได้แล้ว อยากให้ทุกคนก้าวข้ามกับดักของตัวเอง นั่นคือเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่แล้ว ตนไม่มีปัญหากับการเลือกตั้ง แต่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้สัญญาว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะไม่กลับไปมีปัญหาเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

“เดือนกรกฎาคม ปี 2560 ผมก็ไปแล้ว อยู่ต่อไปก็ไลฟ์บอย ถ้าต้องอยู่ต่อก็แสดงว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ ผมจะอยู่แค่นั้น เพราะกฎหมายเขียนเอาไว้แค่นั้น”

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวชี้แจงถึงคำพูดระหว่างการประชุมองค์กรแม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา “หากประเทศยังไม่สงบ ผมอาจต้องอยู่ต่อ จะปิดประเทศก็ต้องทำ” ว่า เป็นเพียงการพูดว่าหากแก้ไขปัญหาไม่ได้ สถานการณ์บ้านเมืองอาจย้อนกลับไปเหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาลไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ เกิดความไม่สงบจนนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา คล้ายกับการปิดประเทศโดยปริยาย ไม่ได้หมายความว่าตนจะสั่งปิดประเทศ เพราะไม่มีอำนาจขนาดนั้น ที่หุ้นตกก็ต้องไปดูว่าหุ้นตกมาก่อนหน้านี้หรือไม่

ลุยแก้ประมง IUU ต่อ ก่อน EU กลับมาตรวจซ้ำต้นปีหน้า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากตัวแทนสหภาพยุโรป (European Union – EU) เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) แม้ทาง EU จะชื่นชมการทำงานของไทย แต่อย่าเพิ่งไปคิดว่าเขาจะปลดล็อกการให้ใบเหลืองหรือไม่ เรายังต้องแก้ไขปัญหากันต่อไป โดยในการประชุมวันนี้ก็ได้เห็นชอบร่างกฎหมาย 1 ฉบับและแผนงานในการแก้ไขปัญหาอีก 2 ฉบับ เพราะการแก้ปัญหา IUU บางครั้งเกี่ยวข้องกับเรื่องของการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องแรงงานทาสด้วย โดยตัวแทนของ EU จะกลับมาตรวจสอบความคืบหน้าอีกครั้งตอนต้นปี 2559

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับประธานาธิบดีศรีลังกา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ก็ได้เสนอเรื่องความร่วมมือทางการประมงระหว่างไทย-ศรีลังกา เพราะศรีลังกาเป็นเกาะ มีปลาอยู่มาก แต่อาจทำประมงไม่เก่งเท่าชาวประมงไทย ขณะที่ไทยแทบไม่มีปลาเหลือให้จับแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบิน ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ให้ธงแดงกับไทย ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก มีการตั้งคนเข้ามาทำงานในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล หรือ regulator แทนกรมการบินพลเรือน (บพ.) ทั้งนี้ แม้การยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มเติมจะไม่มี แต่เราก็ต้องหาวิธีการเพิ่มเที่ยวบินให้มากขึ้น ผ่านโครงสร้างใหม่นี้

ย้ำไม่ใช้อำนาจพิเศษแทรกประมูลคลื่น 900

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G จากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ว่า การเลื่อนประมูลดังกล่าวเป็นการตัดสินใจของ กสทช. เอง เพราะมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องกัน อยากขอให้ทางสหภาพบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และห้ามมาประท้วงบนท้องถนน เพราะจะผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องไปหาข้อยุติให้การประมูล 4G เดินหน้าต่อไปได้ และ TOT ยังสามารถอยู่ต่อได้ ตนจะไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงทั้งนั้น

นายกฯ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานว่า รัฐบาลนี้จะไม่ยอมให้เสียเปรียบอย่างแน่นอน กรณีรถไฟความเร็วปานกลางไทย-จีน ในปี 2558 อาจจะมีการก่อสร้างเชิงสัญลักษณ์ไปก่อน ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 40 ปี ส่วนการก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) อยู่ระหว่างการหารือ หากญี่ปุ่นไม่สนใจก็หาประเทศอื่น ไม่ได้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้ไทยมีน้ำอยู่ในเขื่อนราว 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แม้จะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3,600 ล้าน ลบ.ม. แต่ต้องดูว่าไทยต้องใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 20-30 ล้าน ลบ.ม. ในการผลักดันน้ำเค็มและอุปโภคบริโภค ถามว่าจะเพียงพอใช้ทั้งปีหรือไม่ จึงอยากขอร้องอีกครั้งให้ชาวนางดเว้นการปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว โดยรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน เมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต และตลาด

“วิษณุ” เตรียมตั้งโต๊ะแจงปมจำนำข้าว – ใช้ ม.44 แค่ให้ จนท. สบายใจ

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวชี้แจงถึงการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2558 ว่า เป็นการเขียนเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหาย 2 ชุด ทั้งของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ให้ไม่ต้องรับผิดหากทำหน้าที่อย่างสุจริต เพื่อให้เกิดความสบายใจในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของเขามาก่อน

“คำสั่งหัวหน้า คสช. จะคุ้มครองเฉพาะคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต คนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุจริตคงไปคุ้มครองไม่ได้อยู่แล้ว” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงการเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ. 2539 ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยนายกฯ มอบหมายให้นายวิษณุกับตนมาชี้แจงถึงความคืบหน้าต่อสาธารณชน ทั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดถึงไม่ใช่การฟ้องศาลแพ่งแต่มาใช้วิธีการเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดฯ แทน ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียกค่าเสียหายลักษณะนี้กว่า 3,000 คดี รวมถึงข้อสงสัยที่มีคนบางกลุ่มไปบิดเบือนว่ามีคนกลั่นแกล้งทั้งที่ไม่เป็นความจริง คาดว่าภายในวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2558 จะสามารถตั้งโต๊ะชี้แจงข้อเท็จจริงได้

ครม. เร่งเอกชนลงทุน เว้นภาษีให้สูงสุด 8 ปี

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นที่สำคัญ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นภายในปี 2558-2559 แบ่งเป็น 2 ส่วน

1. เอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หากได้รับการพิจารณาส่งเสริมการลงทุน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2557 – วันที่ 30 มิถุนายน 2559 และสามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี 2560 สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ดังนี้

  • หากลงทุนจริงภายในเดือนมิถุนายน 2559 ไม่น้อยกว่า 70% จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 4 ปี
  • หากลงทุนจริงภายในเดือนมิถุนายน 2559 ไม่น้อยกว่า 50% จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปี
  • หากลงทุนจริงภายในเดือนธันวาคม 2559 ไม่น้อยกว่า 50% จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี
  • หากมีการลงทุนจริงไม่ถึง 50% ภายในปี 2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี

โดยทั้ง 4 กรณีที่ได้รับสิทธิ์เพิ่มเติมรวมกับของเดิมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 8 ปี

2. เอกชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ หากมีการลงทุนในปีนี้ถึงสิ้นปี 2559 จะให้สิทธิพิเศษหักลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนเป็น 2 เท่า

“ส่วนนี้ผู้ที่ได้รับสิทธิบีโอไอหากเห็นว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการด้านการคลังมากกว่าก็สามารถเลือกใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า แทนการรับสิทธิประโยชน์บีโอไอได้ โดยเอกชนต้องเลือกสิทธิพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง”

ทั้งนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องจดแจ้งขอใช้สิทธิ์กับกรมสรรพากรและสำนักงานบีโอไอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

ลดขั้นตอน PPP เหลือ 9 เดือน นำร่อง 8 โครงการ

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการปรับปรุงระยะเวลาและการดำเนินงานการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งได้มีการออกแบบขั้นตอนการทำงานใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ที่เรียกว่า “PPP fast track” โดยเป็นการรวบรวมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินการจนถึงเริ่มประมูล จาก 22 เดือน เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น คาดว่าจะมีโครงการที่เข้าสู่ PPP fast track นี้ 8 โครงการ วงเงิน 3.47 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

  1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
  2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)
  3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ)
  4. โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา
  5. โครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี
  6. โครงการโรงงานขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี
  7. โครงการโรงงานขยะเทศบาลนครราชสีมา
  8. โครงการพัฒนาพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ศูนย์ธุรกิจพาณิชย์นาวี (Maritime Business Center)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การปรับลดขั้นตอนในการดำเนินการของ PPP ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงปฏิรูปขั้นตอนการทำงานภาครัฐให้รวดเร็วมากขึ้น หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหมด เพื่อรับทราบการปรับปรุงการทำงานของ PPP

คลอด “1 กม. – 2 แผน” แก้ประมงผิดกฎหมาย

นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ประมง เพื่อแก้ไขปัญหา IUU เพราะแม้จะเพิ่งมี พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2558 แต่เนื้อหาหลายส่วนก็ไม่ตอบโจทย์ที่ EU ต้องการ ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไข สาเหตุที่ต้องออกมาเป็น พ.ร.ก. เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เพราะถ้าจะออกมาเป็น พ.ร.บ. ต้องใช้เวลานาน หลังจากนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.ก. ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ คือ 1. กำหนดมาตรการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และ 2. บริหารจัดการการประมงโดยคำนึงถึงความยั่งยืน แบ่งเป็น 5 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย

1. มาตรการว่าด้วยระบบอนุญาตให้ทำการประมง โดยจะมีการกำหนดโซนแล้วออกใบอนุญาตตามขนาดเรือประมง ห้ามทำประมงข้ามเขต หรือทำประมงผิดประเภท

2. มาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง โดยให้เรือติดเครื่องมือที่สามารถติดตามที่อยู่ของเรือได้

3 .มาตรการตรวจสอบเมื่อเรือเข้าเทียบท่า โดยรัฐที่มีท่าจะต้องตรวจสอบเรือทุกสัญชาติที่เข้ามาเทียบ ไม่ใช่เฉพาะเรือของตัวเอง

4. มาตรการระบบตรวจสอบย้อนหลัง จากอวนสู่จาน ให้สามารถตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำย้อนหลังได้ว่ามาจากเรือลำใด วันใด เมื่อไร

5. มาตรการระบบบังคับใช้กฎหมาย หรือการลงโทษที่เหมาะสมต่อผู้กระทำความผิด

ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า นอกจากร่าง พ.ร.ก.ประมงแล้ว ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนนโยบายและแผนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา IUU ด้วย

อนุมัติเงิน 1.3 หมื่นล้านช่วยชาวสวนยาง ไร่ละ 1,500 บาท

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ใช้งบประมาณทั้งหมด 13,132 ล้านบาท โดยจะให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 1,500 บาท/ไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ในอัตราส่วน 60:40 คือเจ้าของสวนยาง/ผู้เช่าสวนยางได้รับ 900 บาท/ไร่ และคนกรีดยางได้รับ 600 บาท/ไร่ โดยผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้จะต้องทำสวนยางในพื้นที่ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น เบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 850,000 ครัวเรือน ส่วนสวนยางที่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ จะช่วยเหลือเฉพาะคนกรีดยาง 600 บาท/ไร่ โดยนำเงินมาจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (เงินเซส)

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบตามที่ กษ. ให้การซ่อมหรือทำถนน ในปีงบประมาณ 2559 ของทุกหน่วยงานราชการ ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม 5% ทุกโครงการ คาดว่าจะใช้ยางพารารวมกัน 21,373 ตัน แม้จะเป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่น่าจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามแก้ไขปัญหา

ไฟเขียว กม. ห้ามเรียกดอกเบี้ยลูกหนี้โหดเกิน 15%

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ 4 ประการ 1. กำหนดให้การเรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้ใดๆ จะทำไม่ได้เกิน 15% ของเงินต้น ไม่ว่าในสัญญาที่ทำไว้จะระบุเกินกว่า 15% ก็ตาม โดยให้รวมถึงการเรียกผลประโยชน์อื่นที่อาจคำนวณเป็นเงินได้ด้วย ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. หากการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่า 15% มีผู้เกี่ยวข้องเกินตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการกระทำของแก๊งค์ทวงหนี้ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. หากการเรียกดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่า 15% ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องด้วย ให้รับโทษเกินกว่ากึ่งหนึ่งของอัตราโทษสูงสุด และ 4. กรณีที่ศาลตัดสินให้ผู้กระทำผิดตามกฎหมายนี้เป็นรอลงอาญา อาจมีคำสั่งห้ามมิให้กระทำการใดๆ เพื่อไม่ให้ไปข่มขู่ลูกหนี้ได้

ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดนิยามคำว่าสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้หมายถึงสปา นวดเพื่อสุขภาพ และสถานเสริมความงาม โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาต มีอายุ 10 ปี ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีโทษทั้งจำและปรับ

ที่ประชุมยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือการแพทย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขกฎหมายเดิมที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2551 ที่มีจุดอ่อนคือไม่มีการแบ่งกลุ่มเครื่องมือการแพทย์ตามเทคโนโลยีและความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสัตยาบันความตกลงอาเซียนว่าด้วยบทบัญญัติเครื่องมือแพทย์ (AMDD: ASEAN Agreement on Medical Device Directive) ที่จะทำให้ไทยสามารถส่งออกเครื่องมือการแพทย์ไปขายในประเทศกลุ่มอาเซียนได้ง่ายยิ่งขึ้น

“ให้ส่งร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานก่อนส่งให้ สนช. พิจารณา เพื่ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป” พล.ต. สรรเสริญกล่าว

ต่ออายุ LTF ลดภาษีถึงปี 62 – ขยับเพดาน กบข. ลงทุน ตปท.-อสังหาฯ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-term Equity Fund: LTF) ในการนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตรา 15% ไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พร้อมขยายระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนใน LTF จากไม่น้อยกว่า 5 รอบ เป็นไม่น้อยกว่า 7 รอบปีปฏิทิน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขเพดานของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากกฎกระทรวงฯ เมื่อปี 2553 ที่ให้ กบข. ลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 25% และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ไม่เกิน 8% มาเป็นลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 30% และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ไม่เกิน 12%

กำหนดอัตราค่าบริการ จยย. รับจ้าง

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน (National Beneficiary Registration Center) พร้อมสั่งการให้หน่วยงานราชการทุกแห่งจัดส่งข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของบุคลากรหน่วยงานรวมถึงผู้ใช้สิทธิร่วมให้แก่ สปสช. เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนต่อไป เนื่องจากในอดีตมีปัญหาเรื่องรัฐวิสาหกิจส่งข้อมูลให้กับ สปสช. ไม่ครบถ้วน ทำให้การจัดงบประมาณเป็นไปอย่างซ้ำซ้อนและไม่ประหยัด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือการกำหนดอัตราค่าใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในอัตราดังนี้

– ระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตร ไม่เกิน 25 บาท

– ระยะทาง 2-5 กิโลเมตร คิดในอัตรากิโลเมตรละ 5 บาท

– ระยะทาง 5-15 กิโลเมตร คิดในอัตรากิโลเมตรละ 10 บาท

– ระยะทาง 15 กิโลเมตรขึ้นไป คิดในอัตราตามที่ตกลงกัน กรณีที่ไม่มีการตกลงกันให้ไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท

“การกำหนดอัตราค่าบริการนี้ขึ้นมา เพื่อป้องกันการแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์รับจ้างเก็บค่าบริการสูงเกินจริง ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดอืดร้อน” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว